posttoday

พอ(แล้ว)ดี นักธุรกิจรุ่นใหม่หัวใจเพียงพอ

12 พฤษภาคม 2559

กลางกระแส “สตาร์ทอัพ” ของไทย โมเดลธุรกิจที่เติบโตแบบก้าวกระโดด มีวิธีและกลไกการสร้างรายได้ ที่เน้นไปที่การทำกำไรระดับ 50-100 เท่า

โดย...วันพรรษา อภิรัฐนานนท์

กลางกระแส “สตาร์ทอัพ” ของไทย โมเดลธุรกิจที่เติบโตแบบก้าวกระโดด มีวิธีและกลไกการสร้างรายได้ ที่เน้นไปที่การทำกำไรระดับ 50-100 เท่าของการลงทุนภายในระยะเวลาสั้นๆ ในอีกมุมของสังคมก็ยังมีโลกอีกด้าน โลกของการเห็นต่างทางธุรกิจ หรือจะพูดให้ชัดคือ เห็นตรงกันข้าม

พวกเขาไม่ต้องการเติบโตแบบก้าวกระโดด แต่ต้องการเดินไปข้างหน้าอย่างช้าๆ และมั่นคง กำไรไม่ใช่เรื่องใหญ่ สิ่งที่ใหญ่กว่ากำไรคืออะไร ตามไปรู้จัก “พอแล้วดี The Creator”

พอแล้วดี The Creator เป็นกลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่สร้างสรรค์ธุรกิจบนพื้นฐานความพอเพียง (Sufficiency Economy Philosophy) เริ่มต้นจากกลุ่ม 13 นักธุรกิจคนรุ่นใหม่ที่ถูกคัดเลือกจากทั่วประเทศเพื่อเข้าร่วมโครงการ 13 The Creator หรืออีกนัยหนึ่งคือ 13 คนต้นแบบที่จะร่วมเรียนรู้ไปพร้อมๆ  กับคนในสังคมอย่างสร้างสรรค์ในเรื่องของไลฟ์สไตล์ บิซิเนส (LifeStyle Business)

พอ(แล้ว)ดี นักธุรกิจรุ่นใหม่หัวใจเพียงพอ

 

ดร.ศิริกุล เลากัยกุล ผู้ก่อตั้ง บริษัทที่ปรึกษา แบรนด์บีอิ้ง นักการตลาดชั้นแนวหน้าของไทย และเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งโครงการพอแล้วดี The Creator เล่าว่า ในฐานะนักการตลาด เธอมีความเชื่อในเรื่องของการพัฒนาอย่างยั่งยืน เชื่อในหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่ผ่านมาเมื่อพูดถึงหลักปรัชญาความพอเพียง ทุกคนนึกถึงเกษตรกรรมแต่เพียงอย่างเดียว หากพระราชดำรัสเกี่ยวกับหลักเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเรื่องของการพัฒนาและบริหารทั้งประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง พัฒนาเศรษฐกิจให้ทันยุคสมัยด้วยความพอเพียงพอประมาณ ซึ่งเป็นเรื่องของทุกภาคส่วน ไม่เฉพาะเกษตรกร

“ในฐานะนักสร้างแบรนด์ ดิฉันคิดว่าเราสร้างแบรนด์ด้วยหลักความพอเพียงได้ แนวคิดเรื่องความพอเพียงนำมาใช้กับภาคธุรกิจได้เท่าๆ กับภาคเกษตร เป็นแนวคิดที่จะทำให้แบรนด์ยั่งยืน สังคมยั่งยืน” ดร.ศิริกุลเล่า

จุดพลุด้วยธุรกิจไลฟ์สไตล์ เนื่องจากต้องการเปิดกว้างให้คนทั่วไปเข้าถึงง่าย เรียนรู้ง่าย เช่น ร้านกาแฟ ทุกคนหรือหลายคนทุกวันนี้ก็เดินเข้าไปนั่งกินกาแฟในร้านกาแฟอยู่แล้ว มองดูรู้ซึ้ง สัมผัสได้ และให้แรงบันดาลใจในสิ่งที่เป็นไปได้ ทั้งหมดเป็นไปภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ที่นำมาปรับเป็นกรอบในการทำธุรกิจ จากนั้นก็ต่อยอดเอื้อเฟื้อดูแลสังคมของตัวเองต่อไป

พอ(แล้ว)ดี นักธุรกิจรุ่นใหม่หัวใจเพียงพอ ดร.ศิริกุล เลากัยกุล

“เราให้ความสำคัญกับการพัฒนาท้องถิ่น(บ้านเกิด) ความพอเพียงที่ควบคู่ไปกับแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ นี่คือ 13 คนต้นแบบที่จะเป็นต้นแบบของการทำธุรกิจที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานความพอเพียงที่พิสูจน์ได้ ทำได้” ดร.ศิริกุลเล่า

พอแล้วดีพิสูจน์ได้ด้วยตัวของตัว หมายถึง ความพอดี ไม่โลภ ไม่เบียดเบียน ใครพอใครได้ ส่วนในแง่มุมของธุรกิจมีความสามารถในการทำกำไร  ออกดอกออกผลเป็นเม็ดเงินพร้อมไปกับความมั่งคั่งของชุมชน พอแล้วต้องหยุด หมายถึงหยุดที่ความโลภ ไม่ใช่หยุดการพัฒนา โครงการจะเข้าไปช่วยเสริมสร้างองค์ความรู้ในเรื่องของการสร้างแบรนด์ โดยนักการตลาดระดับประเทศที่มาร่วมด้วยช่วยกัน ฉุดรั้งทุนนิยมด้วยความพอเพียง

“เรากำลังจะมีเวิร์กช็อปครั้งแรกในเดือน พ.ค.นี้ และจัดเรื่อยไปทุกเดือนตั้งแต่ มิ.ย., ก.ค., ส.ค. ครั้งสุดท้ายในวันที่ 11-13 ต.ค. ที่จะเป็นการประชุมใหญ่ระดับโลก “Sustainable Brand” เผยแผ่องค์ความรู้และผลักดันแบรนด์ไทยในเวทีระดับชาติ”

พอ(แล้ว)ดี นักธุรกิจรุ่นใหม่หัวใจเพียงพอ เอกกมล

 

 

คือความคาดหวังที่เต็มเปี่ยม 100% ดร.ศิริกุลตอบว่า นี่คือโครงการที่จะจุดประกายคนรุ่นใหม่ในการเปลี่ยนแปลงสังคม อนาคตที่ฝากไว้ และสังคมไทยที่จะรู้จักคำว่า “พอ” มากขึ้น ทุกภาคส่วนต้องลุกขึ้นมาช่วยกันก่อนที่จะสายเกินการณ์ สังคมทุกวันนี้น่ากลัวเพราะทุกคนเห็นแต่ประโยชน์ของตัว กลยุทธ์คือรากฐานความคิดต้องเข้มแข็ง ถึงจะง้างและงัดได้กับความโลภ

เอกกมล ธีปฏิกานนท์ เจ้าของร้านกาแฟละเลียด หนึ่งใน 13 The Creator เล่าว่า เป้าหมายของคนทำธุรกิจโดยทั่วไปคือกำไร แต่เป้าหมายของร้านละเลียดคือกำไรและการแบ่งปัน ต่อยอดซึ่งกันและกันในฐานะที่ต่างฝ่ายต่างเป็นผู้ให้และผู้รับ จากอดีตเป็นอาร์ตไดเรกเตอร์แมกกาซีนกินเงินเดือนบริษัท เปลี่ยนรูปแบบชีวิตมาทำธุรกิจของตัวเอง โดยเริ่มจากสิ่งที่ถนัดและมีวัตถุดิบอยู่แล้ว องค์ความรู้มาจากญาติผู้ใหญ่ที่ศึกษาสายพันธุ์กาแฟในฐานะนักวิชาการเกี่ยวกับเกษตรพื้นที่สูง และมีงานอดิเรกเป็นการคั่วกาแฟในยามว่าง(ฮา)

“ในช่วงแรกที่เปิดร้านใหม่ๆ ได้คิดถึงการชงกาแฟแบบต่างชาติสมัยใหม่ที่นิยมระดับการคั่วที่ไม่เข้ม เพื่อให้ได้รสชาติที่แท้จริงของกาแฟตามแหล่งปลูก จึงทดลองใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุงการคั่วกาแฟให้ได้ตามอย่างที่ใจคิด และได้ออกแบบอุปกรณ์การชงกาแฟขึ้นเองด้วย”

พอ(แล้ว)ดี นักธุรกิจรุ่นใหม่หัวใจเพียงพอ สุธีร์

 

เอกกมลเล่าว่า ธุรกิจของเขาเปรียบเหมือนคนกลางที่ช่วยทำให้คนรู้จักเมล็ดกาแฟไทยมากขึ้น ได้เห็นเรื่องราวการปลูกกาแฟของชาวไทยภูเขา เป็นการช่วยสนับสนุนกาแฟที่ปลูกในป่าแบบไม่ใช้สารเคมีที่ชาวบ้านชาวเขากินกันมา อีกยังได้นำแมคคาเดเมียที่ปลูกในพื้นที่เดียวกันมาช่วยจำหน่าย เพิ่มรายได้ให้แก่ชาวเขา และชาวเราคือชุมชนในพื้นที่ก็ได้บริโภคสินค้าคุณภาพ โดยเริ่มต้นแบบทีละนิด ไม่เกินตัว แต่จะต่อยอดไปเรื่อยๆ

สุธีร์ ปรีชาวุฒิ ผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนอินทรีย์จันทบูร จ.จันทบุรี อีกหนึ่งใน The Creator อดีตเซลส์เอนจิเนียร์ผู้พลิกผันตัวเองไปเป็นชาวสวนผลไม้ เล่าว่า สิ่งที่ทำคือธุรกิจของครอบครัว บ้านเป็นสวนก็เห็นสวนและเห็นความเป็นไปของสวน ความไม่อาจพึ่งพาตนเอง ทุกอย่างขึ้นอยู่กับพ่อค้าคนกลางว่าจะรับซื้อราคาเท่าไร ราคาดีชาวสวนก็แห่ปลูก ราคาขึ้นมาแล้วก็ถูกทุบ เป็นอย่างนี้อยู่ชั่วปีดีดัก

เมื่อกุญแจสำคัญอยู่ที่การพึ่งพาตัวเอง สุธีร์จึงใช้เวลาและงบประมาณไปกับการทดลองในสวน เรียนรู้และขยายผล ถ้ามั่นใจจึงจะลงทุนเพิ่ม ปลูกเพิ่มในพันธุ์ไม้ที่ต้องการ สิ่งนี้จะเรียกว่าเป็นไปภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงหรือไม่ เพราะทั้งหมดเป็นไปภายใต้เงื่อนไขของการสะสมความรู้ การทำงานและการใช้ชีวิต รวมทั้งเงื่อนไขทางคุณธรรมที่จะไม่เอาเปรียบผู้บริโภค ไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม

พอ(แล้ว)ดี นักธุรกิจรุ่นใหม่หัวใจเพียงพอ

 

“เรามองหากลยุทธ์ที่จะมาสร้างการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างสังคมเมืองและสังคมเกษตรกรรม เช่น การสร้างพื้นที่อาหารที่ดี มีพื้นที่ให้คนได้เรียนรู้และทำความเข้าใจธรรมชาติในแบบของเรา สร้างวิธีการเรียนรู้เฉพาะตัวเฉพาะถิ่น โดยร่วมมือกับคนภายนอกที่มองคนละมุมกับเรา และช่วยเราในการบอกกล่าวแก่สังคมให้รับรู้ไปด้วยกัน”

ความยั่งยืนสำหรับสุธีร์คือความไม่เบียดเบียน ไม่ว่าจะยืนอยู่ในจุดไหนตำแหน่งไหนในสังคม หากพยายามไม่เบียดเบียนในบริบทของตนได้ สังคมก็ยั่งยืนได้ สำหรับเกษตรกรรุ่นใหม่อย่างเขา สิ่งที่ทำคือความพยายามในการตอบโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อม ปลูกพืชให้พืชยืนต้นและเติบโตด้วยตัวของมันเอง ไม่ต้องใช้สารเคมี สร้างระบบนิเวศที่เกื้อกูล เป็นต้น รวมทั้งการตอบโจทย์เรื่องการตลาด แก้ปัญหากลไกราคาผลไม้

“สวนของผมปลูกพืชแบบเปิดตลาด ไม่ใช่ตามตลาด คือไม่ได้ปลูกตามๆ กันไป เช่น ผมไปภาคใต้เห็นผักเหลียง ซึ่งเป็นผักพื้นบ้านทางภาคใต้ ในความคิดของผมคือมันอร่อยมาก ผมก็เอามาเพาะพันธุ์ที่จันทบุรี ผักเหลียงคืออะไร คนจันทบุรีไม่รู้จัก แต่มันขายได้และสร้างสีสันในตลาดอย่างไม่น่าเชื่อ ทุกคนแห่ซื้อไปทำผัดผักเหลียงใส่ไข่กินที่บ้าน นี่คือตัวอย่างหนึ่งของการปลูกแบบเปิดตลาด”

พอ(แล้ว)ดี นักธุรกิจรุ่นใหม่หัวใจเพียงพอ

 

สวนขนาด 110 ไร่ของสุธีร์ทำเงินต่อปีแค่ 2 ล้านบาท เทียบไม่ได้เลยกับสวนผลไม้ขนาดเดียวกัน เช่น สวนทุเรียนใกล้ๆ สามารถทำเงินจากการขายทุเรียนได้เป็นหลักหลายล้านบาท/ปี แต่เมื่อถามว่าพอใจหรือไม่ คำตอบคือพอใจ ทำเงินไม่เยอะไม่เป็นไร เพราะเป็นชาวสวนก็ไม่ต้องใช้เงินทำอะไรอยู่แล้ว ข้าวปลาอาหารบริบูรณ์ พืชผักผลไม้ก็หลากหลายมีกินทุกมื้อ ในช่วงนี้จึงทุ่มไปกับการทดลองเพื่อเรียนรู้ แม้พ่อแม่ชาวสวนรุ่นเก่าจะมีบ่น (ฮา) แต่หากมองในมุมของการพึ่งพาตัวเอง ในระยะยาวคือความสมบูรณ์แบบ

“ผมค่อยๆ เดิน ต่อเมื่อมั่นใจแล้วตกผลึกแล้วจึงลงทุนเพิ่ม ถามว่ามีวูบเสียใจมั้ยที่ลาออกจากเซลส์เอนจิเนียร์ ไม่เลยเพราะผมเห็นข้างหน้าว่าคืออะไร” สุธีร์เล่า

อย่าพลาดโอกาสที่จะทำในสิ่งที่รัก และสร้างสรรค์ธุรกิจบนพื้นฐานความพอเพียงไปด้วยกัน นอกเหนือจากร้านกาแฟที่กาแฟทุกเมล็ดปลูกในไทย เครื่องชงเครื่องดริปและวิธีคั่ววิธีคิดโดยคนไทย หรือจะกลับไปเป็นชาวสวนที่บ้านเกิด โครงการพอแล้วดี 13 Creatorยังประกอบด้วยนักธุรกิจรุ่นใหม่ในหลายสาขา เช่น จันทรโภชนา จันทบุรี ร้านอาหารที่คิดเมนูสุดเจ๋ง เพื่อประยุกต์ผลไม้ท้องถิ่นให้ทุกคนได้กินในแบบที่น่าสนุก, บ้านริมแควแพริมน้ำ จ.กาญจนบุรี ที่โดดเด่นด้วยฉากหลังสะพานรถไฟสายมรณะและไลต์แอนด์ซาวด์แฮนด์เมด หรือ Mann Craft ผู้จัดจำหน่ายสินค้าหัตถกรรม ผ้าทอมือสีธรรมชาติที่สอดคล้องกับยุคสมัยอย่างน่าทึ่ง สนใจเข้าไปดูเรื่องราวของพวกเขาที่ facebook : พอแล้วดี The Creator

ส่งท้ายด้วย ดร.ศิริกุล ที่บอกว่า ตรงกันข้ามกับขวาคือซ้าย ตรงกันข้ามกับสตาร์ทอัพคือ พอแล้วดี ที่จะรวยอย่างช้าๆ ทว่ามั่นคง กล่าวอีกนัยคือความมั่นคง มั่นคั่ง ยั่งยืน แถมแบ่งปันให้กับสังคมได้ด้วย

พอแล้วดี คือ พอกับความต้องการของตัวเอง พอแล้วกับความโลภ ปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระจากกรอบของทุนนิยม นำพาสู่การสร้างสรรค์สิ่งดีๆ สู่สังคมและคนรอบตัว จาก 13 ต้นแบบในปีแรก จะเพิ่มจำนวนในปีต่อๆ ไป... คุณเองก็ร่วมเป็นส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดความพอแล้วดีในสังคมนี้ได้