posttoday

ภาพมีชีวิต วิศรุต อังคทะวานิช

12 มีนาคม 2559

การถ่ายทอดสด “Live” ภาพเคลื่อนไหวปลากัดที่ปรากฏบนจอ iPhone 6s ที่เปิดตัวพร้อมทำตลาดทั่วโลก

โดย...ดวงใจ จิตต์มงคล

การถ่ายทอดสด “Live” ภาพเคลื่อนไหวปลากัดที่ปรากฏบนจอ iPhone 6s ที่เปิดตัวพร้อมทำตลาดทั่วโลกไปเมื่อปลายปี 2558 ที่ผ่านมา สร้างความภาคภูมิใจให้กับคนไทยไม่น้อย เพราะภาพมีชีวิตของหางปลากัดที่สะบัดพลิ้วไหวชิ้นนี้ เป็นผลงานของ วิศรุต อังคทะวานิช ช่างภาพอิสระ และวิทยากรด้านการถ่ายภาพปลาให้กับกรมประมง และกำลังเตรียมจัดนิทรรศการภาพถ่ายของตัวเองอีกครั้งในเร็วๆ นี้

อย่างไรก็ตาม ด้วยเงื่อนไขและข้อตกลงที่ทำกับ Apple Inc. ทำให้เขาไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับแบรนด์ออกมาได้ แต่วิศรุตยินดีที่จะบอกเล่าแนวคิดและมุมมองต่อการทำงานจนสามารถต่อยอดไปสู่ผลงานระดับโลกได้อย่างน่าสนใจ

วิศรุต ในวัย 45 ปี ย้อนเรื่องราวของตัวเองให้ฟังว่า เติบโตและคุ้นเคยกับการถ่ายภาพมาตั้งแต่เด็ก ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากสิ่งแวดล้อมที่เห็นทั้งคุณพ่อและคุณปู่ชอบการถ่ายภาพกันอยู่แล้ว และที่บ้านจะมีแมกกาซีนเกี่ยวกับถ่ายภาพต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ ทำให้ซึมซับความรู้เกี่ยวกับกล้องและการถ่ายภาพมาเรื่อยๆ โดยรู้ตัว

ภาพมีชีวิต วิศรุต อังคทะวานิช

 

ส่วนตัวเขาเริ่มจับกล้องถ่ายรูปจริงจัง ตั้งแต่สมัยมัธยมศึกษาตอนต้น โดยมีกล้องเอสแอลอาร์ (ซิงเกิ้ล เลนส์ รีเฟล็กซ์) คู่ใจตัวแรกยี่ห้อนิคอน รุ่นเอฟเอ็มทู ไม่นับตอนยังเด็กกว่านี้ที่ใช้กล้องป๊อกแป๊ก หรือกล้องอินสแตนท์ฟิล์มยี่ห้อโกดัก เอาไว้ถ่ายรูปสนุกสนานตามประสาเด็ก

“ในตอนนั้นรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องอัศจรรย์ ที่คนเราสามารถบันทึกเรื่องราวต่างๆ ออกมาได้บนกระดาษเปล่าๆ ที่ทำให้เกิดความสนใจการถ่ายรูปขึ้นมา อย่างสมัยก่อนก็จะเป็นภาพขาวดำ ซึ่งที่บ้านก็จะมีห้องล้างอัดภาพขาวดำด้วย เพราะทำไม่ยาก แค่มีห้องมืด มีน้ำยา อุปกรณ์ ก็ล้างอัดภาพเองได้แล้ว” วิศรุต เล่า

ช่วงอายุราว 15-16 ปี ซึ่งเป็นช่วงเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 3 (โรงเรียนอัสสัมชัญ กรุงเทพ บางรัก) ทางโรงเรียนก็ส่งไปเข้าคอร์สอบรมการถ่ายภาพ โดยเฉพาะที่วิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพ เพื่อมาเป็นช่างภาพให้กับโรงเรียนเวลาที่มีการจัดกิจกรรมต่างๆ ก่อนจะสอบเข้าและศึกษาจบระดับปริญญาตรีคณะนิเทศศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมเริ่มต้นเส้นทางชีวิตสู่สายอาชีพช่างภาพอิสระ

ภาพมีชีวิต วิศรุต อังคทะวานิช

 

“ในช่วงที่จบมาใหม่ๆ สมัยก่อนก็จะเป็นฟรีแลนซ์ ทำกราฟฟิกดีไซน์ ทีนี้ช่างภาพโฆษณาหายาก ก็ทำให้มีปัญหาปิดจ๊อบไม่ได้ด้วยติดด้านบัดเจ็ตของลูกค้า ก็เลยหันมาฝึกเทคนิคการถ่ายภาพโฆษณาเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถรับงานต่างๆ ได้สมบูรณ์มากขึ้น ซึ่งสมัยนั้นช่างภาพโฆษณามืออาชีพค่าตัวสูงมาก” วิศรุต เสริม

สำหรับสไตล์การถ่ายภาพของเขานั้น จะไม่ใช่สายดาร์กเลย ด้วยจะชอบถ่ายภาพสวยๆ งามๆ อย่างวิวทิวทัศน์ สัตว์ ส่วนภาพคนเหมือนหรือพอร์เทรตนั้นก็อาจจะมีบ้างนานๆ ครั้ง หรืออย่างหากมีเหตุการณ์พิเศษอะไรก็ไม่รีรอที่จะกดชัตเตอร์เพื่อบันทึกเรื่องราวให้ออกมาเป็นภาพถ่ายด้วยเช่นเดียวกัน

มาถึงความสนใจด้านภาพถ่ายคอลเลกชั่นก้องโลก อย่างภาพชุดปลากัด ซึ่งเกิดจากความสนใจส่วนตัวเกี่ยวกับปลาชนิดนี้เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว อย่างในตอนเด็กๆ เวลาไปตลาดกับแม่ ก็ชอบเดินไปดูแผงปลาต่างๆ จนรู้จัก จำชื่อได้หมดว่าเป็นปลาอะไร สายพันธุ์ไหน พอโตขึ้นมาอีกนิด ก็ชอบไปดูปลาในพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ อะควอเรียมต่างๆ เป็นประจำ

ภาพมีชีวิต วิศรุต อังคทะวานิช

 

กระทั่งเมื่อราว 4-5 ปีก่อนมีโอกาสไปงานแสดงสัตว์น้ำงานหนึ่ง และไปเจอกับกลุ่มปลากัดเข้า เกิดความสนใจขึ้น จึงลองซื้อปลากัดมา 3-4 ตัว เพื่อนำกลับไปถ่ายภาพในมุมต่างๆ ทำให้เกิดความรู้ใหม่รู้นิสัยใจคอของปลากัดไปด้วย ซึ่งไม่มีอะไรซับซ้อน เป็นปลาประจำถิ่น มีขอบเขตอยู่ประจำ ตามธรรมชาติแล้วไม่ชอบความรุนแรง แต่ที่เห็นๆ คนไทยจับปลากัดเอามาสู้กันนั้น น่าจะเป็นเพราะเอามาปล่อยไว้คู่กันในที่คับแคบ ทำให้ต้องกัดกันเพื่อหาพื้นที่ของตัวเอง

นอกจากนี้ ทิศทางการเคลื่อนไหวของปลากัด สร้างความประทับใจในโมเมนต์แต่ละจังหวะการว่ายไปมา ทำให้เขาทดลองหามุมใหม่ๆ ถ่ายถาพชุดนี้ไปต่อเรื่อยๆ อย่างตอนที่ถ่ายภาพคอลเลกชั่นปลากัดออกมาในช่วงนั้น ในกลุ่มช่างภาพด้วยกันยังไม่มีใครถ่ายภาพปลากัดในมุมแบบนี้มาก่อน ส่วนใหญ่จะเป็นการถ่ายภาพเพื่อแสดงถึงความสวยงามของปลากัดเพื่อใช้ในเชิงพาณิชย์สำหรับการต่อสู้ของปลากัดมากกว่า

ปัจจุบันวิศรุตได้ถ่ายภาพชุดปลากัดออกมาแล้วมากว่า 100 ภาพ ใช้ปลากัดมาเป็นนายแบบไปแล้วไม่ต่ำกว่า 50 ตัว ซึ่งปลากลุ่มนี้จะมีอายุเฉลี่ยราว 1 ปีแล้วก็ตาย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นปลากัดสายพันธุ์หางยาว อย่างฮาล์ฟ มูน หรือคราวน์ เทล ที่นำมาใช้เป็นแบบอยู่ในตู้กระจก

ภาพมีชีวิต วิศรุต อังคทะวานิช

 

ขณะที่ภาพชีวิตของวิศรุตนั้น เจ้าตัวอธิบายว่า จะเป็นทั้งสองแบบ คือ นักถ่ายภาพอาชีพ ที่จะเคารพการทำงาน ตามกฎเกณฑ์ของลูกค้า ตามโจทย์ที่ได้รับ แต่หากเป็นในมุมของการถ่ายภาพเพื่อความบันเทิง หรือถ่ายภาพเล่น อย่างภาพชุดปลากัดแบบนี้แล้ว ก็จะเต็มที่พร้อมหามุมใหม่ๆ ในการทำงานในรูปแบบที่อยากจะทำทันที

นอกจากภาพชุดปลากัดแล้ว ก่อนหน้าเขายังเคยมีคอลเลกชั่นการถ่ายภาพสัตว์อื่นๆ มาบ้าง อยากภาพชุดแมวเพื่อนำไปร่วมในจัดกิจกรรมการกุศล หรือหากเป็นสัตว์ประเภทอื่นๆ ก็จะมีบ้าง แล้วแต่โอกาสอำนวย

ปัจจุบันวิศรุตอยู่ระหว่างเตรียมงานนิทรรศการแสดงผลงานการถ่ายภาพครั้งใหม่ ในชื่อ “Symphony of Fish” ซึ่งเตรียมจัดขึ้นที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เอ็มบาสซี ระหว่างวันที่ 23 ก.พ.-17 มี.ค.นี้ โดยจะนำผลงานชุดภาพถ่ายปลากัดมาร่วมแสดงราว 30 ภาพ จากเมื่อปีก่อน เขาเคยจัดแสดงภาพถ่ายในคอลเลกชั่นปลากัดในชื่อ “Aquacade” ซึ่งผลงานนิทรรศการรอบใหม่นี้จะยังสะท้อนความใหม่ของมุมมองการถ่ายภาพที่แตกต่างออกไปจากเดิมอีกด้วย

นอกจากนี้ เขายังได้รับการติดต่อจากกองทุนสาธารณะ (คราวด์ฟันดิ้ง) มีฟันด์ (Meefund.com) ที่เห็นผลงานภาพถ่ายของวิศรุตและเกิดความสนใจ จึงเสนอให้เขาทำโครงการใหม่ ออกมาในรูปแบบสมุดภาพถ่าย “โฟโต้บุ๊ก” ซึ่งจะรวบรวมผลงานการถ่ายภาพต่างๆ ของเขา โดยวางแผนเบื้องต้นคร่าวๆ ไว้น่าจะอยู่ที่ประมาณ 200 รูป จัดพิมพ์ออกมาราว 2,000 เล่ม ซึ่งทุนที่ใช้ในการจัดทำจะมาจากการนำโปรเจกต์เข้าไประดมทุนผ่านคราวด์ฟันดิ้งของมีฟันด์ ซึ่งจะมีการหารือรายละเอียดโครงการนี้อีกครั้ง หลังงานแสดงภาพถ่ายครั้งล่าสุดจบลง

วิศรุตปิดท้ายข้อคิดดีๆ ให้ฟังถึงองค์ประกอบความสำเร็จในสายอาชีพที่รักและพาเจ้าตัวมาถึง ณ จุดนี้ ว่าสิ่งสำคัญ คือ ต้องมีความเป็นตัวของตัวเอง กล้าที่จะทำอะไรในมุมมองใหม่ๆ ด้วยโลกสมัยนี้ในปัจจุบัน หากใครจะต้องการสิ่งใหม่ๆ พวกเขาไม่ได้มองหาอะไรที่สวยเพียงอย่างเดียว แต่พวกเขากำลังมองความแปลกไม่เหมือนใคร

การจะไม่เหมือนใครได้นั้น มันมาจากวิธีคิด ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ยาก เหมือนกับเวลาเรามองเห็นโปรดักต์อะไรต่างๆ แม้จะเป็นของใหม่แต่หากเป็นเหมือนกับคนทั่วไปแล้ว สิ่งนั้นก็จะไม่มีความแตกต่างที่สร้างความจดจำได้ ซึ่งในตอนนี้ทุกอย่างเปิดกว้างแล้ว เจ้าของผลงานที่ไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นช่างภาพ แต่จะเป็นใครก็แล้วแต่ จะต้องให้ความสำคัญในการคิด การสร้างสรรค์ หรือครีเอทีฟ ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นมาก เพื่อสร้างความโดดเด่นจากสิ่งของหรือวัตถุเดียวกันที่มีอยู่

“อย่างการถ่ายภาพปลากัดออกมาจนเป็นผลงานชิ้นสำคัญ ซึ่งในครั้งแรกอาจยังไม่มีอะไรในหัว แต่มันขึ้นอยู่กับว่าเราจะรู้สึกว่าจะถ่ายทอดมันออกอย่างไร” วิศรุต กล่าว

สิ่งสำคัญคือจะต้องมีแรงบันดาลใจออกมาให้ได้ก่อน เพราะหากปล่อยให้มีข้อจำกัดเกิดขึ้น ก็อาจทำให้งานออกมาเป็นเชิงพาณิชย์ไปในที่สุด ด้วยการใช้ความคิด
ไอเดียเข้ามาช่วยด้วยนั่นเอง