logo-pwa

เพิ่ม Post Today

ลงในหน้าจอหลักของคุณ

ติดตั้ง
ปิด

หยวนหมิงหยวน ประวัติศาสตร์ที่ไม่ใช่ฉากละคร

26 มิถุนายน 2559

ในปักกิ่ง มีพระราชวังที่โปรแกรมทัวร์ไทยมักละเลยอยู่ที่หนึ่ง ซึ่งก็คือพระราชวังฤดูร้อนเดิม ที่มีชื่อจีนว่า “หยวนหมิงหยวน”

โดย...นิธิพันธ์ วิประวิทย์

ในปักกิ่ง มีพระราชวังที่โปรแกรมทัวร์ไทยมักละเลยอยู่ที่หนึ่ง ซึ่งก็คือพระราชวังฤดูร้อนเดิม ที่มีชื่อจีนว่า “หยวนหมิงหยวน”

แม้จะถูกโปรแกรมทัวร์ไทยละเลยแต่พระราชวังแห่งนี้ก็หัวกระไดไม่เคยแห้งจากชาวจีน เพราะพระราชวังแห่งนี้คือตัวแทนที่เล่าเรื่องราวความรุ่งเรืองและการล่มสลายของแผ่นดินจีนได้อย่างดี

ในรัชสมัยของฮ่องเต้คังซี พระองค์พระราชทานพื้นที่บริเวณหยวนหมิงหยวนให้แก่องค์ชายสี่ (ซึ่งในสมัยถัดไปเป็นฮ่องเต้ยงเจิ้ง) ยงเจิ้งฮ่องเต้องค์ถัดมาปรับปรุงและก่อสร้างเพิ่มเติมหลายส่วนเพื่อใช้เป็นพระราชวังที่ประทับเป็นประจำ แล้วความวิจิตรอลังการของพระราชวังหยวนหมิงหยวนก็ถึงจุดสูงสุดพร้อมๆ กับสภาวะบ้านเมืองที่รุ่งเรืองมั่งคั่งในรัชสมัยฮ่องเต้เฉียนหลง

หยวนหมิงหยวนจึงเริ่มต้นและรุ่งเรืองขนานไปกับประวัติศาสตร์ยุครุ่งเรืองครั้งสุดท้ายของราชอาณาจักรจีน

พื้นที่สวนและพระราชวังหยวนหมิงหยวนในยุคฮ่องเต้เฉียนหลงมีพื้นที่เทียบเท่าสนามฟุตบอล 600 สนาม ใหญ่เป็น 8.5 เท่าของพระราชวังต้องห้าม ลำพังพื้นที่พื้นน้ำก็ใหญ่พอๆ กับพื้นที่ของพระราชวัง
ฤดูร้อนอี๋เหอหยวนทั้งหมด และพื้นที่ตำหนักในหยวนหมิงหยวนมีพื้นที่รวมกันมากกว่าพื้นที่ของสิ่งก่อสร้างทั้งหมดในวังต้องห้าม

ในเมื่อมีวังต้องห้ามแล้ว จะมีหยวนหมิงหยวนให้ยิ่งใหญ่อลังการเช่นนี้ไว้ทำไม?

เพราะฮ่องเต้ราชวงศ์ชิงเป็นชนเผ่าแมนจูที่รักการขี่ม้ายิงธนูใช้ชีวิตท่ามกลางธรรมชาติ ย่อมอึดอัดกับพระราชวังแบบชาวฮั่นที่มีวัฒนธรรมคนเมืองมาเนิ่นนาน

พื้นที่ในพระราชวังต้องห้ามส่วนใหญ่ก็มีแต่พื้นหินกับตึก ตึก และก็ตึก สิ่งก่อสร้างทุกอย่างเป็นไปเพื่อสัญลักษณ์แห่งอำนาจ สถาปัตยกรรมจึงเต็มไปด้วยการแสดงระบบระเบียบแบบแผน เดชานุภาพที่ยิ่งใหญ่ข่มมนุษย์ จึงไม่ใช่ที่อยู่อาศัยที่น่าอภิรมย์เท่าใดนัก หยวนหมิงหยวนจึงเข้ามาทำหน้าที่เป็นพระราชวังที่ฮ่องเต้ทรงอยู่อาศัยจริง

ถ้าไม่ได้มีพระราชพิธีใหญ่โต หรือเป็นช่วงฤดูหนาวจัดซึ่งกินระยะเวลาเพียงเดือนสองเดือนต่อปี ฮ่องเต้ราชวงศ์ชิงยุคหลังๆ จะไม่ประทับอยู่ในวังต้องห้าม แต่จะไปใช้ชีวิตอยู่ในหยวนหมิงหยวนมากกว่า

ฮ่องเต้อยากใช้ชีวิตแบบใดก็จำลองมาไว้ในพระราชวังแห่งนี้ ไม่ว่าสวนสวยในแดนเจียงหนานที่ฮ่องเต้เคยเสด็จประพาส สวนท้อในจินตนาการที่อยู่ในบทกวี แม้กระทั่งเกาะเซียนในตำนาน ล้วนจำลองมาไว้หมด และที่สำคัญกฎมณเฑียรบาลที่ห้ามนางสนมชาวฮั่นเข้าวังก็ไม่เคยใช้กับพระราชวังแห่งนี้

คือ Theme park ระดับฮ่องเต้

และเมื่อถึงยุคที่บาทหลวงชาวตะวันตกเข้ามาในแผ่นดินจีนมากขึ้น ข่าวคราวความเจริญของตะวันตกถึงพระเนตรพระกรรณฮ่องเต้เฉียนหลงผู้สนใจในความเลิศหรู พระองค์จึงทรงรับสั่งให้บาทหลวงออกแบบก่อสร้างพระราชวังแบบฝรั่งไว้ในพระราชวังแห่งนี้ไว้ด้วย

ตึกฝรั่งที่ว่าสร้างด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมสไตล์บาโรก (ศิลปะสไตล์เดียวกับพระราชวังแวร์ซาย) ไม่ใช่แค่ตัวอาคารเท่านั้น พื้นที่สวนโดยรอบก็ตกแต่งด้วยการจัดสวนแบบตะวันตก รวมถึงสวนประดับน้ำพุที่จะไหลออกจากรูปปั้นนักษัตรทองแดงทั้ง 12 ตัวตามแต่ละโมงยามที่ผ่านไป

และการเป็นฮ่องเต้ไม่ใช่ว่าจะอยู่พักผ่อนสบายไปวันๆ ได้ ฮ่องเต้ยังต้องทำงาน ว่าราชการ รับรองทูตต่างชาติ พระราชวังแห่งนี้จึงต้องมีพื้นที่รองรับทั้งเรื่องงาน เรื่องส่วนตัว

หยวนหมิงหยวนจึงต้องเป็นทั้งบ้านและสำนักงานสุดรื่นรมย์

อาคันตุกะชาวต่างชาติจำนวนมากที่ถูกเชิญเข้ามา ต่างชื่นชมในความมหัศจรรย์ของหยวนหมิงหยวนว่าเป็น “สวนแห่งสวนทั้งหมื่น” สถาปนิกหลวงแห่งอังกฤษ วิลเลียม แชมเบอรส์ เมื่อเดินทางมาถึงจีนและได้เข้าชมสวนแห่งนี้กล่าวว่า หยวนหมิงหยวนเป็น “การรวบรวมสรรพสิ่งที่รื่นรมย์ที่สุดของธรรมชาติเข้าไว้ด้วยกัน กลายเป็นที่สุดของทุกสิ่งที่ทำให้ผู้คนตราตรึง”

แต่ทุกอย่างไม่พ้นกฎอนิจจัง แล้วก็ถึงวันที่พระราชวังแห่งนี้ต้องพังพินาศลง ด้วยชนวนเหตุทางการเมืองหลังสงครามฝิ่นครั้งที่สองเมื่อปี ค.ศ. 1860 กองทัพพันธมิตรอังกฤษ-ฝรั่งเศสเข้าบุกกรุงปักกิ่ง ข่มขู่องค์ฮ่องเต้ด้วยการมุ่งตรงเข้ายึดอุทยานหยวนหมิงหยวน กองทหารซึ่งในสถานการณ์นี้มีพฤติกรรมเช่นกองโจรก็เข้าปล้นชิงยื้อแย่งสิ่งของล้ำค่าในพระราชวัง จนในที่สุดต้องจัดระเบียบด้วยการนำสิ่งของทั้งหลายมาประมูลขายให้เป็นของที่ระลึกแจกจ่ายให้กับเหล่าทหารด้วยความเป็นธรรมแบบกองโจร วัตถุล้ำค่านับล้านชิ้นถูกขโมยออกจากพระราชวัง ในปัจจุบันของเหล่านี้สูญหายบ้างกระจายไปอยู่ตามพิพิธภัณฑ์ทั่วโลก

แต่นั่นยังไม่พอ กลุ่มทหารอังกฤษ-ฝรั่งเศสตัดสินใจเผาพระราชวังแห่งนี้เพื่อลงโทษราชสำนักจีน เป็นอันว่าของล้ำค่าที่ฉกชิงไปได้ก็ฉกชิงไปหมด ที่เหลือขนย้ายไปไม่ได้ก็ถูกเผาทำลายกลางกองเพลิง ไฟลุกโชนอยู่สามวันสามคืน พระราชวังอันวิจิตรที่ใช้เวลาสร้างมาหลายทศวรรษส่วนใหญ่กลายเป็นเถ้าถ่าน

ในที่สุด ราชสำนักจีนก็ยินยอมทุกข้อตกลง สภาพบ้านเมืองที่อ่อนแอจนกระทั่งหยวนหมิงหยวนถูกเผาทำลาย เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ฮ่องเต้เสียนเฟิงทรงตรอมใจป่วย และสิ้นพระชนม์ลงหลังจากนั้น

แล้วไม่นาน หยวนหมิงหยวนต้องโดนเผาอีกครั้งในปี ค.ศ. 1900 โดยครั้งนี้กองทัพพันธมิตร 8 ชาติเข้าปล้นทำลาย อาคารที่ยังพอหลงเหลือจากการเผาทำลายเมื่อครั้งแรกจึงถูกเผาทำลายสิ้น จะมีเหลือก็แต่ซากอาคารตึกฝรั่งซึ่งทำจากหินที่พอจะรอดพ้นพระเพลิงมาได้ แต่ก็อยู่ในสภาพทรุดโทรมอย่างมาก

ภัยจากต่างชาติจบลง หยวนหมิงหยวนยังต้องผ่านภัยจากคนในชาติ การฉ้อราชบังหลวงโยกย้ายสิ่งของที่กระจัดกระจายออกจากพระราชวัง กองกำลังเถื่อน และกลุ่มอันธพาลเข้าลักขโมยและรื้อทำลาย หินสลักงดงามที่เหลืออยู่ถูกขโมยไปประดับสถานที่ส่วนตัว เศษไม้ที่เหลือถูกชาวบ้านนำมาเผาเป็นถ่านออกขาย หยวนหมิงหยวนกลายเป็นสภาพพื้นที่รกร้างโดยสมบูรณ์

หินแกะสลักซึ่งครั้งหนึ่งเคยอยู่ในอุทยานหยวนหมิงหยวนถูกขโมยไปใช้ตามสุสานนายพลทั้งหลาย หรือแม้กระทั่งที่มหาวิทยาลัยปักกิ่งซึ่งตั้งอยู่ข้างๆ กันก็ยังมีซากหินที่ถูกขนย้ายออกมาทิ้งไว้

หยวนหมิงหยวนอันรุ่งเรืองไม่ฟื้นคืนกลับมาอีกแล้ว

รัฐบาลจีนยุคหลังเลือกที่จะไม่บูรณะอาคารใดๆ มากมาย และพยายามใช้ซากโบราณสถานเล่าประวัติศาสตร์ให้กับคนในชาติว่าครั้งหนึ่ง ชนชาติจีนเคยถูกย่ำยีเมื่อบ้านเมืองอ่อนแอ

หยวนหมิงหยวนยุคปัจจุบัน จึงมีแต่พื้นที่สวนน้ำกับเนินดินน้อยใหญ่ที่เต็มไปด้วยต้นไม้เท่านั้น มีอยู่เพียงบางส่วนของตึกฝรั่งเท่านั้นที่ยังเห็นเป็นหินสลักลายศิลปะบาโรกกองระเนระนาด แต่ลำพังแค่เศษซากก็ยังพอทำให้ผู้ที่ได้ยินได้ฟังประวัติศาสตร์หน้านี้จินตนาการถึงวังอันงดงามและวันอันน่าหดหู่ได้

ไม่มีการแสดงแสงสีเสียง ไม่มีการบูรณะซ่อมแซมอะไรใหญ่โต มีเพียงการปลูกต้นไม้ ดอกไม้ หรือไม่ก็เป็นเพียงสถานที่จัดเทศกาลชมดอกบัวในบางฤดูเท่านั้น

ชาวจีนและนักท่องเที่ยวบางส่วนจึงมาซึมซับประวัติศาสตร์ที่นี่ ขณะที่นักท่องเที่ยวที่ต้องการเห็นอดีตอันงดงามเป็นรูปธรรมผ่านเลยไป

ในยุคที่ผู้คนห่างเหินสงครามยึดบ้านยึดเมือง บางคนอาจเริ่มต้นตั้งคำถามท้าทายว่าการเป็นเมืองขึ้นมันแย่ตรงไหน ความภูมิใจในเอกราชมีไว้ทำไม (ซึ่งในข้อหลังบางทีก็น่าตั้งคำถาม ถ้าความภูมิใจในเอกราชนำมาซึ่งความเย่อหยิ่งจองหอง)

แต่การได้เห็นความว่างเปล่าในทุกวันนี้ของหยวนหมิงหยวน ทำให้คำถามเหล่านั้นหมดไป แล้วกลับมาใจหายแทนทุกๆ บ้านเมืองที่ต้องประสบชะตากรรมที่ถูกคนนอกย่ำยี และต่อเนื่องด้วยสังคมภายในล่มสลาย ซึ่งกว่าจะฟื้นตัวได้ต้องใช้เวลานับศตวรรษ

หลายครั้งเศษซากและความเงียบงันจากการล่มสลายก็ทำหน้าที่สอนใจเราได้ดีกว่าความรุ่งเรืองอลังการแบบฉากละคร