posttoday

สาระน่ารู้เกี่ยวกับ โรคเบาหวานในไต ว่าด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีน ตอน 1

07 พฤษภาคม 2559

ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับโรคเบาหวานในไตทางด้านแพทย์แผนตะวันตกกันก่อน

โดย... พจ.เยาวเกียรติ เยาวพันธุ์กุล คลินิกหัวเฉียวฯ แพทย์แผนจีน Facebook Fanpage : huachiewtcm

ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับโรคเบาหวานในไตทางด้านแพทย์แผนตะวันตกกันก่อน โรคเบาหวานในไตนั้นเป็นโรคแทรกซ้อนรุนแรงเกี่ยวกับหลอดเลือดขนาดเล็กในร่างกาย เกิดได้ทั้งในผู้ป่วยโรคเบาหวาน type 1 และ type 2 ปัจจุบันพบว่าโรคนี้ได้คร่าชีวิตคนไปจำนวนไม่น้อย อาการที่ปรากฏในระยะแรกของผู้ป่วยโรคเบาหวานคือมักพบโปรตีนหรือไข่ขาวในปัสสาวะ จากนั้นจึงมีภาวะบวมน้ำและความดันโลหิตสูงร่วมด้วย ภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้หากปล่อยไว้เป็นเวลานานส่งผลให้การทำงานของระบบไตเสื่อมลงและทำให้เกิดโรคไตวายได้ในที่สุด

การวินิจฉัยโรคโดยแพทย์จะพบ UREA (อัตราการขับโปรตีนในไต) ในปัสสาวะสูงกว่าปกติ ซึ่งอยู่ระหว่าง 20-200 Ug/min หรือ 24 H-TP 30-300 mg/24 h รวมถึงการตรวจปัสสาวะติดต่อกัน 2 ครั้ง พบว่ามีไข่ขาวในปัสสาวะมากกว่า 0.5g/24h ซึ่งในทางคลินิกนั้นผู้ป่วยโรคเบาหวานเมื่อมีการตรวจพบว่าตัวเองมีค่า UREA หรือ 24h-TP (อัตราการขับโปรตีนในปัสสาวะใน 24 ชม.) สูงมีอาการบวมน้ำ ความดันโลหิตสูง ค่าต่างๆ ในไตสูงขึ้น หรือดวงตาฝ้าฟาง เช่นนี้แล้วควรคำนึงถึงโรคเบาหวานในไตด้วย แต่มีข้อยกเว้นสำหรับคนที่มีโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ ผู้ป่วยที่เป็นโรคไตอื่นๆ โรคหัวใจวาย โรคเหล่านี้อาจทำให้ค่าไข่ขาวหรือโปรตีนในปัสสาวะเพิ่มสูงขึ้นได้เช่นกัน

ปัจจุบันการแบ่งระยะของโรคเบาหวานในไตมีดังต่อไปนี้

ระยะที่ 1 : ค่า GFR (อัตราที่เลือดไหลผ่านไตเรียกว่า glomerular filtration rate) สูงขึ้น ในระยะเริ่มแรกลักษณะของไตจะมีขนาดใหญ่ขึ้นเลือดไปเลี้ยงไตมากขึ้น ในระยะแรกนี้จะไม่มีโปรตีนในปัสสาวะและไม่มีอาการแสดงของโรค

ระยะที่ 2 : UREA ยังคงมีค่าปกติแต่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงทางพยาธิสภาพที่ตัวกรองไต แต่ยังคงไม่แสดงอาการใดๆ ในระยะนี้เกิดภายหลังจากเป็นโรคเบาหวานแล้วประมาณ 2 ปี

ระยะที่ 3 : โรคเบาหวานลงไตในระยะแรก เกิดหลังจากเป็นโรคเบาหวานแล้วประมาณ 10-15 ปี ในระยะนี้จะตรวจพบโปรตีนในปัสสาวะในปริมาณเล็กน้อย ระยะนี้ค่าของ UAER จะมีค่าประมาณ 20-200 μmol/min หรือ 30-300 mg/24 ชม. ถ้าหากมีภาวะความดันโลหิตสูงมาร่วมด้วยส่งผลให้การเสื่อมของไตเร็วขึ้น

ระยะที่ 4 : ระยะของโรคเบาหวานลงไตหรือผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานมานาน 15-20 ปี ระยะนี้ค่า UREA มีค่าประมาณ ≥200 μmol/min หรือ ≥300 mg/24 ชม. ในระยะนี้ถ้าหากไม่รีบรักษาอัตราการเสื่อมของไตจะเสื่อมเร็วกว่าคนปกติถึง 10 เท่า เข้าสู่ระยะไตวายได้อย่างรวดเร็ว ในระยะนี้ผู้ป่วยมักมีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ไม่มีแรง อ่อนเพลีย หนาวง่าย คันตามผิวหนังโดยไม่รู้สาเหตุ และมีอาการซีดเนื่องจากปริมาณเม็ดเลือดแดงในร่างกายต่ำลง เป็นต้น

และระยะสุดท้าย ไตวาย ค่า GFR น้อยกว่า 10 ml/min เป็นไตวายระยะสุดท้าย การทำงานของไตลดลงเหลือไม่ถึงร้อยละ 5 ของปกติ และมีของเสียคั่งในร่างกายจำนวนมาก ผู้ป่วยปัสสาวะน้อยมากจนไม่มีปัสสาวะ มีอาการซึมเศร้า ไม่รู้สึกตัว มีอาการช็อกหมดสติและเสียชีวิตในเวลาต่อมา ในระยะนี้จะต้องมีการรักษาที่เหมาะสม เช่น การล้างไต เป็นต้น

ทั้งนี้ โดยส่วนใหญ่แล้วในระยะที่ 1 หรือ 2 นั้นจะไม่เห็นอาการที่แน่ชัด ผู้ป่วยจึงละเลยการดูแลเอาใจใส่ตัวเอง ฉะนั้นเมื่อเรารู้ตัวว่าเป็นโรคนี้แล้วควรป้องกันและรักษาแต่เนิ่นๆ เช่น ในระยะแรก ถ้าหากรู้ว่าเป็นโรคเบาหวานแล้วควรที่จะเข้ารับการรักษาทันที หรือดูแลสุขภาพร่างกายเพื่อไม่ให้อาการของโรคลามไปเป็นไตวายในระยะสุดท้าย