posttoday

ดุลยภาพการอยู่ร่วมด้วยสันติ ทุนท่องเที่ยวกับชาติพันธุ์ชาวเล อันดามัน

16 กุมภาพันธ์ 2559

การปะทะกันระหว่างชาวเลที่พยายามปกป้องบ้านของตัวเองกับกลุ่มนายทุนที่เข้ามาซื้อที่ดินและปิดพื้นที่ทางเข้าออกที่หาดราไวย์

โดย...พริบพันดาว ภาพ...กิติธัช โพธิวิจิตร นิตยสารสารคดี

การปะทะกันระหว่างชาวเลที่พยายามปกป้องบ้านของตัวเองกับกลุ่มนายทุนที่เข้ามาซื้อที่ดินและปิดพื้นที่ทางเข้าออกที่หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต กลายเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วประเทศ ทำให้มีการตั้งคำถามถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ต้องมาพร้อมกับความยั่งยืนของชุมชนท้องถิ่น

นโยบายแผนปฏิบัติการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ปี 2559 ตั้งเป้าหมายมีรายได้ 2.3 ล้านล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์มุ่งเน้นสร้างความยั่งยืนให้กับการท่องเที่ยวเน้นคุณภาพ สร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างความสมดุลทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม มีการกระจายรายได้และปลุกจิตสำนึกรักบ้านเกิดเพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจในท้องถิ่นตน รวมถึงเน้นการสร้างรายได้เข้าประเทศมากขึ้น ไม่มุ่งเน้นจำนวนนักท่องเที่ยว ส่วนปี 2560 คาดว่าจะมีรายได้ 2.5 ล้านล้านบาท

ในทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมกลับตรงข้ามกัน คน ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม กลับถูกเมินเฉยและไม่ให้ความสำคัญ แต่เน้นไปในเรื่องพัฒนาในเชิงปริมาณของนักท่องเที่ยวและการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกสบายให้ผู้มาเยือนเพื่อดึงดูดใจมากที่สุด จนขาดความสมดุลกับคนในพื้นที่หรือท้องถิ่นจนมีการปะทะกันอยู่เนืองๆ

การหาความสมดุลของทุนท่องเที่ยวที่รุกคืบเข้าไปทำธุรกิจท่องเที่ยวในท้องถิ่นต่างๆ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง กรณีของชาวเล ซึ่งเป็นชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อยจึงเป็นกรณีศึกษาได้เป็นอย่างดีว่า การท่องเที่ยวต้องเคารพจิตวิญญาณของคนพื้นถิ่น และยอมรับความแตกต่างหลากหลายด้วยความเข้าใจและน้อมรับ

อยู่อย่างแปลกหน้าในถิ่นกำเนิด

คำว่า “ชาวเล” เป็นคำปักษ์ใต้ที่ย่นย่อมาจาก ชาวทะเล ซึ่งใช้ในความหมายทั่วๆ ไปก็หมายถึงผู้คนที่อาศัยแถบชายฝั่งทะเล หรือตามเกาะน้อยใหญ่ และมีวิถีชีวิตผูกพันกับทะเล

หากใช้ในความหมายเฉพาะ คำว่า ชาวเล หมายถึงกลุ่มชาติพันธุ์หรือชนพื้นเมืองที่มีภาษาและวัฒนธรรมเฉพาะที่มีจุดเกี่ยวกับทะเลและวิถีชีวิตชายฝั่ง

ในปัจจุบันสามารถแบ่งชาวเลที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทยออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ อูรักลาโว้ย มอแกลน และมอแกน โดยชาวเลทุกกลุ่มตั้งบ้านเรือนอยู่ตามชายฝั่งทะเลหรือเกาะต่างๆ ในบริเวณที่ไม่ห่างจากฝั่งทะเลมากนัก ตั้งแต่ จ.ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ และสตูล คาดว่ามีประชากรชาวเลทั้งหมดประมาณ 1.2 หมื่นคน

กิตติธัช โพธิวิจิตร ช่างภาพสารคดี ที่ลงพื้นที่ถ่ายภาพชาวเลตลอดชายฝั่งทะเลอันดามันมาตั้งแต่ปี 2557 ได้สัมผัสวิถีชีวิตชาวเลอย่างเข้าใจ มองถึงปัญหาการท่องเที่ยวและกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลทั้ง 3 กลุ่ม ว่า

“ภาคใต้มีกลุ่มชาติพันธุ์ 2 ชาติพันธุ์คือ ชาวเลกับซาไก ชาวเลจะมีปัญหามากกว่าเพราะเป็นเขตท่องเที่ยว ซึ่งจะมีปัญหากับกลุ่มนายทุนและการพัฒนาต่างๆ ก็เลยคิดว่าต้องถ่ายภาพชุดชาวเลเก็บไว้ เผื่อสักวันหนึ่งจะได้นำเสนอ ชาวเลกลุ่มมอแกลน ส่วนมากตั้งถิ่นฐานบนฝั่งทำให้มีการปรับตัวเข้ากับสังคมสมัยใหม่ได้ดีกว่าสองกลุ่มที่เหลือ”

ดุลยภาพการอยู่ร่วมด้วยสันติ ทุนท่องเที่ยวกับชาติพันธุ์ชาวเล อันดามัน

 

กิตติธัช บอกว่า ประเพณีหลักๆ ของชาวเลจะมีการลอยเรือ รำรองเง็งเหลืออยู่ไม่กี่วง ประเพณีนอนหาดที่หาดหินลูกเดียวที่เป็นการนอนค้างแหลมที่ชายหาดประมาณ 3-4 คืนเป็นการรวมญาติพูดคุยสังสรรค์กัน และประเพณีกินข้าวกลางบ้าน ซึ่งนับวันจะเลือนหายไปจากการรับวัฒนธรรมสมัยใหม่ของคนเมืองเข้ามาแทนที่   

“ปัญหาสะเทือนใจที่สุดของชาวเลก็คือเรื่องบ้าน เรื่องที่ดินที่เขาอาศัยอยู่ไม่ใช่ของเขาแล้ว เหมือนกับว่าขออยู่ไปเรื่อยๆ ปัญหาที่ต้องเผชิญของชาวเลคือเรื่องประเพณี เด็กที่เป็นชาวเลรุ่นใหม่ๆ เขาจะไม่เอาแล้ว เหลือแค่คนแก่ๆ เวลาทำประเพณีก็ไม่มีเด็กรุ่นใหม่หรือวัยรุ่นเข้าร่วมในพิธีกรรมแล้ว ไม่มีการสืบทอดแล้ว หากหมดรุ่นคนแก่รุ่นนี้ก็คือหมดกันไปเลย เป็นสิ่งที่น่ากังวลค่อนข้างมาก เรื่องที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย สุสานบรรพบุรุษของผู้บุกเบิกเกาะก็ถูกรื้อถอนโดนไล่ที่ การเป็นประชาชนคนไทย ชาวเลส่วนมากเป็นบัตรขาวไม่มีเชื้อชาติสัญชาติ ไม่มีบัตรประชาชน ทำให้เข้าถึงระบบดูแลสุขภาพลำบาก”

ที่สำคัญที่สุดก็คือเรื่องทรัพยากรท่องเที่ยวของชาวเล ที่กิตติธัช บอกว่า ปัจจุบันเป็นการใช้ร่วมกับกลุ่มทุนต่างๆ ซึ่งเสื่อมโทรมลงไปเรื่อยๆ ในอนาคตค่อนข้างน่าเป็นห่วง

“อยากให้ทางภาครัฐมองเห็นคุณค่าของชาวเลขึ้นมาสักหน่อย”

ส่วน ธัญลักษณ์ ศรีสง่า นักวิชาการด้านมานุษยวิทยา บอกว่า วิธีแก้ปัญหาสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล คือ ส่งเสริมให้คนในชุมชนลุกขึ้นมาสร้างความรู้ในชุมชนด้วยตัวเอง

‘ชาวเล’ ยอดภูเขาน้ำแข็งของความขัดแย้ง

แผนที่การกระจายตัวของชาวเลทั้ง 3 กลุ่ม ตามชายฝั่งและหมู่เกาะทะเลอันดามันของไทย มีกลุ่มมอแกนอยู่ประมาณ 5 ชุมชน ส่วนกลุ่มมอแกลนตั้งหลักแหล่งอยู่ค่อนข้างนานกว่า มีอยู่ประมาณ 20 ชุมชน 4,000 คน แล้วก็กลุ่มที่อยู่ตรงหาดราไวย์ ก็เป็นอูรักลาโว้ย มี 16 ชุมชน ประชากรประมาณ 7,000 คน และมีมอแกนอยู่ด้วย และหลายๆ ชุมชนก็มีการแต่งงานข้ามกลุ่ม ดร.นฤมล อรุโณทัย นักวิจัยจากสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการศึกษาเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลในชายฝั่งอันดามันมาตั้งแต่ปี 2536 ชี้ว่าชุมชนชาวเลราไวย์เป็นชุมชนค่อนข้างใหญ่ ตั้งหลักแหล่งมาเป็นร้อยปีแล้ว

“จากปัญหาที่ดินที่เราเห็น เนื่องจากพื้นที่ราไวย์และหาดภูเก็ตหลายแห่งได้กลายเป็นพื้นที่ท่องเที่ยว เจ้าของที่ดินก็อยากพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว จริงๆ แล้วในพื้นที่ฝั่งทะเลอันดามัน ราไวย์เป็นที่เดียวเท่านั้นที่มีปัญหา แต่หลายๆ ที่ยังไม่ปะทุออกมา แต่ว่าเริ่มที่จะเกิดปัญหาที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งที่เพิ่มขึ้นต่อได้”

ดร.นฤมล ขยายความให้เห็นภาพของชาวเลว่า ทะเลอันดามันได้รับอิทธิพลลมมรสุม 2 ด้าน มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ และลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้

“ช่วงเดือน เม.ย. เป็นช่วงต่อฤดูแล้ง ชาวเลจะแยกย้ายกันทำมาหากินออกเรือไปในทะเล พอถึงเดือน เม.ย.-พ.ค. ก็จะตั้งหลักฐานรวมกลุ่มกันใหญ่ขึ้น มีพิธีกรรมที่เป็นสัญลักษณ์ว่าวิถีชีวิตต้องเปลี่ยนไปตามฤดูกาล เกาะอาดัง สตูล มีการอยู่อาศัยของชาวเลถึง 8 แห่ง ซึ่งทางอุทยานแห่งชาติฯ ขอให้ย้ายไปอยู่รวมกันที่เกาะหลีเป๊ะ จะเห็นว่านโยบายของภาครัฐทำลงไปด้วยความไม่เข้าใจ ท้ายสุดแทนที่จะเป็นผลดีกลับเป็นผลร้าย”

ดุลยภาพการอยู่ร่วมด้วยสันติ ทุนท่องเที่ยวกับชาติพันธุ์ชาวเล อันดามัน ดร.นฤมล

 

การพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งอันดามัน ที่ผ่านมาแล้วทั้งการทำเหมืองแร่ การสร้างโรงแรม รีสอร์ท เป็นบ้านตากอากาศ ดร.นฤมล มองถึงความเปลี่ยนแปลงตรงนี้ว่า ตอนนี้ชาวต่างชาติเองก็เข้ามาทำธุรกิจ แล้วมีการอพยพเข้าของผู้คน มีบ้านหรูราคาแพงเป็นสิบล้านถึงหลายร้อยล้านบาท

“มีการขึ้นป้ายว่าที่ดินนี้มีเอกสารสิทธิห้ามบุกรุก ห้ามขโมยมะพร้าว ห้ามจอดเรือ ห้ามจับปลา ห้ามสารพัด ทั้งที่กลุ่มชาวเลอยู่ในพื้นที่นี้มาก่อนเป็นหลายร้อยปี เพราะฉะนั้นเราจะเข้าใจในสิทธิที่อยู่อาศัยได้อย่างไร? ซึ่งมีระบบคิดไม่เหมือนกันในเรื่องการอยู่ติดที่ อันเป็นระบบคิดของคนในภาคเกษตรกรรม ซึ่งจะคิดถึงเรื่องที่ดินอีกแบบหนึ่งเลย ส่วนความเป็นเจ้าของ ชาวเลก็คิดอีกแบบหนึ่ง ไม่เห็นต้องเป็นเจ้าของเลย แค่ใช้ประโยชน์เป็นครั้งคราว ไม่ต้องมีเอกสารหรือโฉนด แบ่งปันกันไป

“สังคมของชาวเลเป็นสังคมที่ไม่มีลายลักษณ์อักษร ซึ่งจะถูกคนดูถูกว่าไม่รู้หนังสือ ซึ่งจริงๆ แล้วถ้าเทียบความรู้ของเขาที่ผ่านมาทางตำนานมุขปาฐะที่เล่าสืบทอดกันมา อาจจะมากกว่าของคนปัจจุบันเสียอีก เพราะชาวเลมีความรู้เรื่องคลื่นยักษ์ ในขณะที่คนท้องถิ่นหรือคนไทยคำว่า สึนามิ ต้องยืมคำภาษาญี่ปุ่นมาใช้เลย เพราะฉะนั้นการตัดสินชาวเลแบบมิติเดียวจึงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง”

การพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ดร.นฤมล บอกว่า ต้องมองวิธีคิดและแนวทางของสังคมเมืองทุนนิยมกับสังคมชาวเลที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง คือ 1.ชาวเลแบ่งปัน ใครเก่งมากหาได้มากก็ต้องให้ออกไปมาก ของคนเมืองจับจองครอบครองผูกขาดกีดกัน ใครที่เก่งก็มีเยอะ

2.ชาวเลมองการอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ สิ่งเหนือธรรมชาติ ที่ไม่จำเพาะมนุษย์นั้นร่วมกัน มนุษย์กับธรรมชาติอยู่อย่างมีเยื่อใย ไม่เบียดเบียน ส่วนสังคมเมืองจะมองทุกอย่างเป็นปัจจัยการผลิตนำมาใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้อย่างไร? จะใช้มูลค่าได้อย่างไร?

3.ชาวเลมีความเรียบง่าย ไม่สะสม ส่วนสังคมเมืองสะสมทุนเพื่อความมั่งคั่ง เอาทุนต่อทุน เพราะฉะนั้นจึงไม่มีเพดานเพื่อความร่ำรวย

4.ชาวเลไม่แก่งแย่งแข่งขัน ส่วนสังคมเมืองจะพูดถึงคำว่าแข่งขันตลอดเวลา ผู้ที่เหนือกว่าคือผู้ที่อยู่รอดและชนะ

ดุลยภาพการอยู่ร่วมด้วยสันติ ทุนท่องเที่ยวกับชาติพันธุ์ชาวเล อันดามัน

 

“ท้ายสุดชาวเลก็จะหลีกหนีและเลี่ยงออกจากความขัดแย้งและการเผชิญหน้า ในขณะที่สังคมเมืองจะยึดเป้าหมายเป็นหลัก และใช้เทคนิควิธีต่างๆ เพื่อให้ได้มา ที่เขาต่อสู้เพราะเขาจนมุมแล้ว ไม่มีพื้นที่ทำมาหากิน ไม่มีพื้นที่จอดเรือ เพราะถ้าชายหาดถูกปิดกั้นแล้วจะไปไหนต่อ เป็นคำถามที่ไม่ใช่ชาวเลอย่างเดียว ซึ่งคนในสังคม รัฐบาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

“เราคิดกันเพียงแต่ว่า นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวแล้วสร้างรายได้ให้ประเทศเป็นสิ่งที่ดี สรุปเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเฉพาะในพื้นที่ ไม่ใช่เฉพาะที่ราไวย์ ไม่ใช่เฉพาะชาวเล และไม่ใช่เรื่องชาวเลกับนายทุนด้วย แต่เป็นเรื่องวิธีคิดถึงการให้ความหมายกับชีวิต ชุมชน สังคม การให้ความหมายกับการพัฒนา ความเข้าใจถึงความสำคัญและการอยู่ร่วมกัน การให้ความสำคัญกับสิ่งที่แจงนับได้กับสิ่งที่ไม่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ และวิธีคิดเหล่านี้เป็นกลไกกำหนดโครงสร้างทางสถาบันสังคมต่างๆ กฎระเบียบต่างๆ”

ดร.นฤมล ตั้งคำถามว่า สังคมไทยให้ความสำคัญกับมนุษย์ กับวิถีชีวิต วัฒนธรรม ปรัชญาความรู้ที่สืบทอดแต่โบราณที่ฝังอยู่ในตัวของชาวเลหรือไม่?

“ถ้าเห็นว่าโลกต้องเคลื่อนไปตามโลกาภิวัตน์ ปรัชญาใหม่ๆ ทุนนิยมเสรีสุดโต่ง ใครดีใครได้เอาชนะกัน ก็ไม่ต้องเก็บภูมิปัญญาชาวเลไว้ ซึ่งต้องมาตั้งคำถามถึงความหมายของความเป็นมนุษย์ บรรทัดฐานของสังคมมีไหม ในเมื่อเรามีเขตเศรษฐกิจพิเศษที่สามารถจะรื้อกฎหมายต่างๆ ได้ ทำไมเราไม่มีเขตสังคมวัฒนธรรมพิเศษสำหรับคุ้มครองชาติพันธุ์และคนที่เปราะบางที่มีภาษาและวัฒนธรรมแตกต่างออกไปของสังคม ถ้าเราไม่ปกป้องเขา แล้วจะเอาพวกเขาไปไว้ไหน เขาเกิดและทำมาหากินอยู่ตรงนั้น แล้วทำไมเขาต้องหลีกทางไป”

สุดท้าย  นักวิจัยสังคมที่เชี่ยวชาญงานวิจัยชาวเล ฟันธงว่าปัญหาวิกฤตของชาวเลเป็นปัญหาที่ยาก เพราะเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างมีความรุนแรงที่แฝงและซ่อนเร้น

“ความขัดแย้งอย่างรุนแรงที่ปะทุออกมาที่หาดราไวย์ก็คือปลายภูเขาน้ำแข็ง โชคดีที่ชาวเลเป็นคนรักสันติ เขาสงบและยินดีถอย ซึ่งการแก้ปัญหาต้องอาศัยความร่วมมือของทุกฝ่ายอย่างจริงจังและต่อเนื่อง รวมถึงใช้กลไกหลากหลายเพื่อจะปรับโครงสร้างของสังคมให้คุ้มครองชาติพันธุ์และพื้นที่ของเขาที่เปราะบางต่อการพัฒนาจากกลุ่มนักลงทุน โดยรัฐบาลต้องประกาศให้เป็นเขตสังคมวัฒนธรรมพิเศษที่ประกาศโดยชุมชนเอง เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ พื้นที่ทางจิตวิญญาณ สุสานของบรรพบุรุษ พื้นที่ทำมาหากิน พื้นที่ส่วนรวม เป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนที่นึกถึงคนรุ่นต่อไป”

ดุลยภาพการอยู่ร่วมด้วยสันติ ทุนท่องเที่ยวกับชาติพันธุ์ชาวเล อันดามัน ดร.เดชรัต สุขกำเนิด

 

โครงการพัฒนาพื้นที่อันดามัน ‘ระเบิดเวลา’ ลูกต่อไป

การกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวไปสู่การสร้างตัวแบบการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนได้ ต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและท้องถิ่น การปฏิบัติการบริหารจัดการต้องคำนึงถึงความสมดุล ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ การจัดการการท่องเที่ยวจึงจะนำไปสู่การอยู่ดีมีสุขและความพึงพอใจของทุกฝ่าย การวางแผนยุทธศาสตร์การจัดการท่องเที่ยวในชุมชน ต้องเน้นจุดสำคัญว่าจะเป็นไปในแนวทางใดที่สอดคล้องกับบริบทท้องถิ่น โดยคำนึงถึงการรักษาความสมดุลระหว่างรายได้กับการอนุรักษ์ระบบนิเวศและการสืบทอดอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม

ดร.เดชรัต สุขกำเนิด หัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บอกว่า โครงการพัฒนาที่จะมีในพื้นที่ฝั่งทะเลอันดามัน กลไกการพัฒนาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะเป็นผลเสียไม่เฉพาะแต่ชาวเล ซึ่งจะรวมถึงชาวบ้านทั่วๆ ไปด้วย

“การเปลี่ยนแปลงจะมี 3 แรงขับเคลื่อนใหญ่ในบริเวณชายฝั่งทะเลอันดามัน อันดับแรกหนีไม่พ้นเรื่องการท่องเที่ยว เพราะพื้นที่ท่องเที่ยวอันดามันเป็นพื้นที่ทำเงินต่อหัวสูงสุดของประเทศ ถ้าพูดทางภาษาธุรกิจเขาเรียกว่านักท่องเที่ยวเกรดเอคุณภาพดี อยู่นานจ่ายเงินเยอะ จะมีการสร้างศูนย์ประชุมต่างๆ มากขึ้นในแต่ละจังหวัด แรงขับเคลื่อนที่ 2 การขนส่งระหว่างประเทศ มาจากความคิดที่ว่าภาคใต้เป็นคาบสมุทร เลยเป็นเส้นทางผ่านที่สำคัญมาตั้งแต่อดีต ทำให้เกิดความคิดที่จะมีโครงการใหญ่ๆ อย่างเซาเทิร์นซีบอร์ด คอคอดกระ การสร้างแลนด์บริดจ์เชื่อมต่อระหว่างภาคใต้ฝั่งตะวันออกกับตะวันตก และแรงขับเคลื่อนที่ 3 ก็คือโครงการทางด้านพลังงาน จะถูกยกมาพูดถึงเป็นระยะๆ โรงไฟฟ้าถ่านหินจะมาลงที่กระบี่”

ดร.เดชรัต ชี้ว่าสิทธิชุมชนเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ต้องบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญและบรรทัดฐานทางกฎหมาย สำหรับการลดแรงปะทะระหว่างการพัฒนาการท่องเที่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ ต้องสร้างพื้นที่เหล่านี้ให้เป็นเขตสังคมวัฒนธรรมพิเศษ ที่สามารถยกระดับขึ้นเป็นมรดกโลกได้

“เขตอนุรักษ์ทางด้านสังคมและวัฒนธรรมแบบพิเศษ เคยมีประกาศในปี 2553 แต่รัฐบาลก็ไม่ได้ดำเนินการอะไร การประกาศให้พื้นที่อันดามันทั้งหมดเป็นเขตพื้นที่ดูแลเป็นพิเศษในเรื่องของความคุ้มครองเพื่อรักษาสิ่งที่มีอยู่ สร้างที่ยืนของประชาชน ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ไม่มีการยกเว้นอะไรที่เป็นบรรทัดฐานสำคัญของสังคม โดยที่ประชาชนไม่ได้มีส่วนรับฟังความคิดเห็น และช่วยปกป้องสิทธิชุมชนที่กำลังจะหายไป”