posttoday

30 ปี 20 ล้านต้น ปลูกป่า ที่ไม่ใช่แค่ปักป้ายถ่ายรูป

16 กรกฎาคม 2559

กระแส “ปลูกป่า” เริ่มปลุกให้ประชาชนทั่วประเทศตื่นตัวหันมาสนใจดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมแบบเอาจริงเอาจังมากขึ้น

โดย...ธนพล บางยี่ขัน

กระแส “ปลูกป่า” เริ่มปลุกให้ประชาชนทั่วประเทศตื่นตัวหันมาสนใจดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมแบบเอาจริงเอาจังมากขึ้น ท่ามกลางความหวังว่านี่จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ยั่งยืนและถาวร ต่างจากการทำ CSR ของหลายบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ผ่านๆ มา  

ทว่าหลายคนอาจไม่เคยรู้ว่าตลอดระยะเวลาเกือบ 30 ปีที่ผ่านมา “มูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์” ลงมือปลูกต้นไม้ทั่วประเทศทั้ง 76 จังหวัด ทั้งป่าต้นน้ำ ป่าชุมชน ริมทางหลวง ในหมู่บ้าน ป่าชายเลน ฯลฯ รวมแล้วไม่น้อยกว่า 20 ล้านต้น ซึ่งไม่ใช่แค่ “ปักป้ายถ่ายรูป” แต่เป็นการทำอย่างครบวงจร ทั้งปลูก ดูแล ปลูกซ่อม ทำแนวกันไฟ จัดยามไฟคอยเฝ้าในช่วงหน้าแล้ง 

คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช เลขาธิการมูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์ เล่าย้อนไปถึงเหตุผลที่ก่อตั้งมูลนิธินี้ขึ้นมาว่า ส่วนตัวเป็นคนบ้านนอก ตอนเป็นเด็กเห็นความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ที่มากถึง 60-70% ของพื้นที่ทั้งหมด แต่พอโตขึ้นป่าลดลงทุกปี จนเหลือ 20% เทียบกับภูฏานที่ปัจจุบันสูงถึง 60-70% อย่างไรก็ตาม ตามทฤษฎีต้องมีพื้นที่ป่าไม้ 40% ถึงจะเกิดความสมดุลในระบบนิเวศสิ่งแวดล้อม

30 ปี 20 ล้านต้น ปลูกป่า ที่ไม่ใช่แค่ปักป้ายถ่ายรูป

 

มูลนิธิจึงมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มจำนวนต้นไม้ยืนต้นให้แผ่นดินไทยทุกรูปแบบ โดยความร่วมมือของคนไทยทุกระดับชั้น ซึ่งถือเป็นการตอบแทนคุณแผ่นดิน และเพื่อถวายเป็นราชสักการะแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

หลังจากทำโครงการปลูกป่าถาวรครั้งใหญ่ตามพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พื้นที่ป่าของไทยเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกคือ 15 ปี เพิ่มมา 10% ดังนั้นจึงเหลืออีก 10% จะถึงเป้าตามทฤษฎีที่จะเกิดความสมดุล ฤดูแล้งก็ไม่แล้งมาก ฤดูฝนก็น้ำไม่หลาก ซึ่งถือเป็นภารกิจสร้างระบบนิเวศโดยเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ให้กับสังคมไทย

คุณหญิงกัลยา อธิบายว่า การปลูกต้นไม้ไม่ใช่แค่การปลูกแล้วจบ แต่ต้องมีการวางแผนศึกษาข้อมูลเลือกพันธุ์ไม้ให้เหมาะกับพื้นที่ ประสานงานกับชาวบ้านในพื้นที่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการติดตามดูแลต่อเนื่อง ยกตัวอย่าง โครงการแรกเป็นการปลูกต้นไม้ริมทางหลวง จากกรุงเทพฯ ถึงสัตหีบ เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2529 ที่จะต้องไปดูพื้นที่ ติดต่อหน่วยงาน ทั้งเรือนจำ วิทยาลัยเกษตร วิทยาลัยครู จังหวัด อบต. อบจ. วัด เชิญมาวางแผนร่วมกันและกำหนดวันปลูก

30 ปี 20 ล้านต้น ปลูกป่า ที่ไม่ใช่แค่ปักป้ายถ่ายรูป

 

คนในพื้นที่ก็จะขุดหลุมเตรียมกล้าไม้ เตรียมสถานที่ เตรียมคน เตรียมเจ้าหน้าที่ดูแลด้านต่างๆ เป็นจุดๆ ตลอดเส้นทาง อีกด้านหนึ่งก็เชิญคนจากกรุงเทพฯ ไปร่วมปลูก เป็นจุดๆ ไป มีทั้งพระ ทั้งนักโทษ ไปร่วมกันปลูก โดยแบ่งกันดูแลว่า วิทยาลัยเกษตรดูจุดไหน ทหารดูกิโลเมตรที่เท่าไหร่ถึงเท่าไหร่ ใครขุด ใครขนต้นไม้ ใครไปรณรงค์ ชวนคนกรุงเทพฯ ไปร่วมปลูกตลอดเส้นทาง เอกชนที่ไม่ได้ไปร่วมก็ให้สตางค์

“ปลูกแล้วก็ต้องมีคนดูแล ประสานทุกส่วนที่เราไปคุยว่าใครจะดูแลจุดไหนถึงจุดไหน มูลนิธิก็จะสนับสนุนเงิน สมมติวัดดูแล 1-2 กม.หน้าวัด เทคนิคเกษตร ใครรับผิดชอบจุดไหนก็กำหนดไปล่วงหน้า ตั้งแต่เตรียมงาน หากตายก็ไปปลูกซ่อมทดแทน” 

เลขาธิการมูลนิธิราชพฤกษ์ เล่าให้ฟังถึงโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติซึ่งเป็นโครงการใหญ่ที่สุดที่เคยปลูก เป็นพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อปี 2537 มีผู้ร่วมโครงการมากมาย ทั้งเอกชน ภาครัฐ ธนาคาร 9 ธนาคารบนพื้นที่ 5.4 หมื่นไร่ ต้นแม่น้ำน่านฝั่งขวา จ.อุตรดิตถ์ แพร่ ครั้งนั้นมูลนิธิไปตั้งแคมป์ในพื้นที่ปลูก 1 ปี ดูแล 2 ปี เหลื่อมไปในแต่ละพื้นที่ รวมเบ็ดเสร็จจากแผนที่จะอยู่ 5 ปีแต่สุดท้ายใช้เวลายาวถึง 15 ปี

30 ปี 20 ล้านต้น ปลูกป่า ที่ไม่ใช่แค่ปักป้ายถ่ายรูป

 

“ชาวบ้านที่เราจ้างมาทำงานให้เงินทุกอาทิตย์ เงินสะพัดในชุมชนสูงมาก หมู่บ้านอื่นที่เราไม่ได้ไปปลูก เขาก็มาบอกให้เราไปปลูกหมู่บ้านเขาด้วย อันนี้รัฐได้ป่า ประชาฯได้เงิน พอวันส่งมอบป่าก็มีคนมาบอกว่าผมได้เงินจากปลูกป่าส่งลูกเรียนจนจบปริญญาตรีคือทุกคนจะมีงานทำทั้งปี เพราะเราปลูกและดูแล ถ้าตายก็ปลูกซ่อม ทำแนวกันไฟ ทำถนนขึ้นไป หน้าแล้งเดือน ธ.ค.- มี.ค. ก็จ้างเป็นยามไฟ หรือจ้างเพาะกล้า ทำไม้สแต็ก”

การปลูกต้นไม้ในแต่ละพื้นที่ก็จะแตกต่างกันไป ที่ผ่านมาริมทางหลวงก็จะปลูกต้นไม้ที่ไม่ต้องดูแลมากนัก สามารถทนแล้งได้ เช่น ต้นราชพฤกษ์ ทรงบาดาล ตีนเป็ด ส่วนพื้นที่ดินเค็ม ก็จะปลูกมะขามเทศ สะเดา แคไทย แคฝรั่ง ต้นตะเคียน โดยส่วนใหญ่กรมป่าไม้จะเป็นผู้สนับสนุนพันธุ์ไม้ แต่จะมีค่าใช้จ่ายในการขนย้าย หรือหากบางพื้นที่ก็ใช้วิธีจ้างคนในพื้นที่เพาะกล้า เพื่อให้ได้คุณภาพมากขึ้น

ตัวอย่างเช่น การปลูกไม้พะยูง ซึ่งเป็นพันธุ์ไม้ที่เหมาะกับอีสานตอนใต้ เคยทำโครงการที่ จ.มุกดาหาร ตั้งเป้าปลูก 99,999 ต้น ซึ่งสุดท้ายปลูกไปแสนกว่าต้นร่วมกับทางจังหวัด และสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติของ จ.มุกดาหาร ที่จะมีชื่อและมีพิกัดของต้นไม้ที่เอาไปปลูกทุกต้น และทางมูลนิธิจะส่งคนไปประเมินทุกระยะ โดยตั้งแต่วันที่ 2 ก.ค. 2557 ผ่านมาไม่ถึง 2 ปี แต่ละต้นสูงเกิน 3 เมตรแล้ว

30 ปี 20 ล้านต้น ปลูกป่า ที่ไม่ใช่แค่ปักป้ายถ่ายรูป

 

“โครงการนี้ถือเป็นผลงานชิ้นโบแดงของทางจังหวัดที่ต่อมาได้งบสนับสนุนเพิ่ม 80 ล้านบาท คนไปตรวจก็พบว่าผลงานดีแต่ละอำเภอที่ไปปลูกขึ้นดีมาก ส่วนหนึ่งเพราะเราลงทุนเป็นล้านบาทไปสอนให้ชาวบ้านเพาะกล้าเอง เป็นอาชีพเสริม สร้างรายได้เพราะพะยูงเพาะเมล็ดไม่ง่าย เมล็ดจะมีพิษเพื่อป้องกันตัวเองเพาะปกติไม่ได้ ต้องมีเทคนิค”

คุณหญิงกัลยา อธิบายว่า ทุกอย่างต้องมีการเรียนรู้ อย่างมีวิธีการปลูกไม้เรียกนก การเตรียมพื้นที่ ซึ่งปกตินกกินลูกหว้าจากที่อื่นมาขี้ก็จะงอกเป็นต้นใหม่ แต่ไม่ใช่อยู่ดีๆ จะงอก ต้องเตรียมพื้นที่ ไม่ให้วัชพืชขึ้นเต็ม ต้องถางรอบโคนต้นไม้ให้แสงอาทิตย์ลงถึงพื้นที่ดิน ทำให้เมล็ดตกลงมาแล้วสามารถงอก ถ้าทึบเกินไปเมล็ดขี้นกตกถึงพื้นดินได้ แต่เมื่อไม่มีแสงแดดก็ขึ้นราไม่งอก 

ทั้งหมดเป็นไปตามหลักวิชาการ ซึ่งมีผู้รู้นักวิชาการคอยให้คำแนะนำ เช่น การเลือกพันธุ์ไม้ ไม้อะไรเหมาะกับภาคไหนของประเทศไทย ระยะหลัง ลูกสาว ลูกเขย เข้ามาช่วย ก็เน้นไปที่เยาวชน และงานวิจัยการปลูกป่าแบบโครงสร้าง ไม่ใช่ปลูกแบบเรียงแถวไร่ละ 100-200 ต้น แต่จะเป็นการปลูกป่าแบบมีพันธุ์ไม้ 400-500 ชนิดอยู่ในแปลงเดียวกัน ดูว่าต้นไหนแข็งแรงกว่าต้นไหน ต้นไหนเหมาะกับอันไหน ปลูกป่าให้เป็นป่าจริงๆ มีลักษณะเสมือนป่า โดยเริ่มไปแล้วที่ ม่อนล่อง ม่อนแจ่ม จ.เชียงใหม่

ที่สำคัญการเข้าไปปลูกป่าแต่ละที่นั้นเป็นไปตามที่กรมป่าไม้อนุญาต คือ มีการกำหนดเอฟพีทีพื้นที่ปลูกเมื่อปลูกแล้วดูแลจนยืนต้นสมบูรณ์ก็ส่งมอบให้กรมป่าไม้ อาจจะมีปัญหาบ้างในบางพื้นที่ชาวบ้านไม่พร้อม พาวัวมากินต้นไม้ ก็ต้องไปคอยแก้ไขในแต่ละพื้นที่

แน่นอนว่าการทำงานต้องมีปัญหาทั้งนั้นเริ่มจากเรื่องเงิน เพราะทำงานต้องมีเงินด่านแรก ต่อมาคือเรื่องการประสานงานกับราชการมีปัญหาบ้างไม่มีบ้าง บางแห่งก็ดีมาก โดยเฉพาะทหาร ซึ่งการปลูกต้นไม้ทั้งประเทศกองทัพภาคมีบทบาทช่วยมาตลอด ทุกเดือนเขาจะมีการประชุม อย่างการจัดแรลลี่ผ่าน 10 จังหวัด หากไปติดต่อทีละจังหวัดก็ไม่สะดวก ก็ทำเรื่องขอไปประชุมร่วมกับกองทัพภาคที่จะประชุมทุกเดือนก็จะได้ครบทุกหน่วยงานทุกจังหวัด แต่ละหน่วยก็มาช่วยซึ่งก็ไม่ได้ไปรบกวนเปล่าๆ มีค่าใช้จ่ายตามสมควร

เลขาธิการมูลนิธิฯ มองว่า 30 ปีที่ผ่านมา คนตื่นตัวเรื่องการปลูกป่ามากขึ้น แต่จะหนักไปทาง CSR มากกว่า ซึ่งอยากฝากถึงบุคคลหรือหน่วยงานที่จะทำโครงการปลูกป่าต้องทำแบบครบวงจร ต้องไปดูศึกษาพื้นที่ ไปพบประชาชนในพื้นที่ ให้มีส่วนร่วมตั้งแต่ขั้นแรก เขาต้องได้ประโยชน์ อย่าปักป้ายถ่ายรูปอย่างเดียวเพราะไม่ยั่งยืน และที่สำคัญต้องดูแลหลังการปลูก

ส่วนเหตุผลที่ปลูกป่ามานานหลายทศวรรษแต่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักแพร่หลายนั้น คุณหญิงกัลยา กล่าวว่า เป็นเพราะเงินทุกบาททุกสตางค์ที่เราไปขอมา เราบอกจะเอาไปปลูกและบำรุงต้นไม้ เราก็ต้องทำตามสัญญา เราจึงไม่มีเงินเหลือที่จะไปโฆษณามูลนิธิ ส่วนการโฆษณาก็ด้วยความเอื้อเฟื้อเป็นครั้งคราวจากสื่อมวลชน ไม่มีความถี่เพียงพอ สอง การปลูกป่าอยู่ในพื้นที่ห่างไกลคนไม่ค่อยรู้จัก ปลูกนานกว่าจะเห็นผลหรือเห็นผลเขาลืมไปแล้วว่าใครเป็นคนทำ

อย่างไรก็ตาม มูลนิธิก็จะยังคงเดินหน้าตามวัตถุประสงค์เพิ่มป่าให้แผ่นดินต่อไป ล่าสุดมีโครงการปลูกป่าที่อุทยานแห่งชาติทับลาน ซึ่งพื้นที่สีแดงสมัยก่อน ต่อมามีชาวบ้านเข้าไปปลูกมัน ตอนนี้รัฐบาลจัดการเอาคืน 200-300 ไร่ ที่จะได้ทำศูนย์เรียนรู้จัดการน้ำ รวมทั้งจะเข้าไปบูรณะศาลาทรงงานที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ พร้อมสมเด็จพระบรมฯ เมื่อหลายสิบปีที่แล้ว ซึ่งสามารถติดตามความเคลื่อนไหวหรือร่วมสนับสนุนได้ที่เว็บไซต์มูลนิธิ  http://www.rajapruek.org