posttoday

มองซุนหวู่ในมุมผู้ผ่านสงครามจริง

05 ธันวาคม 2559

“รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครา” ไม่ว่าจีบสาว ทำธุรกิจ หรือแม้แต่ทำสงครามจริง ก็ใช้ Hashtag นี้ได้

โดย...นิธิพันธ์ วิประวิทย์

“รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครา” ไม่ว่าจีบสาว ทำธุรกิจ หรือแม้แต่ทำสงครามจริง ก็ใช้ Hashtag นี้ได้

วลีนี้มักถูกใช้เป็นตัวแทนโฆษณา “พิชัยสงครามซุนหวู่ (ซุนจื่อ)”

ซุนหวู่เป็นปราชญ์นักการทหารในยุคชุนชิวเมื่อสองพันห้าร้อยปีที่แล้ว ร่วมสมัยกับ ขงจื่อ โซกราตีส และสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่จริงซุนหวู่รู้จักกันอีกชื่อในนามซุนจื่อ ตามธรรมเนียมแล้วคำว่า “จื่อ” ลงท้ายถือว่าได้รับเกียรติให้เป็นปราชญ์ เช่น ขงจื่อ เหลาจื่อ เช่นกัน

และผลงานเขียน “พิชัยสงครามซุนหวู่ (ซุนจื่อ)” ก็เป็นหนึ่งในผลงานอมตะที่ถูกหยิบยกมาใช้งานต่อเนื่องกันตลอดประวัติศาสตร์โลก พอๆ กับผลงานของปราชญ์แห่งยุคท่านอื่นที่กล่าวมา ที่พิเศษก็คือ มักใช้ตีความเพื่อใช้งานด้วยจุดประสงค์ที่หลากหลายมากมาย ไม่ใช่แค่ในเรื่องสงครามตามวัตถุประสงค์เริ่มแรกแต่อย่างเดียว

เรื่องน่าทึ่งอีกอย่างก็ตรงที่ว่า ซุนหวู่เขียนพิชัยสงครามเล่มนี้เมื่อเขาอายุเพียง 25-26 ปีเท่านั้น ขณะที่ปราชญ์ท่านอื่นๆ กว่าจะสร้างผลงานอมตะได้ก็มักย่างเข้าวัยกลางคนขึ้นไป

ขณะที่ผลงานของซุนหวู่ถูกหยิบยกมาใช้งานเรื่อยมาอย่างหลากหลายและเรียกได้ว่าอมตะ แต่เขากลับเป็นคนที่มีประวัติศาสตร์จารึกไว้น้อยมาก ชีวประวัติทางการของซุนหวู่ถูกบันทึกไว้เพียง 406 ตัวอักษรจีน (สั้นกว่าบทความนี้เสียอีก) และส่วนที่ไม่เป็นทางการก็ไม่ได้มีมากไปกว่านี้นัก

และใน 406 ตัวอักษร ส่วนใหญ่ก็เล่าถึงวีรกรรมเมื่อเขาเริ่มเข้ารับตำแหน่ง

เรื่องมีอยู่ว่าแม่ทัพใหญ่แห่งแคว้นหวูได้อ่านพิชัยสงครามซุนหวู่แล้วเกิดความประทับใจจึงต้องการแนะนำให้หวูอ๋องช่วงใช้ซุนหวู่

หวูอ๋องไม่ได้ใส่ใจอะไรมาก ต้องแนะนำอยู่ถึง 7 ครั้งจึงให้เข้าพบ พบแล้วหวูอ๋องยังไม่ได้เห็นเขาเก่งกาจอะไร จึงลองให้ภารกิจเพื่อพิสูจน์ความสามารถว่าสมกับที่เขียนไว้ในตำราหรือไม่ หวูอ๋องให้ซุนหวู่ฝึกจัดทัพจากนางสนม

ใช่แล้ว นางสนมกำนัลที่คอยปรนนิบัติหวูอ๋องนี่แหละ

ซุนหวู่รับคำด้วยความจริงจัง พอถึงวันที่นัดหมาย ก็แบ่งแยกนางสนมทั้ง 180 คนเป็นสองกอง โดยมีสนมคนโปรดสองคนของหวูอ๋องเป็นหัวหน้ากอง

ในสายตานางสนมบรรยากาศการฝึกกองทัพครั้งนี้ดูสนุกสนาน ว่าแล้วซุนหวู่ก็ขึ้นแท่นบัญชาการ อธิบายว่าอะไรคือซ้ายหันขวาหัน แต่เหล่านางสนมกลับหัวเราะคิกคัก คิดว่าเป็นเรื่องเล่น

ซุนหวู่อธิบายอย่างละเอียดอีกหลายครั้ง แต่นางสนมยังซุบซิบ คิกคักอยู่เช่นเดิม

“หากสั่งไม่ชัดเจน ความผิดเป็นของแม่ทัพ หากคำอธิบายแจ้งชัดแล้วไม่ปฏิบัติตาม ความผิดย่อมเป็นของหัวหน้ากอง”

ซุนหวู่สั่งลากนางสนมคนโปรดทั้งสองไปประหารในฐานะหัวหน้ากอง แม้หวูอ๋องเห็นท่าเกินเหตุรีบเข้าห้ามปราม แต่ซุนหวู่ยืนกราน ประกาศิตของกองทัพย่อมอยู่กับแม่ทัพไม่ใช่กษัตริย์ หัวของนางสนมทั้งสองจึงหลุดจากบ่าในที่สุด

จากนั้นนางสนมทั้งหลายก็ขยาด ไม่เหยาะแหยะอีกต่อไป สั่งซ้ายเป็นซ้าย สั่งขวาเป็นขวา ไม่มีใครกล้าละเลยคำสั่ง เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า วินัยได้มาเพราะความเข้มงวดและเด็ดขาด

หวูอ๋องทั้งเศร้าทั้งเซ็ง แต่ก็ยอมใจใช้ซุนหวู่เป็นแม่ทัพ ผลคือยุทธศาสตร์ที่ซุนหวู่ช่วยวางแผน ทำให้แคว้นหวูยิ่งใหญ่และเอาชนะแคว้นฉู่ได้อย่างเป็นรูปธรรม

ที่จริงลำพังอ่าน “พิชัยสงครามซุนหวู่อย่างเดียวโดยไม่ต้องมีชีวประวัติซุนหวู่ข้างต้น ก็จะรู้สึกได้ว่าซุนหวู่เคร่ง ครัดวินัย และเน้นปรัชญาที่ใช้ได้จริงเป็นรูปธรรม”

นอกจากความเป็นตำราปรัชญา มันน่าจะเรียกได้ว่าเป็นตำรา How to เล่มแรกๆ ของโลก

จะใช้ไฟเผาผลาญข้าศึกอย่างไร เดินทัพให้สังเกตฝูงนก หรือฝุ่นผงที่ปลิวคลุ้งอย่างไร มีบอกไว้ทั้งสิ้น

น่าเชื่อว่า แม้ซุนหวู่จะอายุเพียง 25-26 ปี ก็มีประสบการณ์ท่ามกลางสงครามแล้วไม่น้อย ในที่นี้อาจไม่ได้หมายถึงในฐานะแม่ทัพ แต่ในฐานะผู้ผ่าน เห็นและสังเกตที่มาและจุดจบของสงครามมาก่อน

ภาพสงครามในพิชัยสงครามซุนหวู่ นอกจากวลีเด็ดสร้างแรงบันดาลใจจำนวนมาก ซึ่งมักถูกเอามาโฆษณาขายหนังสือ ก็ยังมีเนื้อหาอีกไม่น้อยที่บ่งบอกความรู้สึกที่แท้จริงที่ซุนหวู่มีต่อสงคราม ซึ่งไม่เคยเป็นภาพสงครามแบบในตำนานอย่างที่นิยายอิงประวัติศาสตร์ชอบทำให้เรารู้สึกฮึกเหิม เมามันในอารมณ์

แต่กลับเป็นสงครามที่มีส่วนผสมของเลือดเนื้อและหยาดเหงื่อราษฎรคละคลุ้ง ซุนหวู่พูดถึงว่าสงครามใหญ่น้อยต้องลงทุนด้านทรัพยากรอย่างหนักหนาสาหัสเพียงไร

“โจมตีเมืองควรเป็นทางเลือกสุดท้าย อาวุธ โล่ใหญ่ รถเกราะสำหรับตีเมือง ต้องใช้เวลาเตรียมสามเดือน สร้างเนินดินอีกสามเดือน”

“กองทัพเคลื่อนถึงที่ใด สินค้าที่นั้นจะแพง เงินในพระคลังก็จะร่อยหรอ เมื่อเงินร่อยหรอ ก็ต้องเก็บส่วยเกณฑ์แรงงาน... ทุกครัวเรือนอาหารจึงว่างเปล่า ภาษีของประชาราษฎร์จึงถูกใช้ไปถึงเจ็ดในสิบ”

เมื่อสงครามคือความเดือดร้อนขนาดนี้ ซุนหวู่จึงต้องการให้สงครามผ่านพ้นไปโดยเร็วที่สุด และเสียหายน้อยที่สุด

“ชัยชนะที่ดีที่สุด คือชนะโดยไม่ต้องรบ”

“มิเคยพบบ้านเมืองที่ได้รับผลดีจากสงครามที่ยืดเยื้อ ผู้ยังไม่เข้าใจผลร้ายจากสงคราม ย่อมไม่มีทางเข้าใจผลดีจากสงครามเช่นกัน”

สงครามไม่ว่าในยุคไหนก็ไม่เคยรอดพ้นจากความโหดร้าย เป็นอาณาเขตสุดท้ายที่มนุษยธรรมจะเอื้อมถึง เป็นโลกซึ่งไม่อยู่ในสภาวะปกติ เป็นสภาวะต่อเนื่องหลังจากการเมืองและการทูตล้มเหลว

และเพราะเป็นไม้ตายสุดท้ายของการตัดสินที่ลงทุนสูง จึงเป็นสิ่งที่ต้องรอบคอบรัดกุม และต้องพร้อมไว้ตลอดเวลา

ซุนหวู่เริ่มต้นพิชัยสงครามเล่มนี้ว่า “สงครามเป็นเรื่องสำคัญของชาติ คือความเป็นตายของราษฎร คือความคงอยู่หรือล่มสลายของชาติ จะไม่พิจารณาให้รอบคอบมิได้”

น่าดีใจที่พิชัยสงครามซุนหวู่ใน ยุคนี้ ส่วนใหญ่เอามาปรับใช้กับโลกฅธุรกิจ จนดูเหมือนว่าซุนหวู่เป็นเทพแห่งยุทธศาสตร์การใช้ชีวิตทั้งเรื่องรบ เรื่องรัก เรื่องธุรกิจ มากกว่าเรื่องการทหารโดยตรงเสียอีก

แต่ที่จริงต้นกำเนิดของตำราเล่มนี้ กลับมาจากประสบการณ์ของชายหนุ่มคนหนึ่งที่ผ่านคราบเลือดและน้ำตา แม้รู้ว่าสงครามคือสิ่งน่าเกรงกลัว แต่อีกด้านหนึ่งก็เป็นสิ่งจำเป็น และเขารู้ว่ามีแต่การเตรียมตัวให้พร้อมและรอบคอบที่สุดเท่านั้น จึงจะผ่านสงครามไปอย่างสูญเสียน้อยที่สุด

ประวัติศาสตร์ใดๆ ที่ทำให้เรารู้สึกกระหายสงครามคือประวัติศาสตร์ที่ล้มเหลวสำหรับมวลมนุษยชาติ ขณะที่ความเชื่อว่าสงครามจะไม่มีวันเกิดขึ้นหรือจะเกิดขึ้นอย่างมีมนุษยธรรมก็เป็นความเชื่อที่ไม่น่าไว้ใจ

ลองอ่านพิชัยสงครามซุนหวู่ในมุมมองที่ไม่ใช่ How to สมัยใหม่ดู แล้วจะรู้ว่าตำราเล่มนี้ และหัวของสองนางสนมคือพยานแห่งความโหดร้ายและจริงจังของสงคราม