posttoday

ใส่ชุดชาวหู ยิงธนูบนหลังม้า กษัตริย์ที่เด็ดขาดกับขุนนางอนุรักษนิยม

19 กันยายน 2559

ปี 307 ก่อนคริสตกาล จีนเป็นดินแดนหลายแคว้น แคว้นจ้าวก็เป็นหนึ่งที่กำลังเผชิญวิกฤต เพราะตั้งอยู่ตอนบนของจีน

โดย...นิธิพันธ์ วิประวิทย์

ปี 307 ก่อนคริสตกาล จีนเป็นดินแดนหลายแคว้น แคว้นจ้าวก็เป็นหนึ่งที่กำลังเผชิญวิกฤต เพราะตั้งอยู่ตอนบนของจีน ด้านใต้และตะวันออกล้อมรอบด้วยแคว้นอื่นๆ ส่วนด้านเหนือและตะวันตกติดกับดินแดนของชนกลุ่มน้อยหลายเผ่า ซึ่งชาวจีนเรียกรวมๆ ว่าพวก “หู”

“หู” ในภาษาจีนแปลว่าหนวดเครา สันนิษฐานเพราะเป็นชนเผ่าอาศัยอยู่ในพื้นที่อากาศหนาว มีหนวดเคราตามร่างกายเยอะ จึงขนานนามให้ว่าชาวหู ที่จริงคนจีนหนวดเคราเยอะก็คงมีอยู่ แต่ไม่ถูกเรียกว่าพวกหู เพราะการดำรงชีพในวัฒนธรรมจีน จะเป็น “หู” ได้ไม่ใช่แค่หนวดเครา ต้องมีวิถีชีวิตต่างจากจีนด้วย

วิกฤตแคว้นจ้าวคือ พ่ายแพ้ศึกครั้งแล้วครั้งเล่าไม่ว่ากับแคว้นอื่นหรือกับพวกหู จ้าวอู่หลิงหวาง กษัตริย์แคว้นจ้าวครุ่นคิดอยู่นาน จึงเรียกขุนนางทั้งหมดมาวิเคราะห์สถานการณ์ สรุปว่าความพ่ายแพ้เกิดจากสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่ส่งผลต่อยุทธวิธีรบ

จ้าวอู่หลิงหวาง บอกว่า ที่พ่ายแพ้เพราะรูปแบบรบชาวหูเหนือกว่า ใส่ชุดรัดกุมไม่รุ่มร่ามและขี่ม้ายิงธนู ควรอธิบายประกอบก่อนว่า การรบในจีนยุคนั้นนิยมใช้รถศึก ไม่นิยมขี่ม้า รถศึกที่ว่าต้องใช้ม้าสองตัวขึ้นไปผูกโยงเข้ากับรถม้า มีพลขับและพลทหารใช้อาวุธ จะเป็นธนูหรืออาวุธยาว มีทั้งสามคนในหนึ่งหน่วยรถก็ได้ ตรงกันข้ามกับพวกชาวหู ที่ขี่ม้ายิงธนูบนหลังม้าตัวต่อตัว

รถศึกอาจสร้างความรุนแรงกว่า ถ้าประสิทธิภาพและความคล่องตัว ชาวหูมีวิถีขี่ม้าตั้งแต่ 4-5 ขวบ ถือว่าได้เปรียบ และยังแต่งการรัดกุม แขนเสื้อขากางเกงกระชับ ไม่เหมือนชาวจีนใส่เสื้อคลุมยาว แขนเสื้อรุ่มร่ามเพื่อโชว์ประเพณีและวัฒนธรรม ชาวจีนแบ่งแยกบรรดาศักดิ์และชนชั้นตามเครื่องแต่งกายที่รุ่มร่ามมากขึ้น

ทหารหูจึงได้เปรียบชาวจีนตั้งแต่รายละเอียด โดยไม่ต้องแข่งความฉลาด หรือยุทธศาสตร์ใหญ่โตอะไร จ้าวอู่หลิงหวางมองเห็น จึงออกนโยบายใหม่เพื่อพลิกวิกฤต ต่อไปนี้พวกเราจะ “ใส่ชุดชาวหู ยิงธนูบนหลังม้า” และให้ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ทุกคนเปลี่ยนมาใส่ชุดชาวหู

จ้าวอู่หลิงหวางใส่ขึ้นว่าราชการเป็นตัวอย่างคนแรก ผลคือเกิดเสียงคัดค้าน เสื้อผ้าเป็นการแต่งกายคือความศิวิไลซ์จากบรรพชนไม่ควรปรับเปลี่ยน โดยเฉพาะปรับให้ป่าเถื่อนเหมือนพวกนอกวัฒนธรรม

จ้าวอู่หลิงหวาง โต้แย้งว่าวัฒนธรรมที่สูงส่ง คือ วัฒนธรรมที่ก้าวหน้ากว่า หากเสื้อผ้าสวมใส่ รถม้าที่ขับทำให้เสียเปรียบวัฒนธรรมอื่นจะเรียกว่าสูงส่งกว่าได้อย่างไร... แต่เสียงค้านยังคงอยู่ ขุนนางบางคนก็ว่าจ้าวอู่หลิงหวางวิปลาสไปซะแล้ว

จนจ้าวอู่หลิงหวางต้องใช้ไม้ตาย ใครขัดคำสั่ง ประหาร! ภายใน 7 ปี กองทัพแคว้นจ้าวกลับมาเกรียงไกร ยุติการรุกรานจากชาวหูสำเร็จ นิทานที่ดีควรจบไว้แค่นี้ ให้คนอ่านได้ชื่นชมวิสัยทัศน์กล้าเปลี่ยนของจ้าวอู่หลิงหวาง แล้วประณามพวกขุนนางทั้งหลายโง่เง่าไม่ยอมเปลี่ยนแปลง แค่เสื้อผ้ากับยกเลิกขับรถม้า จะไปยึดติดวัฒนธรรมอะไรมากมาย

แต่เรื่องนี้ไม่ใช่นิทาน เป็นประวัติศาสตร์จริงจึงมีอะไรน่าคิดกว่านั้น ขุนนางอนุรักษนิยมคิดอะไร ลำพังตรรกะที่จ้าวอู่หลิงหวางยกขึ้นมา ก็น่าจะเห็นได้ว่าเสียเปรียบจากรายละเอียด ผลประโยชน์แอบแฝงของฝ่ายค้านก็ไม่น่ามี พวกเขาคงไม่ใช่เอเยนต์ขายเสื้อผ้าขุนนางหรือรถม้ากันทั้งหมด แล้วพวกเขาไม่อยากให้บ้านเมืองเข้มแข็งหรือ

ในสายตาของจ้าวอู่หลิงหวางคิดอะไร ทำไมเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างศักยภาพนักรบ ต้องมารณรงค์ขุนนางทั้งราชสำนัก… ภาพในนิทานนั้น แคว้นจ้าวเป็นแคว้นจ้าว ชาวหูเป็นชาวหู ขุนนางโง่ กษัตริย์ฉลาด ทุกอย่างก็สามารถขีดเส้นตัดขาดกันง่ายดาย

แต่ความเป็นจริง นโยบาย “ใส่ชุดชาวหู ยิงธนูบนหลังม้า” อาจสะเทือนความมั่นคงแคว้นจ้าวมากกว่านั้น จีนแบ่งเป็นแคว้นก็จริง แต่ทั้งหมดใช้วัฒนธรรมร่วมกัน ใครไม่ร่วม แคว้นต่างๆ ก็จะรับรู้กันว่านั่นคือคนนอก ไม่ว่ามีกี่เผ่าพวกก็เหมารวมเรียกง่ายๆ ว่าชาวหู

ด้วยวัฒนธรรมที่เหมือนกัน ความร่วมมือระหว่างแคว้นมักแนบแน่นกว่าคนนอก แม้เป็นความร่วมมือแบบทั้งรักทั้งแค้น เป็นมิตร หักหลัง รักใคร่ หรือกลืนกินกัน แต่ก็ยังประสานประโยชน์กันได้บ้าง การตัดสินใจรับวัฒนธรรมนอกด่าน เท่ากับความเสี่ยงที่จะถูกขับออกจากวัฒนธรรมจีน

นั่นอาจหมายถึง แคว้นจ้าวกลายเป็นชาวหูสำหรับอารยธรรมจีน และถูกมองเป็นคนนอกในที่สุด ความเสี่ยงยิ่งมากเข้าไปใหญ่ เพราะที่จริงแคว้นจ้าวอยู่ติดกับชาวหูหลายเผ่ามานาน แม้แต่เชื้อสายกษัตริย์แคว้นจ้าวก่อนหน้าก็ยังเป็นลูกครึ่ง

ไม่แปลกจะมีคนชาวหูอยู่ในแคว้นจ้าว นโยบายเปลี่ยนวัฒนธรรมอาจเท่ากับเลือกฐานเสียงข้างชนกลุ่มน้อย แต่นั่นเป็นข้อได้เปรียบเช่นกัน ทำให้เวลาไม่นานหลังนโยบาย “ใส่ชุดชาวหูฯ” ประกาศ ก็ประสบความสำเร็จในระยะสั้น

เพราะในแคว้นจ้าวน่าจะมีชาวหูที่พร้อมขี่ม้ายิงธนูอยู่เดิมแล้ว ขอแค่ออกนโยบายยอมรับการแต่งกายและทำศึกแบบนี้ เท่ากับยอมรับและเปิดโอกาสให้ชาวหูเข้าร่วมรบด้วยความถนัดได้ และเมื่อจะยอมรับชาวหูอย่างจริงจัง จำต้องสั่งให้ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ใส่ชุดชาวหูหมด

ทั้งๆ ที่เหล่าขุนนางไม่ได้ออกรบเอง ขุนนางจึงระส่ำระสาย กลัวแคว้นกลายเป็นแค่ชาวเผ่าทั้งทางพฤตินัยและนิตินัย และนั่นนอาจเป็นความขัดแย้งที่เลือกทางได้ไม่ง่ายเหมือนในนิทาน หากเดิมพันผิด แคว้นจ้าวจะกลายเป็นชาวหูดีๆ นี่เอง

นอกจากไม่รู้จะเอาหน้าไปไว้ที่ไหน ความผูกพันกับแคว้นต่างๆ ของจีนก็ยิ่งเละเทะไปกันใหญ่ จึงนับว่าจ้าวอู่หลิงหวางกล้าเดิมพัน ส่วนขุนนางทั้งหลายก็ไม่ได้ซื่อบื้อไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลง แต่แค่ห่วงอีกด้านของบ้านเมืองแบบอนุรักษนิยม

นิทานสรุปได้ตั้งแต่ครึ่งแรกว่าใครโง่ใครฉลาด ส่วนชีวิตจริงซับซ้อนและตัดสินใจยากกว่านิทานขึ้นอีกหลายขั้น ลองคิดดูง่ายๆ ว่า เหตุผลด้านการอนุรักษ์พลังงาน การยกเลิกการผูกเนกไท ใส่เสื้อเชิ้ต ใส่สูท รองเท้าหุ้มส้น ฯลฯ ควรยกเลิกให้หมดจากเมืองร้อนชื้น เพราะสิ้นเปลืองพลังงานตัดเย็บ รีด และพลังงานเครื่องปรับอากาศ ที่ต้องมาทำความเย็นเพื่อกลบความร้อนจากเสื้อผ้าที่ซับซ้อน

ยกเลิกง่าย ทำได้ และเห็นผลทันที แต่ทั้งที่เหตุผลในการยกเลิกดีงามขนาดนี้ แต่ไม่มีใครคิดจะเลิก หรือคิดก็ถูกคนมองว่าไร้สาระจนยังเลิกไม่ได้อย่างมีนัยสำคัญ... ไม่ใช่เพราะเราโง่ แต่เพราะตอนนี้เรายังไม่วิกฤต จึงให้น้ำหนักกับการอยู่กับโลกสากลมากกว่าวิกฤตพลังงาน

ซึ่งอันที่จริงสถิติบอกว่า เราเยียบย่างเข้าขั้นวิกฤตแล้ว แต่แค่ยังเลือกที่จะไม่รู้ตัว จ้าวอู่หลิงหวางแห่งการอนุรักษ์พลังงานจึงยังไม่บังเกิด เข้าใจความซับซ้อนและตัดสินใจยากแบบนี้แล้ว ขุนนางอนุรักษนิยมก็ไม่แปลกที่ไม่ยอมเปลี่ยน ส่วนจ้าวอู่หลิงหวางก็ไม่ใช่แค่ฉลาด แต่ใจกล้าและเด็ดขาดอย่างหาได้ยากยิ่ง