posttoday

ปะการังฟอกขาวได้ก็ฟื้นได้

26 เมษายน 2559

ปะการัง สิ่งมีชีวิตที่มีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมอย่างยิ่ง น้ำอุ่นเกินไป เย็นเกินไป

โดย...วรธาร ภาพ คลังภาพโพสต์ทูเดย์

ปะการัง สิ่งมีชีวิตที่มีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมอย่างยิ่ง น้ำอุ่นเกินไป เย็นเกินไป ความเค็มไม่เหมาะ ความเป็นด่างไม่ได้ ตะกอนมากเกิน ล้วนเป็นสาเหตุให้ปะการังถอดใจตายได้ง่ายๆ และเมื่อปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สะสม อันเกิดจากกิจกรรมมนุษย์เพิ่มขึ้นสูงสุด สิ่งที่ตามมาก็คืออุณหภูมิน้ำทะเลบางฤดูกาลสูงขึ้นผิดปกติ ทำให้ปะการังเกิดความเครียดและขับไล่สาหร่ายที่อาศัยอยู่ในเนื้อเยื่อออกไป เมื่อไม่มีสาหร่ายปะการังก็เหลือแต่โครงหินปูนสีขาว จึงเป็นที่มาของปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว และพอไม่มีสาหร่ายปะการังก็ขาดอาหาร ค่อยๆ อ่อนแอและอาจตายลงในที่สุด

สถานการณ์ปะการังฟอกขาว

จากปรากฏการณ์ของเอลนินโญที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ติดตามอุณหภูมิในระดับโลกและระดับภูมิภาค ก็มีสัญญาณให้เห็นว่าทางสหรัฐอเมริกาที่ฮาวายก็เกิดปะการังฟอกขาวแล้ว ล่าสุดเดือน ม.ค. และ ก.พ. ที่ออสเตรเลีย แนวปะการังทางตอนเหนือที่เดอะเกรตแบร์ริเออร์รีฟ ความยาวประมาณ 1,200 กม. ก็เกิดฟอกขาวและยังอยู่ในช่วงฟอกขาว

ปะการังฟอกขาวได้ก็ฟื้นได้

 

สำหรับประเทศไทย ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) บอกว่า ปลายเดือน ม.ค. และ ก.พ. สถิติน้ำทะเลสูงขึ้นถึงจุดวิกฤต จึงเห็นปะการังฟอกขาวบ้างที่ จ.ชุมพร และประจวบคีรีขันธ์ แต่โชคดีช่วงนั้นมีคลื่นลมแรงทางฝั่งอ่าวไทย ทำให้น้ำทะเลลดอุณหภูมิลงมา ปะการังจึงหายฟอกขาวไม่ตาย

อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา กล่าวต่อว่า ณ ตอนนี้อุณหภูมิกำลังไต่เส้นขึ้นมาเรื่อยๆ ซึ่งโดยปกติอุณหภูมิของน้ำทะเลที่กระตุ้นให้ปะการังเกิดการฟอกขาวนั้น จะอยู่ที่สูงกว่า 30.5 องศาเซลเซียสขึ้น
ไป ซึ่งการที่อุณหภูมิอยู่ที่ 30.5-31 องศาเซลเซียสนั้น ไม่ได้ทำให้เกิดการฟอกขาวทันที แต่ต้องเกิดขึ้นต่อเนื่องยาวนานประมาณ 2 อาทิตย์ขึ้นไป จึงจะเริ่มเห็นปะการังบางชนิดส่วนใหญ่เป็นปะการังกิ่ง เช่นปะการังเขากวาง ปะการังดอกกะหล่ำ จะฟอกก่อน รองลงมาเป็นพวกแผ่น ส่วนพวกที่ฟอกช้าสุดคือปะการังก้อน ปะการังสมอง

“ครั้งปี 2553 อุณหภูมิก็ยังสูงต่อเนื่องสองเดือน ตั้งแต่ พ.ค.-มิ.ย. พอต่อเนื่องยาวนานก็เริ่มฟอกขาว แต่ของบ้านเรา ณ เวลานี้ยังเป็นแค่สีจางๆ ไม่ถึงขั้นฟอกขาว จึงต้องเฝ้าระวังกัน ต้องเช็กน้ำทะเลตรวจอุณหภูมิและดูการฟอกขาวตลอด เช่น เกาะสุรินทร์ สิมิลัน เป็นเขตน้ำที่ค่อนข้างลึกและอยู่ทางมหาสมุทรอินเดียจะมีมวลน้ำข้างล่างมา อุณหภูมิก็จะอยู่ประมาณ 29 ทางอื่นยังต้องเฝ้าระวัง อย่างอันดามันตอนล่าง โซนเกาะพีพีไล่ลงมาอุณหภูมิแตะ 30 และ 30.5 ในหลายๆ ที่ แต่ยังไม่ฟอกขาว

ปะการังฟอกขาวได้ก็ฟื้นได้

 

ด้าน ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) กล่าวว่า ประเทศไทยเวลานี้มีปะการังอยู่ประมาณ 1.5 แสนไร่ หรือเหลืออยู่ประมาณ 20% เท่านั้น ขณะที่แหล่งเพาะพ่อแม่พันธุ์ที่สมบูรณ์จริงๆ เหลือน้อยกว่า 5% โดยมีอัตราการลดลงปีละ 1% ซึ่งการลดลง 1% นั้นเป็นมาต่อเนื่อง 8 ปีแล้ว หากยังลดลงอย่างนี้ไปทุกปี อีก 20 ปีทะเลไทยก็จะไม่มีปะการังเหลืออยู่แน่นอน

รองคณบดีคณะประมง มก. กล่าวว่า ปะการังฟอกขาวถือเป็นเรื่องปกติ ซึ่งเป็นสาเหตุที่อยู่กับธรรมชาติมาแต่ไหนแต่ไร แต่สาเหตุส่วนใหญ่มาจากมนุษย์เป็นหลัก จึงต้องแก้ที่มนุษย์เท่านั้น เพราะฉะนั้นในทางธรรมชาติปะการังฟอกขาวได้ก็ฟื้นได้ถ้าดูแลให้ดี และต้องใช้เวลา ทั้งนี้โดยมีข้อมูลการศึกษามากมายแม้กระทั่งในประเทศไทย

“ตัวอย่างปะการังที่เกาะสุรินทร์ ฟอกขาวกว่า 80-90% ในปี 2553 นักท่องเที่ยวหายไป แล้ว เกาะสุรินทร์อยู่ไกลฝั่งจึงไม่มีน้ำเสียจากชุมชน ทำให้ปะการังฟื้นตัวได้ดีค่อนข้างเร็ว โดยมีอัตราการฟื้นตัวอยู่ที่ปีละ 9-7% ต่างจากเกาะพีพีฟื้นแค่ 0.7% ในระยะ 6 ปี เรียกว่าแทบไม่ฟื้นเลย เพราะพีพีปะการังตายก็จริงแต่นักท่องเที่ยวยังอยู่ อีกทั้งรอบเกาะมีแหล่งน้ำเสียและยังมาจากภูเก็ตด้วยจึงฟื้นตัวได้ช้า ฉะนั้นหลักๆ ก็คือการท่องเที่ยวกับน้ำเสีย ซึ่งก็มาจากคนนั่นเอง”

ปะการังฟอกขาวได้ก็ฟื้นได้

 

ฟอกขาวได้ก็ฟื้นได้

ศักดิ์อนันต์ กล่าวว่า ช่วงที่ปะการังเริ่มฟอกขาวนั้นจะยังเป็นเนื้อเยื่อหรือเป็นวุ้นตัวปะการังอยู่และยังไม่ตาย เราสามารถช่วยให้ปะการังฟื้นตัวและรอดตายได้ด้วยการลดผลกระทบต่างๆ ที่เป็นการซ้ำเติม ทำปะการังที่เครียดอยู่แล้วให้อ่อนแอลง

“ตอนที่เริ่มฟอกขาวเขาจะอยู่ในสภาวะเครียด ฉะนั้นถ้าลดผลกระทบต่างๆ ที่ไปซ้ำเติมเขาได้ เช่น การท่องเที่ยว ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมต้องมีการปิดเกาะบางเกาะ ก็เพราะนักท่องเที่ยวชอบให้อาหารปลา ทิ้งของเสียลงทะเล ขับถ่ายในแนวปะการัง แม้แต่การขับถ่ายในเรือ พอลากส้วมไปก็ลงทะเล ลงแนวปะการังไปสร้างเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อโรคให้กับปะการัง รวมถึงน้ำสกปรกจากบ้านเรือนชุมชนที่อยู่ใกล้แนวปะการังด้วย เหล่านี้ล้วนไปซ้ำเติมปะการังที่เครียดอยู่แล้วให้อ่อนแอและทำให้ตายได้ แต่ถ้าเราลดพวกนี้ได้ในช่วงดังกล่าวเขาก็มีโอกาสฟื้น และพออุณหภูมิน้ำทะเลลดลงเขาก็จะเริ่มแข็งแรงฟื้นตัวดี”

สำหรับกรณีปะการังฟอกขาวแล้วตาย อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา มอ. กล่าวถึงมาตรการในการฟื้นฟูว่า สามารถทำได้โดย หนึ่ง ปิดพื้นที่ที่แนวปะการังฟอกขาว หยุดการท่องเที่ยว สอง ส่งเสริมการฟื้นฟูแนวปะการัง โดยเฉพาะการฟื้นฟูด้วยกระบวนการทางธรรมชาติ เช่น การสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ ถ้าสภาพน้ำดีสะอาดปะการังก็มีความสามารถในการสืบพันธุ์ได้ เมื่อนั้นเราก็จะได้ลูกปะการังกลับคืนมา

ปะการังฟอกขาวได้ก็ฟื้นได้

 

“อย่างเกาะสุรินทร์ช่วงปี 2553 ปะการังเริ่มฟอกขาว พอปี 2554 ตาย 80-90% ส่วนใหญ่ปะการังเขากวางทั้งนั้น ซึ่งปะการังชนิดนี้อ่อนแอกว่าปะการังชนิดอื่น พอฟอกขาวก็ตายหมดกลายเป็นเศษปะการัง แต่พอปิดฟื้นฟู ไม่มีนักท่องเที่ยว ผ่านมาประมาณ 5 ปี เราก็เห็นประชากรรุ่นใหม่เกิดขึ้นเต็มไปหมด มันมีความหวัง” อาจารย์ศักดิ์อนันต์ พูดถึงมาตรการฟื้นฟู

ป้องกันก่อนฟอกขาว

ผลกระทบจากปะการังฟอกขาวนั้นรุนแรงและกว้างไกลกว่าที่ใครๆ คิดมาก นอกจากการสูญเสียแหล่งท่องเที่ยวสวยๆ ยังส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตต่างๆ หากแนวปะการังถูกทำลายจะทำให้ปราการธรรมชาติที่คอยป้องกันพายุตามแนวชายฝั่งหายไป ที่สำคัญคืออนาคตของชุมชนชายฝั่งหลายล้านครอบครัว ฉะนั้นก่อนที่จะเกิดปะการังฟอกขาว มนุษย์สามารถช่วยปะการังให้คงคู่กับทะเลไทยได้หลายวิธี  

ผศ.ดร.ธรณ์ บอกว่า ผู้ประกอบการและนักเที่ยวทะเลต้องหลีกเลี่ยงการไป
ดำน้ำตื้นและลึกในบริเวณต่างๆ ที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งระบุมา ไม่ว่าจะปิดแล้วหรือยังไม่ปิด เพราะเป็นแหล่งพ่อแม่พันธุ์ของปะการัง ต้องเลิกรบกวนทะเลโดยเด็ดขาด ไม่ทิ้งสมอ ไม่ทิ้งน้ำเสีย ไม่ให้อาหารปลาในแนวปะการัง ไม่จับสัตว์น้ำมาเล่น ไม่ทิ้งขยะลงทะเลแม้แต่เศษอาหาร ไม่ยืนเหยียบและเดินบนแนวปะการัง หลีกเลี่ยงการนำเรือเข้าที่ตื้นในแนวปะการังเพราะพัดตะกอนฟุ้งกระจาย

ปะการังฟอกขาวได้ก็ฟื้นได้

 

“รวมถึงเลิกกินปลานกแก้วเด็ดขาด ช่วยแจ้งเตือนหากเห็นการจับปลาหรือจับสัตว์ในแนวปะการังอุทยานหรือเขตอนุรักษ์ นอกจากนี้ต้องไม่สนับสนุนผู้ประกอบการที่ปล่อยของเสียลงทะเล รีสอร์ทบนเกาะต้องบำบัดน้ำเสีย เรือขนาดใหญ่ต้องมีถังเก็บของเสียและสิ่งขับถ่ายจากมนุษย์ และไม่ปล่อยทิ้งในแนวปะการัง ไม่ซื้อของทำลายทะเล ปะการัง กัลปังหา หอยมือเสือ ดอกไม้ทะเล ซึ่งก็ผิดกฎหมายอยู่แล้ว ไม่สนับสนุนการซื้อเปลือกหอยในแนวปะการัง เช่น หอยเบี้ย ฯลฯ เพราะเป็นผู้ควบคุมปริมาณสาหร่าย เป็นต้น”

ขณะที่ ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย ช่างภาพนักอนุรักษ์ที่ถ่ายภาพใต้ท้องทะเล และเจ้าของรางวัลช่างภาพใต้น้ำระดับโลกจากองค์กร Save Our Seas Foundation ประจำปี 2016 กล่าวว่า ปะการังเป็นรากฐานของระบบนิเวศ ถ้าลงไปในน้ำไม่ได้ลงไปในแนวปะการังแทบไม่เจออะไรเลย กุ้ง หอย ปู ปลา และสัตว์อีกไม่น้อยก็อาศัยอยู่ในแนวปะการังแทบทั้งนั้น จึงเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์นับล้านชนิดไว้หลบภัย ไว้หากิน (ข้างนอกแนวปะการังก็มีแต่เป็นพวกปลาใหญ่ Pelagic ไม่ก็แนวทรายที่ไม่ค่อยมีตัวอะไร) มุดซอกนั้นซอกนี้ก็เจอตัวนั้นตัวนี้

“ปะการังเป็นโครงสร้างที่สวยงามที่เกิดขึ้นในธรรมชาติ แล้วเป็นที่ปฏิสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตนับไม่ถ้วนที่เกิดขึ้นในระบบนิเวศอันนี้ ถ้าหากฟอกขาวแล้วตายมันดูก็น่าใจหายครับ แล้วการที่มันฟอกเป็น Mechanism ที่ตอบรับกับอุณหภูมิกับแสงที่เกินพอดีรอบใหญ่ๆ ก็มีมาในช่วงชีวิตผมด้วยคือในปี 1998 2010 และ 2016 เพราะฉะนั้นควรช่วยกันป้องกันก่อนที่มันจะฟอกขาวดีที่สุดครับ” ช่างภาพนักอนุรักษ์ปิดท้าย

ปะการังฟอกขาวได้ก็ฟื้นได้