posttoday

ปัญญาและเมตตา จุดเริ่มจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อม

06 ธันวาคม 2559

ขงจื๊อ กล่าวว่า “คนชอบทะเลมีปัญญา คนชอบภูเขามีเมตตา”… ตลอดช่วงระยะของความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

โดย...นิธิพันธ์ วิประวิทย์

ขงจื๊อ กล่าวว่า “คนชอบทะเลมีปัญญา คนชอบภูเขามีเมตตา”…

ตลอดช่วงระยะของความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในทศวรรษที่ผ่านมา มีสิ่งที่จีนต้องจ่ายเพื่อแลกมาอย่างหนัก นั่นคือสิ่งแวดล้อม

การใช้ถ่านหินเพื่อนำมาใช้เป็นพลังงานราคาถูกทำให้เกิดมลภาวะจากการเผาไหม้ การเร่งผลิตผลทางการเกษตรทำลายคุณภาพน้ำ โรงงานอุตสาหกรรมขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ ที่ไม่ได้มาตรฐานปล่อยของเสียและสารพิษออกมาไม่เว้นวัน

ภาพข่าวหมอกควันที่ปักกิ่ง พายุทรายที่รุนแรงมากขึ้น กองภูเขาขยะถล่ม ล้วนเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมที่เสียหายในหลากหลายมิติ

และก็เป็นที่รู้กันในรัฐบาลจีนว่าเงินที่ได้มาจากความเสียหายเหล่านี้ไม่เคยคุ้มค่า แม้ในอนาคตจะเอาเงินถมไปเท่าไรก็ล้วนกลับคืนมาได้ยาก ทางแก้จึงต้องป้องกันให้ความเสียหายเกิดขึ้นน้อยลงเรื่อยๆ มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้

หนึ่งในวิสัยทัศน์คือ “จีนราคาถูกที่ได้มาจากการถล่มสิ่งแวดล้อมของตนเองจะต้องหมดไป”

รัฐบาลจีนกำหนดทิศทางอุตสาหกรรมในอนาคตจะต้องเป็นอุตสาหกรรมทันสมัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จีนจะไม่ใช่ประเทศที่ผลิตไม้จิ้มฟันยันเรือรบอีกต่อไป โดยเฉพาะถ้าไม้จิ้มฟันนั้นทำลายสิ่งแวดล้อม

นอกนั้นยังให้เพิ่มบทบาทของธุรกิจภาคการบริการ เช่น การศึกษา การท่องเที่ยว เพราะเป็นเศรษฐกิจที่ทำเงินได้โดยสร้างความเสียหายต่อทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า

สถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่เปิดตัวอย่างต่อเนื่องในหลายปีที่ผ่านมา จึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่รัฐบาลจีนเจอธรรมชาติสวยงามแห่งใหม่ แต่เป็นการผ่องถ่ายสมดุลทางเศรษฐกิจอย่างมีแผนการ

สะพานแก้ว ทางเดินกระจกริมหน้าผาธรรมชาติ และการจัดการแหล่งท่องเที่ยวเพื่อรองรับคนจำนวนมากอย่างใส่ใจและเป็นระบบ ก็เป็นส่วนหนึ่งของแผนการนี้เช่นกัน คือเสริมสร้างธุรกิจที่ทำลายสิ่งแวดล้อมน้อยให้เข้มแข็ง ลดการพึ่งพาอุตสาหกรรมราคาถูกที่ล้าสมัย

ทั้งหมดถูกจัดเป็นทิศทางแผนพัฒนาชาติ พัฒนาเศรษฐกิจจีนอย่างชัดเจน และประกาศต่อประชาชน

แต่รถบรรทุกหนักสิบๆ ตันจะหยุดกะทันหันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนมอเตอร์ไซค์เหยียบเบรก จีนในบทบาทมหาอำนาจยักษ์ใหญ่ที่ GDP โตเกิน 10% มาหลายปีติดต่อกัน (เพิ่งมาชะลอก็เพียงแค่ปีหลังๆ) จึงต้องใช้กำลังมหาศาลในการหยุดยั้งความเสื่อมทางทรัพยากร

กับปัญหาที่จีนยังแก้ไม่ตก ก็มักใช้คำอธิบายว่า เป็นจุดที่ทุกชาติที่จะพัฒนาต้องเผชิญ ไม่ต่างจากปัญหาหมอกควันและน้ำเสีย เช่นที่อังกฤษต้องเผชิญเมื่อช่วงต้นยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม

นั่นอาจเป็นทั้งคำแก้ตัวและคำสัญญาในเวลาเดียวกัน ซึ่งก็คือการบอกว่าตอนนี้ยังแก้ไม่ได้ แต่อนาคตจะดีกว่านี้แน่

ในบางมุมก็ไม่ผิด เพราะการพัฒนาเศรษฐกิจของเกือบทุกประเทศ ย่อมต้องแลกมาด้วยความเสียหายทางทรัพยากรธรรมชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ ธรรมดาโลกมักต้องเลือก

แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นกับจีน เกิดขึ้นในระดับมหึมา และเมื่อประเทศจีนมีพื้นที่กว้างใหญ่ ย่อมมีพื้นที่ที่รองรับความเสียหายได้ยาวนานกว่า แต่นั่นหมายถึงจีนอาจผลักปัญหาไปให้พื้นที่ที่หนึ่งอย่างมโหฬาร โดยกลุ่มผู้ก่อปัญหาอยู่ในพื้นที่ที่ห่างไกลและปลอดภัย จนไม่รู้ตัวว่าได้ทำลายพื้นที่อื่นที่เหลือไปเป็นจำนวนมากมายขนาดไหน

เปรียบเหมือนหมู่บ้านที่มีพื้นที่ทิ้งขยะกว้างใหญ่และอยู่ไกลออกไปมาก ย่อมไม่สะทกสะท้านต่อปัญหาปริมาณขยะเท่ากับหมู่บ้านที่มีกองขยะติดอยู่ข้างหมู่บ้าน

จะปล่อยให้ผู้คนในหมู่บ้านแรกตื่นตัวขึ้นเอง และพยายามลดขยะเองจึงแทบเป็นไปไม่ได้ (เพราะเขาไม่เคยต้องรับผลกระทบโดยตรง)

และหากปล่อยจนเมื่อเขาได้รับผลกระทบโดยตรงนั่นแหละ ก็หมายถึงว่าโลกใกล้ถึงกาลอวสานแล้ว

จึงต้องมีคนกลางเป็นผู้แจ้งเตือน สร้างมาตรการที่เข้มแข็ง คอยสะกิดบอกหมู่บ้านแรกว่าสิ่งที่เขาทำสร้างหายนะในที่ที่ไกลกว่าอย่างไร จนอาจถึงต้องมีกฎควบคุมอย่างชัดเจน ทั้งหมดเพื่อให้การสร้างหายนะในที่ที่ไกลออกไปลดลงอย่างเป็นรูปธรรม

ในหน้าที่นี้รัฐบาลจีนมีทั้งจุดที่ได้แต้มและเสียแต้ม กฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมของจีนขึ้นชื่อว่ารวดเร็ว เด็ดขาด และเป็นธรรม เมื่อเทียบกับการจัดการของชาติที่ประสบปัญหาอื่นๆ จะขาดก็แต่การปฏิบัติการในระดับท้องถิ่นที่มักมีปัญหา

ในฐานะที่จีนเป็นประเทศใหญ่ที่ทั้งปัญหาและนโยบายมักมีลักษณะที่แกว่งไปสุดทางตลอดเวลา หลายครั้งจึงเป็นประเทศที่เหมาะสำหรับการเรียนรู้ประสบการณ์ทุกๆ ด้าน ไม่เว้นแม้แต่ด้าน
สิ่งแวดล้อม

ขณะที่นักข่าวทั่วโลกจับจ้องไปที่จีน ประเทศเราก็ยังเผชิญปัญหานี้ไม่ต่างกัน ต่างกันก็แค่การจับตามองเบาบางกว่า

ที่จริงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมไม่ใช่ปัญหาแค่เรื่องการจัดการของรัฐบาลกลางแต่อย่างเดียว อีกด้านหนึ่งก็ต้องลงลึกไปถึงจิตสำนึกของผู้คนในสังคมด้วย

ในระดับปัจเจกชน จะมาบอกว่ากระเป๋าใครกระเป๋ามัน หรือหาได้มากจึงใช้ฟุ่มเฟือยโดยไม่ผิด อาจฟังดูเป็นสิทธิอันชอบธรรม แต่ในภาพรวมเรื่องสิ่งแวดล้อมจะปล่อยให้ผู้คนคิดแบบนี้ไม่ได้

คำพูดของขงจื๊อที่ว่า “คนชอบทะเลมีปัญญา คนชอบภูเขามีเมตตา” ไม่ใช่คำเฉลยเกมทายนิสัย แต่เป็นคำพูดบ่งบอกความสัมพันธ์ของคนกับธรรมชาติที่มีที่มาที่ไป

เพราะทะเลมีขึ้นมีลง คลื่นลมเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ผู้ที่ชอบอยู่กับทะเลย่อมต้องคาดเดา ต้องศึกษา ตัดสินใจตลอดเวลา แต่ภูเขานั้นอุดมสมบูรณ์และคาดเดาได้ จะอยู่กับภูเขาได้จึงต้องใจเย็น อดทน มองเห็นและคาดการณ์ผลระยะยาวมากกว่าชอบการตัดสินใจระยะสั้น

คนชื่นชอบสิ่งแวดล้อมแบบไหน จึงสะท้อนลักษณะนิสัยของเขาเหล่านั้นได้เสมอ

อารยธรรมที่ทำลายทะเล ทำลายภูเขา จึงบ่งบอกปัญญาและความเมตตาของอารยธรรมได้เช่นกัน

สังคมจำต้องมีปัญญาพอที่จะมองเห็นและคาดการณ์ผลกระทบล่วงหน้า และต้องมีเมตตาพอที่จะนึกถึงคนและสิ่งแวดล้อมที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำของเรา แม้เราอาจจะไม่เคยได้เจอะเจอผลกระทบนั้นเลยก็ตาม

สติปัญญาและเมตตาจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่เราต้องการในมิติของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม