posttoday

ภูมิต้านทาน ‘โลก’ ที่ผู้สูงวัยต้องมี

10 พฤศจิกายน 2559

ชีวิตคนเต็มไปด้วยการตัดสินใจ ตั้งแต่เรื่องเล็กน้อยไปจนถึงเรื่องใหญ่ที่มีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงชีวิต การเลือก การคิด

โดย...บีเซลบับ/ ภาพ คลังภาพโพสต์ทูเดย์

ชีวิตคนเต็มไปด้วยการตัดสินใจ ตั้งแต่เรื่องเล็กน้อยไปจนถึงเรื่องใหญ่ที่มีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงชีวิต การเลือก การคิด และการตัดสินใจคือสิ่งที่คุณต้องมี “ภูมิต้านทานโลก” ที่ควรแก่กล้ามากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเมื่อถึงคราวสูงวัย เรื่องง่ายๆ หรือพูดอีกทีก็คือเรื่องที่เคยง่าย ได้กลายเป็นเรื่องยาก เรื่องที่เคยคิดว่าง่ายเหมือนพลิกฝ่ามือได้ ปัจจุบันพลิกไม่ได้และไม่ใช่เช่นนั้น

ต่อไปนี้คือ 4 ข้อและหลักคิดง่ายๆ สำหรับผู้สูงวัยที่จะช่วยให้ชีวิตง่ายขึ้น ในการคิดและตัดสินใจกับสิ่งต่างๆ ที่เข้ามาในช่วงนี้ของชีวิตได้ดีขึ้น (อุ๊ปส์)

1.อย่ามัวคร่ำครวญกับสิ่งที่จากไป

เรื่องนี้ฟังดูคุ้นๆ ไหม ในตู้เสื้อผ้ามีเสื้อผ้าที่ตัดมาเต็มตู้แต่ไม่ใส่ หากก็ไม่ทิ้งเพราะมันแพง แรงผลักดันที่อยู่เบื้องหลังคือความเสียดาย (ในสิ่งที่ไม่ควรเสียดาย) งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยโอไฮโอชี้ให้เห็นว่าเราถูกวิธีคิดแบบนี้หลอกได้ง่าย เหตุผลในการเลือกคือ ยิ่งเราลงทุนไปมาก (ไม่จำเป็นต้องเป็นเงิน) เราก็ยิ่งรู้สึกเสียดายมาก

ถ้าคุณยังต้องทนกินอะไรที่ไม่อยากกิน ยังต้องอ่านอะไรที่ไม่อยากอ่าน แค่เพราะเหตุผลว่าซื้อมาแล้ว ต้องเลือกทัวร์ที่แพงกว่าแต่รายการไม่น่าดึงดูดใจเลย ก็เพราะเหตุผลเดียวว่าได้ลงทุนซื้อหรือจ่ายมัดจำไปแล้ว ต้องทนเดินทางไปกับทัวร์ที่น่าเบื่อตลอดทริปให้จบๆ ไป ถ้าเป็นเช่นนี้ขอให้เตือนตัวเองว่า อดีตคืออดีต ถ้าเห็นว่าสิ่งที่เริ่มไว้ควรจบได้แล้ว ก็จบเดียวนั้นเลย อย่าทนหรืออย่าฝืนทำต่อไป

2.อย่าหลงเชื่ออะไรง่ายๆ

บางครั้งการตัดสินใจของเราอาจยึดติดกับข้อเท็จจริงและตัวเลขที่ไม่เกี่ยวข้องกัน ในงานวิจัยหนึ่งเสนอทฤษฎีเรื่อง “ความโน้มเอียงที่จะใช้ข้อมูลเบื้องต้นในการตัดสินใจ” ระบุว่า เรื่องแบบเดียวกันเกิดขึ้นทุกครั้งที่เราเห็นคำว่า “ลดราคา” ราคาเดิมบนป้ายทำหน้าที่เป็นเหมือนข้อมูลเบื้องต้นซึ่งเมื่อเทียบแล้วราคาถูกลง ทั้งที่จริงก็แพงอยู่ดี เราจะเอาชนะความโน้มเอียงนี้ได้อย่างไร

คำตอบ คือ ยากมาก นักจิตวิทยาให้เหตุผลว่ากลยุทธ์คือการสร้างข้อมูลเบื้องต้นของคุณมาถ่วงดุล แต่กระนั้นก็ยังมีปัญหา เนื่องจากคุณเองก็ไม่มีทางรู้ว่าตัวเองได้รับอิทธิพลมากน้อยแค่ไหนจากข้อมูลเบื้องต้นดังกล่าว การสร้างข้อมูลเพื่อชดเชยจึงเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก หนทางที่จะลดความเสียหายจากเรื่องนี้คือหมั่นเตือนตัวเองว่า อย่าหลงเชื่ออะไรง่ายๆ

3.จำกัดตัวเลือก

คุณอาจคิดว่ายิ่งตัวเลือกมากยิ่งดี แต่ลองดูกรณีนี้คนพอใจกับการเลือกช็อกโกแลตจากที่มีให้เลือก 5 ชนิดมากกว่าที่จะต้องเลือกจาก 30 ชนิด นักจิตวิทยาจากงานวิจัยเดียวกันระบุว่า ความขัดแย้งในการเลือก แม้เราจะคิดว่ามีตัวเลือกมากกว่าดีที่สุด แต่บ่อยครั้งที่ “น้อย” ดีกว่า “มาก”

ตัวเลือกมากทำให้คุณต้องใช้ทักษะในการประมวลข้อมูลมากขึ้น กระบวนการก็ชวนให้สับสน แถมกินเวลาและยังเพิ่มโอกาสในการทำพลาด ผู้เลือกมักรู้สึกไม่ค่อยพอใจ (ในการเลือก) เพราะวิตกว่า
ตัวเองจะพลาดโอกาสที่ดีกว่า ถ้าคุณตั้งใจไปหาสิ่งที่ “ดีเพียงพอ” แรงกดดันทั้งหลายจะหมดไป ภาระในการเลือกสิ่งต่างๆ ท่ามกลางตัวเลือกที่ไม่จำกัด จะกลายเป็นงานที่คุณจัดการได้ง่ายขึ้น  จำกัดตัวเลือกลงดีกว่า ชีวิตจะง่ายขึ้น

4.ให้คนอื่นเลือกให้

เรามักเชื่อว่าจะมีความสุขมากกว่าถ้าได้ตัดสินใจด้วยตัวเอง แต่ไม่ว่าผลลัพธ์จะออกมาอย่างไร บางครั้งกระบวนการตัดสินใจก็อาจยังเหลือความรู้สึกไม่พึงใจไว้ จะดีกว่าหรือไม่ถ้าผู้สูงวัยลดการควบคุมหรือลดความพยามยามในการควบคุมปัจจัยต่างๆ ในชีวิตลง

เหตุผลก็คือ ผู้เลือกไม่อาจยกความดีความชอบให้ตัวเองได้ (แม้จะลงเอยด้วยตัวเลือกที่ดีก็ตาม) เนื่องจากผู้เลือกยังคงรู้สึกหนักใจด้วยความคิดที่ว่าตนอาจเลือกได้ในสิ่งที่ไม่ดีที่สุด แม้ผู้เลือกจะมีข้อมูลอยู่เล็กน้อยเพียงไหน ในขนาดที่ไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบต่อผลลัพธ์ที่ได้ พวกเขาจะสบายใจกว่าถ้ามีคนอื่นเลือกให้

การค้นพบนี้มีนัยบ่งชี้สำหรับการตัดสินใจใดๆ ก็ตามที่อาจเล็กน้อย หรือไม่ชอบใจในผลของการเลือกได้ ยกตัวอย่างเช่น การเลือกทริปเดินทางไปต่างประเทศ การเลือกสีเสื้อ การเลือกช่วงเวลาไปเยี่ยมญาติมิตรในช่วงเทศกาล คนเรายึดติดกับการเลือก และเชื่อว่าการเลือกจะนำความสุขมากให้ แต่บางครั้งก็ไม่ใช่ โดยเฉพาะผู้สูงวัย ครั้งหน้าลองปล่อยให้คนอื่นเลือกไวน์ระหว่างมื้อค่ำบ้าง