posttoday

ย้อนรอยไต้หวัน ทำไมคล้ายญี่ปุ่นจัง และสัมพันธ์ระหว่างแผ่นดินใหญ่

24 มกราคม 2559

สำหรับหลายคนเมื่อได้ฟังข่าวไต้หวันไม่ยอมรับการเป็นส่วนหนึ่งของจีน หรือการได้ไปเที่ยวไต้หวันแล้วตกตะลึง

โดย...นิธิพันธ์ วิประวิทย์

สำหรับหลายคนเมื่อได้ฟังข่าวไต้หวันไม่ยอมรับการเป็นส่วนหนึ่งของจีน หรือการได้ไปเที่ยวไต้หวันแล้วตกตะลึงว่านี่มันญี่ปุ่นที่ผู้คนใช้ภาษาจีนชัดๆ ก็เหมือนการอุทานไปกับการดูคลิปซึ่งถ่ายทำได้แต่เหตุการณ์ครึ่งหลัง โดยไม่ทันได้รับรู้เหตุการณ์ความเป็นไปในช่วงแรก

แน่นอน อารมณ์เราจึงผูกพันกับความสมเหตุสมผลและการสร้างอารมณ์ร่วมให้น่ารัก น่าเห็นใจ หรือน่าหมั่นไส้ของแต่ละฝ่ายในคลิปครึ่งหลัง แต่เมื่อกล้องวงจรปิดฉายภาพเหตุการณ์ก่อนหน้า อารมณ์อาจพลิกกลับไปกลับมาเป็นน่าเห็นใจทั้งคู่ น่าหมั่นไส้ทั้งคู่ หรือเจ๊ากัน

ไต้หวันเป็นเกาะประมาณ 3.6 หมื่นตารางกิโลเมตร (1.75 เท่าของโคราช) อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีน เหนือขึ้นไปมีเกาะคิวชู ใต้ลงมามีฟิลิปปินส์

มีหลักฐานว่ามีมนุษย์ตั้งรกรากที่นี่ตั้งแต่ 5 หมื่น ถึง 1 หมื่นปีที่แล้ว ซึ่งก็ไม่ประหลาด เพราะอยู่ห่างจากแผ่นดินไม่ถึง 200 กิโลเมตร นักเดินทางจากฝั่งแผ่นดินพอจะเดินทางมาตั้งรกรากได้ หรืออาจมาทางหมู่เกาะฟิลิปปินส์ได้เช่นกัน (หลักฐานการตั้งรกรากของมนุษย์ในหมู่เกาะฟิลิปปินส์ ก็อยู่ที่ประมาณ 5 หมื่นปีที่แล้ว)

หรืออาจจะมาจากทั้งฝั่งแผ่นดินและฝั่งเกาะก็ได้ อย่างไรก็ตาม สำหรับยุคนี้กลุ่มคนที่ถูกเรียกว่าชาวเกาะพื้นเมืองดั้งเดิมในไต้หวัน มีชาติพันธุ์ไปทางชาวเกาะแบบฟิลิปปินส์ ใครเคยมีเพื่อน เคยไปเที่ยว หรือเคยดูซีรี่ส์ไต้หวันจะพบว่า มีคนหน้าตาคล้ายคนฟิลิปปินส์ (ซึ่งก็คล้ายๆ คนไทย) เป็นชาวไต้หวันโดยกำเนิด

ถึงตอนนี้เราจะไม่รู้ว่าใครไปตั้งรกรากก่อนเมื่อหลายหมื่นปีที่แล้ว แต่ระยะต่อมาทั้งชาวแผ่นดินและชาวเกาะ ก็ค่อยๆ ทยอยไปตั้งรกรากที่เกาะนี้

ตัวตนของเกาะไต้หวันก็เหมือนตัวตนของอีกหลายดินแดนในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพิ่งปรากฏตัวจริงจังในสมัยล่าอาณานิคม

ปี ค.ศ. 1517 นักเดินเรือชาวโปรตุเกสแวะมาตั้งชื่อให้กับเกาะนี้ว่า เกาะฟอร์โมซา (Formosa) แปลว่าเกาะสวยงาม โดยไม่ได้เข้ามารุกรานเกาะนี้แต่อย่างใด... ผ่านมาตั้งชื่อให้เฉยๆ

ไม่ถึงร้อยปีถัดมา (ค.ศ. 1624) ชาวดัตช์ก็เข้ายึดเกาะสวยงามนี้ไว้ และ 2 ปีถัดมาชาวสเปนก็เข้ามาแย่งชิงไป และชาวดัตช์ก็แย่งชิงกลับมาได้ในที่สุด (ค.ศ. 1641)

ฝ่ายปกครองจากแผ่นดินจีนคงยังไม่ได้สนใจเกาะนี้มากนัก ถ้าไม่เป็นเพราะศึกระหว่างราชวงศ์ชิงผู้ไล่ล่าเก็บกวาดราชวงศ์หมิงที่กำลังล่มสลาย บีบให้แม่ทัพเจิ้งเฉิงกงแห่งราชวงศ์หมิงต้องล่าถอยจากแผ่นดินใหญ่มาตั้งหลักที่นี่ เจิ้งเฉิงกงจึงเปิดศึกขับไล่ชาวดัตช์ออกไป (ค.ศ. 1662) ไต้หวันจึงกลายเป็นฐานที่มั่นสุดท้ายของราชวงศ์หมิง และเมื่อราชวงศ์ชิงกำจัดฐานที่มั่นนี้ได้ ในปี ค.ศ. 1683 ไต้หวันจึงกลายเป็นหนึ่งในเขตปกครองของรัฐจีนที่มีเพียงหนึ่งเดียวโดยสมบูรณ์ และเปิดเผย

สรุปว่าชาวตะวันตกเข้ายึดไต้หวันในช่วงที่ไม่ได้มีผู้คนมากมายนัก และเป็นช่วงสั้นๆ จึงฝากไว้แต่ป้อมปืนและปราการ และการกดขี่ตามภาษายุคล่าอาณานิคม

หลังรัฐจีนโบราณเข้ามาจนถึงยุคสมัยแห่งการพัฒนาตามโลกตะวันตก จึงได้วางรากฐานด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เช่น วัดวา โรงเรียน ถนน โทรเลข และไม่ลืมป้อมปืน

ทั้งฝั่งใต้ (ฟิลิปปินส์) ฝั่งแผ่นดินทางตะวันตก (จีน) และฝั่งตะวันออกอันแสนไกล (ดัตช์, สเปน) ของเกาะไต้หวันล้วนได้แวะเวียนมาเกาะนี้แล้ว จะเหลือก็แต่ทางเหนือ “ญี่ปุ่น”

ความอ่อนแอของราชวงศ์ชิงและแนวคิดของญี่ปุ่นที่คิดจะยึดพื้นที่จีนเป็นอาณานิคม ทำให้ญี่ปุ่นเข้าครอบครองไต้หวันได้ในปี ค.ศ. 1895 และญี่ปุ่นยึดครองไต้หวันอย่างจริงจังไว้กว่า 50 ปี

50 ปีซึ่งหากขยันขันแข็งพอ จะสามารถลบล้างความทรงจำของคน Generation หนึ่งไปได้

ในยุคสมัยที่ต้องการขยายอิทธิพลแห่งลูกพระอาทิตย์ใต้บารมีแห่งพระจักรพรรดิ จึงได้ปลูกฝังทั้งรากวัฒนธรรม ภาษา พร้อมอุตสาหกรรมการผลิตอาวุธไว้บนเกาะแห่งนี้

หลี่เติงฮุย อดีตประธานาธิบดีไต้หวัน ที่ใช้ชีวิตวัยเด็กในยุคสมัยนั้นเคยกล่าวไว้ว่า ตอนเขายังหนุ่ม “เขาคือคนญี่ปุ่น”

จะไม่ให้เป็นคนญี่ปุ่นได้อย่างไรเมื่อโรงเรียนสอนประวัติศาสตร์แห่งดินแดนอาทิตย์อุทัย และเด็กทุกคนต้องทำความเคารพต่อพระจักรพรรดิ

เขายังกล่าวอีกว่า “แต่ผมก็เป็นคนญี่ปุ่นที่ยังไงก็ไม่ใช่คนญี่ปุ่นอยู่ดี... ดังนั้นหากคนไต้หวันต้องการเป็นคนญี่ปุ่น เขาจะต้องเป็นญี่ปุ่นให้มากกว่าคนญี่ปุ่น”

ผู้คนบนไต้หวันจึงอยู่ใต้เงาวัฒนธรรมญี่ปุ่นมา 50 ปี แล้วก็มาถึงยุคที่ชาวไต้หวันจะต้องกลับมา “เป็นคนจีนให้มากกว่าคนจีน”

ไต้หวันกลับคืนสู่จีนหลังจากญี่ปุ่นพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่สองในปี ค.ศ. 1945 แต่ในแผ่นดินใหญ่ยังคงต่อเนื่องด้วยสงครามกลาง เมืองระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์และพรรคก๊กมินตั๋ง

สุดท้ายพรรคก๊กมินตั๋งพ่ายแพ้และถอยร่นจนต้องหลบหนีมาที่ไต้หวันคล้ายทัพของเจิ้งเฉิงกง ดีกว่าหน่อยที่มีพี่ใหญ่อย่างอเมริกาคอยปกป้องและคุ้มกัน พรรคก๊กมินตั๋ง พี่ใหญ่ และนานาประเทศที่กลัวภัยคอมมิวนิสต์ชี้กลับไปที่แผ่นดินใหญ่แล้วพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า บนแผ่นดินนั่นคือกองโจร ไม่มีสิทธิใดๆ ในการเป็นรัฐบาลจีน

เจียงไคเช็ก ผู้นำรัฐบาลก๊กมินตั๋ง ไม่ได้ถอยร่นมาไต้หวันตัวเปล่า นอกจากเงินทองซึ่งเป็นทุนสำรองของจีนมากที่สุดเท่าที่จะขนมาได้ กับสมบัติในพระราชวังต้องห้ามกว่า 20 ลำเรือ ยังนำผู้คนถึง 1.5 ล้านคนข้ามมาด้วย และส่วนใหญ่คือทหาร พ่อค้า ปัญญาชน

จากนั้นทั้งฝั่งแผ่นดินใหญ่และฝั่งไต้หวันก็ลั่นกลองรบใส่กันมาอย่างต่อเนื่อง ฝ่ายก๊กมินตั๋งตั้งมั่นว่าจะกลับไปยึดแผ่นดินใหญ่ให้ได้ ในขณะที่ฝ่ายแผ่นดินใหญ่ติดชนักกับสงครามเกาหลีซึ่งสุ่มเสี่ยงที่อิทธิพลอเมริกาจะเข้ามาประชิดตัวมากกว่า และประเมินกำลังของตัวเองว่ายังไม่เข้มแข็งพอที่จะต่อกรกับไต้หวันที่มีอเมริกาหนุนหลัง

แต่ยิ่งนานไปความหวังของไต้หวันก็ยิ่งริบหรี่ จีนแผ่นดินใหญ่เดินเกมในเวทีนานาชาติ ค่อยๆ หาพันธมิตรมารับรองความเป็นจีนเดียวในเวทีสหประชาชาติสำเร็จ ประกาศว่าจีนแผ่นดินใหญ่คือตัวแทนของรัฐจีน และต้องมีเพียงหนึ่งเดียว ส่วนไต้หวันต้องออกจากการเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติไปในปี ค.ศ. 1971 เพราะเหลือชาติที่สนับสนุนให้ไต้หวันเป็นเอกราชได้ไม่มากพอ

เพราะไม่ว่าประเทศใดหากยอมรับไต้หวันเป็นเอกราช ก็อย่าหวังว่าจะมีสัมพันธ์อันดีกับจีนแผ่นดินใหญ่อีกต่อไป

แต่ความล้มเหลวในเวทีสหประชาชาติเป็นแค่ส่วนเล็กๆ ส่วนเดียวของประวัติศาสตร์ไต้หวัน หลังจากเจียงไคเช็กลงจากอำนาจ เจี่ยงจิงกว๋อ ผู้เป็นลูกได้ขึ้นปฏิรูปพรรคและปฏิรูปที่ดิน ทำให้ผู้คนและทหารที่อพยพมาจากแผ่นดินใหญ่ตั้งรกรากมั่นคงเป็นชาวไต้หวัน สร้างอุตสาหกรรม จนกลายเป็นเสือตัวที่ 4 แห่งเอเชีย ด้วยเพราะทรัพยากรมนุษย์และทุน วิสัยทัศน์และการโอบอุ้มจากอเมริกา กับความสัมพันธ์อันดีกับญี่ปุ่น ขณะที่จีนแผ่นดินใหญ่ช่วงต้นยังวุ่นอยู่กับวิกฤตจากแนวคิดการเมือง เศรษฐกิจ สังคมในช่วงต้นของการสร้างชาติ

รัฐไต้หวันไม่คิดกลับไปยึดแผ่นดินใหญ่อีกต่อไป ขอพอใจอยู่ที่ไม่โดนรุกล้ำเอกราชและอธิปไตย แต่จีนกลับยืนยันในจุดยืนเดิม คือไม่รีบร้อน จะอยู่อย่างนี้ต่อไปก็ได้ แต่ประกาศเอกราชเมื่อไหร่นั่นเทียบเท่าการกบฏ

จนมาช่วงหลังที่พละกำลังเศรษฐกิจของแผ่นดินใหญ่บีบพื้นที่ดิ้นของไต้หวันให้แคบลง ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่อรัฐอาจลุ่มๆ ดอนๆ ขึ้นกับแนวคิดของผู้นำไต้หวันแต่ละคน แต่ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจกลับยึดโยงกันแน่นขึ้น

ส่วนชาวไต้หวันส่วนใหญ่ แม้รู้สึกว่าตนเองใช้รากประวัติศาสตร์ร่วมกับจีน แต่มีวัฒนธรรม นิสัยใจคอ และวิถีชีวิตในปัจจุบันที่แตกต่างจากฝั่งแผ่นดินใหญ่ และเมื่อมีกระแสประกาศแยกตัวเป็นเอกราชทีไร ก็ต้องมานั่งชั่งใจ ระหว่างการเมืองในอุดมคติกับหมากการเมืองในความเป็นจริง

และคลิปในช่วงหลังเป็นอย่างไร ก็จะมีให้เห็นได้ทุกครั้งที่ประธานาธิบดีคนใหม่เริ่มเข้ารับตำแหน่ง