posttoday

เปิดอาณาจักร ฟาร์มหมู VPF โตอย่างมั่นคงด้วยเศรษฐกิจพอเพียง

10 ธันวาคม 2559

ความ “พอเพียง” ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

โดย...ชลธิชา ภัทรสิริวรกุล

ความ “พอเพียง” ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อนำมาใช้กับการทำธุรกิจดูเหมือนว่าจะไปด้วยกันได้ยาก แต่เครือวีพีเอฟได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ถ้าศึกษาพระราชดำริความพอเพียงให้ดี การดำเนินธุรกิจอย่างพอเพียงไม่ได้หมายความว่าจะต้องไม่มั่นคงหรือเติบโต เพราะทุกวันนี้เครือวีพีเอฟกลายเป็นอาณาจักรธุรกิจฟาร์มหมูครบวงจรที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ ด้วยยอดขายปีละ 2,000 ล้านบาท มีพนักงานกว่า 2,000 คน

วรพงศ์ จีรประภาพงศ์ ผู้จัดการทั่วไปสายงานผลิตภัณฑ์อาหารในเครือวีพีเอฟ ทายาทรุ่น 2 ของเครือวีพีเอฟ กรุ๊ป เล่าว่า จุดเริ่มต้นของอาณาจักรวีพีเอฟมาจาก 4+1 ที่เกิดจากคุณพ่อที่เป็นลูกชาวสวนธรรมดา จบการศึกษาเพียงชั้น ม.ศ.3 ใช้ชีวิตอยู่ด้วยความพอเพียงมาตลอด แต่ก็ไม่เคยยอมแพ้ในการใช้ชีวิต จนมีโอกาสได้เจอเพื่อนเก่าแล้วบอกขายต่อหมูแม่พันธุ์ให้ 4 ตัว พ่อพันธุ์ 1 ตัว จึงเป็นที่มาของตัวเลข 4+1 และขยายต่อเรื่อยมา

“ตอนนั้นคุณพ่อเริ่มต้นธุรกิจด้วยการทำเองทั้งหมด ทั้งเลี้ยง คิดสูตรอาหาร ผสมพันธุ์เอง และก็ค่อยๆ ขยายไป มีทั้งเลี้ยงไก่ หมู และวัว จนมีทั้งหมด 500-600 ตัว และได้มีโอกาสไปดูงานตามสถานที่ต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศก็จดจำมาปรับใช้ จนได้ไปดูงานโครงการพระราชดำริตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ก็ได้แนวคิดกลับมาว่าการมีหลายทางก็ดี แต่ดูแลลำบาก เพราะเลี้ยงวัวตอนนั้นก็มีปัญหานมล้นตลาด ไก่ก็มีธุรกิจรายใหญ่ครองตลาดอยู่ จึงมองว่าเหลือแค่หมูนี่แหละที่น่าจะเดินต่อไปได้ เลยหันมาเน้นโฟกัสที่หมูอย่างเดียวจนประสบความสำเร็จเช่นทุกวันนี้” วรพงศ์ กล่าว

เปิดอาณาจักร ฟาร์มหมู VPF โตอย่างมั่นคงด้วยเศรษฐกิจพอเพียง

 

ด้วยความที่คุณพ่อเป็นคนเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา คอยสอนมาตลอด ทำให้เราได้ซึมซับการใช้ชีวิตที่อยู่อย่างพอเพียงมาด้วยเช่นกัน และหลักในการบริหารธุรกิจที่เครือวีพีเอฟยึดมาตลอด คือ การเป็นครอบครัวที่โตมาด้วยกัน ไม่ใช่เป็นนายจ้างกับลูกจ้าง เพราะเชื่อว่าการที่พนักงานกินอิ่ม นอนอุ่นก็ทำให้มีความสุข เมื่อคนงานมีความสุข การทำงานก็มีความสุข ซึ่งการทำงานกับสิ่งมีชีวิตจะสามารถรับรู้และส่งต่อความสุขนี้ไปได้ ก็ทำให้การทำธุรกิจอยู่คู่กับชุมชนได้อย่างยั่งยืน

วรพงศ์ บอกอีกว่า ได้รับการปลูกฝังมาตลอดตั้งแต่เด็กแล้วให้รู้จักกับคำว่า “พอเพียง” เพราะพื้นฐานฐานะที่บ้านไม่ได้ร่ำรวยมาก่อน จึงทำให้รู้ถึงการใช้ชีวิตอย่างพอเพียง และได้เห็น ได้ดูข่าวในพระราชสำนักที่ถ่ายทอดพระราชกรณียกิจของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาตั้งแต่เด็ก กลายเป็นเรื่องที่อยู่ในการใช้ชีวิตประจำวัน

จำได้ว่าบ่อบำบัดน้ำเสียของฟาร์มสุกรที่แม่ริมมีปัญหาน้ำกัดเซาะหน้าดิน คุณพ่อที่จำได้ว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 เคยดำรัสไว้ว่า หญ้าแฝกเป็นหญ้ามหัศจรรย์ เพราะเป็นพืชที่มีรากยาว ลึก สามารถยึดหน้าดินได้ดี จึงนำมาปลูกไว้ตามแนวบ่อบำบัดน้ำเสีย และจำได้ว่าตอนอายุ 10 ขวบมีคนมาถ่ายทำข่าวหรือสารคดีเกี่ยวกับโครงการพระราชดำริก็ไปเดินตามดู เพราะใช้ได้ผลดีจริง และยังใช้ประโยชน์ได้หลากหลายด้วย เพราะหญ้าแฝกที่ปลูกไว้พนักงานและชาวบ้านแถวนั้นสามารถมาตัดไปเลี้ยงวัวหรือนำไปทำเครื่องจักสานเป็นรายได้พิเศษอีกทาง

ที่ฟาร์มสุกรของเครือวีพีเอฟนั้น พยายามทำทุกอย่างให้เป็นกรีนหมด เพื่อให้ธุรกิจอยู่คู่กับชุมชนได้อย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับการเติบโตที่มั่นคง เริ่มจากการทำบ่อบำบัดน้ำเสีย น้ำที่บำบัดแล้วก็หมุนเวียนกลับมาใช้ภายในฟาร์ม ส่วนน้ำที่ตกตะกอนอยู่ในบ่อก็สามารถนำมาทำเป็นปุ๋ยปลูกต้นไม้ ส่วนขี้หมูก็ทำเป็นก๊าซชีวภาพที่เปลี่ยนเป็นพลังงานใช้ในฟาร์ม ซึ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานได้ 30-40%

เปิดอาณาจักร ฟาร์มหมู VPF โตอย่างมั่นคงด้วยเศรษฐกิจพอเพียง

 

นอกจากนี้ ยังได้แบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งในฟาร์มให้พนักงานปลูกพืชผักออร์แกนิก เพื่อใช้ทำอาหารและเมือเหลือก็ส่งขาย เป็นรายได้เสริมให้กับพนักงาน โดยจะมีองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นเข้ามารับซื้อถึงที่ ทำให้พนักงานที่นี่มีความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วม

จากวันนั้น เมื่อปี 2516 มาถึงตอนนี้ 43 ปี อาณาจักรของเครือวีพีเอฟก็ได้ขยายขึ้น จนมียอดขายรวมเฉลี่ย 2,000 ล้านบาท/ปี และเริ่มมีการส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมาและฮ่องกงแล้ว แม้ว่าสัดส่วนจะยังไม่เยอะ แต่ก็มีแนวโน้มที่ดี

ขณะเดียวกันก็มีแผนที่จะขยายไลน์ธุรกิจออกไปในกลุ่มแปรรูปและค้าปลีก เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับเนื้อหมูสดและแช่แข็ง โดยจะนำสินค้าแปรรูปจากโรงงานเข้ามาจำหน่ายภายในร้านค้า ภายใต้แบรนด์ “Pork Land” เช่น ไส้กรอก แฮม ขาหมู ลูกชิ้นหมูชาบู เครื่องปรุงรส น้ำจิ้ม ผัก-ผลไม้ออร์แกนิก ฯลฯ

ในอนาคตก็จะสร้างที่พัก รีสอร์ทเชิงนิเวศ (อีโครีสอร์ท) ที่อยู่ในพื้นที่ร่วมกับฟาร์มหมู เพื่อให้เป็นศูนย์เรียนรู้เชิงนิเวศเกี่ยวกับระบบฟาร์มสุกร และการผลิตที่ครบวงจรทั้งในส่วนของกระบวนการทำฟาร์มระบบปิด ฟาร์มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่เน้นการเลี้ยงสุกรแบบธรรมชาติ โดยมูลสุกรทั้งหมดจะใช้ระบบบำบัดด้วยไบโอก๊าซ ซึ่งสามารถนำไปปั่นเป็นพลังงานไฟฟ้าได้ รวมถึงบริษัทมีโรงงานผลิตอาหารสัตว์ของตัวเอง และโรงงานแปรรูปเนื้อสุกร

สุดท้าย Pork Land ก็จะกลายเป็นสถานที่ถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับสุกรทั้งระบบ ที่ใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการทำธุรกิจจนประสบความสำเร็จ

เปิดอาณาจักร ฟาร์มหมู VPF โตอย่างมั่นคงด้วยเศรษฐกิจพอเพียง