posttoday

ธุรกิจวาระสุดท้ายของชีวิต... รับสังคมผู้สูงอายุ

26 กันยายน 2559

มรณานุสติ คือการระลึกถึงความตายที่ตนจะต้องประสบอยู่เนืองๆ เพื่อให้เกิดความสังเวชสลดใจ เป็นกัมมัฏฐานชั้นสูงสุด

โดย...พริบพันดาว ภาพ... คลังภาพโพสต์ทูเดย์

มรณานุสติ คือการระลึกถึงความตายที่ตนจะต้องประสบอยู่เนืองๆ เพื่อให้เกิดความสังเวชสลดใจ เป็นกัมมัฏฐานชั้นสูงสุด เพราะว่าเมื่อระลึกถึงความตายเป็นอารมณ์แล้ว จิตก็จะสลดสังเวชถอนจากอารมณ์อื่นๆ ความตายเป็นการดำเนินถึงที่สุดของชีวิตคนเรา เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วยังจะมีอะไรเหลืออยู่อีก นอกจากความตายแล้วไม่มีอะไร สิ่งทั้งปวงที่เกี่ยวข้องพัวพันอยู่นี้ ล้วนแล้วแต่เป็นของทิ้งทั้งหมด ถึงไม่อยากทิ้งมันก็ต้องละไปโดยปริยาย ตายแล้วก็ทอดทิ้งลงทันที จึงว่า มรณานุสติ นั้นเป็นยอดของกัมมัฏฐาน แต่การระลึกถึงความตายต้องใช้ความคิดและจินตนาการเข้าช่วย จึงเป็นเรื่องยากสำหรับบางคนที่ไม่ถนัด คิดไม่ออกว่าเวลาในชีวิตที่มีอยู่อย่างจำกัดนั้น หน้าตาเป็นอย่างไร? เพราะฉะนั้นการเตรียมตัวตายอย่างสงบ จึงมีความสำคัญสำหรับผู้คนในยุคนี้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ

ประเทศไทยมีประชากรทั้งหมด 64.5 ล้านคน เป็นผู้สูงอายุอายุ 60 ปีขึ้น 9.4 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 14.5 ของประชากร โดยเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 5 แสนคน คาดว่าภายในปี 2568 ไทยก้าวเข้าสู่การ
เป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) จะมีประมาณ 14.4 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นเกินร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด กล่าวคือจะมีผู้สูงอายุ 1 คน ในประชากรทุกๆ 5 คน

เพราะฉะนั้นอุตสาหกรรมวาระสุดท้ายของชีวิตจึงต้องเติบโตตามไปด้วย แต่สิ่งที่ยังขาดอยู่ก็คือธุรกิจในการเป็นที่ปรึกษาและดูแลผู้สูงอายุให้เตรียมตัวรับมือความตายอย่างสงบ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่เพียงน้อยนิดในส่วนของการทำงานจิตอาสา เพื่อประโยชน์สาธารณะที่มีไม่เพียงพอ ธุรกิจนี้จึงเหมาะกับการเป็นสตาร์ทอัพในสังคมเมืองที่มีผู้สูงอายุที่โดดเดี่ยวอ้างว้าง เพราะทุกคนมีภาระหน้าที่การงานที่วุ่นวาย

ธุรกิจวาระสุดท้ายของชีวิต... รับสังคมผู้สูงอายุ

 

แบบอย่างธุรกิจเตรียมตัวตายของญี่ปุ่นและจีน

จากรายงานของสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เปิดเผยผ่านอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.) กระทรวงพาณิชย์ มาลี โชคล้ำเลิศ ว่า อุตสาหกรรมวาระสุดท้ายของชีวิต (Life Ending Industry) เป็นธุรกิจบริการที่ตอบโจทย์สังคมผู้สูงอายุ โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ จากสถิติในปี 2543 ญี่ปุ่นมีจำนวนผู้เสียชีวิตถึง 1 ล้านคน และคาดการณ์ว่าในปี 2563 จะมีผู้เสียชีวิตราว 1.43 ล้านคน ทำให้ธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับพิธีศพมีแนวโน้มขยายตัวตามไปด้วย

สถาบันวิจัยยาโนะได้เคยสำรวจตลาดธุรกิจการจัดพิธีศพในญี่ปุ่นพบว่า ในปี 2556 มีมูลค่าตลาดประมาณ 5.9 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 0.3 ด้วยรูปแบบที่มีความหลากหลายมากขึ้นและการขยายตัวของตลาดในธุรกิจนี้ ทำให้มีผู้เข้ามาบุกตลาดนี้จากหลายวงการธุรกิจ การบริการในช่วงวาระสุดท้ายของชีวิต ครอบคลุมถึงบริการก่อนการเสียชีวิต ได้แก่ การบริหารจัดการทรัพย์สิน การให้คำแนะนำเรื่องการสืบทอดมรดก การบริการด้านการแพทย์และพยาบาล การให้บริการด้านการทำพินัยกรรมและการเขียนสมุดบันทึกวาระสุดท้าย การจองสุสาน การเตรียมการจัดพิธีศพตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่ ส่วนบริการหลังการเสียชีวิต ได้แก่ การจัดพิธีศพ การจัดพิธีทำบุญครบรอบวันเสียชีวิต การบริการจัดพิธีหรือจัดตัวแทนไหว้สุสาน การเยียวยาจิตใจให้กับสมาชิกในครอบครัว เป็นต้น โดยมีสนนราคาค่าใช้จ่ายเฉลี่ยสูงถึงประมาณ 6.5 แสนบาท

นอกจากนี้ ยังมีการทำทัวร์ที่เรียกว่า ชูคัทสึ ทัวร์ (Shukatsu Tour) หรือการท่องเที่ยวเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับความตาย และกำลังเป็นทัวร์ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากจากกลุ่มลูกค้าสูงวัย โดยลูกค้าจะถูกพาไปเที่ยวชมสถานที่อันเกี่ยวเนื่องกับการตาย อาทิ สุสาน ที่เก็บเถ้ากระดูก ล่องแม่น้ำที่จะทำการลอยอังคาร ตลอดจนบริการถ่ายรูปเก็บไว้เพื่อใช้ในงานศพของตัวเอง สำหรับค่าบริการในการต่อการทัวร์ 1 ครั้งนั้น อยู่ที่ประมาณ 2,400-3,000 บาท จนถึงตอนนี้มีผู้ใช้บริการชูคัทสึ ทัวร์ กับทางบริษัท คลับ ทัวริซึ่ม อินเตอร์เนชั่นแนล ไปแล้วกว่า 450 ราย และมีผู้ที่จองต่อคิวไว้อีกจำนวนมาก ซึ่งบริษัทที่ขายทัวร์สำหรับเตรียมพร้อมรับความตายนั้นก็ไม่ได้มีที่นี่เพียงแห่งเดียว แต่ยังมีกระจายออกไปอีกตามจังหวัดต่างๆ ของญี่ปุ่น

ธุรกิจวาระสุดท้ายของชีวิต... รับสังคมผู้สูงอายุ

 

ศาสตราจารย์ฮารุโยะ อิโนะอุเอะ ผู้เชี่ยวชาญด้านสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยโทโย แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเทรนด์การเตรียมตัวพร้อมรับความตายว่า ก่อนหน้านี้ผู้ตายปล่อยให้การจัดงานศพเป็นหน้าที่ของสมาชิกในครอบครัวที่ยังเหลืออยู่ แต่ในปัจจุบันผู้คนเริ่มคิดถึงงานศพของตัวเองกันมากขึ้น เนื่องมาจากครอบครัวเริ่มกระชับขนาดเล็กลง อีกทั้งอัตราการเกิดของสมาชิกใหม่ก็น้อยลงด้วย และการเลือกซื้อชูคัทสึ ทัวร์ ทำให้พวกเขาจะสามารถติดต่อและรับทราบข้อมูลจากผู้ให้บริการต่างๆ เกี่ยวกับงานศพได้เอง ซึ่งเป็นเรื่องยากหากต้องเข้าไปติดต่อเองโดยตรง

 ส่วนในประเทศจีน ในนครเซี่ยงไฮ้ มีจัดตั้งธุรกิจจำลองความตายให้กับลูกค้าได้เข้ามามีประสบการณ์ในกระบวนการหลังความตาย ตั้งแต่นอนในโลงศพ ไปจนถึงการเข้าไปอยู่ในเตาเผาจำลอง เคลื่อนไปบนสายพานผ่านช่องเล็กๆ ขนาดพอดีตัว เหมือนเป็นการเกิดใหม่ พร้อมเจอเพื่อนฝูงในอีกด้านหนึ่ง ซึ่งกระบวนการทั้งหมดล้วนแต่ให้ความสำคัญกับความรู้สึก อย่างน้อยก็เพื่อที่จะให้ทุกคนได้มีเวลาสงบคิดทบทวนเรื่องราวต่างๆ รวมถึงปัญหาที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ก่อนพากลับมายังโลกปัจจุบัน และเมื่อลูกค้าเดินผ่านประตูออกมา พวกเขาจะเกิดความรู้สึกใหม่ขึ้นภายในจิตใจและแตกต่างที่ไม่เหมือนกับก่อนหน้า ซึ่งเชื่อได้ว่าเป็นสิ่งดีและคุ้มค่าที่ได้ลอง หรืออีกนัยหนึ่งคือ เพื่อที่จะให้ทุกคนเตรียมพร้อมรับมือเมื่อความตายคืบคลานมาถึง ทำให้พวกเขาไม่ต้องคิดกังวลถึงปัญหาอะไรอีกแล้ว

ติงหรุย เจ้าของไอเดีย กล่าวว่า เขากับหุ้นส่วนใช้เวลา 4 ปี ค้นคว้าประสบการณ์ความตายอย่างละเอียด พบว่าคนส่วนใหญ่สนใจเรื่องความตาย แต่ไม่ค่อยมีความเข้าใจ ทำให้การบอกลาเป็นเรื่องยาก ซึ่งการจำลองความตาย ถือเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยเตรียมใจ ยอมรับความตายได้ สำหรับค่าบริการตกคนละ 444 หยวน หรือประมาณ 2,400 บาท

ธุรกิจวาระสุดท้ายของชีวิต... รับสังคมผู้สูงอายุ

 

ธุรกิจหลังความตายของไทยบูมอยู่แล้ว

อุตสาหกรรมวาระสุดท้ายของชีวิตในเมืองไทยที่เกี่ยวพันกับธุรกิจต่างๆ เกือบทั้งหมดจะเกี่ยวกับงานศพหรือหลังความตาย เช่น ธุรกิจการขายหีบศพ ธุรกิจการขายพวงหรีด ธุรกิจการจัดเลี้ยงอาหารในงานศพ และธุรกิจบริการจัดงานศพแบบครบวง ปัจจุบันเว็บไซต์ให้บริการประกาศงานศพออนไลน์ และจำหน่าย/จัดส่งพวงหรีดมีแบรนด์ทั่วประเทศไทย ซึ่งมีการแข่งขันกันสูงอีกด้วย

ผลวิจัยเมื่อปี 2549 หรือเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ของบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่มีชื่อว่า งานศพ : เม็ดเงินสะพัด 3.5 หมื่นล้านบาท ...หลากธุรกิจรับทรัพย์ (มองเศรษฐกิจ ฉบับที่ 1869) ได้ประเมินค่าใช้จ่ายในการจัดงานศพเฉลี่ยในแต่ละปีสูงถึง 3.5 หมื่นล้านบาท โดยค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในการจัดงานศพที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดต่างๆ ตามความต้องการของเจ้าภาพงานศพ นอกจากนี้ค่าใช้จ่ายในการจัดงานศพยังแตกต่างกันอย่างมากในการจัดงานศพ เมื่อเปรียบเทียบระหว่างกรุงเทพฯ และเมืองธุรกิจใหญ่ๆ กับต่างจังหวัด โดยแตกต่างกันประมาณ 3 เท่าตัว

เม็ดเงินค่าใช้จ่ายในการจัดงานศพเหล่านี้กระจายไปในหลากหลายธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจจำหน่ายโลงศพ ธุรกิจเสื้อผ้าไว้ทุกข์ ธุรกิจของที่ระลึกในงานศพ ธุรกิจร้านจัดดอกไม้ ธุรกิจแคตเทอริ่ง และธุรกิจร้านถ่ายรูป/วิดีโอ ทำให้บรรดาผู้ประกอบการในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับงานศพจึงหันมาสนใจในการขยายช่องทางการตลาดเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินธุรกิจการจัดงานศพอย่างจริงจัง นอกจากนี้ยังเกิดธุรกิจรับจัดงานศพอย่างครบวงจรที่เริ่มเจาะตลาดระดับบนหรือผู้มีรายได้ระดับสูงคาดว่าเมื่อมีการแข่งขันกันมากขึ้นก็จะขยับลงมาจับตลาดระดับกลาง เนื่องจากธุรกิจนี้น่าจะได้รับความนิยม โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าที่ไม่มีเวลาและไม่อยากจะยุ่งยากในการวิ่งวุ่นติดต่อหลายที่ รวมทั้งต้องการคำแนะนำที่จะปฏิบัติตามประเพณีอย่างถูกต้องครบถ้วน เนื่องจากเป็นการจัดงานครั้งสุดท้ายให้แก่ผู้เสียชีวิต บรรดาญาติๆ ของผู้เสียชีวิตจึงต้องการจัดพิธีกรรมเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับให้ดีที่สุด  

เพราะฉะนั้นปัจจุบันเงินที่อยู่ในอุตสาหกรรมวาระสุดท้ายของชีวิตจึงมีอยู่ที่ 4-5 หมื่นล้านบาท

ธุรกิจวาระสุดท้ายของชีวิต... รับสังคมผู้สูงอายุ

 

เครือข่ายพุทธิกาสนับสนุนธุรกิจเตรียมตัวก่อนตาย

สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เคยจัดการประชุมสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นเพื่อพิจารณาร่าง “แผนยุทธศาสตร์ระดับชาติว่าด้วยการสร้างเสริมสุขภาวะในระยะท้ายของชีวิต พ.ศ. 2556-2559” (National Strategic Plan on Health Promotion for Good Death 2013-2016) ความต้องการการดูแลเป็นพิเศษเพื่อให้จากไปอย่างสงบสมศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ โดยตั้งเป้าหมายให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนควรมีการจัดระบบดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายของชีวิตอย่างเป็นระบบ โดยมีการดำเนินการที่สำคัญคือ การบริบาลแบบประคับประคองในระยะท้ายของชีวิต (Palliative Care) ทั้งการพัฒนาบุคลากรทางสาธารณสุข พัฒนาสถานพยาบาล และการดูแลที่บ้าน รวมถึงพัฒนาระบบการเงินการคลัง เครื่องมือทางการแพทย์ และยา ซึ่งสำคัญมากสำหรับทำให้ผู้ที่อยู่ในระยะท้ายของชีวิตจากไปอย่างสงบ

สำหรับการบริบาลแบบประคับประคองในระยะสุดท้ายของชีวิตผู้ให้บริการ ผู้ป่วย และญาติ จะต้องร่วมกันวางแผนการดูแลล่วงหน้าให้เป็นไปตามความปรารถนาครั้งสุดท้ายของผู้ป่วย ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก เอกภพ สิทธิวรรณธนะ ผู้จัดการโครงการความตายพูดได้ เครือข่ายพุทธิกา มองว่า ในเมืองไทยก็น่าจะมีธุรกิจที่ปรึกษาพิเศษให้ผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยเตรียมรับมือความตายอย่างสงบ

“นอกเหนือจากความรู้ในเรื่องการนำทางไปสู่ความตายอย่างสงบแล้ว การนำทางที่จะเกิดขึ้นได้ต้องมีการดูแลผู้ป่วยที่ดี ยุคนี้ผู้ป่วยจำนวนมากไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการนำทางเพื่อเข้าสู่การเสียชีวิตอย่างสงบ เพราะว่าเขาอยู่ในสภาพแวดล้อมที่วุ่นวาย โดยเฉพาะการอยู่ในโรงพยาบาลและถูกยื้อชีวิตโดยเทคโนโลยีทางการแพทย์กระทำต่อร่างกาย ซึ่งมันจะไม่มีโอกาสที่จะนำทางไปสู่ความตายอย่างสงบได้เลย ดังนั้นการวางแผนการตายที่เดินเข้าสู่ช่วงสุดท้ายของชีวิตว่า ต้องการบรรยากาศแบบไหน ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญ ถ้ามีผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านการเผชิญความตายอย่างสงบมาให้คำปรึกษาและช่วยจัดการก็จะเป็นเรื่องที่ดีสำหรับผู้ที่มีกำลังในการจ่ายในตรงนี้ได้ เพราะบางครอบครัวอาจจะไม่ว่าง แต่ที่ดีที่สุดก็คือให้คนในครอบครัวได้วางแผนและเตรียมตัวกันเอง เครือข่ายพุทธิกาก็มีเครื่องมือที่จะช่วยในการวางแผนมีชื่อว่า ‘สมุดเบาใจ’ จะมีข้อความและคำถามที่จะช่วยเตรียมตัวในงานศพ ของเราเป็นโอเพ่น ดาต้า เปิดสาธารณะให้ศึกษาได้แล้วนำไปตั้งบริษัทสตาร์ทอัพที่เกี่ยวกับการรับปรึกษาและดูแลผู้ป่วยเพื่อเผชิญหน้าความตายอย่างสงบก็เป็นเรื่องที่ดี”

ธุรกิจวาระสุดท้ายของชีวิต... รับสังคมผู้สูงอายุ

 

เอกภพ ชี้ว่าเป็นความกังวลอย่างหนึ่งของคนที่กำลังคิดถึงความตายของตัวเอง ซึ่งจะคิดว่างานศพของตัวเขาเองจะเป็นอย่างไรดี ก็ไปผูกโยงว่าจะไปจัดการกับพิธีกรรมหรืองานศพของตัวเองมากน้อยเพียงใด

“ซึ่งเป็นเรื่องดีที่คนสูงอายุจะได้เตรียมตัวเอง และเป็นประเด็นหนึ่งในการปล่อยวาง ถ้าคนใกล้ตายได้เตรียมงานศพของเขา สัญลักษณ์ที่บ่งบอกในตัวของเขาก็คือเขายอมรับความตายของตัวเองได้แล้ว เรื่องของการไปดูว่าเราจะจองศาลาของวัดไหน กระดูกจะไปบรรจุที่ไหนดี เป็นกุศลอย่างหนึ่งที่ช่วยให้เกิดการยอมรับความตายของตัวเขาเอง เป็นการบอกตัวเอง คนอื่น ครอบครัวว่าฉันพร้อมแล้ว ไม่ต้องห่วงนะ ฉันยอมรับความตายได้ ถ้าผู้สูงอายุจะเริ่มคิดถึงเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องดีที่จะเตรียมงานศพของตัวเอง”

ธุรกิจที่เกี่ยวกับงานศพนั้น เอกภพ บอกว่ามีเครือข่ายร้านขายโลงศพ หรือวัดที่วงศาคณาญาติของพวกเขาใช้บริการกันอยู่ประจำ ซึ่งช่วยเหลือในเชิงพิธีกรรมและการจัดงานศพแบบครบวงจรอยู่แล้ว แต่ในเชิงการช่วยทางด้านจิตใจให้พร้อมรับมือความตายยังไม่มีถึงขั้นที่มีบริษัทรับเป็นที่ปรึกษาให้กับผู้สูงอายุ

“สมัยก่อนจะมีบรรดาญาติที่เข้าใจความตาย คนที่มีประสบการณ์เห็นผู้สูงอายุเสียชีวิต เคยเห็นญาติที่นำทางบอกบทสวดมนต์สัมมาอรหัง นำอโหสิกรรม มีการขอขมา เป็นภูมิปัญญาที่สั่งสมกันมา แล้วจะรู้ว่าเวลาที่คนตายจะนำทางให้เขาอย่างไร? ซึ่งจะมีอยู่ในชนบท ซึ่งปัจจุบันก็ค่อยๆ หดหายไปตามสภาพสังคมและชุมชนที่แตกสลาย สมาชิกในครอบครัวแตกกระสานซ่านเซ็นไปอยู่คนละทิศละทาง ภูมิปัญญาตรงนี้ก็หาได้ยากขึ้นในคนรุ่นต่อมา แต่ก็ยังคงหาได้อยู่”

ปัจจุบันเครือข่ายพุทธิกามีหนังสือมากมายและมีแอพพลิเคชั่น “เคาต์ดาวน์ชีวิต” Z Life Countdown) แอพเจริญมรณานุสตินำเสนอทางเลือกในการเจริญมรณานุสติ ผ่านสมาร์ทโฟน เพื่อใช้คำนวณจำนวนวันที่เหลืออยู่จากวันนี้จนถึงวันเสียชีวิต ซึ่งแสดงถึงความสำคัญของความเข้าใจใน “มรณานุสติ” ที่เท่าทันเทคโนโลยีและสามารถใช้ได้ดีกับผู้สูงอายุ

“มีหนังสือที่พูดถึงว่าเราจะนำทางผู้ป่วยอย่างไร? ในช่วงสุดท้ายของชีวิต “ฉลาดทำศพ” ซึ่งเครือข่ายพุทธิกาได้จัดทำขึ้นมา สำหรับคนเมือง อนาคตก็น่าจะเป็นไปได้ที่จะต้องหาผู้เชี่ยวชาญพิเศษมาเป็นที่ปรึกษาเพื่อการเตรียมตัวก่อนตายของผู้สูงวัย ที่ทางเครือข่ายพุทธิกาพยายามรณรงค์นั้นก็อยากให้เป็นคนในครอบครัวเป็นคนนำผู้ป่วยไปสู่ความตายอย่างสงบ ซึ่งมีขั้นตอนและการเตรียมตัวเป็นระดับไปเรื่อยๆ ขั้นแรกต้องยอมรับความตายของตัวเองและคนในครอบครัวให้ได้ก่อน เพราะวันหนึ่งเราก็ต้องตาย คนรัก พ่อแม่ของเราก็ต้องตาย ตรงนี้เป็นเบื้องต้นที่ทำให้เมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ความตายของคนในบ้านจริงๆ ก็พร้อมจะรับมือได้ง่ายขึ้น”