posttoday

กินผัก ช่วยลดโลกร้อน

29 กันยายน 2559

ธงเหลืองปลิวไสวหน้าร้านอาหาร สื่อสัญลักษณ์เทศกาลถือศีลกินเจกำลังจะเริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง

โดย...ราตรีแต่ง

ธงเหลืองปลิวไสวหน้าร้านอาหาร สื่อสัญลักษณ์เทศกาลถือศีลกินเจกำลังจะเริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง ปีนี้ช่วงกินเจเริ่มวันที่ 1-9 ต.ค. สำหรับผู้ที่เลือกรักษาศีลตลอด 9 วัน พร้อมกับการงดรับประทานอาหารปรุงจากเนื้อสัตว์ รวมไปถึงอาหารจากไข่ นม ที่มาจากสัตว์ทุกๆ ชนิด ก็ถือว่าได้ประโยชน์ทั้งในเรื่องการกินเพื่อสุขภาพ แล้วยังเป็นเส้นทางเลือกในการใช้ชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย (Healthy food and friendly environment) โดยมีข้อมูลนักวิทยาศาสตร์ประเมินว่ามีสัตว์เคี้ยวเอื้อง แกะ วัว และแพะ เพิ่มขึ้นกว่า 50% จากจำนวนที่เคยมีในศตวรรษที่แล้ว ปัญหาคือระบบย่อยของสัตว์เหล่านี้คือแหล่งแพร่ก๊าซมีเทนปล่อยเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกชนิดหนึ่ง การทำปศุสัตว์เพื่อเป็นอาหารจึงเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อนที่เกิดจากฝีมือมนุษย์

วิธีการช่วยลดก๊าซมีเทนจึงทำได้ด้วยการกินเนื้อสัตว์ให้น้อยลง ใครสนใจอยากลองเป็นชาวกินผักรักษ์โลก มีข้อมูลรวบรวมเพื่อเป็นแรงจูงใจให้ลองมาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมมนุษย์อย่างสมัครใจในเทศกาลกินเจทุกๆ ปี

ฟาร์มปศุสัตว์มาพร้อมก๊าซมีเทน เนื่องจากแบคทีเรียในกระเพาะอาหารของสัตว์กินหญ้าประเภทวัว ควาย แพะ แกะ จะย่อยอาหารและปล่อยก๊าซมีเทนออกมา ในแต่ละวันวัว 1 ตัว เรอก๊าซมีเทนออกมา 0.5 ปอนด์ ก๊าซมีเทนเก็บความร้อนไว้ได้นานกว่า 10 ปี และเก็บความร้อนไว้นานกว่าโมเลกุลของคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 20 เท่า การกินผลิตภัณฑ์จากพืชจึงนับว่าสร้างออกซิเจนให้แก่โลก หลายคนเลือกจะงดบริโภคอาหารสัตว์ หันมากินอาหารเจและมังสวิรัติ คือกุญแจสู่การลดภาวะโลกร้อน

กระบวนการผลิตอาหาร จากฟาร์มมาสู่อาหารบนโต๊ะอาหาร (Farm to table) ส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อสิ่งแวดล้อม การใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงจำนวนมาก รวมทั้งการใช้เชื้อเพลิงสำหรับเครื่องจักรในอุตสาหกรรมการเกษตร และการกระจายอาหารสู่ผู้บริโภคที่ต้องอาศัยการขนส่งที่ใช้น้ำมันมหาศาล การผลิตโปรตีนเนื้อวัวใช้ทรัพยากรมากกว่าการผลิตโปรตีนจากพืช พื้นดินขนาด 2.5 ไร่ ถ้านำไปใช้ในการทำปศุสัตว์ จะผลิตเนื้อสัตว์ได้เพียง 1,250 กิโลกรัม แต่ในจำนวนพื้นที่เท่ากันนำไปปลูกมันฝรั่งได้ 2 หมื่นกิโลกรัม

หมู ไก่ วัว ใช้ทรัพยากรของโลกมากมาย เพราะต้องมีการปลูกพืชในแบบเศรษฐกิจซึ่งต้องใช้ที่ดินหลายแสนไร่เพื่อให้สัตว์ในฟาร์มกินทุกวัน การแปรรูปส่งโรงฆ่าสัตว์ก็ใช้พลังงานเชื้อเพลิงเยอะมาก เรามีทางเลือกโดยใช้ทรัพยากรน้อยกว่า เพียงรับประทานโปรตีนในธัญพืชปลูกบนดิน และอาศัยการขนส่งเท่านั้น ซึ่งใช้พลังงานน้อยกว่ามหาศาลเมื่อเทียบปริมาณเดียวกับเนื้อสัตว์

ระบบการผลิตอาหารมีส่วนทำให้เกิดแก๊ส กลายเป็นตัวการใหญ่ของการเปลี่ยนแปลงดินฟ้าอากาศ แล้วเมื่อคำนวณปริมาณอาหารที่บางคนกินเจร่วม10 วัน (เพราะเตรียมล้างท้องล่วงหน้าอีก 1 วัน) ปริมาณเนื้อสัตว์ที่ลด ละ เลิก ช่วงนี้ได้ลดการบริโภคทรัพยากรให้โลกใบนี้ได้อย่างมากมาย