posttoday

คนหลังกล้อง ผู้บันทึกก้าวพระบาท

20 ตุลาคม 2559

ในชีวิตช่างภาพข่าว คงไม่มีงานใดมีค่าไปกว่า งานตามเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

โดย...กาญจนา, มัลลิกา ภาพ... คลังภาพบางกอกโพสต์

ในชีวิตช่างภาพข่าว คงไม่มีงานใดมีค่าไปกว่า งานตามเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ทุกเสียงจากคำบอกเล่าของช่างภาพข่าวที่เคยบันทึกภาพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ต่างยกย่องให้เป็นที่สุดของชีวิต พวกเขาเป็นคนหลังกล้องผู้มองพระราชา แต่ใครจะรู้บ้างว่า นอกจากเสียงชัตเตอร์ที่ลั่นออกมา ยังมีเสียงหยดน้ำตาแห่งความตื้นตันเจือปนอยู่

เรื่องราวเหล่านี้ คือ คำบอกเล่าจากช่างภาพข่าว เครือบริษัท โพสต์ พับลิชชิง

คนหลังกล้อง ผู้บันทึกก้าวพระบาท ภาพถ่ายโดย สายัณห์ พรนันทารัตน์

 

ต่อหน้าพระพักตร์พระราชา

สายัณห์ พรนันทารัตน์ อดีตบรรณาธิการฝ่ายภาพ หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ อายุ 64 ปี ตลอดชีวิตเขาเลือกปฏิบัติหน้าที่เป็นช่างภาพข่าว และในช่วงชีวิตหนึ่งเคยติดตามพระบาทสมเด็จพระปรมิน
ทรมหาภูมิพลอดุลยเดช อย่างใกล้ชิด

“เป็นโชคดีของผมมากที่ได้เข้าใกล้พระเจ้าอยู่หัว เพราะในอดีตช่างภาพสามารถเข้าใกล้พระองค์ได้ในระยะ 3-4 เมตร หรือบางครั้งในขณะที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปประทับต่างจังหวัด ช่างภาพจะได้ใกล้ชิดมาก แต่ไม่ว่าอย่างไรเราต้องเป็นงาน ต้องระมัดระวังพฤติกรรม สำรวม และรู้กาลเทศะอย่างเคร่งครัด”

สายัณห์ทำงานเป็นช่างภาพข่าวนาน 30 ปี ระยะเวลากว่า 10 ปีที่เขาได้ตามเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งตลอดชีวิตการทำงานมีเหตุการณ์หนึ่งที่ช่างภาพคนนี้มิอาจลืม วันนั้นเป็นเวลาเย็น พระองค์เสด็จฯ จากวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) ไปยังพระบรมมหาราชวัง หลังเสร็จสิ้นพระราชกรณียกิจ

คนหลังกล้อง ผู้บันทึกก้าวพระบาท สายัณห์ พรนันทารัตน์

“ผมเป็นคนเดียวที่เดินตามพระองค์ ระหว่างที่เดินนั้น พระองค์ทรงหยุดและหันมามองผมที่เดินตามอยู่ด้านหลัง พระองค์แย้มพระสรวล พอเห็นดังนั้นผมคำนับแล้วหันไปดูข้างหลังว่าท่านยิ้มให้ใคร ปรากฏไม่มีใครอยู่ข้างหลังผมเลย” สายัณห์เล่าด้วยความปลื้มปีติ “ไม่ว่าจะเสด็จฯ ไปที่ไหน พระองค์จะชอบมองตากล้อง มองดูพวกเรา (ช่างภาพข่าว) อยู่ตลอด ยิ่งทำให้เราภูมิใจที่ได้เป็นช่างภาพของพระองค์”

เขายังเล่าทุกฉากทุกตอนได้เห็นชัดประหนึ่งเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวาน รอยพระสรวลของพระองค์ยังชัดเจนและยังติดตาช่างภาพหนุ่มคนนั้น แม้ว่าวันนี้เขาจะเป็นอดีตช่างภาพที่เกษียณอายุงานไปแล้ว แต่ภาพในวันนั้นอยู่ในความทรงจำของเขาตลอดไป

สายัณห์เล่าอีกเหตุการณ์สำคัญ เขาจำเดือนปีได้ไม่แน่ชัดแต่ราวๆ 30 ปีก่อน ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง และเสด็จฯมาพระราชทานน้ำพระพุทธมนต์แก่ประชาชนที่มาคอยเฝ้าฯ รับเสด็จรอบๆ พระอุโบสถ

คนหลังกล้อง ผู้บันทึกก้าวพระบาท ภาพถ่ายโดย สายัณห์ พรนันทารัตน์

ผู้ถ่ายภาพ คือ สมบูรณ์ เกตุผึ้ง อดีตหัวหน้าช่างภาพหนังสือพิมพ์สยามรัฐ

“ถ้าพูดในภาษาสามัญชนต้องกล่าวว่า ท่านใจดี ท่านเข้าใจการทำงานของช่างภาพ จึงสามารถใกล้ชิดพระองค์ได้แบบนี้ (ดังภาพ) ผมห่างออกไปไม่เกิน 4 เมตร พระองค์พระราชทานน้ำพระพุทธมนต์แก่ประชาชน เป็นจังหวะเดียวกับที่ผมยืนอยู่ตรงนั้น ตรงหน้าท่านพอดี” สายัณห์ กล่าว

ตลอดชีวิตของการเป็นช่างภาพข่าว คงไม่มีภารกิจอะไรที่จะน่าภูมิใจไปกว่าการเป็นช่างภาพตามเสด็จฯ สายัณห์ใช้คำว่า ช่างเป็นงานที่เหนือคำบรรยาย เพราะไม่มีภาพใดที่จะอยู่สูงเท่า

“ที่บ้านผมมีรูปพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ติดอยู่หลายรูป ทุกรูปผมจำทุกอย่างได้หมด ท่านทรงทำอะไร อยู่ที่ไหน เหน็ดเหนื่อยอย่างไร ผมไม่เคยลืม” เขากล่าวทิ้งท้าย

คนหลังกล้อง ผู้บันทึกก้าวพระบาท สาโรช เมฆโสภาวรรณกุล

ผู้บันทึกก้าวพระบาท

สาโรช เมฆโสภาวรรณกุล บรรณาธิการฝ่ายภาพ หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ เขาเริ่มทำงานโดยการฝึกงานที่หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์เมื่อปี 2538 จากนั้นเริ่มทำงานจริงในอีก 3 ปีต่อมา ซึ่งปีหน้าจะครบ 20 ปีในการเป็นช่างภาพข่าว

สาโรชเล่าถึงเหตุการณ์สำคัญในปี 2542 ที่ได้รับหน้าที่ถ่ายงานเสด็จออกสีหบัญชร ครั้งที่ 2 ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช “ตอนนั้นเพิ่งทำงานจึงรู้สึกดีใจที่มีโอกาสนี้ แม้ว่าจะไม่ได้อยู่ใกล้พระองค์ แต่ภาพที่ออกมาก็พึงพอใจมาก เป็นจังหวะที่พระองค์โบกพระหัตถ์ให้ประชาชน ซึ่งภาพได้ตีพิมพ์หน้าหนึ่งในวันรุ่งขึ้น”

นอกจากนี้ เขายังมีโอกาสใกล้ชิดใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทอีกครั้ง ในวันที่ 6 พ.ค. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  เสด็จฯ เป็นการส่วนพระองค์ พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเปิดสระสุวรรณชาด ณ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และได้ทรงพาคุณทองแดงสุนัขทรงเลี้ยงมาร่วมในพิธีเปิดสระด้วย

“วันนั้นคุณทองแดงเป็นประธาน คุณทองแดงนั่งรถคู่กับในหลวง จากนั้นท่านเดินจูงไปที่ปะรำพิธี มีการชั่งน้ำหนัก และฟังคำอ่านแถลง ในจังหวะนั้นช่างภาพคนอื่นไปรออยู่ที่สระน้ำแล้ว แต่ผมยังเก็บภาพอยู่ จากนั้นพอพระองค์ท่านทรงเดินไปที่สระ ทำให้มีผมอยู่ข้างล่างคนเดียว และได้ภาพที่ท่านกำลังก้าวขึ้นบันได โดยมีคุณทองแดงอยู่ด้านหน้า เป็นภาพที่มีไดนามิก ดูมีชีวิต มีเส้นนำสายตาขึ้นไป พอท่านเสด็จฯขึ้นไป เราก็ตามไปทีหลังกับเจ้าหน้าที่ ตอนนั้นยังจำได้ว่า คุณทองแดงอยากลงเล่นน้ำมาก แต่ท่านตรัสว่า เล่นไม่ได้ เดี๋ยวขากลับรถเปียก” สาโรชเล่าความประทับใจ

คนหลังกล้อง ผู้บันทึกก้าวพระบาท ภาพถ่ายโดย สาโรช เมฆโสภาวรรณกุล

เขาส่งภาพนี้เข้าประกวด และได้รับรางวัลภาพข่าวสื่อมวลชนยอดเยี่ยม ครั้งที่ 10 หลังจากภาพถูกตีพิมพ์ลงหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

ทว่า รูปที่สาโรชประทับใจที่สุดในชีวิตการทำงาน กลับไม่ใช่รูปรางวัล แต่เป็นรูปที่ไม่เคยถูกตีพิมพ์ เขาเล่าถึงวันหนึ่งในปี 2547 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จฯไปสอนหนังสือเด็กในโครงการแก้ไขปัญหาการระบายน้ำโดยเฉพาะบริเวณคันกั้นน้ำเค็ม จ.เพชรบุรี

“พอไปถึงเห็นท่านทรงอธิบายสอนนักเรียน จากนั้นเมื่อสอนเสร็จท่านก็เสด็จฯออกมาทางป่าชายเลน ตอนนั้นช่างภาพหลายคนอยู่ข้างหน้าท่าน ท่านทรงยกกล้องส่วนพระองค์ขึ้นมาทรงกดชัตเตอร์ พอท่านทรงยกปุ๊บตำรวจก็ไล่พวกเรา ผมรีบกดชัตเตอร์แล้วหลบออกไป ภาพนี้ไม่ได้ลงตีพิมพ์ แต่ผมเก็บไว้เป็นครั้งหนึ่งในชีวิต เพราะตรงหน้าท่านที่ท่านถ่ายมีแต่ช่างภาพยืนอยู่ ผมเชื่อว่าท่านทรงถ่ายพวกเรา” เขาเริ่มเสียงเครือหลังจากที่เล่าด้วยน้ำเสียงสดใสมาตลอด

“ผมตื้นตันที่ได้ทำงานบันทึกภาพของพระองค์ท่าน นับเป็นบุญในชีวิตของช่างภาพ เป็นเกียรติสูงสุดในชีวิตการทำงาน ถ้าท่านยังอยู่ก็อยากทำหน้าที่นี้ต่อไป แต่วันนี้ผมได้แต่นั่งดูภาพเก่าที่เคยถ่าย คิดถึงพระองค์ท่านเหลือเกิน” น้ำตาช่างภาพหลั่งริน บทสนทนาจบเพียงเท่านั้น

คนหลังกล้อง ผู้บันทึกก้าวพระบาท ถาพถ่ายโดย เจตจรัส ณ ระนอง

เพื่อในหลวง

เจตจรัส ณ ระนอง ช่างภาพหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ทำหน้าที่เป็นช่างภาพข่าวมาตั้งแต่ยุคพฤษภาทมิฬในปี 2535 โดยเริ่มจากเป็นช่างภาพข่าวให้หนังสือพิมพ์สยามโพสต์ และย้ายมาประจำการที่หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์จนถึงปัจจุบัน เขาเคยไปประจำที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เดือนเว้นเดือนนาน 3 ปี ได้เล่าถึงประสบการณ์ที่ภาคใต้ว่า เป็นช่างภาพต้องรู้จักพูดคุยกับชาวบ้าน รู้จักหาข่าว และรู้จักหลบหลีกให้เป็น ซึ่งเขาไม่ได้มองเรื่องความเสี่ยงและอันตรายเป็นประเด็นสำคัญหรือเป็นอุปสรรคในการทำงาน

“ทุกที่อันตรายหมด ไม่ว่าจะนั่งมอเตอร์ไซค์รับจ้างในกรุงเทพฯ ก็อันตราย เราต้องอยู่เป็น ฟังคำเตือนคนอื่น รู้ขอบเขตของตัวเอง ทำยังไงก็ได้ให้ปลอดภัยเพื่อชีวิตและงานของเรา”

ความที่เป็นช่างภาพที่ถ่ายภาพได้ทุกอย่าง เขาจึงมีโอกาสเข้าร่วมในการเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม ท่ามกลางพายุฝนกระหน่ำในวันที่ 7 พ.ย. 2539

“ภาพที่ออกมาไม่เหมือนภาพถ่าย แต่เหมือนภาพวาด เพราะเม็ดฝนที่ตกลงมาเหมือนลายแปรงพู่กันของศิลปิน” ตอนนั้นเขามีประสบการณ์ทำงานไม่กี่ปี ซึ่งเบื้องหลังภาพ เขาประจำตำแหน่งอยู่ที่
ราชนาวิกสภา ในมือมีเลนส์รีเฟล็กซ์ 50 ต่างจากพี่ช่างภาพคนอื่นที่มีเลนส์ซูมไปที่กลางแม่น้ำ

“เราต้องศึกษาเลนส์” เขากล่าวถึงเทคนิคของกล้องถ่ายรูป “เรามีเลนส์อะไร ต้องรู้จักมันและใช้มันให้ดีที่สุด ตอนนั้นผมมีแค่เลนส์ตัวเดียวก็ใช้มันให้ดี เพราะผมเชื่อว่าอุปกรณ์ไม่สำคัญเท่ามุมมองและความตั้งใจ ถ้าเราสามารถถ่ายภาพที่ดีที่สุดได้ก็ไม่สำคัญว่าใช้กล้องหรือเลนส์อะไร”

การทำงานตลอด 24 ปี เจตจรัสยกให้ภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นที่หนึ่งในดวงใจ ซึ่งแม้ว่าครั้งนั้นเขาจะไม่อยู่ใกล้ แต่ดวงตาก็ได้เห็นพระองค์ชัดเจนผ่านเลนส์ของกล้องในมือ