posttoday

ไพโรจน์ ร้อยแก้ว มาเฟีย ออฟ ไอเดียส์

17 ธันวาคม 2559

บางคนเรียกเขาว่า “เจ้าพ่อตลาดนัด” แต่ ไพโรจน์ ร้อยแก้ว กลับบอกว่า “ผมไม่ชอบให้ใครเรียกว่าเจ้าพ่อ แต่ผมเป็นมาเฟีย...”!

โดย...เพ็ญแข สร้อยทอง ภาพ... วิศิษฐ์ แถมเงิน

บางคนเรียกเขาว่า “เจ้าพ่อตลาดนัด” แต่ ไพโรจน์ ร้อยแก้ว กลับบอกว่า “ผมไม่ชอบให้ใครเรียกว่าเจ้าพ่อ แต่ผมเป็นมาเฟีย...”!

ชายหนุ่มประกาศกลางวง เป็นผลให้บรรยากาศในห้องทำงานของเขาที่ตลาดนัดรถไฟรัชดาดูเคร่งขรึมน่ายำเกรงขึ้นมาอีกหนึ่งระดับ

“แต่ผมเป็น มาเฟีย ออฟ ไอเดียส์ เป็นมาเฟียเจ้าความคิดในทางสร้างสรรค์ครับ”

เสียงหัวเราะท้ายประโยคนั้น (และอีกหลายๆ ครั้งระหว่างบทสนทนาในภายหลัง) ของไพโรจน์ ก็ช่วยทำให้บรรยากาศของห้องนั้นผ่อนคลายขึ้นมาอีกหลายระดับ

เท่าที่สัมผัสมา เราปฏิเสธไม่ได้จริงๆ ว่า ผู้ชายคนนี้เป็น “เจ้าไอเดีย” ผู้แตกหน่อต่อยอดสิ่งที่รัก สิ่งที่ทำให้เติบโตและประสบความสำเร็จ

จากเด็กอยุธยาธรรมดาๆ คนหนึ่ง เขากลายมาเป็นนักสะสมและค้าของเก่าชั้นแนวหน้าเจ้าของ Rod’s Antique รวมทั้งเป็นผู้บริหารตลาดนัดรถไฟ แหล่งช็อปปิ้งและแฮงเอาต์ที่มีสไตล์ ซึ่งใครต่อใครก็อยากจะลองมาสักครั้ง เพื่อกินดื่มช็อปชม หรือแม้แต่ถ่ายรูปลงโซเชียลมีเดีย

การที่เขามายืนอยู่ตรงจุดนี้ได้ ไพโรจน์ต้องขอบคุณคุณพ่อของเขา ตอนเป็นเด็กเขาจำได้ว่า พ่อซึ่งเป็นช่างไม้ มักจะซื้อบ้านเรือนไทยหรือไม้เก่ามาขาย แทนที่จะได้ไปวิ่งเล่นเหมือนเด็กคนอื่นๆ เขากลับมาช่วยพ่อทำงาน “ผมใช้แปรงทองเหลืองขัดล้างไม้ ล้างฝาเรือนไทยให้พ่อ ซึ่งเขาก็ไม่ได้บังคับ แต่ว่าผมอยากทำ ผมว่าพ่อเป็นคนปลูกฝังเรื่องของเก่าให้ผม มันซึมมาโดยที่ผมไม่รู้ตัว” ที่บ้านของเขาในอยุธยาเป็นเมืองที่มีของเก่าอยู่มาก เวลาไปโรงเรียน เขาก็เห็นครูขับรถมอเตอร์ไซค์เก่าๆ มาทำงาน “จุดแรกที่ผมชอบของเก่าก็คือ พวกรถมอเตอร์ไซค์นี้ล่ะ” เขาชอบตรงดีไซน์ ซึ่งแตกต่างไปจากแบบรถสมัยใหม่

ไพโรจน์ ร้อยแก้ว มาเฟีย ออฟ ไอเดียส์

 

เมื่อโตเป็นวัยรุ่น ความชื่นชอบและตัวตนของเขายิ่งชัดเจน “เราได้อ่านหนังสือบันเทิงคดีของคุณมาโนช พุฒตาล ได้ดูรายการเที่ยงวันอาทิตย์ เรารู้สึกว่า เฮ้ย ... นี่ล่ะคือ ตัวเรา” วัฒนธรรมจากตะวันตกส่งผ่านสิ่งเหล่านั้นมาสู่เขา “เรารู้สึกว่าเราชอบการแต่งตัวแบบนั้น เราดูมิวสิควิดีโอที่มีรถเก่าๆ เราเป็นคนชอบดูหนังย้อนยุค รู้สึกว่าเราได้ซึมซับกับมัน”

เริ่มจากชื่นชอบและเก็บของเก่าเล็กๆ น้อยๆ มา จากนั้นไพโรจน์จึงมีโอกาสได้เห็นบรรยากาศการซื้อขายของเก่าแถววัดมหาธาตุ คลองหลอด หรือคลองถม “เฮ้ย...ของพวกนี้มันขายได้ด้วยเหรอ เคยมีช่วงหนึ่งในชีวิตผมไปทำงานเป็นเด็กพร็อบ (หาอุปกรณ์ประกอบฉาก) ก็เดินหาของที่นั่น พอวันหนึ่งเราไม่มีงานทำ เราก็คิดว่าเราจะเอาของไปขายที่คลองถม ขายดีมาก คนก็มาแย่งกันซื้อ เรารู้แล้วว่า หลังจากวันนี้ชีวิตของเราจะเป็นอะไร เราบอกตัวเองว่า จะเป็นพ่อค้าขายของเก่า”

จากค้าขายของ “5 บาท 10 บาท” อย่างเช่น กระป๋องแป้ง โปสเตอร์จากร้านขายของชำ ฯลฯ ก็ขยับขยายกลายเป็นการแลกเปลี่ยนของที่มีมูลค่าสูงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อพอมีเงินไพโรจน์ก็ซื้อรถเก่า “คันแรกของผมคือ รถโฟล์คเต่า หลังจากนั้นเราก็รู้สึกว่ามีรถยนต์แล้วก็ต้องมีมอเตอร์ไซค์ ไปเล่นมอเตอร์ไซค์พวก MZ อะไรพวกนี้ บังเอิญมีช่างซ่อมเก่งชื่อ ลุงดม พอเราไปบ้านแกมีรถอังกฤษ มีฮาร์เลย์ (เดวิดสัน) เหมือนเราได้พบกับโลก”

ถ้าหากเลือกได้ ไพโรจน์อยากจะเกิดในปี 1920-1930 เพราะชื่นชอบวัฒนธรรมในยุคนั้นอย่างมาก ความลุ่มหลงของเก่าทำให้เขาคิดอยากจะใช้ชีวิตในร้านแอนทีค “อยากตื่นขึ้นมายืนแปรงฟันแล้วก็เห็นของพวกนี้ อยากใช้ชีวิตอยู่กับมันไปจนตาย...” การได้เห็นของเหล่านี้อยู่รายรอบตัวคือ ความสุข “บางทีผมเดินมาดูของอย่างนี้ ผมก็คิดงานต่อได้ เหมือนมาชาร์จแบต ผมอยากตื่นนอนมาแล้วได้เห็นของพวกนี้ตลอดเวลา ไม่มีวันไหนที่ไม่อยากเห็น ผมใช้เวลาในร้านมากกว่าบ้านอีก”

วันหนึ่งพ่อค้าขายของเก่าคลองถมก็อยากจะมีร้านของตัวเอง ซึ่งเป็นการเปิดทางต่อยอดสู่การสร้างตลาดนัดรถไฟจตุจักรในเวลาต่อมา “พอดีผมมีเพื่อนที่เขาขายอยู่ในนั้นมาก่อน เขาก็ไม่ได้อยู่ในโครงการจตุจักรนะ อยู่ตรงข้าม ก็ถามเขาว่า แถวนี้มีร้านให้เช่าไหม เขาก็แนะนำให้ แล้วเราก็ไปเช่าทำร้านขายของเก่า โดยที่ได้เงินทุนจากพี่สาว อยู่มาวันหนึ่งที่ก็ถูกเวนคืน แล้วเราก็ย้ายโลเกชั่นไปเช่าโกดังของการรถไฟฯ มาเป็นร้านขายของเก่า ตอนนั้นชวนใครก็ไม่มีใครไป เขาบอกว่าเจ๊งแน่นอนงานนี้

ไพโรจน์ ร้อยแก้ว มาเฟีย ออฟ ไอเดียส์

 

“พอเราไปเช่าร้านก็เริ่มมีคนมากับเราบ้าง เราก็เริ่มซอยพื้นที่ให้เช่า พอมีรายได้เราก็เริ่มมองเห็นว่า นอกจากจะขายของเก่าแล้ว ยังมีธุรกิจให้เช่าพื้นที่ได้อีก เราก็คิดว่า เฮ้ย...จะทำยังไงให้เขาอยู่ได้โดยที่เราไม่ต้องเสียค่าเช่า ถ้าเขาอยู่ไม่ได้เราก็ต้องควักกระเป๋าจ่ายเอง ก็เลยคิดทำตลาดขึ้นมา”

ตลาดนัดรถไฟจตุจักรถือกำเนิดในคอนเซ็ปต์ “เซคกันแฮนด์ มาร์เก็ต” เพิ่มเติมแต่งแต้มสไตล์ไม่เหมือนใคร ทำให้คนที่เคยมาแล้วบอกต่อๆ กันไป ยิ่งพอออกสื่อก็ทำให้กลายเป็น “ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์” นั่นเป็นปฐมบทและต้นแบบของตลาดนัดรถไฟศรีนครินทร์ ต่อด้วยรัชดา และเกษตรนวมินทร์

ส่วนร้านขายของเก่าของไพโรจน์ก็ยอดออกไปรับซ่อม โดยมีทักษะจากพ่อซึ่งเป็นช่างไม้ ร้านขยายออกไปกว้างขึ้น มีพื้นที่มากขึ้น มีของใหม่ๆ เข้ามาตลอด ลูกค้าก็มากขึ้น ต่อมาเขาจึงหันไปผลิตงานโดยใช้ช่างพม่าและใช้วัตถุดิบจากพม่า ผลิตเป็นเฟอร์นิเจอร์รีโปรดักชั่นต่างๆ พร้อมกับยังนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมาขายตอบสนองความนิยมของลูกค้า

“งานจากต่างประเทศ ซึ่งมีอายุมากกว่าไทย ทำให้ของมีความแตกต่างออกไปด้วย เหมือนเราเปิดมุมมองของเรา เปิดใจยอมรับสิ่งใหม่ๆ กินอาหารฝรั่งบ้าง กินอาหารไทยมานานแล้ว บางทีก็อาหารจีนบ้าง เราเป็นคนขายของ เราต้องรู้สึกเบื่อก่อนลูกค้า ถ้าเราเบื่อหลังลูกค้าเราก็ตามเขาไม่ทัน พอเริ่มรู้สึกเบื่อก่อนแล้วก็หาสิ่งใหม่ๆ เราหาแหล่งข้อมูลข่าวสารเทรนด์ในการตกแต่งจากต่างประเทศ จากแมกกาซีนอะไรอย่างนี้ เราดูว่าของเหล่านั้นน่าสนใจก็เอามาขาย จากที่ทำด้วยความรักมันก็กลายเป็นอาชีพ พอเป็นอาชีพปุ๊บ ใครซื้ออะไรเราก็ขายหมด เพราะว่าเราไม่สามารถที่จะเก็บมันไว้ได้ เราไม่มีเงิน เราไม่มีอาชีพอื่น ถ้าซื้อมาต้องนึกหน้าคนซื้อต่อให้ออก ไม่อย่างนั้นมันก็กลายเป็นเงินจม ธุรกิจเราก็ล่มสลาย”

การได้เดินทางไปต่างประเทศเพื่อซื้อของยังเป็นเหมือนการเปิดโลกและสั่งสมประสบการณ์ “ผมมีเพื่อนเป็นชาวฝรั่งเศสเยอะพอสมควร เวลาที่เราไปก็จะได้รับมิตรภาพที่ดีจากเขา สถานที่ที่ผมไปบ่อยมากเป็นดีลเลอร์ใหญ่ๆ คนขายของอยู่ในสถานที่เดียวกัน ผมได้รับมิตรภาพจากสถานที่นั้นๆ รู้สึกว่าอยากให้ประเทศไทยมีอย่างนี้บ้าง คือ ทุกคนขายของให้คนอื่นได้หมดเลย โดยไม่มีการเตะแข้งเตะขากัน ถึงจะเป็นของคนอื่น ถ้าเราไปถาม เขาก็ขายให้กันหมด ยกหูถามว่าอันนี้เท่าไหร่ ก็บอกขายให้หมด ผมอยากให้มิตรภาพอย่างนี้เกิดขึ้น”

นั่นจึงต่อยอดแตกไอเดียเกิดเป็นงาน “ยูเนียนแคมป์” (Union Camp) โดย ไพโรจน์ และเพื่อนๆ ในนามกลุ่ม “ด็อกสกิน” (Dogskin) จัดขึ้นเพื่อรวมพลคนชอบสะสมของเก่า ส่งเสริมมิตรภาพ รวมทั้งกระตุ้นเศรษฐกิจในวงการ

“ปัจจุบันนี้ธุรกิจการขายของเก่าซบเซามาก ต้องพูดตรงๆ เพราะว่าเศรษฐกิจบ้านเราไม่ดี แล้วของเก่ามันเป็นของที่ไม่มีความจำเป็นต้องซื้อ ผมก็มองว่า จะทำยังไงให้กระตุ้นและกระเตื้องขึ้นมาให้ค้าขายกันได้ เลยคุยกับเพื่อนพี่น้องที่อยู่ในตลาดเดียวกัน เราต้องมาตั้งกันเป็นสมาพันธ์หรือสมาคมนะ เลยตั้งเป็นกลุ่มชื่อว่า ด็อกสกิน คือ หนังหมาเป็นหนังที่คนสัมผัสได้มากที่สุด ใกล้ชิดมนุษย์ที่สุด เราตั้งกลุ่มขึ้นมาเพื่อทำอีเวนต์ชื่อ ยูเนียนแคมป์”

งานยูเนียนแคมป์จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-18 ธ.ค. นี่ที่ แอ็คเมน เอกมัย ตั้งอยู่ระหว่างซอยเอกมัย 13-15 ( ตรงข้ามวัฒนาเนื้อตุ๋น) โดยวันที่ 16 ธ.ค. เป็นรอบของดีลเลอร์ ส่วนวันที่ 17-18 ธ.ค. เป็นรอบบุคคลทั่วไป บัตรราคา 100 บาท ในงานมีการออกร้านขายสินค้าจากดีลเลอร์หรือพิกเกอร์ ซึ่งตระเวนเสาะหาของจากทั่วโลก ไม่ว่าจะเฟอร์นิเจอร์ ของสะสม เครื่องแต่งกาย ฯลฯ ทั้งยังมีอาหาร เครื่องดื่ม ดนตรี ภายใต้แนวคิด “กินอยู่อย่างมีศิลปะ” บรรยากาศงานตกแต่งในสไตล์แคมป์ยุโรป ยุค 1930-1950 มีกิจกรรมพูดคุยกันของ ชาติ กอบจิตติ นักเขียนดับเบิ้ลซีไรต์ และนักสะสมของเก่าอย่าง พจน์ โอลด์เล้ง ชมดนตรีจากวงรัศมี อีสานโซล และในวันสุดท้าย เหล่าคอลเลกเตอร์จะนำของมาประมูลเพื่อมอบรายได้ส่วนหนึ่งให้มูลนิธิชัยพัฒนา

อีเวนต์นี้นับเป็นอีกหนึ่งความท้าทายของไพโรจน์ ซึ่งเขาก็คาดคะเนเองว่า “น่าจะเจ็บตัว” แต่อย่างน้อยที่สุดก็ได้เริ่มต้น ซึ่งอาจจะเป็นฐานรากของความสำเร็จอื่นๆ ในภายหลังได้ เช่นเดียวกับการบริหารตลาด ซึ่งที่ผ่านมาก็พบกับความผิดพลาดมาไม่น้อย และเขาก็นำมันไปเป็นบทเรียน

“การบริหารตลาดนั้นต้องเข้าใจ ต้องเห็นอกเห็นใจคนที่มาเช่าพื้นที่ เรามีหน้าที่จัดสรรพื้นที่ ต้องดูแลเรื่องความปลอดภัย ไม่ให้มีมิจฉาชีพ ดูแลความสะอาดพวกสาธารณูปโภค แสงสว่าง สิ่งสำคัญที่สุดคือ พาคนมาเดินในตลาดให้ได้ ซึ่งนั่นก็หมายความว่า คอนเซ็ปต์จะต้องดี การประชาสัมพันธ์ต้องดี เดินแล้วก็ยังอยากมาเดินอีก เพราะฉะนั้นจึงต้องมีการคัดเลือกร้าน ต้องมีอะไรใหม่ๆ ร้านก็ไม่ควรจะซ้ำกันเกินไป แต่ละร้านก็ควรจะมีครีเอทีฟในเรื่องสินค้า การนำเสนอ วิธีการขาย อย่างของกินก็ต้องอร่อยด้วย นี่เป็นจุดขายและจุดดึงดูดให้คนมา”

ในวันนี้ชายหนุ่มวัย 40 ปีเศษผู้นี้ยังมีหนึ่งความฝันคือ การสร้าง “ฟาร์เมอร์ มาร์เก็ต” ซึ่งเป็นตลาดขายของสดที่สะอาดที่สุด ขายของคุณภาพดี และมีอยู่ทั่วทุกมุมเมือง เขายังไม่รู้ว่า ฝันนี้จะเป็นจริงขึ้นมาเมื่อไหร่ และจะประสบความสำเร็จหรือเปล่า แต่ดูเหมือนว่าจะไม่มีอะไรมาขัดขวาง ไพโรจน์ ร้อยแก้ว ให้คิดเรื่องใหม่ๆ ขึ้นมาเรื่อยๆ สมกับเป็น มาเฟีย ออฟ ไอเดียส์ อย่างที่เขาเรียกตัวเอง