posttoday

อาชีพแห่งอนาคต

16 พฤศจิกายน 2558

หลายคนบอกว่าการวิ่งไล่ล่าอนาคตเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับคนที่เติบโตขึ้นมาในยุคนี้

โดย...พริบพันดาว ภาพ : Mashable.com, thedigitaldetox.org, whatsnext.nuance.com

หลายคนบอกว่าการวิ่งไล่ล่าอนาคตเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับคนที่เติบโตขึ้นมาในยุคนี้ เพราะแค่กะพริบตา ทุกสิ่งทุกอย่างก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างน่าตกตะลึง ด้วยความไวของเทคโนโลยีดิจิทัลที่ไม่เคยรอใคร พร้อมที่จะทิ้งทุกคนไว้ข้างหลัง

เว็บไซต์ Mashable ได้ประมวลอาชีพที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ผ่านบทความที่มีชื่อว่า “7 unbelievable job titles that will actually exist in 10 years” เขียนโดย PEPSICO ซึ่งอาชีพที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้นคือ

1.นักบำบัดการติดดิจิทัล (Digital Detox Therapist)

2.ผู้เชี่ยวชาญด้านการระดมทุน (Crowd Funding Specialist)

3.ผู้แนะนำด้านการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ (Productivity Counselor)

4.เกษตรกรเมือง (Urban Shepherd)

5.นักถ่ายวิดีโอตัวแทน (Vicarious Videographer)

6.เทรนเนอร์ส่วนตัวบนฐานข้อมูล (Quantified-Self Personal Trainer)

7.ผู้ให้คำแนะนำการสร้างทักษะใหม่ (Cultural Intelligence Agent)

มาลองดูกันว่าอาชีพเหล่านี้จะขับเคลื่อนโลกยุคใหม่กันอย่างไร? และคนรุ่นใหม่ในเมืองไทยจะขยับตัวก้าวสู่อาชีพเหล่านี้ตามเทรนด์โลกกันแบบไหน

อาชีพแห่งอนาคต

 

นักอนาคตศาสตร์ฟันธง

แนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่ออาชีพในอนาคตของโลกและไทย มีปัจจัยขับเคลื่อนใน 2 ส่วน คือ ปัจจัยภายนอก และปัจจัยภายใน มุมมองผ่านทัศนคติส่วนตัวของ ปรีดา ชัยนาจิตร นักอนาคตศาสตร์ บริษัท โนวิสเคป คอนซัลติ้ง กรุ๊ป ชี้ว่า ปัจจัยภายนอกประกอบด้วยการเพิ่มขึ้นของประชากรหุ่นยนต์ และการกำเนิดเศรษฐกิจใหม่รูปแบบต่างๆ

“ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีหุ่นยนต์และเครื่องจักรกำลังเข้ามาแทนที่แรงงานมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง งานที่มีกรอบภาระหน้าที่งานชัดเจน ทำให้สามารถโปรแกรมคำสั่งให้คอมพิวเตอร์ทำงานแทนได้ ก่อให้เกิดประสิทธิภาพการทำงานสูงขึ้นและต้นทุนถูกลงแบบที่วัดผลและประเมินได้อย่างตรงไปตรงมา กลายเป็นทางเลือกที่น่าดึงดูดกว่าแรงงานโดยปกติ นำไปสู่สถานการณ์ที่มนุษย์เราเผชิญภาวะว่างงานอันเนื่องมาจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี (Technological unemployment)”

ปรีดาได้อ้างอิงข้อมูลของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ที่ประเมินว่า หน้าที่การงานในสหรัฐอเมริกามากถึง 47% จะถูกแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัติใน 20 ปีข้างหน้า ยกตัวอย่างเช่น พนักงานขับรถ จะถูกแทนที่โดยพาหนะไร้คนขับ (Driverless vehicle) หรือโดรน ที่กำลังก้าวขึ้นมาเป็นคู่แข่งกับคนเราในอัตราที่ต้องให้ความสนใจและจับตามองมากขึ้นเรื่อยๆ

“การกำเนิดเศรษฐกิจใหม่รูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Creative economy, Digital economy, Sharing economy, Circular economy ไปจนถึง Square economy และเศรษฐกิจใหม่รูปแบบอื่นๆ ที่ปัจจุบันยังไม่เกิดให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม หลักการพื้นฐานของเศรษฐกิจใหม่เหล่านี้จะเป็นตัวกำหนดขอบเขตหน้าที่การงานระดับมหภาคในอนาคต และส่งผลต่อคนจำนวนมากเมื่อภูมิภาคหรือประเทศตัดสินใจเลือกนโยบายใดนโยบายหนึ่งขับเคลื่อนภาพรวมเศรษฐกิจ เช่น Digital economy เน้นให้ผู้คนใช้ประโยชน์จาก IT ไปจนถึง Internet of Things (IoT) ในการทำธุรกรรมต่างๆ โดยมีผู้นำอย่าง Alibaba หรือ Amazon”

ปรีดาได้ยกตัวอย่าง Square economy ซึ่งมุ่งเน้นการทำธุรกรรมผ่านอุปกรณ์พกพารูปทรงสี่เหลี่ยม และเกิดขึ้นจริงแล้วในประเทศญี่ปุ่น คือ Japan Post หรือหน่วยงานไปรษณีย์ของญี่ปุ่น ที่ร่วมมือกับ Apple และ IBM

อาชีพแห่งอนาคต

“อยู่ระหว่างช่วงทดลองให้ผู้สูงอายุราว 1,000 คน ในบางจังหวัดยืมใช้อุปกรณ์พกพาเพื่อทำธุรกรรมตั้งแต่สั่งซื้อของออนไลน์จนกระทั่งมาส่งถึงบ้าน รวมทั้งยังสามารถใช้อุปกรณ์นี้ในการดูแลสุขภาพแบบที่เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ทั่วประเทศ หรือสมาชิกครอบครัวที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในบ้านเดียวกัน สามารถเฝ้าติดตามอาการได้ตลอดเวลาด้วย”

นอกจากนี้ เขายังหยิบเอา Circular economy ที่ให้ความสำคัญต่อหลักการที่สิ่งของที่ผลิตออกมา สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ได้ทั้งหมด โดยไม่เพิ่มปริมาณขยะหรือมลพิษตลอดเส้นทางวัฏจักรชีวิตของสิ่งผลิตนั้นๆ เช่น ผลิตภัณฑ์สีเขียวที่ผลิตจากอินทรีย์สารสามารถย่อยสลายตามกระบวนการทางธรรมชาติในเวลาไม่นาน ส่วน Sharing หรือ On-Demand economy ปรับเปลี่ยนกรอบความคิดของการเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียว ไปสู่การจัดสรรสินค้าหรือบริการที่เกินความต้องการให้เกิดประโยชน์หรือมูลค่าแก่ผู้ที่มีความต้องการใช้สินค้าหรือบริการนั้นๆ เช่น Uber หรือ Kaidee เป็นต้น

“โดยโมเดล On-Demand ไม่เพียงกระทบผู้ใช้สินค้าหรือบริการ แต่ยังรวมไปถึงผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการด้วย เช่น เว็บไซต์ Handy ในสหรัฐ เอื้อให้มืออาชีพด้านการบริการบ้าน ท่อประปา ทำความสะอาด เป็นต้น สามารถเลือกงานและเวลาได้ตามต้องการ ทำให้พวกเขาสามารถเข้าถึงโอกาสหารายได้ใหม่ๆ พร้อมกับมีความยืดหยุ่นในการทำงาน”

ส่วนปัจจัยภายในหรือทัศนคติของคนเราที่จะทำให้รูปร่างหน้าตางานในอนาคตเปลี่ยนแปลงไป ปรีดาขยายความว่า ได้แก่การแสวงหาความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน ซึ่งรวมความไปถึงการเสาะหาความยืดหยุ่นและอิสระของการทำงาน ทำให้วัยทำงานไม่ยึดติดอยู่กับกรอบองค์กรแบบเดิมอีกต่อไป

“การทำอาชีพอิสระ หรือ Freelancer ไม่ว่าจะเป็นที่ปรึกษา หรือนักกฎหมาย จึงเป็นรูปแบบของอาชีพที่จะมีปริมาณมากขึ้นอย่างแน่นอน ดูได้จากการศึกษาหนึ่งบ่งชี้ว่า ภายในปี 2020 แรงงานในสหรัฐจะกลายเป็นผู้ทำอาชีพอิสระ พนักงานอิสระ หรือพนักงานชั่วคราว ในสัดส่วนมากกว่า 40% หรือคิดเป็น 60 ล้านคน เลยทีเดียว กระแสการเปลี่ยนแปลงย่อยที่ส่งเสริมเทรนด์นี้ คือความเป็นปัจเจกหรือตัวของตัวเองในมนุษย์ที่มีมากขึ้นทั่วโลก ซึ่งมีตัวเลขสถิติสะท้อนจากที่ประชาชนสหรัฐมองตัวเองเป็นผู้สนับสนุนพรรคอิสระเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง”

สำหรับอาชีพในอนาคตเหล่านี้ ปรีดาบอกว่าได้รับการบ่งชี้ขึ้นมาเพื่อตอบสนองแนวโน้มทางสังคม เทคโนโลยี เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นอย่างเข้มข้นมากขึ้น เช่น สังคมผู้สูงอายุ Wearable Technology Big Data การขยายตัวของเมือง เป็นต้น การเสาะหาอาชีพสำหรับคนรุ่นใหม่ก็จำเป็นที่จะต้องทราบและเข้าใจกระแสการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ เพื่อให้สามารถเลือกอาชีพที่เหมาะสมกับความชอบของตนเองและมีเส้นทางในวิชาชีพที่ยั่งยืนต่อไป

อาชีพแห่งอนาคต

“ในปีนี้มีรายงาน Creativity vs Robots ที่ทางสหราชอาณาจักรได้จัดทำขึ้น โดยระบุว่างานที่อาศัยความคิดสร้างสรรค์มีแนวโน้มที่จะสามารถต่อต้านการเพิ่มขึ้นของหุ่นยนต์และเครื่องจักร เช่น Machine learning และ Mobile robotics ได้มากกว่างานประเภทอื่นๆ ในสหรัฐมีงานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์สูง (Highly creative) อยู่ในสัดส่วน 21% ขณะที่สหราชอาณาจักรมีสัดส่วนมากกว่าเล็กน้อยที่ 24% อาชีพสร้างสรรค์เหล่านี้ ประกอบด้วย ศิลปิน สถาปนิก นักออกแบบเว็บไซต์ ผู้เชี่ยวชาญด้านไอที และมืออาชีพด้านการประชาสัมพันธ์”

ทั้งนี้ ปรีดากล่าวเสริมว่า ในรายงานดังกล่าว พบว่า ในสหรัฐ 86% ของคนทำงานในประเภท Highly creative มีความเสี่ยงต่ำหรือไม่มีความเสี่ยงคุกคามจากระบบอัตโนมัติ ส่วนที่ในสหราชอาณาจักร สัดส่วนดังกล่าวอยู่ที่ 87% ดังนั้นในระดับประเทศ สหรัฐ และสหราชอาณาจักร ที่มีสัดส่วนของอาชีพสร้างสรรค์เป็นกลุ่มใหญ่ในตลาดแรงงาน อาจอยู่ในสถานะที่ดีกว่าประเทศอื่นๆ ที่จะไม่ถูกแทนที่ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีหุ่นยนต์ในอนาคต

ถึงเวลาเด็กไทยต้องปรับตัว

วรชาติ อำไพ หัวหน้าฝ่ายแนะแนวการศึกษา สำนักบริการการศึกษา มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มองว่า ความเคลื่อนไหวเพื่อจะรับมืออาชีพของอนาคตตรงนี้ ในประเทศไทยยังไม่มีการมองทั้งภาพรวมและภาพเฉพาะ

“อาชีพเหล่านี้จะมีความเจริญก้าวหน้าไปอย่างไร ประเด็นแรกที่พูดถึงก็คือเรายังไม่ได้เตรียมความพร้อมเรื่องนี้เท่าที่ควร อย่างเช่นภาครัฐ โดยเฉพาะในเรื่องการศึกษาก็ยังไม่ค่อยให้ความสำคัญ อาชีพเหล่านี้เมืองไทยยังไม่ค่อยมีใครรู้จักกันเลย เพราะเป็นเทรนด์อาชีพที่มาจากต่างประเทศ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่ทำการเชื่อมโยงให้เห็นอนาคต”

ความกังวลของวรชาติที่เกี่ยวกับเมืองไทย เขาบอกว่ามี 3 ข้อ คือ หนึ่ง-ขาดการเตรียมพร้อมในปัจจุบัน สอง-อนาคตยังไม่เห็นเส้นทางของอาชีพเหล่านี้ และสาม-ยังไม่เห็นภาพของความเชื่อมโยงของอาชีพเหล่านี้ได้ชัดเจน

“ประเด็นสำคัญก็คือเรื่องของพื้นฐาน การจะไปสู่อาชีพไหนก็แล้วแต่ จุดเริ่มต้นเป็นจุดที่สำคัญที่สุด ผู้ที่จะเข้าสู่อาชีพนั้นจะต้องมีคุณสมบัติ มีความพร้อมมากกว่าคนอื่น ในโลกของอาชีพคนที่จะไปทำต้องรู้จักเตรียมตัวเองให้พร้อม ตั้งแต่พื้นฐานการศึกษา โดยเฉพาะหน่วยงานภาครัฐต้องเห็นความสำคัญว่าอาชีพเหล่านี้เป็นอาชีพของอนาคต ทั้งเรื่องเทคโนโลยีและภาษา ต้องให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องนี้ ส่วนเรื่องของงานหรือการฝึกฝนสามารถช่วยกันได้อยู่แล้ว ทุกๆ อาชีพพอถึงเวลาจริงๆ ก็ทำได้”