posttoday

สูงวัยอย่างมีความสุข พูดน้อยฟังเยอะ

03 พฤศจิกายน 2559

การสูงวัยไม่ใช่เรื่องยากเป็นของแถมที่ทุกคนต้องเจอ ไม่อยากได้ก็ต้องได้ แต่จะสูงวัยอย่างไรให้มีความสุขนั่นสิไม่ใช่เรื่องง่าย

โดย...กันย์ ภาพ อีพีเอ, เอพี

การสูงวัยไม่ใช่เรื่องยากเป็นของแถมที่ทุกคนต้องเจอ ไม่อยากได้ก็ต้องได้ แต่จะสูงวัยอย่างไรให้มีความสุขนั่นสิไม่ใช่เรื่องง่าย งานเขียนวันนี้มีข้อแนะนำที่ดีคือยิ่งสูงวัยต้องพูดให้น้อยแล้วฟังให้เยอะเพื่อที่จะลดปัญหาความไม่เข้าใจกันระหว่างคนในครอบครัวและคนรอบตัว จะได้ไม่มีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์

น่าแปลกที่หลายคนคิดว่า การฟังเป็นเรื่องไม่สำคัญ จึงไม่ค่อยได้ใส่ใจ อาจเพราะเห็นว่าเป็นความสามารถตามธรรมชาติที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด ทั้งๆ ที่ “การฟัง กับการได้ยิน” นั้นแตกต่างกัน การฟังที่แท้จริง ต้องใช้สติและการเอาใจใส่

1.ฟัง แล้วคิดดักหน้า

หลายคนมักจะคิดว่า การฟังที่ดีต้องคิดตามไปด้วย จะได้เข้าใจได้ดีขึ้น อันที่จริงการคิดก็ไม่ผิด แต่หลายครั้งที่ฟัง เรามักเผลอคิดไปดักหน้า คือคิดวิเคราะห์ไปล่วงหน้าแล้ว ว่าคนพูดจะพูดอะไรต่อไป ถ้าเป็นเรา ในสถานการณ์นี้จะทำอย่างไรดี เตรียมคำแนะนำไว้ให้เขาเสร็จสรรพ โดยที่ไม่รู้เลยว่าขณะที่เราคิดก็ได้พลาดสิ่งที่เขาต้องการสื่อสารอย่างแท้จริงไป บางคนก็ขี้สงสัยเมื่อฟังไม่ทันไรก็ชอบตั้งคำถาม ตั้งข้อสังเกต จนกระทั่งผู้พูดไม่ได้พูดสิ่งที่เขาต้องการเลย

ควรฟังด้วยความว่างอย่างมีสติรู้ตัว ไม่ขัด ไม่แทรก ปล่อยให้ผู้พูด พูดจนจบ แล้วหากมีคำถามจึงสอบถามทีหลัง ไม่ด่วนให้คำแนะนำ หากคนพูดไม่ได้ร้องขอ

2.ฟัง แล้วจมกับอารมณ์

เมื่อมีเพื่อนหรือคนใกล้ชิดมาระบายความทุกข์ให้ฟัง เราก็จะจมไปกับเรื่องราว อารมณ์ก็จะเอ่อขึ้นมาแบบท่วมท้น อินไปกับเรื่องนั้นและยิ่งหากเรามีประสบการณ์ใกล้เคียง ทำให้เราย้อนนึกถึงอดีตจนไม่ได้รับฟังอย่างแท้จริง การมีอารมณ์ร่วมและแสดงความเห็นอกเห็นใจในการฟังย่อมเป็นสิ่งที่ดี แต่หลายๆ ครั้งอาการอินของเรา หากมากเกินไปจะมาบดบังการฟัง และครอบครองพื้นที่ในใจจนทำให้เราละเลยผู้พูดไปอยู่แต่เรื่องของตัวเอง

เมื่อรู้สึกเกิดอารมณ์ร่วมอย่างมากในการฟัง ให้กลับมาระลึกรู้อยู่กับลมหายใจเข้าและออก หรือรับรู้ถึงการเต้นของหัวใจเรา ใช้สติแยกแยะว่า เราสามารถรับฟังเขาได้ แสดงความเห็นใจคนข้างหน้าได้ โดยที่ไม่ต้องจมไปกับอารมณ์นั้น

3.ฟัง แบบใจลอย

บางคนมักจะบอกกับตัวเองว่าเป็นคนสมาธิสั้น ใครพูดนานๆ จะไม่เข้าใจ พอฟังได้นิดเดียว ใจก็จะลอยไปเรื่องอื่น แต่ปรากฏว่าหลายคนที่พูดแบบนั้น สามารถเล่นเกมหรือแชตได้นานๆ คำว่าสมาธิสั้นนั้น อาจจะดูเป็นเพียงข้ออ้างในการฟังเกินไป

ในกรณีนี้ อยู่ที่ความพร้อมในการฟัง หากเราไม่สนใจจะสนทนาในเรื่องนั้น ก็ควรบอกอีกฝ่ายไปตรงๆ ว่าเราติดธุระอะไรอยู่ หรือไม่สะดวกคุยตอนนี้ การทำทีว่าฟัง แต่จริงๆ แล้วไม่ได้ใส่ใจฟังนั้น จะสร้างความรู้สึกแย่ให้กับผู้พูดอย่างมาก ซึ่งคนที่พูดเขาจะรู้สึกได้ว่า จริงๆ แล้วเราฟังเขาอยู่หรือเปล่า

4.ฟัง แบบมีธงในใจ

คนที่ใจร้อนมักจะเป็นกันมาก หากไม่สังเกตให้ดี ก็จะมองไม่เห็นตัวเองเลย การฟังแบบมีธงในใจจะเกิดขึ้นเมื่อเราคิดว่าตัวเองรู้ดีกว่าผู้พูด หรือรู้อยู่แล้วว่าผู้พูดจะพูดอะไรต่อ ทำให้เพียงเริ่มบทสนทนาได้ไม่นานก็จะปิดการฟังไป เพราะได้ตัดสินและมีคำตอบในใจอยู่แล้ว หลายๆ คนอาจจะรู้สึกว่าเสียเวลา ไม่อยากรอให้อีกฝ่ายพูดจบเพราะคิดว่าไม่จำเป็น ในเมื่อเรามีคำตอบที่ชัดเจนในใจอยู่แล้ว จึงมักขัดขึ้นมากลางทางเลย แย่งพูดโดยที่ไม่คำนึงถึงความรู้สึกของอีกฝ่ายหนึ่ง

เมื่อรู้สึกอึดอัด ไม่อยากฟัง ให้พิจารณาว่าเรากำลังตัดสินหรือมีธงในใจอยู่แล้วใช่ไหม ถ้าหากใช่ ให้ลองแขวนคำตัดสินนั้นๆ ไปก่อน แล้วกลับมามีสติอยู่กับการฟังใหม่อีกครั้ง

พยายามรับฟังให้ลึกซึ้งกว่าเนื้อความ ให้ลึกลงไปถึงอารมณ์ ความเชื่อ มุมมองของผู้พูด ก็จะทำให้เราเข้าใจผู้พูดได้ดีขึ้น หลุมพรางในการฟังทั้ง 4 ประการ เป็นเรื่องที่หากไม่ตระหนักรู้หรือสังเกตตัวเองให้ดีพอ เราจะคิดว่าเราฟังเป็นอยู่แล้ว แต่ที่ไหนได้ เราไม่เคยฟังเลย

หากมีทักษะการฟังที่ดีก็จะมีความเข้าใจอีกฝ่าย จะรู้ว่าควรจะพูดกับเขาอย่างไร การสื่อสารที่ดีจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อมีคนพูดและมีคนรับฟัง