posttoday

นโยบายลูกคนเดียวกับจีนใหม่-รัฐแห่งสถิติ

22 พฤศจิกายน 2558

อีกไม่นานชาวจีนที่เกิด ระหว่างปี 1980-2015 จะถูกบันทึกว่าเป็นประชากรรุ่นเดียวของประวัติศาสตร์โลก

โดย...นิธิพันธ์ วิประวิทย์

อีกไม่นานชาวจีนที่เกิด ระหว่างปี 1980-2015 จะถูกบันทึกว่าเป็นประชากรรุ่นเดียวของประวัติศาสตร์โลก ที่เกิดภายใต้นโยบายลูกคนเดียว นโยบายที่เกิดขึ้นครั้งเดียวตั้งแต่เริ่มมีมนุษยชาติจนถึงปัจจุบัน

เป็นกฎหมายพิสดารคล้ายๆ กับการบังคับให้ประชากรชายโกนหัวครึ่งหน้าและไว้ผมเปียครึ่งหลัง ไว้ทรงเดียวกันทั้งประเทศ

ขณะที่นโยบายไว้ผมเปียเป็นเหตุผลเรื่องนามธรรม แต่นโยบายลูกคนเดียวกลับเป็นเรื่องของสถิติที่เป็นรูปธรรม

นโยบายลูกคนเดียวมีเพื่อจำกัดจำนวนประชากรของประเทศ ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและมีท่าทีหยุดไม่อยู่ ในขณะที่ทรัพยากรธรรมชาติสำหรับกินใช้ในประเทศน่ากลัวว่าจะมีไม่เพียงพอ

อันที่จริงก่อนที่จีนจะออกนโยบายลูกคนเดียวเพื่อจำกัดประชากร จีนเคยมีนโยบายเพิ่มประชากรมาก่อน โดยหลังสงครามกลางเมืองในปี 1949 มีประชากรหดหายไปทั้งจากภัยสงคราม พิษการเมือง และกระแสอพยพออกนอกประเทศ ประชากรจึงมีไม่เพียงพอต่อการสร้างชาติแห่งชนชั้นกรรมมาชีพ เหมาเจ๋อตง ประกาศกร้าวว่า “คนแยะ พลังเยอะ” เร่งให้ประชากรในแต่ละครอบครัวมีลูกกันเยอะๆ

ประชาชนชาวจีนจึงพร้อมใจการตอบสนองนโยบายรัฐ และรวมถึงภัยสงครามซึ่งหมดไป คุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐานค่อยๆ ดีขึ้น (เทียบกับช่วงสงครามกลางเมือง) ประชากรจีนจึงพุ่งพรวดยั้งไม่อยู่

พรรคคอมมิวนิสต์ยุคนั้นซึ่งเต็มไปด้วยการกำหนดโควตาเพื่อชาติ ทั้งโควตาการเพาะปลูก ว่าที่ไหนจะต้องปลูกหัวผักกาด ปลูกข้าวเท่าไหร่ ประชากรต่อหัวจะได้โควตาเนื้อกี่กิโลต่อเดือน ได้โควตาน้ำมันกี่ลิตร ก็เริ่มก้าวต่อไปด้วยการกำหนดโควตาลูกในครอบครัว

แนวคิดนี้เริ่มตั้งแต่ช่วงปี 1971 จีนต้องกลับลำจาก “คนแยะ พลังเยอะ” มาเป็น “แต่งงานให้ช้า มีลูกให้ช้า คลอดให้น้อย แต่มีคุณภาพ”

ตามสไตล์ของนโยบายจีนต้องมีตัวเลขกำกับให้ชัดเจน จีนสมัยนั้นกำหนดให้ชายจีนแต่งงานได้เมื่อ 22 ปี และหญิงแต่งได้เมื่ออายุ 20 ปี หากแต่งหลังจากนั้น 3 ปี ถือเป็นกลุ่มประชากรแต่งงานช้า และหากหญิงมีบุตรหลัง 24 ปี ถือเป็นหญิงมีบุตรช้า ด้วยหลักเกณฑ์ดังนี้ จีนยุคนั้นจึงรณรงค์ให้แต่งงานช้าและมีบุตรช้า เปลี่ยนจากมีลูกตอน 21 เป็นมีลูกตอน 25 หากทุกคนทำตามเกณฑ์นี้ ใน 1 ชั่วอายุคน (สมมติให้เป็น 100 ปี) จะช่วยลดการผลิตคนได้ถึง 1 เจเนอเรชั่น

นโยบายลูกคนเดียวเกิดขึ้นท่ามการคำสนับสนุนและสถิติของนักวิชาการในประเทศที่บอกอย่างหนักแน่น “สำหรับนโยบายควบคุมประชากรจีน ไม่มีคำว่าเร็วเกินไป จะมีก็แต่คำว่าสายเกินไป”

นโยบายลูกคนเดียวจึงค่อยๆ ก่อรูปก่อร่างจนใช้จริงอย่างเคร่งครัดเมื่อปี 1980 หลังอสัญกรรมของประธานเหมา ซึ่งเป็นช่วงของการปฏิรูประบบเศรษฐกิจประเทศของเติ้งเสี่ยวผิง

นโยบายนี้ฟังดูจริงจังและเด็ดขาดตามสไตล์พรรคคอมมิวนิสต์จีน จนทำให้หลายๆ คนคิดไปว่าทุกคนในจีนจะต้องมีลูกได้คนเดียวหมด แต่อันที่จริงมีเงื่อนไขผ่อนปรน เช่น ถ้าพ่อแม่เป็นชนกลุ่มน้อย (ไม่ใช่ชาวจีนฮั่น) หรือในชนบทเกษตรกรที่มีลูกคนแรกเป็นผู้หญิง หรือผู้ที่ลูกคนแรกมีความพิการ ก็สามารถทำเรื่องขอมีลูกคนที่สองได้ (แต่ต้องทำเรื่องก่อน ไม่ใช่มีได้อย่างอิสระ)

สำหรับผู้ฝ่าฝืนมีโทษเสียค่าปรับเป็นเงินมหาศาลในอัตราต่างกันขึ้นกับสภาพท้องถิ่นและเงินเดือนของผู้เป็นพ่อเป็นแม่ ซึ่งเป็นค่าปรับที่หนักจนถึงขั้นอาจล้มละลายได้ และลูกคนที่สองก็จะไม่มีสิทธิสวัสดิการสังคมใดๆ พ่อแม่ลูกต้องโดนตัดสิทธิการเป็นสมาชิกพรรค ข้าราชการ หรือแม้กระทั่งสิทธิที่จะร่วมงานกับทางการในด้านต่างๆ เช่น เป็นนักกีฬาทีมชาติ

ในปี 1998 จีนเคยประกาศความคาดหวังให้ในปี 2000 ควบคุมประชากรอยู่ที่ 1,300 ล้านคน ปี 2010 ที่ 1,400 ล้านคน ซึ่งจัดได้ว่าจีนทำได้ใกล้เคียงกับที่คาดการณ์ไว้ แผนต่อไปคือในช่วงกลางศตวรรษที่ 21 จะควบคุมประชากรไว้ที่ 1,600 ล้านคน และหลังจากนั้นประชากรจีนจะค่อยๆ ลดลงเองตามโครงสร้างประชากร

แน่นอนตัวเลขคาดการณ์ในช่วงกลางศตวรรษที่ 21 ต้องล้างไพ่กันใหม่ เมื่อนโยบายลูกคนเดียวถูกยกเลิกไป

นโยบายลูกคนเดียวถูกต่อว่าจากนานาชาติว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนตั้งแต่ข้อหาเบาๆ เช่น จำกัดสิทธิการมีลูกของผู้คน ปัญหาที่ข้าราชการระดับปฏิบัติงานใช้ท่าทีข่มขู่และรุนแรงเกินเหตุ จนทำให้เกิดปัญหาการทำแท้งหรือฆ่าทารกเมื่อไม่ได้ลูกชาย หรือการทำให้ลูกคนแรกพิการ (เล็กๆ น้อยๆ ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้) เพื่อจะได้มีลูกคนที่สองได้

ในช่วงที่เศรษฐกิจจีนถีบตัวขึ้นสูงจนเกิดความเหลื่อมล้ำทางรายได้อย่างต่อเนื่อง ก็เกิดปัญหาการยอมจ่ายค่าปรับของคนรวยเพื่อจะมีลูกหลายคน ทั้งที่กฎหมายก็พยายามจะปรับตามฐานะและสภาพสังคม แต่ดูเหมือนคนรวยก็ยังได้เปรียบกว่าอยู่ดี

กรณีใหญ่ล่าสุดคือ จางอี้โหมว ผู้กำกับชื่อดังของจีนที่เพิ่งโดนจับได้ว่ามีลูก 7 เมีย 4 จนโดยเรียกให้จ่ายค่าชดเชยกับรัฐบาลทั้งสิ้น 39 ล้านบาท

เศรษฐีย่อมๆ บางคนลงทุนไปคลอดลูกที่ฮ่องกง ส่วนเศรษฐีใหญ่ๆ ก็บินไปคลอดที่อเมริกา เพื่อให้ได้มีลูกคนที่ 2 3 หรือ 4 ได้

ปัญหาลูกคนเดียวยังทำให้เกิดเจเนอเรชั่นของฮ่องเต้น้อย คือถูกประคบประหงมเลี้ยงดูและเอาอกเอาใจอย่างดีจากพ่อแม่ปู่ยาตายายจนเสียนิสัย

เรื่องประชากรเป็นปัญหาที่จีนให้ความสำคัญ จีนยังมีการสำรวจสำมโนประชากรอยู่อย่างสม่ำเสมอ ในช่วงสำรวจประชากร จะเห็นบิลบอร์ดขนาดใหญ่หรือโฆษณาทีวีว่าเจ้าหน้าที่จะไปเคาะประตูบ้านท่านโปรดให้ความร่วมมือ และหลังจากสำรวจเสร็จสิ้นจะมีการแถลงข่าวเป็นตัวเลขชัดเจนว่าจีนทำตามเป้าได้หรือไม่ และมีแผนในอนาคตอย่างไร

แต่จากการสำรวจปัญหาด้านโครงสร้างของแรงงานเข้าแทนที่ สถิติผู้สูงอายุกำลังเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ประชากรที่อายุมากกว่า 50 ปี ในจีนมีอยู่ถึง 30% นั่นแปลว่าโครงสร้างสังคมของจีนกำลังก้าวเข้าสู่สังคมคนแก่ที่ขาดแคลนวัยทำงานสร้างเศรษฐกิจ การยกเลิกนโยบายลูกคนเดียวจึงเกิดขึ้น เพื่อปรับสมดุลเรื่องนี้เป็นหลัก

คำอธิบายที่ว่าต้องเปลี่ยนเพราะ “นโยบายลูกคนเดียวเป็นนโยบายที่แทรกแซงชีวิตครอบครัวของพลเมืองมากเกินไป” ที่นำเสนอตามข่าว จึงเป็นแค่ปกหน้าของนโยบายนี้ที่ซ่อนสถิติประชากรไว้มากมาย

จีนเป็นรัฐแห่งมาตรการ แต่ละมาตรการมีดีมีด้อย มีคำติและคำชม และรัฐจีนพร้อมที่จะคิดหาวิธีการของตัวเอง โดยไม่ตั้งธงไว้ว่าต้องมีใครเคยทำมาก่อน รัฐจีนมักใช้คำว่า “แต่ละชาติย่อมมีปัญหาและแนวทางแก้ปัญหาของตัวเอง”

ถึงแม้การตัดสินใจของจีน จะดูเหมือนไม่แคร์ใครเท่าไหร่ แต่เบื้องหลังมาตรการเหล่านั้นใช่จะอินดี้ ซะทีเดียว เพราะมักมีสถิติต่างๆ นานา ซ่อนอยู่เสมอ นโยบายลูกคนเดียวเป็นแค่หนึ่งในนโยบายที่รัฐมักแจกแจงให้ประชาชนเข้าใจความจำเป็นจากสถิติต่างๆ นานา ข้อมูลที่นำมาเสนอข้างต้นทั้งหมดจึงเป็นสถิติที่แจกแจงจนชาวจีนที่รับสื่อทั่วไปคุ้นเคยตลอด 3 ทศวรรษที่ผ่านมา

พูดง่ายๆ คือ ทุกๆ มาตรการของจีนมักต้องมีสถิติและตัวเลขเป้าหมายมาอ้างกับประชาชน ส่วนที่ว่าดีหรือไม่ ถูกใจหรือไม่ ตัวเลขน่าเชื่อถือหรือไม่ เป็นอีกเรื่อง

ไม่แน่ใจว่าชาวไทยไม่ชอบสถิติ สื่อไทยไม่สันทัด หรือรัฐบาลไทยไม่สนใจ มาตรการส่วนใหญ่ของไทยจึงไม่ค่อยมีตัวเลขทางสถิติแต่ชอบวัด (บลัฟ) กันด้วยโพล