posttoday

มุมห้องสมุดสร้างโลกนวนิยาย

03 กันยายน 2559

คอแฟนนวนิยายแนวลึกลับคงไม่มีใครปฏิเสธว่าไม่รู้จักนักเขียนนามปากกา “พงศกร” ที่มีผลงานเขียนจำนวนมาก

โดย...สุกัญญา สินถิรศักดิ์

คอแฟนนวนิยายแนวลึกลับคงไม่มีใครปฏิเสธว่าไม่รู้จักนักเขียนนามปากกา “พงศกร” ที่มีผลงานเขียนจำนวนมากที่เป็นที่รู้จักกันอย่างดี โดยเฉพาะนวนิยายชุดเกี่ยวกับผ้าชนชาติต่างๆ เช่น รอยไหม สาปภูษา กี่เพ้า กลกิโมโน กำไลมาศ ฯลฯ ซึ่งแม้แต่คนที่ไม่ได้เป็นคอนิยายก็ต้องคุ้นหู เพราะหลายบทประพันธ์จากปลายปากกา “พงศกร” เคยนำมาถ่ายทอดเป็นบทละครโทรทัศน์แล้ว

หากย้อนกลับไปก่อนที่จะมาเป็นนักเขียนชื่อดัง นพ.พงศกร จินดาวัฒนะ เจ้าของนามปากกา “พงศกร” มีเส้นทางชีวิตที่น่าสนใจไม่น้อย เป็นคนรักการอ่านด้วยการปลูกฝังของครอบครัว บ้านเกิดเป็นคนราชบุรี แล้วก็เริ่มขีดๆ เขียนๆ ตั้งแต่อายุ 10 ขวบ ลองส่งเรื่องสั้นไปที่นิตยสารต่างๆ โดยเรื่องสั้นเรื่องแรกในชีวิตที่ได้รับการตีพิมพ์คือ “ปุกปุย” ลงในนิตยสาร “สวิตา”เมื่อปี 2524 ได้เงินค่าเรื่อง 200 บาท พร้อมกับที่คุณครูประกาศหน้าแถว ทำให้ภูมิใจมาก มีความสุข สนุกที่จะทำ จึงกลายเป็นพลังที่จะทำให้อยากเขียนงานต่อ

คุณหมอนักเขียน เล่าว่า ตอนนั้นมีพลังมาก และเริ่มรู้สึกว่านิตยสารนานๆ จะออกที ไม่ทันใจ เพราะเขียนได้เยอะกว่านั้น ก็เลยชวนเด็กแถวบ้านเกือบ 10 คนทำหนังสือออกเองชื่อ “ละแวกบ้านเรา” วันเสาร์-อาทิตย์ก็มานั่งเขียน คล้ายกับนิตยสารที่มีเซ็กชั่นต่างๆ เอาแนวมาจากสตรีสาร แบ่งกันทำ คนนี้เขียนการ์ตูน คนนี้เขียนรูปประกอบ มีเรื่องสั้น เรื่องยาว ออกมาเป็นวารสารเดือนละ 2 เล่มให้คนในหมู่บ้านอ่าน รวมๆ แล้วออกมาทั้งหมด 25 เล่ม แต่เมื่อต้องย้ายไปเรียนต่อที่ขอนแก่น ทำให้ไม่ได้ทำต่อ

มุมห้องสมุดสร้างโลกนวนิยาย

 

หลายคนถามว่า เริ่มเขียนหนังสือตั้งแต่เด็ก แล้วทำไมไม่เรียนต่อด้านนี้ ทำไมเลือกเรียนหมอ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะตอนนั้นไม่รู้ว่ามีการเรียนวารสาร แต่ส่วนสำคัญคือ อยากเรียนหมอตั้งแต่เด็ก จนช่วงเรียน ม.ปลาย คุณพ่อป่วย ซึ่งคุณพ่อเป็นคนแข็งแรงมาก ไม่เคยป่วย เลยรู้สึกอยากเป็นหมอ เลยไปสายโน้น ซึ่งเป็นหมอก็ยังเขียนงานได้ แต่ถ้าเรียนทำวารสารก็คงเป็นหมอไม่ได้ โดยช่วงที่เรียนแพทย์ค่อนข้างหนัก เวลาเรียนแน่นมาก มีแวบไปทำหนังสือคณะ แต่ก็ไม่ได้จริงจังเท่าไร พอเรียนจบกลับมาทำงานโรงพยาบาลที่ จ.ราชบุรี เริ่มอยากเขียนนิยาย แต่เขียนไม่เคยจบ

จนกระทั่งได้ทุนไปเรียนที่อเมริกา แล้วไปอยู่เมืองที่เล็กมาก ไม่มีคนไทยเลย พอเลิกงานทุกคนกลับบ้าน เงียบมาก มีเวลาก็เลยเขียนนิยายสั้น 16 ตอนเรื่องแรก “เบื้องบรรพ์” จนจบ จนมีโอกาสกลับเมืองไทยช่วงปิดเทอม ซึ่งเป็นจังหวะที่มีการประกวดงานเขียนนวนิยายของมูลนิธิสุภาว์ เทวกุล จึงตัดสินใจส่งเข้าประกวด และได้รับรางวัลชมเชยประเภทนวนิยายในปี 2544 จากนั้นก็เริ่มส่งผลงานเรื่องปริศนามาเลศ คดี 1 ตอน ทะเลราตรี ลงตีพิมพ์เป็นตอนในสกุลไทย แล้วก็มีผลงานต่อเนื่อง

จนประมาณปี 2546 งัด-สุพล วิเชียรฉาย หยิบเรื่องสร้อยแสงจันทร์ไปสร้างเป็นละครทางช่อง 3 หลังจากนั้นคุณหมอนักเขียนเลยได้เข้าสู่เส้นทางการเขียนเต็มตัว หลากหลายรูปแบบงานเขียนทั้งแนวสืบสวนเบาๆ แฟนตาซี คอมเมดี้ ไปจนถึงนิยายลึกลับเข้มข้น รวมแล้วประมาณ 30-40 เรื่อง ซึ่งชุดที่มีคนกล่าวถึงมากที่สุด คงต้องยกให้นวนิยายชุดผ้าที่มีออกมาแล้ว 7-8 เรื่อง

พงศกร เล่าว่า ชุดผ้าเริ่มต้นจากไปพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ แล้วเจอผ้าผืนหนึ่งซึ่งเป็นผ้าเก่าและมีรอยด่าง จริงๆ อาจจะเป็นแค่รอยด่างตามกาลเวลา แต่ก็ทำให้เกิดจินตนาการ จนกลายเป็นพล็อตเรื่องเกี่ยวกับผ้า ซึ่งพอไปหาข้อมูลก็ทำให้พบว่าผ้าของแต่ละชนชาติมีเสน่ห์แตกต่างกันไป เป็นเครื่องบันทึกวัฒนธรรม บันทึกวิถีชีวิตของคน การใช้สี ให้ลาย แบ่งชนชั้นคนได้

มุมห้องสมุดสร้างโลกนวนิยาย

 

คุณหมอนักเขียนทำงานเกี่ยวกับด้านการสื่อสารทางการแพทย์อยู่ที่โรงพยาบาลกรุงเทพ พร้อมกับแบ่งเวลาช่วงหลังเลิกงานในการเขียนนิยาย ซึ่งหนึ่งในมุมโปรดที่ใช้สร้างสรรค์ผลงานมีด้วยกัน 2 ที่ในบ้านที่กรุงเทพฯ นั่นคือ ห้องสมุดชั้นสอง และโต๊ะทำงานชั้นล่าง โดยมุมโต๊ะทำงานชั้นล่างของตัวบ้าน แม้จะไม่เงียบมาก แต่ก็สามารถมีสมาธิในการทำงานได้ แต่ถ้าต้องการสมาธิสูงในการทำงานก็ต้องห้องสมุดชั้นสองของบ้าน ซึ่งออกแบบเองให้มีตู้รอบห้องไว้เก็บหนังสือเล่มโปรด เรียกว่าเป็นห้องสมุดในฝันที่นักอ่านทุกคนอยากมีไว้ในบ้าน ซึ่งมุมนี้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์ชิ้นงานต่างๆ ให้เกิดขึ้น

สำหรับหลักในการทำงานเขียน เน้นนิยายไม่มีพิษภัย ต้องไม่มีอะไรที่ทำให้คนอ่านรู้สึกแย่ และเป็นหนังสือที่อ่านได้ทุกคน คุณแม่คุณพ่อสบายใจที่จะให้ลูก เด็กอ่าน โดยการเขียนงานเมื่อได้พล็อตเรื่องแล้ว ต้องหาข้อมูลก่อนจนครบแล้วก็มาเขียน ไม่ใช่เขียนไปหาข้อมูลไป ถ้าเป็นนิยายที่เป็นซีรี่ส์มีหลายภาคต่อกัน ก็ต้องวางแผนล่วงหน้าเพื่อการเขียนในภาคต่อๆ ไป ตัวละครมีความเชื่อมต่อกันได้ดี ส่วนซีรี่ส์เรื่องผ้า ล่าสุดมีบุหงาบาติก (ผ้าอินโดนีเซีย) ที่ตีพิมพ์อยู่ในขวัญเรือน และอาจจะมีเรื่องต่อไปขึ้นอยู่กับจังหวะและข้อมูลที่ได้มา

ไม่เพียงแต่ซีรี่ส์เรื่องผ้าเท่านั้น แต่ “พงศกร” ยังมีผลงานใหม่ที่จ่อคิวให้แฟนๆ ได้ติดตามต่อเนื่องด้วย นอกจากจะเป็นผู้สร้างสรรค์ผลงานนิยายแล้ว คุณหมอนักเขียนยังเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งสำนักพิมพ์กรู๊ฟ พับลิชชิ่ง เพื่อเปิดโอกาสให้นักเขียนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถได้มีพื้นที่ในการนำเสนอผลงานของตัวเอง ซึ่งใครที่ชื่นชอบนิยายแนวลึกลับไม่ควรพลาด