posttoday

ดินโคลนเอาตัวรอดได้อย่างไรดี

05 ตุลาคม 2559

ปีนี้น้ำเยอะจริงๆ ล่าสุดเมื่อสักครู่นี้ก็เพิ่งได้ยินข่าวกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)

โดย...บีเซลบับ ภาพ... คลังภาพโพสต์ทูเดย์

ปีนี้น้ำเยอะจริงๆ ล่าสุดเมื่อสักครู่นี้ก็เพิ่งได้ยินข่าวกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงภัยจากระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่เพิ่มสูงขึ้นในหลายพื้นที่ เมื่อก่อนเวลาเราเห็นเมฆฝนดำทะมึนลอยมา เราจะรีบนึกภาวนาในใจว่า ขอให้ไปตกที่ที่คนต้องการฝน แต่ปัจจุบันไม่รู้จะอธิษฐานอย่างไร เพราะช่วงน้ำเยอะแบบในตอนนี้ ไม่มีใครหรือไม่มีพื้นที่ไหนที่ต้องการน้ำฝนอีก

น้ำท่วม-น้ำป่าไหลหลาก

เป็นที่ทราบกันดีว่า ในหลายพื้นที่ของประเทศไทยกำลังเผชิญภัยน้ำท่วมด้วยความแปรปรวนของสภาวะอากาศ ทำให้ฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ แต่ขาดป่าไม้ที่จะช่วยดูดซับน้ำ ทำให้มีความเสี่ยงในการเผชิญภัยน้ำท่วมที่รุนแรง นั่นหมายถึงว่าหลายท้องที่ของเราต้องเตรียมตัวรับมือกับภัยน้ำท่วมที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกปี รวมทั้งปีนี้ที่ไม่เฉพาะแต่ภัยน้ำท่วมเท่านั้น ที่มาพร้อมกันคือน้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม

ดินโคลนถล่ม เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ มีพายุฝนตกหนักรุนแรงต่อเนื่องกันหลายวัน บวกกับฝีมือมนุษย์ตัดป่า เมื่อไร้ป่าทำหน้าที่ดูดซับอุ้มน้ำกลายเป็นภูเขาหัวโล้น เมื่อฝนตกหนักต่อเนื่องก็จะมีมวลน้ำจำนวนมากไหลบ่าลงสู่พื้นที่ต่ำกว่าอย่างรวดเร็ว จนพลังน้ำไหลกัดเซาะหน้าดินให้พังทลาย และยังแทรกซึมลงสู่ใต้ดิน ทำให้ดินชุ่มน้ำจนอิ่มตัว แรงยึดเหนี่ยวเกาะตัวกันของดินก็ลดลง เพราะไม่มีรากของต้นไม้ใหญ่ช่วยยึด เกิดการเลื่อนไหลไม่มีแรงต้าน โดยเมื่อดินเลื่อนไหลแล้วจะเกิดต่อเนื่องกันไปตามลาดเขาตามแรงโน้มถ่วงของโลก

“หลังจากเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวรุนแรง หรือหลังจากการเกิดน้ำป่าไหลหลาก เพราะพายุฝนตกหนักรุนแรง (มากกว่า 100 มิลลิเมตร/วัน) สะสมกันอย่างต่อเนื่อง อาจมีดินโคลนถล่มเกิดตามมา มวลดิน ทราย โคลน รวมทั้งก้อนหินขนาดใหญ่และเล็ก เคลื่อนที่เลื่อนไหลถล่มลงมาตามเนินลาดชัน หุบเขา หน้าผา หรือไหล่เขาอันสูงชัน”

ข้อมูลจากศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ระบุว่า หากเราสามารถพยากรณ์ปริมาณน้ำฝนและวัดระดับน้ำฝนในพื้นที่ได้ จะทำให้การพยากรณ์น้ำท่วมและภัยดินโคลนถล่มมีความแม่นยำขึ้น ลดความเสียหายทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้ นอกจากนี้คือการจัดหาเครื่องมือวัดความชื้นในดิน โดยติดตั้งในหมู่บ้านที่มีความเสี่ยงควบคู่กับระบบเตือนภัยเพื่อเพิ่มความแม่นยำนั่นเอง

“การเตือนภัยและเทคโนโลยีการเตือนภัยที่ดี ย่อมเป็นส่วนหนึ่งของการรับมือภัยธรรมชาติที่ไม่คาดคิดเหล่านี้”

พื้นที่เสี่ยงดินโคลนถล่ม คือ หมู่บ้านต่างๆ ที่ตั้งอยู่บริเวณเนินลาดเชิงเขาและริมแม่น้ำลำธารใน 10 จังหวัดทางภาคเหนือ ได้แก่ จ.เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง แพร่ น่าน พะเยา อุตรดิตถ์ ตาก แม่ฮ่องสอน และลำพูน รวมถึง 7 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ จ.ระนอง ชุมพร กระบี่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง และตรัง

พื้นที่เสี่ยงดินโคลนถล่ม

1.ตั้งอยู่บนพื้นที่ล้อมรอบด้วยภูเขาสูงชัน หรือติดกับเชิงเขา

2.มีลำห้วยหรือธารน้ำเล็กๆ อยู่ใกล้ๆ หรือไหลผ่าน

3.มีร่องรอยของกองหิน เนินทราย ดินโคลน อยู่ในลำธารหรือลำห้วยที่แสดงว่าเคยเป็นพื้นที่ที่ถูกน้ำป่าซัดพัดพาไหลหลากมาทับถมกันมาบ้างแล้ว หรือบริเวณพื้นท้องน้ำของลำห้วย ประกอบไปด้วยก้อนหินหลายขนาด ใหญ่บ้างเล็กบ้างคละกันไปตลอดพื้นท้องน้ำของลำห้วยหรือทางน้ำไหลนั้นๆ

4.มีรอยแผ่นดินแยกแตกเลื่อนไหลอยู่บนภูเขา

4 วิธีสังเกตสัญญาณเตือนภัย

1.สังเกตปริมาณน้ำในลำห้วยที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว น้ำไหลเชี่ยวด้วยความเร็วสูง ตะกอนดินทรายที่ถูกพัดพาลงมาจากภูเขามีสีขุ่นและมีระดับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว อันเนื่องมาจากมีฝนตกหนักทางตอนเหนือของต้นน้ำลำธาร

2.มีฝนตกหนักมากติดต่อกันหลายวัน

3.เกิดเสียงดังอึกทึกครึกโครม หรือเสียงอื้ออึงสะเทือนลั่นครืนๆ มาจากบริเวณตอนเหนือของภูเขาและลำห้วย

4.น้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมหมู่บ้านชุมชนอย่างรวดเร็วจนไม่ทันรู้ตัว

เอาตัวรอดได้อย่างไรดี

1.ในขั้นของการเตรียมรับมือ ได้แก่ การพัฒนาพื้นที่เกษตรเชิงเขาหรือบนเนินที่ลาดให้เป็นขั้นบันได ซึ่งทำให้น้ำฝนที่ตกลงมาซึมลงไปได้ง่าย

2.ปลูกหญ้าแฝกตามไหล่ทาง เพื่อยึดหน้าดินและชะลอการไหลบ่าของน้ำ

3.ทำคันดินกั้นทางน้ำไหล เพื่อเบี่ยงเบนทิศทางการไหลของน้ำ ให้ไหลไปสู่แหล่งกักเก็บ เช่น อ่างน้ำ ทะเลสาบเทียม

4.สร้างฝายชะลอน้ำ ขุดบ่อดักตะกอนและหมั่นขุดลอกตะกอนทางระบายน้ำเสมอ

5.อบรมให้ความรู้ชุมชนโดยยึดหลักการตระหนักรู้ ให้รู้จักสังเกตปริมาณน้ำฝน ตะกอนดิน และเศษซากต้นไม้ที่ไหลมากับน้ำ ถ้าเพิ่มมากขึ้นจนผิดปกติให้สันนิษฐานได้เลยว่า นั่นคือ สัญญาณอันตรายที่บ่งบอกว่า อาจเกิดการเคลื่อนตัวของดินลงมาจากภูเขาเข้าถล่มทับหมู่บ้านในไม่ช้า

6.สร้างหอเตือนภัยและจัดตั้งเครือข่ายหน่วยอาสาสมัคร ผลัดเปลี่ยนกันเฝ้ายาม ระวังและส่งสัญญาณเตือนภัยจากน้ำป่าไหลหลากและดินถล่มเป็นระยะๆ ตั้งแต่บริเวณต้นน้ำ กลางน้ำ ถึงปลายน้ำ

7.ช่วยกันติดตามข่าวพยากรณ์อากาศ ใส่ใจเชื่อฟังคำแนะนำจากกรมอุตุนิยมวิทยา เตรียมพร้อมและนำปฏิบัติทันที

8.ฝึกซ้อมการเตือนภัยและการอพยพหนีภัยไปสู่ที่ปลอดภัยเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน ยึดหลักพึ่งตนเองและปลอดภัยไว้ก่อน

9.ปลูกจิตสำนึกชุมชน รักป่า รักภูเขา ร่วมมือร่วมใจกันปกป้องชุมชนที่อยู่อาศัยด้วยการเฝ้าระวัง ต่อต้าน และรายงานต่อสังคม เพื่อ “หยุด” ผู้ที่เข้าไปบุกรุกทำลายป่า &O5532;

ขอบคุณข้อมูล - ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ