posttoday

ต้นแบบ สวนผักบนดาดฟ้า แหล่งเรียนรู้ใน ม.เกษตรฯ

28 มกราคม 2559

ดาดฟ้าพื้นที่ที่หลายคนได้ยินคงนึกถึงภาพแสงแดดสาดส่องบนพื้นคอนกรีตอันร้อนระอุในตอนเที่ยงตรง

โดย...ศศิธร จำปาเทศ

ดาดฟ้าพื้นที่ที่หลายคนได้ยินคงนึกถึงภาพแสงแดดสาดส่องบนพื้นคอนกรีตอันร้อนระอุในตอนเที่ยงตรง แต่ดาดฟ้าบนชั้น 5 ของอาคารส่งเสริมและฝึกอบรม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน กลับสดชื่นและสมบูรณ์ไปด้วยพืชผักกินได้ที่ปลูกบนพื้นที่ 200 ตารางเมตร

พืชผักสีเขียวบนดาดฟ้าอาคารดังกล่าว เกิดขึ้นมาจากโครงการการสร้างวิทยาเขตสีเขียวที่กินได้ โดยการริเริ่มของ รศ.พาสินี สุนากร หัวหน้าภาควิชานวัตกรรมอาคาร คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับอาจารย์จำนวนหนึ่ง เพื่อเป็นต้นแบบการทำเกษตรในเมือง โดยได้งบสนับสนุนจากแผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในปี 2557

ต้นแบบ สวนผักบนดาดฟ้า แหล่งเรียนรู้ใน ม.เกษตรฯ

รศ.พาสินี ผู้ริเริ่มโครงการการสร้างวิทยาเขตสีเขียวที่กินได้ เล่าที่มาโครงการว่า ก่อนนี้ทำวิจัยเรื่องการปลูกพืชบนอาคารและได้ทดลองปลูกผักบนดาดฟ้าของคณะ ต่อมาปี 2554 น้ำท่วมกรุงเทพฯ ตึกต่างๆ ในมหาวิทยาลัยจึงกลายเป็นบ้านของบุคลากรที่ไม่สามารถกลับไปบ้านได้ ผักที่ทดลองปลูกจึงกลายเป็นอาหารให้กับคนเหล่านี้ จากเหตุการณ์นั้นทำให้เล็งเห็นความสำคัญของการปลูกพืชบนอาคารมากขึ้น ในปี 2555 จึงรวมตัวกับอาจารย์ในคณะ 5 คน เสนอขอทุนจากโครงการสวนผักคนเมือง ซึ่งตอนนั้นเป็นทุนขนาดเล็กและต่อมาก็ได้เสนอขอทุนจาก สสส.

“จากทุนที่ได้ทำให้มหาวิทยาลัยเป็นเหมือนต้นแบบโครงการ เราจึงสำรวจพื้นที่ทั้งมหาวิทยาลัย พบว่าพื้นที่บนดินเหลือน้อย จึงเลือกพื้นที่บนดาดฟ้าที่มักพบว่าปล่อยทิ้งไว้ จึงส่งโครงการให้อาคารหน่วยงานต่างๆ ในมหาวิทยาลัยเสนอพื้นที่หน่วยงานของตน ปรากฏว่าได้ผลตอบรับดีมาก จึงตั้งเกณฑ์ว่าเมื่อได้รับเลือกแล้วต้องมีบุคลากรที่มีความรู้เกี่ยวกับเกษตรในหน่วยงานช่วยกันดูแล ซึ่งได้คัดเลือกอาคารสำนักส่งเสริมและฝึกอบรม และอาคารหอสมุดเป็นอาคารที่ทำโครงการนี้”

ต้นแบบ สวนผักบนดาดฟ้า แหล่งเรียนรู้ใน ม.เกษตรฯ

 

หัวหน้าภาควิชานวัตกรรมอาคาร กล่าวต่อว่า จากการวิจัยการปลูกพืชบนอาคาร พบปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการปลูกพืชบนอาคารมากที่สุด คือ พื้นดาดฟ้าของอาคารทั่วไปออกแบบให้รับน้ำหนักตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดขั้นต่ำไว้ 100 กก./ตร.ม. ซึ่งแทบไม่สามารถปลูกพืชได้เลย ถ้าจะปลูกพืชต้องสามารถรับน้ำหนักได้ 300 กก./ตร.ม. ซึ่งการออกแบบอาคารให้สามารถปลูกพืชได้ออกมาอย่างดูดีมีสไตล์เป็นหน้าที่ของภูมิสถาปัตยกรรมโดยตรง และสวนผักดาดฟ้าแห่งนี้เป็นอีกผลงานหนึ่งของการประกวดออกแบบฝีมือนักศึกษาภูมิสถาปัตย์

“อยากให้เกษตรศาสตร์เป็นต้นแบบสวนผัก เพราะฉะนั้นอะไรที่จะเป็นต้นแบบในเมืองได้ มันต้องมีดีไซน์เข้ามาเกี่ยวข้อง ดูแล้วต้องสวยงาม คนเห็นก็จะรู้สึกว่ามีคุณค่าถึงจะอยู่รอดในเมือง และการให้นักศึกษาร่วมออกแบบ มันทำให้เขารู้สึกมีส่วนร่วมในการสร้างสวนแห่งนี้ นักศึกษาอีกส่วนหนึ่งก็ช่วยกันลงแรงปลูกผัก แต่ก็ไม่สามารถมาดูแลได้ตลอดเวลา แม่บ้านจึงมีหน้าที่ในการดูแลสวนผัก ซึ่งเขาสามารถเอาไปทำกับข้าวต่อที่บ้านหรือสร้างรายได้เสริมจากการขายผักอีกทางหนึ่งด้วย”

ต้นแบบ สวนผักบนดาดฟ้า แหล่งเรียนรู้ใน ม.เกษตรฯ

 

รศ.พาสินี ยกตัวอย่างข้อดีของสวนผักดาดฟ้าที่นอกจากบริโภคได้แล้ว ยังช่วยลดภาวะเกาะความร้อนเมืองได้ โดยสาเหตุหนึ่งที่ทำให้อุณหภูมิในเมืองสูงกว่าในชนบทเป็นผลมาจากวัสดุแผ่ความร้อนบนดาดฟ้าซึ่งเป็นพื้นที่ที่โดนแดดตลอดวัน ในต่างประเทศจึงออกกฎหมายให้ทุกอาคารมีมาตรการลดภาวะเกาะความร้อนเมือง การทำสวนบนดาดฟ้าถูกนำมาใช้อย่างโดดเด่นที่สุด ยิ่งมีสวนมากขึ้นเท่าไร อุณหภูมิเมืองก็จะยิ่งลด ขณะเดียวกันก็ทำให้พื้นที่ใต้ดาดฟ้าเย็นลงด้วย ทั้งช่วยให้อากาศบริสุทธิ์ เพราะต้นไม้ช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของภาวะโลกร้อน ทั้งยังช่วยดูดซับก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ซึ่งปล่อยออกมาจากอาคารอีกด้วย

“นอกจากนี้ การปลูกพืชบนดาดฟ้ายังช่วยลดภาระการระบายน้ำจากอาคารสู่ท่อระบายน้ำหลัก ซึ่งอาคารในต่างประเทศนิยมปลูกผักบนดาดฟ้าเพื่อลดภาษีระบายน้ำจากอาคาร ประการสุดท้าย คือ มีผลทางด้านจิตวิทยาที่ดี โดยมีรายงานจากงานวิจัย พบว่า การที่มีต้นไม้หรือดอกไม้ในห้องทำงานทำให้การขาดงานน้อยลง ผลผลิตในการทำงานมากขึ้น หรือเกิดสุนทรียภาพ” รศ.พาสินี ทิ้งท้าย

สำหรับใครที่อยากชมสวนผักดาดฟ้าที่อาคารสำนักส่งเสริมและฝึกอบรม และอาคารหอสมุดมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน สามารถติดต่อขอเข้าชมได้ในวันเวลาราชการ