posttoday

ชญาน์ทัต วงศ์มณี ลืมไม่ได้กับการผ่าหัวใจแบบฉับพลัน ไม่ทันตั้งตัว

20 มีนาคม 2559

ท๊อฟฟี่-ชญาน์ทัต วงศ์มณี ผู้อำนวยฝ่ายสื่อสาร บริษัท โอกิลวี่ หนุ่มน้อยหน้าใสวัย 30 ปี ดูจากภาพลักษณ์ภายนอก

โดย...อณุสรา  ทองอุไร ภาพ  กิจจา อภิชนรจเรข

ท๊อฟฟี่-ชญาน์ทัต วงศ์มณี ผู้อำนวยฝ่ายสื่อสาร บริษัท โอกิลวี่ หนุ่มน้อยหน้าใสวัย 30 ปี ดูจากภาพลักษณ์ภายนอกก็ดูเป็นผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงสมวัย แต่เมื่อ 4-5 ปีที่ผ่านมา เขาเพิ่งเข้ารับผ่าตัดครั้งใหญ่แบบไม่รู้เนื้อรู้ตัวมาก่อน ชนิดที่เรียกว่าไม่คาดคิดราวสายฟ้าฟาดเปรี้ยงมาเลยทีเดียว

ด้วยเพราะเป็นคนที่แข็งแรงออกกำลังกายสัปดาห์อาทิตย์ละ 4-5 วัน กินอาหารสุขภาพแนวชีวจิตอย่างสม่ำเสมอ ไม่กินเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ตรวจสุขภาพประจำปีทุกปีอย่างสม่ำเสมอ เพราะครอบครัวของเขาคุณพ่อคุณแม่เป็นหมอด้านอายุรแพทย์ ส่วนพี่ชายก็เป็นหมอหัวใจ จึงถือว่าเป็นครอบครัวที่ใส่ใจดูแลสุขภาพอย่างจริงจัง อยู่มาวันหนึ่งเมื่อวันแม่ 12 ส.ค. 2555 ตอนเช้ามืดเขาสะดุ้งตื่นมาตอนตี 5 เพราะรู้สึกแน่นหน้าอกหายใจไม่ออก หอบและเหนื่อย ก็เลยมานั่งพักเงียบๆ คิดว่าคงไม่เป็นอะไรมาก บอกกับตัวเองว่านั่งพักสักประเดี๋ยวคงหาย สายๆ ก็จะออกไปฟิตเนส แต่รอจนกระทั่งเก้าโมงเช้าอาการก็ยังไม่ดีขึ้น เขาจึงโทรหาคุณพ่อคุณแม่ ซึ่งเป็นอายุรแพทย์อยู่ที่ จ.เพชรบูรณ์ ท่านก็บอกให้ไปหาหมอเถอะอย่าปล่อยไว้เลย

ชญาน์ทัต วงศ์มณี ลืมไม่ได้กับการผ่าหัวใจแบบฉับพลัน ไม่ทันตั้งตัว

 

เขาจึงขับรถไปที่โรงพยาบาลเอกชนแถวบ้านย่านเมืองนนทบุรี กว่าจะได้พบแพทย์ก็เกือบบ่ายสามโมงก็เริ่มหายใจติดขัดมากขึ้น แพทย์ก็ซักถามอาการแล้วคิดว่าคงเป็นกรดไหลย้อนอาหารไม่ย่อย แต่หมอไม่แน่ใจเลยขอให้ลองไปตรวจเอ็กโคไฟฟ้าตรวจคลื่นหัวใจเพิ่มเพื่อความแน่ใจอีกด้วย พอตรวจคลื่นหัวใจกราฟแสดงผลออกมาว่าหัวใจห้องหนึ่งของเขาไม่ทำงานและกำลังจะหยุดเต้น หมอจึงขอตรวจอัลตราซาวด์ให้แน่ใจอีกครั้ง ผลตรวจออกมาชัดเจนหมอบอกให้ทำบอลลูนหัวใจทันทีเพราะเส้นเลือดหัวใจโป่งพอง

“ผมช็อกตกใจมาก เรามาโรงพยาบาลคิดว่ามาตรวจเล็กๆ น้อยๆ รับยาแล้วกลับบ้านได้ ไม่เคยมีลางบ่งชี้อะไรว่าเราจะเจ็บไข้รุนแรงเช่นนี้ เป็นโรคหัวใจต้องผ่าทันที มี 2-3 ครั้งที่รู้สึกเพลียเหนื่อยง่ายจะเป็นลมอยู่ 2-3 ครั้ง ก่อนหน้าที่จะป่วย แต่ตอนนั้นคิดว่าออกกำลังกายมากเกินไปเลยเพลีย ไม่คิดว่ามันคือโรคหัวใจเพราะบ้านเราไม่มีกรรมพันธุ์ พ่อแม่ก็อยู่ต่างจังหวัด ผมอยู่คนเดียวที่กรุงเทพฯ ตอนนั้นพี่ชายเรียนหมออยู่ที่จุฬาฯ อยู่คนละบ้านกัน ผมร้องไห้เลย ตกใจทำอะไรไม่ถูก ไม่คาดคิดว่าจะมาเจอเรื่องสายฟ้าฟาดแบบนี้ พอหมอบอกก็พยายามตั้งสติโทรไปหาคุณพ่อคุณแม่ให้ท่านคุยกับหมอที่เรามาตรวจเพื่อซักถามให้แน่ใจ” เขาเล่าย้อนเหตุการณ์ให้ฟังแบบงงๆ ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร

ชญาน์ทัต วงศ์มณี ลืมไม่ได้กับการผ่าหัวใจแบบฉับพลัน ไม่ทันตั้งตัว

 

หลังจากที่เขาให้คุณพ่อได้คุยกับแพทย์แล้ว คุณพ่อเขาก็ตัดสินใจให้เขาย้ายโรงพยาบาลให้ไปผ่าตัดกับหมอหัวใจที่เป็นเพื่อนของคุณพ่อที่โรงพยาบาลพญาไท 2 ก็ย้ายโรงพยาบาลเขานอนไปกับรถโรงพยาบาล ตอนนั้นเขาเริ่มหายใจลำบากขึ้นระหว่างที่อยู่ในรถพยาบาลเขาก็เห็นกราฟที่แสดงการเต้นหัวใจของเขาตกลงเรื่อยๆ เขาเริ่มใจเสียระหว่างนั้นน้ำตาก็ไหลออกมาเอง มีคำถามเกิดขึ้นมากมายว่าเกิดอะไรกันแน่ เขาอายุแค่ 25 ปี ดูแลสุขภาพอย่างยิ่งยวด และที่บ้านไม่มีกรรมพันธ์ุโรคหัวใจ สารพัดคำถามวกวนสับสนไปมา

ตอนนั้นพี่ชายก็มาถึงแล้ว เขากำลังเรียนแพทย์ปีสุดท้ายทางด้านหัวใจอยู่พอดี เขาก็เฝ้าเราอยู่ตลอดตอนนี้ หมอตัดสินใจว่าลองทำบอลลูนหัวใจก่อน เพราะมันเป็นขั้นตอนของการรักษา ด้วยการสอดสายยางเข้าไปทางแขนโดยหมอวางยาชา เราก็รู้สึกตัวตลอดเวลาแม้จะวางยาชาแล้ว แต่ก็ยังเจ็บมาก รับรู้ตลอดเวลาว่าสายยางมันดันเข้าไปถึงตรงไหน เจ็บมากๆ ที่สุดในชีวิต หมอทำบอลลูนสวนสายยางที่ข้อมือเขาอยู่ชั่วโมงกว่าจะเข้าไปถึงหัวใจ ตลอด 1 ชั่วโมงนั้น เขาร้องไห้สลับกับสวดมนต์ มันเสียวเจ็บแปลบๆ ไม่เคยเจ็บแบบนี้มาก่อน

ชญาน์ทัต วงศ์มณี ลืมไม่ได้กับการผ่าหัวใจแบบฉับพลัน ไม่ทันตั้งตัว

 

“พอบอลลูนเสร็จแล้วพี่ชายก็เข้ามาหา เขาพยายามจะปลอบใจเรานะ แต่เขาก็คงอัดอั้นเอาไว้ไม่ได้ เขาก็พูดไปน้ำตาไหลไป ว่าการทำบอลลูนไม่ได้ผล มันไม่สำเร็จ มันมีปัญหาอะไรสักอย่าง เขาพูดศัพท์ทางการแพทย์ ตอนนั้นผมก็สมาธิแตกกระจายไม่มีสติไปแล้ว เราฟังไปก็ร้องไห้ไป สรุปได้คือว่าเมื่อบอลลูนไม่ได้ผล ก็ต้องมาขั้นสุดท้ายก็คือผ่าตัดหัวใจแบบผ่าเปิดหน้าอก ทีนี้ผมเลยช็อกอีกรอบ อะไร ทำไม จิตตกมาก กลัวตายเป็นที่สุด นึกถึงว่าพ่อแม่ก็ยังมาไม่ถึง เพิ่งเรียนจบมา 3-4 ปี มีอีกหลายอย่างที่ยังไม่ได้ทำ” เขาเล่าด้วยความสะเทือนใจ

พอพี่ชายมาบอกว่าทำบอลลูนไม่ได้ผลต้องผ่าตัดหัวใจ นั่นเขายังบอกไม่หมด ก็มีแพทย์ที่จะทำการผ่าตัดเข้ามาคุยด้วยแล้วอธิบายว่ากำลังจะทำอะไรต่อไป พร้อมบอกด้วยว่าในการผ่าตัดครั้งนี้จะมีความเสี่ยงอะไรบ้างที่มักจะเจอข้อใดข้อหนึ่งเสมอเท่าๆ กัน คือ 33.33 เปอร์เซ็นต์ ความเสี่ยงที่ 1 ผ่าสำเร็จร่างกายกลับมาแข็งแรงเหมือนเดิม ความเสี่ยงที่ 2 หลังผ่าเสร็จแล้วเสี่ยงเป็นอัมพาต และทางสุดท้ายคือผ่าแล้วไม่สัมฤทธิผลก็มี แต่ถ้าไม่ยอมผ่าไม่ยอมเสี่ยงก็จบที่ทางสุดท้ายตายสถานเดียว แต่ถ้าผ่ามันก็ลุ้นได้ว่าเรามีโอกาสรอดสูงเพราะยังหนุ่มพื้นฐานร่างกายเดิมเป็นคนแข็งแรงก็ควรจะผ่าใช่ไหม

ชญาน์ทัต วงศ์มณี ลืมไม่ได้กับการผ่าหัวใจแบบฉับพลัน ไม่ทันตั้งตัว

 

เขาเลือกที่จะผ่าตัดแม้จะมีความเสี่ยง ตอนนั้นทั้งกลัว ทั้งเครียด ทั้งกังวล พ่อแม่ก็ยังขับรถมาไม่ถึง (มาจากลำปาง) พี่ชายก็เซ็นอนุมัติให้ผ่าแทนคุณพ่อคุณแม่ คิดไปสารพัดว่าถ้าไม่ฟื้นจะทำอย่างไร มีอะไรที่คั่งค้างบ้าง ก็เลยขอโทรศัพท์จากพี่ชายส่งไปลาเพื่อนสนิทคนที่เรารักเพื่อจะบอกขอบคุณบอกรักและบอกลาว่าเราจะเขาห้องผ่าตัด คือ กลัวมากว่าจะไม่ฟื้นขึ้นมา น้ำตาก็จะไหลออกมาเป็นพักๆ คือไม่ได้ร้องไห้ฟูมฟาย แต่ไหลมาเองเรื่อยๆ บอกตัวเองว่าถ้าได้ตื่นขึ้นมาจะทำอะไรอีกบ้าง

เขาเข้าห้องผ่าตัดตอน 3 ทุ่ม ผ่าเสร็จตอนเที่ยงคืนกว่า วางยาสลบผ่าเสร็จหมอปลุกให้ตื่นทันที ก็ตื่นมาแบบเบลอๆ งงๆ เห็นคุณพ่อกับแม่มาถึงแล้วดีใจมาก แต่เหนื่อยพูดมากไม่ได้เพราะเรายังหายใจไม่ถนัดยังเจ็บอยู่ แล้วหมอยังติดอุปกรณ์อะไรไว้หลายอย่างที่หน้าอก แล้วต้องมาฝึกเดิน ฝึกฉี่ ฝึกหายใจใหม่ เป็นแบบเครื่องเป่าลมที่มีลูกโป่งเล็กๆ อยู่ข้างใน เราต้องเป่าให้มันลอย แรกๆ ยังไม่มีแรงหายใจ แรงหัวเราะ หรือไอก็จะเจ็บต้องเอาหมอนมากอดทับหนาอกไว้ไม่ให้สะเทือนไม่ให้อกกระเพื่อมจะได้ไม่เจ็บมาก พอหมดฤทธิ์ยาชาเนี่ยเจ็บจี๊ดไปถึงหัวใจเลย แบบเสียดแทงหัวใจเป็นอย่างไรเพิ่งมารู้ชัดเอาตอนนี้ล่ะ

ชญาน์ทัต วงศ์มณี ลืมไม่ได้กับการผ่าหัวใจแบบฉับพลัน ไม่ทันตั้งตัว

 

ออกจากห้องผ่าตัดมาแล้ว เขาก็ไปอยู่ CCU ซึ่งเป็นห้องรวม มีแค่ผ้าม่านกั้น มีคนแก่อยู่เตียงถัดไป แกก็ร้องครวญคราง เขาอยู่ห้องนั้น 3-4 วัน ได้เห็นเลยว่าความทุกข์ยากจากการเจ็บป่วยนี่ไม่เข้าใครออกใครนะ มันไม่เลือกเพศ เลือกอายุ ทุกคนมีสิทธิเจอได้อย่างไม่คาดฝันเท่าๆ กันนะ มันได้ข้อคิด ได้ทบทวน ย้อนกลับมาดูตัวเองหลายเรื่องว่าชีวิตเราที่ผ่านมาเป็นมาอย่างไรบ้าง อยู่โรงพยาบาล 11 วัน หมอบอกในความโชคร้ายก็มีความโชคดี คือ เราอายุยังน้อย ร่างกายก่อนหน้านี้แข็งแรงดีก็เลยฟื้นตัวง่าย แต่มาพักฟื้นต่อที่บ้านอีกเดือนกว่าๆ ออกกำลังกายไม่ได้ไป 2-3 เดือน จนครึ่งปีไปแล้วถึงออกกำลังกายเบาๆ ได้อีกครั้ง

“ตอนนั้นคุณแม่มาเฝ้า ท่านก็เป็นหมอ งานยุ่งงานเยอะ แต่ท่านลางานมาเฝ้ามาป้อนข้าวป้อนน้ำลูก เป็นวันแม่ที่เราควรจะได้ไปดูแลท่าน แต่ท่านต้องกลับมาป้อนข้าวป้อนน้ำเราอีกครั้ง เราก็สะท้อนใจนะ เราแบบทั้งอึ้งทั้งซึ้งว่าที่สุดครอบครัวคือทุกสิ่งทุกอย่างของเรา เรายังไม่ได้ตอบแทนท่านเลย เมื่อก่อนเวลาคุณพ่อคุณแม่ดุบ่นสอนเรา อาจมีงอนมีน้อยใจบ้าง หลังจากผ่าแล้วรอดมาได้ บอกตัวเองเลยว่าอย่าทำแบบนั้นอีก ชีวิตคนเราสั้น จะตายวันตายพรุ่ง จะเจออะไร ออกจากบ้านมาแล้วจะได้กลับไปหรือเปล่าไม่รู้ ในแต่ละวันทำดีกันไว้เถอะ รักๆ กันไว้เถอะ” เขากล่าวด้วยรอยยิ้มซาบซึ้ง

ชญาน์ทัต วงศ์มณี ลืมไม่ได้กับการผ่าหัวใจแบบฉับพลัน ไม่ทันตั้งตัว

 

ท๊อฟฟี่ บอกว่า เมื่อก่อนจะเป็นคนใจร้อน เครียดง่าย ทำงานก็ทุ่มเทไม่เสร็จไม่เลิก หรือรักใครชอบใครก็ไม่ค่อยได้บอกให้เขารู้ มาตอนนี้เอาใหม่ จะบอกรัก แสดงความรักให้เขารู้ ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่พี่น้อง เพื่อนสนิท เพื่อนร่วมงาน งานก็จัดแบ่งเวลาให้เหมาะสม ไม่เสร็จก็พรุ่งนี้มาทำใหม่ งานก็สำคัญแต่ชีวิตของเราก็สำคัญกว่า รู้จักผ่อนหนักผ่อนเบากับชีวิตมากขึ้น รู้จักปล่อยวาง รู้จักรอ ตอนไหนควรเร็วก็เร็ว ตอนไหนควรช้าต้องช้า ไม่เร่งไม่กดดันตัวเองเกินไป เริ่มใช้ชีวิตแบบสายกลางมากขึ้น

ที่สำคัญ ก็คือ เรื่องสุขภาพก็ยิ่งใส่ใจมากขึ้น ออกกำลังกายสม่ำเสมอ กินคลีน ลดเนื้อสัตว์ ถนอมเนื้อถนอมตัว มุมมองชีวิตเริ่มเปลี่ยนไป ไม่ประมาท ขนาดดูแลรักษาสุขภาพขนาดนี้ยังเจ็บไข้ได้ป่วย ดังนั้นเราจะต้องดูแลให้มากยิ่งขึ้น อะไรไม่ดีกับสุขภาพก็จะไม่ทำร้ายทำลายตัวเอง เมื่อก่อนไม่เห็นโลงศพไม่หลั่งน้ำตา เราผ่านความตายมาแล้วก็จะไม่ใช้ชีวิตให้สุ่มเสี่ยงให้ประมาทพลาดพลั้งอีกไม่ได้ ต้องรู้จักแบ่งเวลา ต้องรู้จักปล่อยวาง ไม่มีอะไรสำคัญเท่ากับลมหายใจของเราอีกแล้ว ทำชีวิตให้ดี ดูแลตัวเองให้ดีสำคัญที่สุด

เขากล่าวฝากแง่คิดที่น่าสนใจเป็นการทิ้งท้าย

ชญาน์ทัต วงศ์มณี ลืมไม่ได้กับการผ่าหัวใจแบบฉับพลัน ไม่ทันตั้งตัว

 

ชญาน์ทัต วงศ์มณี ลืมไม่ได้กับการผ่าหัวใจแบบฉับพลัน ไม่ทันตั้งตัว