posttoday

ลดโลกร้อน ด้วยมือเรา

20 เมษายน 2559

โลกใบนี้ร้อนขึ้นทุกวัน อุณหภูมิสูงขึ้นทุกปี เพราะมนุษย์เป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากชีวิตประจำวันไปทำลายชั้นบรรยากาศของโลก

โดย...ภาดนุ ภาพ ไตเติล

โลกใบนี้ร้อนขึ้นทุกวัน อุณหภูมิสูงขึ้นทุกปี เพราะมนุษย์เป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากชีวิตประจำวันไปทำลายชั้นบรรยากาศของโลก เป็นผลให้เกิดปรากฏการณ์แปรผันของฤดูกาล บางส่วนของโลกเกิดฝนตกหนักน้ำท่วม หรือพายุหิมะถล่ม แต่บางส่วนของโลกกลับประสบภัยแล้งจนไม่มีน้ำกินน้ำใช้ ดังนั้นถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราทุกคนควรร่วมมือกันทำอะไรสักอย่างเพื่อช่วยลดโลกร้อนเหมือนกับคนกลุ่มนี้

มานะ ชูขันทอง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย กล่าวว่า โตโยต้าได้ทำ “โครงการลดเมืองร้อน ด้วยมือเรา” ภายใต้โครงการโตโยต้าเมืองสีเขียวเป็นปีที่ 11 แล้ว (เริ่มตั้งแต่ปี 2548) โดยร่วมมือกับมูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ภายใต้แนวคิดลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นรูปธรรม มุ่งหวังให้เกิดการดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่อง นำไปสู่การจัดการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในชุมชนและโรงเรียน

“การทำโครงการลดเมืองร้อน ด้วยมือเรา ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา มีเครือข่ายเข้าร่วมโครงการ 195 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 100 ชุมชน และ 248 โรงเรียนจาก 77 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งโครงการในปีที่ 11 นี้เราได้ตระหนักถึงความสำคัญของชุมชนและโรงเรียนในการเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงและเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับชุมชนและโรงเรียนอื่นๆ ได้

ลดโลกร้อน ด้วยมือเรา โมจัง-ณัฏฐนิช พิศิษฐ์จริง

 

เราจึงได้จัดการประกวดโครงการชุมชนดีเด่นและโรงเรียนดีเด่น ซึ่งร่วมกันทำกิจกรรมต่างๆ ที่สามารถลดภาวะโลกร้อนในชุมชนและโรงเรียนได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยมอบรางวัลให้กับโรงเรียนที่ชนะ 3 ทีม คือ รางวัลที่ 1 โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี เขตบางแค กรุงเทพฯ กับโครงการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน (ACT Sustainable Energy Efficiency) รางวัลที่ 2 โรงเรียนนางัวราษฎร์รังสรรค์ อ.นาหว้า จ.นครพนม รางวัลที่ 3 โรงเรียนดาราวิทยาลัย อ.เมือง จ.เชียงใหม่

และชุมชนที่ชนะ 3 ทีม คือ รางวัลที่ 1 ชุมชนบ้านหนองสะแกกวน เทศบาลตำบลโนนดินแดง อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ รางวัลที่ 2 ชุมชนบ้านม่วงชุม เทศบาลตำบลครึ่ง อ.เชียงของ จ.เชียงราย รางวัลที่ 3 ชุมชนบ้านหนองปลาดุก หมู่ 22 องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านผึ้ง อ.เมือง จ.นครพนม เพื่อให้พวกเขามีความภาคภูมิใจที่จะสานต่อโครงการดีๆ เหล่านี้ให้ยั่งยืนต่อไปในอนาคตเพื่อคนรุ่นลูกรุ่นหลาน”

ปลูกฝังจิตสำนึกรักษ์โลกจากรั้วโรงเรียน

โมจัง-ณัฏฐนิช พิศิษฐ์จริง นักเรียนหญิงชั้น ม.6 โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี เขตบางแค กรุงเทพฯ ซึ่งทีมของเธอได้รางวัลที่ 1 ประเภทโรงเรียนจากโครงการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน (ACT Sustainable Energy Efficiency) เผยว่า โดยส่วนตัวแล้วคิดว่าโครงการลดโลกร้อนทุกๆ โครงการเป็นสิ่งที่ดีมาก เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่าปัจจุบันนี้เกิดภาวะโลกร้อนหนักขึ้นทุกวันและเป็นกันทั่วโลก เดี๋ยวน้ำแข็งขั้วโลกละลาย เดี๋ยวฝนตกหนัก น้ำท่วม เดี๋ยวน้ำแล้ง ฯลฯ ซึ่งล้วนแต่เกิดผลกระทบต่อมนุษย์ทุกคน

“โครงการลดโลกร้อนที่โรงเรียนหนูทำมีหลักๆ อยู่ 5 เรื่องคือ การใช้ไฟฟ้า การใช้น้ำ การเพิ่มพื้นที่สีเขียว การจัดการขยะ และการเดินทาง โดยสมาชิกทีมหนูจะอยู่ชมรม The Memo Family ของโรงเรียน ซึ่งชมรมนี้จะมีนักเรียน ม.ปลาย มาช่วยอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนอยู่แล้ว อย่างการใช้ไฟฟ้า โรงเรียนของเราก็จะเปลี่ยนหลอดไฟเป็นหลอด
แอลอีดีทั้งหมดเพื่อช่วยประหยัดพลังงาน ติดแผงโซลาร์เซลล์เพื่อเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้า จัดการอบรมให้ความรู้เรื่องพลังงาน รณรงค์เปิด-ปิดไฟฟ้าในห้องเรียน ในสำนักงาน ในชุมชน และกำหนดเวลาเปิด-ปิดเครื่องปรับอากาศให้เป็นเวลา เป็นต้น

ลดโลกร้อน ด้วยมือเรา ออม-อลงกรณ์ อิริยา

 

ส่วนการจัดการน้ำก็มีการสำรวจก๊อกและท่อน้ำที่รั่วไหลหรือชำรุด ติดตั้งแอเรเตอร์ชะลอการไหลของน้ำ จัดทำคลองบำบัดน้ำเสียและสร้างเขื่อนริมคลองเพื่อกักน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดเพื่อนำมารดต้นไม้ พืชผัก และสวนของโรงเรียน รวมทั้งเพิ่มพื้นที่สีเขียวด้วยการปลูกป่าเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 2,000 ต้น และปลูกป่าเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 250 ต้น พร้อมทั้งสำรวจไม้ยืนต้นที่ช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์และทำป้ายชื่อให้ต้นไม้ 373 ต้น

สำหรับการจัดการขยะก็มีการอบรมให้ความรู้เรื่องขยะ มีการคัดแยกขยะรีไซเคิล จัดการกับขยะอินทรีย์ ลดการใช้กระดาษ พลาสติก และประดิษฐ์สิ่งของจากวัสดุเหลือใช้ สุดท้ายเรื่องการเดินทาง มีการรณรงค์ให้นักเรียนที่บ้านใกล้โรงเรียนปั่นจักรยานไป-กลับ มีการใช้รถรับส่งนักเรียนในเส้นทางเดียวกันเพื่อประหยัดเชื้อเพลิง และการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลจากน้ำมันเก่าของร้านค้าในโรงอาหารและจากบ้านครู นักเรียน และชุมชน เพื่อนำไปใช้กับรถบรรทุกและรถขนของในโรงเรียน”

โมจังบอกว่า การได้เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ นอกจากได้ประสบการณ์ที่ดีแล้ว ยังได้ความรู้เพิ่มจากตอนที่มีเจ้าหน้าที่มาตรวจโครงการด้วย แล้วยังมีอาจารย์ที่ปรึกษาคอยแบ็กอัพให้ด้วย

“ปกติโรงเรียนของเราทำโครงการนี้มา 4-5 ปีแล้วค่ะ พอทราบข่าวการประกวดของโตโยต้า เราก็ส่งโครงการนี้เข้าประกวดจนเข้ารอบมาเรื่อยๆ และได้รางวัลที่ 1 สำหรับการชักชวนเพื่อนๆ ให้มาร่วมโครงการ หนูจะใช้ความสนุกสนานเป็นตัวดึงดูดให้เพื่อนๆ สนใจ ส่วนในแง่ของชุมชนก็จะชักชวนคนทั่วไปผ่านสโมสรฟุตบอลของโรงเรียนซึ่งมีประชาชนเข้ามาเล่นด้วย ในอนาคตถ้าเรียนจบไป หนูคิดว่าก็ยังคงต้องติดต่อกับโรงเรียนเพื่อช่วยให้คำแนะนำรุ่นน้องที่เข้ามาร่วมโครงการแน่นอน นอกจากได้ความภูมิใจแล้ว ยังได้ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมแบบยั่งยืนและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยค่ะ”

ลดโลกร้อน ด้วยมือเรา

 

ด้าน ออม-อลงกรณ์ อิริยา นักเรียนชายชั้น ม.6 จากโรงเรียนดาราวิทยาลัย อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ร่วมทำ “โครงการร่วมใจ ลดเมืองร้อนด้วยมือเรา” จนคว้ารางวัลที่ 3 ประเภทโรงเรียน บอกว่า เขาทำโครงการนี้เป็นครั้งแรกซึ่งต่อยอดมาจากโครงการเดิมของโรงเรียนคือ “ห้องเรียนสีเขียวช่วยประหยัดพลังงานไฟฟ้า” ซึ่งเขาเข้าร่วมโครงการมาตั้งแต่เข้าเรียน ม.1

“สำหรับโครงการร่วมใจ ลดเมืองร้อนด้วยมือเรา ซึ่งเป็นโครงการใหม่ของโรงเรียนที่ส่งเข้าประกวดครั้งนี้ มีการจัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพให้กับคณะผู้บริหาร ครู นักเรียน เจ้าหน้าที่ และผู้ค้าในโรงเรียน โดยมีวิทยากรจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ มาให้ความรู้ รวมทั้งมีการจัดกิจกรรมการประกวดบิลค่าไฟฟ้า “ประหยัดไฟ กำไรสองต่อ” เพื่อติดตามผลการใช้พลังงานของผู้เข้าอบรมว่าสามารถนำความรู้ไปใช้ในครัวเรือนได้หรือไม่ โดยมอบรางวัลให้กับคนที่สามารถลดค่าไฟฟ้าในบิลได้น้อยที่สุดในเวลา 3 เดือน

ส่วนการจัดการด้านขยะก็มีการจัดกิจกรรมขยะสานฝัน โดยนำรายได้จากการขายขวดน้ำพลาสติกในโรงเรียนมาสมทบเป็นทุนการศึกษาให้แก่นักเรียนที่ขัดสน กิจกรรมขวดน้ำแลกความรู้ โดยนำขวดน้ำพลาสติกที่ใช้แล้วไปขายเพื่อนำเงินมาซื้อหนังสือพิมพ์วางไว้บริการแก่ครูและนักเรียน รวมทั้งกิจกรรมทำปุ๋ยอินทรีย์จากใบไม้บริเวณโรงเรียน และกิจกรรมกระดาษหน้าที่ 3 ตั้งจุดรับบริจาคกระดาษที่ใช้แล้วทั้งสองหน้า โดยนำไปบริจาคให้กับโรงเรียนสอนคนตาบอดในเชียงใหม่เพื่อทำสื่อการเรียนการสอนแก่ผู้พิการทางสายตา นอกจากนี้ยังมีการเดินทางโดยใช้จักรยานเพื่อประหยัดพลังงานแบบยั่งยืน เดินทางแบบคาร์พูลมารถคันเดียวกัน และปลูกป่าเพิ่มพื้นที่สีเขียวช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยครับ”

ออมทิ้งท้ายว่า การได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ นอกจากได้ประสบการณ์ในการทำงานร่วมกับผู้อื่นแล้ว ยังได้ช่วยลดโลกร้อนในการใช้พลังงานและใช้ทรัพยากรต่างๆ แล้วนำกลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่แบบยั่งยืนด้วย ซึ่งสิ่งที่เขาหวังคืออยากเห็นการปลุกจิตสำนึกในการรักษาสิ่งแวดล้อมและการใช้พลังงานให้กับเด็กๆ ตั้งแต่ในรั้วโรงเรียน เมื่อเด็กๆ ได้รับการปลุกจิตสำนึกที่ดีแล้วก็จะถูกถ่ายทอดไปสู่ผู้ปกครองและคนในชุมชนต่อไป

ลดโลกร้อน ด้วยมือเรา

 

ส่งเสริมการลดโลกร้อนในชุมชนแบบยั่งยืน

นอกจากโครงการลดโลกร้อนในระดับโรงเรียนแล้ว ยังมีโครงการในระดับชุมชนด้วย สมชัย กอชัยศิริกุล นายกเทศมนตรีตำบลโนนดินแดง อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ ผู้นำ “โครงการสังคมหนองสะแกกวนแบบพอดี สู่ชีวีคาร์บอนต่ำ” โดยชุมชนบ้านหนองสะแกกวนและเทศบาลตำบลโนนดินแดง ซึ่งได้รางวัลที่ 1 ประเภทชุมชน เผยว่า

ได้ทราบถึงปัญหาของชุมชนเทศบาลโนนดินแดงในเรื่องการจัดการกับขยะ การใช้ทรัพยากรน้ำและไฟฟ้าอย่างฟุ่มเฟือย จำนวนไม้ยืนต้นในพื้นที่ชุมชนยังมีน้อย และประชาชนยังรักความสะดวกสบายในการเดินทางโดยไม่คำนึงถึงเรื่องการประหยัดเชื้อเพลิง ทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งสร้างมลพิษในอากาศและทำให้โลกร้อนขึ้น จึงร่วมผลักดันโครงการนี้ขึ้นมา

“เดิมทีแล้วชุมชนเราเคยมีปัญหาเรื่องพื้นที่ในการทิ้งขยะกันอยู่แล้ว ทางเทศบาลจึงต้องรณรงค์และชักชวนให้คนในชุมชนมีการคัดแยกขยะก่อนทิ้ง โดยเริ่มจากชุมชนต้นแบบใน 3 หมู่บ้านก่อน แล้วชุมชนบ้านหนองสะแกกวนให้ความร่วมมือดีที่สุด ทางเทศบาลก็เลยส่งโครงการคัดแยกขยะของหมู่บ้านนี้เข้าประกวดในโปรเจกต์ซีโร่เวฟ ของกรมส่งเสริมสิ่งแวดล้อม จนได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ในระดับประเทศมา

เมื่อทราบว่าโตโยต้าประกาศรับสมัครประกวด ‘โครงการลดเมืองร้อน ด้วยมือเรา’ จึงส่งชุมชนบ้านหนองสะแกกวนเข้าประกวด ซึ่งชุมชนมีวิธีลดโลกร้อนด้วยการคัดแยกขยะ โดยแบ่งเป็นขยะอินทรีย์ ขยะทั่วไป ขยะรีไซเคิล และขยะอันตราย พร้อมส่งเสริมให้ครัวเรือนในชุมชนนำเศษอาหารไปเลี้ยงสัตว์และทำน้ำหมักชีวภาพ นำเศษผักผลไม้ไปเลี้ยงไส้เดือน นำขยะที่รีไซเคิลได้ไปขายให้ธนาคารขยะเพิ่มทรัพย์ ซึ่งดำเนินการโดยคนในชุมชน และนำขยะบางส่วนไปทำเป็นสิ่งประดิษฐ์ สำหรับขยะอันตรายจะเก็บไว้ในที่เหมาะสมเพื่อรอการกำจัดอย่างถูกวิธี ส่วนขยะทั่วไปได้ตกลงกันว่าจะไม่มีการตั้งถังขยะไว้หน้าบ้านหรือบริเวณต่างๆ ในชุมชน ส่งผลให้ประชาชนและคนที่ผ่านไป-ผ่านมาต้องเก็บขยะของตนกลับบ้านไปด้วย”

สมชัยเสริมว่า นอกจากจัดการกับขยะแล้ว ยังมีการเพิ่มพื้นที่สีเขียวโดยการปลูกป่านิเวศอย่างยั่งยืน ปลูกพืชผักสวนครัวและสมุนไพร ลดการใช้ไฟฟ้าโดยมีข้อตกลงกันว่า “เปิดเมื่อจำเป็น ปิดเมื่อไม่ใช้ ไปไหนต้องถอดปลั๊ก” และส่งเสริมให้ทุกครัวเรือนเปลี่ยนมาใช้แอลอีดีหลอดตะเกียบเพื่อประหยัดไฟ รวมทั้งอนุรักษ์น้ำด้วยข้อตกลงที่ว่า “ต้องปิดก๊อกน้ำให้สนิทและเปิดใช้เท่าที่จำเป็น” ตรวจสอบระบบประปาเพื่อจัดการกับรอยแตกรอยรั่วของท่อและก๊อกน้ำ นำน้ำที่ใช้แล้วไปใช้ประโยชน์ต่อ ขุดลอกคูคลองและสร้างฝายกักเก็บน้ำชุมชนเพื่อนำมาใช้ในศูนย์การเรียนรู้สาธิตเศรษฐกิจพอเพียงอีกด้วย

“การที่เราเข้าประกวดกับโครงการของโตโยต้าแล้วได้รางวัลที่ 1 นับเป็นความภาคภูมิใจที่สุดของทุกคนในชุมชน แต่เหนือสิ่งอื่นใดเราจะทำโครงการนี้ให้ยั่งยืนต่อไป โดยเฉพาะการปลูกป่านิเวศซึ่งจะมีการปลูกต้นไม้ให้ถี่ขึ้นเหมือนป่าธรรมชาติ ซึ่งต้นไม้จะช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และช่วยลดภาวะโลกร้อนได้แบบยั่งยืน ตอนนี้เราปลูกไป 3,000 กว่าต้นบนพื้นที่ 5-6 ไร่ และจะปลูกเพิ่มขึ้นอีก รวมทั้งสานโครงการต่อไปในอนาคตแน่นอน

ผมก็อยากจะเชิญชวนให้ชุมชนในท้องถิ่นอื่นๆ รวมถึงคนรุ่นต่อไปหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมกันให้มากขึ้น เพราะทุกวันนี้ผมว่าภาวะโลกร้อนเป็นสิ่งที่ทุกชีวิตบนโลกใบนี้ล้วนได้รับผลกระทบทั้งนั้น ถ้าคนเราขาดจิตสำนึกในการช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมนับตั้งแต่วันนี้ ก็มีโอกาสที่คนรุ่นลูกรุ่นหลานในอนาคตของเราจะลำบากมากกว่านี้ ผมจึงอยากให้ทุกคนตระหนักและร่วมกันช่วยลดโลกร้อนนับตั้งแต่วันนี้เลยครับ”