posttoday

หัวใจผู้พิทักษ์อ่าวมาหยา วุฒิชัย ประทุมทอง

06 สิงหาคม 2559

อ่าวมาหยา แหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่มีมนต์เสน่ห์เย้ายวนชวนให้ผู้คนทั่วโลกหลั่งไหลเดินทางมาเยือนมาก

โดย...แดน สุธีรัจน์

อ่าวมาหยา แหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่มีมนต์เสน่ห์เย้ายวนชวนให้ผู้คนทั่วโลกหลั่งไหลเดินทางมาเยือนมากถึงวันละ 5,000 คน อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ ได้สรุปยอดระหว่าง 1 ต.ค. 2558-31 ก.ค. 2559มีนักท่องเที่ยวรวม 1,471,605 คน สามารถเก็บค่าบริการเข้าอุทยานฯ ได้มากถึง 468,694,920 บาท ขอย้ำ 468.6 ล้านบาท ซึ่งตัวเลขนี้ไม่เคยจัดเก็บได้มาก่อน 

อุทยานฯ หาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ ฉายา “เกาะสวรรค์ แหล่งโบราณหอยล้านปี” ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของหมู่เกาะฝั่งตะวันตกของประเทศ บนเนื้อที่ 387.9 ตารางกิโลเมตร มีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ อาทิถ้ำไวกิ้ง เกาะพีพี ดอน สุสานหอย อ่าวนาง เกาะปอดะ เกาะยูง อ่าวมาหยา เกาะพีพีเล ทะเลแวก หาดไร่เลย์ อ่าวปิเล๊ะ ฯลฯ

ด้วยทิวทัศน์ของหาดทรายที่สวยงามและโดดเด่น ประกอบกับกระแส “เดอะ บีช” ภาพยนตร์ที่ใช้เวิ้งอ่าวขนาดเล็กรูปพระจันทร์เสี้ยวของมาหยาเป็นสถานที่ถ่ายทำ นำแสดงโดย ลีโอนาโด ดิคาปริโอ เมื่อ 16 ปีที่แล้ว ยังไม่จางหาย ส่งผลให้ปริมาณนักท่องเที่ยวล้นทะลักพีพี โดยเฉพาะที่อ่าวมาหยา

ปัญหาที่น่าวิตกตามมาก็คือระบบนิเวศถูกทำลาย โดยเฉพาะปะการัง ปัญหาขยะ น้ำเสียประกอบกับท้องทะเลได้รับผลกระทบจากสภาวะโลกร้อนยังส่งผลให้เกิดปะการังฟอกขาวจนเข้าขั้นวิกฤตในหลายจุด

ในฐานะผู้รับผิดชอบ วุฒิชัย ประทุมทอง หัวหน้าหน่วยพิทักษ์ พีพี5 อ่าวมาหยา อุทยานฯหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี เล่าว่าตั้งแต่ทำงานมา 24 ปี เขาไม่เคยพบเห็นนักท่องเที่ยวมากมายขนาดนี้มาก่อน

“ก่อนนี้ผมอยู่อุทยานฯ เขาพนมเบญจา จ.กระบี่ ไม่เคยเจอนักท่องเที่ยวเยอะขนาดนี้เพิ่งมาเจอที่่นี่” วุฒิชัย ฉายภาพมาหยาในความดูแลของเขา

วุฒิชัย บอกว่า นักท่องเที่ยวจะเดินทางมามากที่สุดในช่วงไฮซีซั่นคือเดือน ธ.ค.ของทุกปี เฉพาะที่เข้ามามาหยาวันละ 3,000-4,000คน ซึ่งเมื่อวันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา วันเดียวสามารถเก็บค่าธรรมเนียมได้มากถึง 1.7 ล้านบาท

“คนจะแน่นเอี้ยด ช่วงเช้าเรือทุกลำจะขนนักท่องที่ยวที่จะไปทุกเกาะของอุทยานนพรัตน์ธาราฯ เข้ามาที่อ่าวมาหยาก่อน เพราะช่วงบ่ายน้ำแห้งเข้าไม่ได้ ต้องมาจอดที่นี่ที่เดียว”

หัวหน้าหน่วยพิทักษ์ พีพี5 อ่าวมาหยา มีเจ้าหน้าที่ 18 คน จากทั้งอุทยานฯ ซึ่งมีอยู่6 หน่วยพิทักษ์ มีเจ้าหน้าที่ทั้งหมด 152 คนหากเปรียบเทียบปริมาณนักท่องเที่ยวและความรับผิดชอบต่อสภาพปัญหาแล้วถือน้อยมาก

หัวใจผู้พิทักษ์อ่าวมาหยา วุฒิชัย ประทุมทอง

 

“วิธีการการจัดการเราก็ดูจากแขกที่มา จำนวนเรือ มีเจ้าหน้าที่คอยส่องกล้องดูเมื่อเข้ามาก็จดชื่อเรือ เบอร์เรือไว้ เข้ามาก็แจ้งไปที่ป้อมหน้าหาด เพื่อให้จัดเก็บค่าธรรมเนียม พอใครจะขึ้นก็จะดูว่าไกด์กี่คน มีการจ่ายตรงตามจำนวนนักท่องเที่ยวหรือปล่า ถ้าไม่ตรงก็ไปบอกไกด์ให้จ่ายครบตามจำนวนนักท่องเที่ยว

“ผมเป็นลูกจ้างประจำ ตำแหน่งพิทักษ์ป่าเงินเดือน 2 หมื่นกว่าบาท สวัสดิการอื่นไม่มี ตื่นตั้งแต่ 6 โมงเช้า เลิกงาน 3 ทุ่ม นอนที่่นี่ กินที่นี่ ตื่นมาทำอาหารกิน เก็บขยะ และไปพร้อมกันที่หน้าหาด เริ่มงาน 7 โมง ทุกคนจะกระจายพื้นที่ตามโซนรับผิดชอบ โชคดีที่ทุกคนให้ความร่วมมือ ทำให้งานประสบความสำเร็จทุกอย่าง แต่มันก็หนักพอสมควร เพราะคนมาเที่ยวมาก” หัวหน้าทีมอ่าวมาหยาสะท้อนภาระหน้าที่

แน่นอนที่สุด ปริมาณนักท่องเที่ยวที่มากเกินไป ส่งผลให้ขยะเริ่มเพิ่มมากขึ้น ปะการังก็ถูกทำลายเสียหาย แหล่งท่องเที่ยวแออัดมากขึ้น จนคุมไม่ไหว มีการจอดเรือในที่ห้ามจอดทอดสมอเรือในจุดที่ห้าม ด้วยเจ้าหน้าที่มีน้อยอุทยานฯ มีเรือให้แค่ลำเดียว ทำให้เจ้าหน้าที่ดูแลไม่ทั่วถึง ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าแม้จะมีรายได้เข้าอุทยานฯ มาก แต่ทรัพยากรก็ถูกทำลายมากขึ้นเรื่อยๆ

“ตามเกาะต่างๆ จะมีขยะมาก มาทั้งจากบ้านพักที่อยู่อาศัยบนเกาะ เรือประมง ช่วงมรสุมขยะใต้ทะเลจะขึ้นมา มาจากเรือนักท่องเที่ยวเอาไม่ทัน มีเรือแค่ลำเดียว ทะเลมันกว้างเจ้าหน้าที่มีน้อย ตรงไหนขยะมากก็ออกไปเก็บ” คล้อยเสียงจากวุฒิชัย ภาพขยะฟ้องด้วยสายตาอยู่บริเวณหน้าหาด รวมทั้งในท้องทะเลในบางจุด

วุฒิชัยเป็นแค่ลูกจ้างตัวเล็กๆ ไม่มีอำนาจเสนอทางแก้ปัญหา เขาบอกว่าถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้มีการควบคุมนักท่องเที่ยวไม่ให้มากจนเกินไปเช่น ให้มีการกำหนดปริมาณนักท่องเที่ยวที่สามารถรองรับได้ต่อวัน ต่อปี ตามขีดความสามารถในการรองรับ ซึ่งแน่นอนว่าเป็นการตัดสินใจเรื่องนโยบาย เพราะยอดนักท่องเที่ยวกับจำนวนรายได้จากค่าธรรมเนียมจำนวนมาก มองในแง่ตัวเลขทางเศรษฐกิจ ปัญหาที่ตามมาอาจเป็นแค่เรื่องรอง

ทางแก้ไขที่พอจะทำได้ วุฒิชัย บอกว่าเขาจะขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการท่องเที่ยวและไกด์ ให้ทำตามข้อตกลงเป็นครั้งคราว “ตอนผมมาอยู่ใหม่ๆ ไกด์ผู้ประกอบการเรือและบริษัทนำเที่ยวไม่คิดว่าพวกเราทำงานกันจริงหรือไม่ เก็บเงินเข้าหลวงจริงไหม พอเอาจริงเก็บจริงและมีการกระทำผิดพวกผมก็โทรไปหาเขาโดยตรง เขาก็คอยว่ากล่าวตักเตือนลูกน้องเขา

“แต่ที่ไม่ให้ความร่วมมือก็มี เช่น เด็กเรือไปทิ้งสมอแนวปะการัง จอดในท่ี่ห้ามจอด ซึ่งถ้าเจอก็จะเรียกปรับ บางทีก็มักง่าย เห็นแก่ตัวไม่อยากรอคิวจอดนาน กลัวเวลาไม่พอจะนำนักท่องเที่ยวไปให้ครบทุกจุดก็มักจอดที่ห้ามจอดซึ่งเราก็ต้องคอยตามปรับ ซึ่งผู้ประกอบการมักให้ความร่วมมือดี ถ้ามีปัญหาผมก็ปรึกษาหัวหน้า”

ถามวุฒิชัยตรงๆ รู้สึกท้อบ้างไหม “ผมทำมา 1 ปี บางทีก็เหน็ดเหนื่อย ก็ท้อแต่บางทีเรา (น้ำตาคลอ) ทำเพื่อประเทศของเราถ้าเราไม่ช่วยกันรักษาแล้วใครจะมาช่วย”

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ ศรายุทธ ตันเถียรเข้ามารับตำแหน่งหัวหน้าอุทยานฯ หาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี เมื่อเดือน มิ.ย. 2559 การแก้ปัญหาของอุทยานทั้งพีพีเริ่มดีขึ้นโดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชได้อนุมัติเงินรายได้จากการจัดเก็บค่าบริการเข้าอุทยานฯ ทั่วประเทศ มาให้เกาะพีพี วงเงิน22 ล้านบาท ซึ่งสามารถติดตั้งทุ่นจอดเรือ ขนาดใหญ่ 25 ลูก พร้อมฐานขนาด 10 ตัน ติดตั้งทุ่นจอดเรือขนาดกลาง 90 ลูก พร้อมฐานขนาด 5 ตัน

นอกจากนี้ ยังจัดหาทุ่นกันแนวเล่นน้ำ 60 ชุด พร้อมฐานขนาด 2 ตัน จัดซื้อเรือยนต์ตรวจการณ์ 1 ลำ จัดซื้อเรือเร็วอะลูมิเนียม2 ลำ ก่อสร้างห้องน้ำ-ห้องสุขาแบบน็อกดาวน์12 ห้อง ก่อสร้างบ้านพักให้เจ้าหน้าที่ที่อ่าวมาหยา 3 หลัง

ที่ยังน่าเป็นห่วงสำหรับแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลก็คือสถานการณ์ปะการังฟอกขาว ซึ่งอุทยานฯ หาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี ได้ร่วมกับอาจารย์ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ในฐานะที่ปรึกษาอธิบดีกรมอุทยานฯ ลงพื้นที่เมื่อเดือนพ.ค. 2559 สำรวจสภาพปะการังที่เกิดการฟอกขาวในเขตอุทยานฯ จำนวน 12 แห่ง ซึ่งแต่ละจุดมีความเสียหายในระดับที่แตกต่างกัน

เมื่อผนวกปัญหาจำนวนนักท่องเที่ยวและอื่นแล้ว อาจารย์ธรณ์และคณะกำลังผลักดันให้ “ปิดอ่าวมาหยา” ในบางช่วง เพื่อฟื้นคืนความสมบูรณ์ของธรรมชาติ เช่นที่ได้ประเดิมปิดเกาะยูงหนึ่งในเกาะของอุทยานฯ ไปก่อนหน้านี้แล้ว