posttoday

‘กิตติพงศ์ รวยฟูพันธ์’ พลิกธุรกิจสิ่งทอให้ฟื้น

31 ตุลาคม 2558

ธุรกิจสิ่งทอในเมืองไทย หลายคนคงมองว่าเป็นธุรกิจพระอาทิตย์ตกดินนานแล้ว ทายาทธุรกิจรุ่นที่ 3 “กิตติพงศ์ รวยฟูพันธ์”

โดย...บงกชรัตน์ สร้อยทอง

ธุรกิจสิ่งทอในเมืองไทย หลายคนคงมองว่าเป็นธุรกิจพระอาทิตย์ตกดินนานแล้ว ทายาทธุรกิจรุ่นที่ 3 “กิตติพงศ์ รวยฟูพันธ์” วัย 34 ปี ก็เคยมองอย่างนั้น แต่วันนี้เขาได้ปฏิวัติการทำธุรกิจสิ่งทอที่เริ่มนำการวิจัยและพัฒนา (R&D) หรือนำนวัตกรรมเข้ามาช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไฮบริด แฟบริค

จากรุ่นคุณปู่ก่อตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัด ตั้ง เตียง ฮง ทำธุรกิจขายผ้าย่านสำเพ็ง ตั้งแต่ปี 2490 สู่รุ่นคุณพ่อที่ขยายธุรกิจมีโรงงานทอผ้าและตัดเย็บครบวงจรภายใต้ชื่อ บริษัท ที.ที.เอช.นิตติ้ง (ไทยแลนด์) ปี 2535 ซึ่งแรกๆ ก็ได้รับเป็นหนึ่งในธุรกิจหลังยุคเศรษฐกิจไทยกำลังโชติช่วงชัชวาล

วิกฤตต้มยำกุ้งได้เกิดขึ้นปี 2540 การรับจ้างการผลิตเสื้อผ้า (โออีเอ็ม) เป็นตัวแปรครั้งใหญ่ที่ทำให้ธุรกิจซวนเซ การทำธุรกิจรับจ้างผลิตให้ สินค้าที่ออกมาจึงดูคล้ายๆ กันทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านก็ผลิตคล้ายกัน แต่ประเทศเหล่านั้นกลับมีข้อได้เปรียบที่ต้นทุนการผลิตถูกกว่า

‘กิตติพงศ์ รวยฟูพันธ์’ พลิกธุรกิจสิ่งทอให้ฟื้น

 

ธุรกิจสิ่งทอเรียกได้ว่าในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาไม่ได้รับการสนับสนุนใดๆ ทั้งจากหน่วยงานทางการ หรือแม้กระทั่งภาคเอกชน อย่างธนาคารพาณิชย์ ทั้งที่เป็นเครื่องมือทางการเงินหลักที่พอจะช่วยให้ผู้ประกอบธุรกิจนี้กู้เงินเพื่อไปหมุนเวียนในธุรกิจ แต่สำหรับธุรกิจสิ่งทอถือเป็นอุตสาหกรรมที่ธนาคารระบุว่าเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงทำให้ปล่อยกู้ยาก

เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา หลังเรียนจบด้านการตลาดจากสหรัฐ กิตติพงศ์มีโอกาสกลับมาช่วยพลิกฟื้นธุรกิจที่บ้านโดยทำทุกอย่างให้ตัวเลขที่ขาดทุนกลายเป็นมีกำไรจากเริ่มคิดว่าช่วยครอบครัวก่อน ไปพร้อมกับพยายามทำธุรกิจอื่นที่น่าจะดีกว่านี้ ลุยมาหมดไม่ว่าจะเป็นทำ เครื่องสำอาง เจลล้างมือ ทำโรงงานด้านต่างๆ รวมถึงธุรกิจขายตรง ฯลฯ เพราะมองว่าธุรกิจสิ่งทอไม่มีวันกลับมาเติบโตได้อีก

4 ปีแรกที่กลับมาช่วยธุรกิจที่บ้านยังไม่ได้ทำอะไรมากนอกเหนือไปกว่าการทำให้ตัวเลขที่แดงติดลบอยู่ออกมาเป็นตัวเลขเขียวและมีผลบวกให้เป็นกำไรสุทธิให้ได้มากกว่า สิ่งที่เริ่มทำได้ตอนนั้นเมื่อไม่มีตัวช่วยไหนเท่าตัวเราเอง เพราะธนาคารไม่ปล่อยกู้ให้มาก “ความแตกต่าง” และ “การบริการ” ที่ต้องสร้างให้บริษัทแปลกใหม่ในความรู้สึกกับลูกค้าได้ บริษัทจึงผลิตเสื้อผ้าพนักงานของกลุ่มองค์กร หน่วยงาน และบริษัทเอกชนหลายแห่ง

‘กิตติพงศ์ รวยฟูพันธ์’ พลิกธุรกิจสิ่งทอให้ฟื้น

 

ถ้าต้องการตัดด่วนไม่กี่ชิ้นก็ยอมทำเพื่อรับคำสั่งซื้อในอนาคต หาทีมขายคนเก่งที่ต้องการความท้าทายกับงานมาร่วมทำการตลาด หาและเพิ่มช่องทางการจำหน่ายให้มากขึ้นผลขาดทุนหรือรายได้ที่มีตอนนั้นเห็นปัญหาว่าอยู่ตรงไหน ก็ต้องค่อยๆ แก้ไขกันไป ไม่ใช่จมอยู่กับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า ปัญหาทุกอย่างที่เกิดขึ้นมีไว้เพื่อให้ได้แก้ไข

จุดเปลี่ยนสำคัญที่ผู้บริหารหนุ่มคนนี้ได้มองและตระหนักเห็นแล้วว่าความเสี่ยงและจุดอ่อนของธุรกิจนี้อยู่ตรงไหน และเริ่มกลับมามองว่าอุตสาหกรรมสิ่งทอน่าจะมีโอกาสและความเป็นไปได้ลุกขึ้นมาเฟื่องฟูได้อีกครั้ง โดยมองว่าประเทศไทยไม่ใช่เป็นฐานการผลิตได้เหมือนเมื่อก่อนแล้ว เนื้อผ้าที่ผ่านมาธรรมดา เครื่องจักรก็เก่าแบบสมัยก่อน ขาดการบำรุงดูแลรักษา และขาดการวิจัยพัฒนาอย่างต่อเนื่อง รูปแบบการผลิตเสื้อผ้าที่ออกมามีความจำเจ

ดังนั้น เขาจึงเลือกหันมามองเรื่อง R&D มาเป็นตัวหลักในการปลุกองค์กรและอุตสาหกรรมให้คืนชีพอีกครั้ง เขาเริ่มค้นหาทีมงานที่มีความโดดเด่นใน R&D เข้ามาร่วมทำงานกับบริษัทอย่างจริงจังและตั้งแผนกงานนี้ขึ้นมา ยอมที่จะทุ่มเทกับงบประมาณที่เรียกว่าศึกษาค้นคว้ามาแล้วเสียเงินไปเปล่าๆ ก็มี

‘กิตติพงศ์ รวยฟูพันธ์’ พลิกธุรกิจสิ่งทอให้ฟื้น

 

แต่เขาก็ยังเชื่อว่าถ้าสามารถคิดส่วนผสมคือจุดแข็งที่เป็นงานวิจัยและพัฒนาจนเป็นสินค้าของบริษัทเองขึ้นมาได้ สุดท้ายสิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวเพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์และบริษัทอย่างต่อเนื่องและระยะยาว

“ตั้งแต่วัตถุดิบที่นำมาใช้ทอผ้า เส้นใยธรรมชาติหรือเส้นใยสังเคราะห์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้สร้างเส้นด้ายให้เกิดการผลิตให้ได้ในรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น เส้นใยที่คิดขึ้นมาจะมีความแตกต่างจากท้องตลาด เทคนิคแบบตีเกลียวยาวเป็นพิเศษช่วยลดการขึ้นขนหลังซัก ลดการระบายอากาศได้ดี เมื่อนำมาถักทอเป็นผืนแล้ว เส้นใยมีลักษณะถาวรช่วยยืดอายุการใช้งาน ช่วยลดพลังงานที่
ไม่ต้องรีด ระบายอากาศได้ดี ช่วยลดอุณหภูมิห้อง 1 องศา ดูดเหงื่อ ไม่รู้สึกเฉอะแฉะง่าย แห้งไว”

เรื่องที่ขาดไม่ได้คือ การสร้างความเข้าใจและการดำเนินงานใหม่ทั้งพนักงานเอง และเป็นที่รับรู้ของลูกค้าด้วยว่า สรรพคุณของเส้นด้ายที่ผ่านกระบวนการคิดและผลิตจนเป็นสินค้าใหม่ขึ้นมานี้ มีความนุ่ม ซับเหงื่อ ระบายอากาศได้ดี แห้งง่าย และสามารถนำคุณสมบัติเหล่านี้มาผสมผสานกันตามแต่ที่ลูกค้ามีความสนใจที่อยากจะนำไปเป็นส่วนผสมในการผลิตสินค้าออกมา 1 ชิ้นได้ เพียงแต่ให้บอกความต้องการมา

การนำเอาเรื่องหลักการทางการตลาด การบริหารความเสี่ยง มาประยุกต์ในการทำงานเป็นสิ่งสำคัญ เพราะตัวแปรสำคัญในการผลิตสินค้านั่นคือ “ต้นทุน” หากต้นทุนการผลิตสูง จะบริหารอย่างไรให้มีกำไรได้มากขึ้น ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่อยู่ในปัจจุบัน จึงต้องเพิ่มช่องทางการสื่อสารหรือตัวช่วยในการดำเนินงานให้มีกระบวนการผลิตที่ดีขึ้นเร็วขึ้น ไม่ว่าจะเริ่มต้นจากการเปลี่ยนเครื่องจักรใหม่ นำเรื่องระบบคอมพิวเตอร์มาใช้กับการทำงานเพื่อให้เขาเห็นข้อบกพร่อง และเสริมการแก้ไขงานให้เป็นระบบมากขึ้นได้อย่างชัดเจน

“กิตติพงศ์” พร้อมลุกขึ้นมาสู้และประกาศเปลี่ยนแปลงธุรกิจตั้งแต่รุ่นคุณปู่ให้กลับมาเป็นที่ยอมรับและเป็นธุรกิจที่อาจจะกลับมาเป็นธุรกิจที่น่าสนใจอีกครั้งหนึ่ง ด้วยการเริ่มจากเปลี่ยนวิธีคิด ลุยศึกษา และพร้อมนำเรื่อง R&D เข้ามาสู่ธุรกิจนี้อย่างจริงจัง เนื่องจากมองว่าถ้ามีการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า และทำให้เกิดความหลากหลาย ไม่ใช่ทำเพียงเพื่อหวังปริมาณ และเหมือนที่เคยผลิตทั่วไป แต่สิ่งที่ทำได้หรือขายได้แต่ละชิ้นต้องมีความพิเศษและสร้างจุดแข็งให้กับสินค้าของตัวเองให้ได้ และขยายธุรกิจใหม่อีกด้านหนึ่งด้วยการตั้งบริษัทใหม่ที่นำเรื่องนวัตกรรมและ R&D มาใช้ในอุตสาหกรรมนี้ ในนามบริษัท ไฮบริด แฟบริค

องค์กรกำลังอยู่ในช่วงของการเติบโต และต่อยอดจากงาน R&D ที่ตั้งขึ้นมา แต่ยังไปสู่เป้าหมายที่สามารถแตกยอดได้อีกมากในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการผลิตสินค้าหรือเสื้อผ้าที่มีความเฉพาะด้านหรือพิเศษมากขึ้น โดยมีแผนเตรียมพร้อมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า เพราะเชื่อว่าตลาดทุนจะเป็นตัวช่วยสำคัญที่จะทำให้บริษัทมีการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง นอกเหนือไปจากฐานการกู้ยืมเงินจากแบงก์เท่านั้น และก็มองว่าจะเป็นธุรกิจสิ่งทอที่เข้าตลาดหุ้นได้

ขณะเดียวกันมองว่านโยบายการดำเนินงานของบริษัทนี้ก็พร้อมที่จะทำให้บริษัทมีการเติบโตในอนาคตอย่างยั่งยืน ทีมงานหรือพนักงานทุกคนล้วนมีส่วนสำคัญในการทำให้บริษัทประสบความสำเร็จ ฉะนั้นเขามีโอกาสที่จะได้เป็นส่วนหนึ่งหรือเจ้าของในกิจการนี้ได้ด้วยเช่นกัน

“ยินดีถ้าพนักงานทุกคนที่ช่วยกันก่อตั้งบริษัทมาพร้อมที่จะทำให้ธุรกิจเติบโต พอเขาสามารถคิดอะไรได้ขึ้นมาแตกผลิตภัณฑ์ได้มากขึ้นก็พร้อมที่จะแตกแล้วโต เพื่อให้เขาสามารถเติบโตได้ด้วยตัวของตัวเอง ผมเชื่อเสมอว่าถ้าเราได้รับโอกาส ทุกคนก็จะมีการสานต่อในการสร้างโอกาสนั้นไปเองในอนาคต เมื่อเขาให้โอกาสที่จะมาร่วมงาน และท้าทายไปพร้อมกับเราแล้วก็ควรเต็มที่กับเขา ต่างคนต่างทุ่มเทงานให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง”

ปัจจุบันผลที่เกิดจากการทุ่มเทเรื่องการหาบุคลากรและทีมงานมาลุยงานด้าน R&D เขาเชื่อว่าคือจุดเริ่มต้นใหม่ที่พร้อมจะทำให้ธุรกิจอุตสาหกรรมสิ่งทอหรือเสื้อผ้านี้มีแสงสว่างปลายอุโมงค์ให้ได้เห็น และทุกคนก็น่าจะทำให้ได้เช่นกันเพียงแต่ต้องเริ่มปรับเปลี่ยนแนวทางการทำธุรกิจ วิธีคิด หรือมุมมองเพราะอย่างน้อยความเชื่อคือ เสื้อผ้าก็ยังเป็นปัจจัยสี่ที่สำคัญที่ทุกคนยังต้องใส่กันอยู่ทุกวันเช่นเดิม แต่จะทำอย่างไรให้มันมีความต่อเนื่อง มีคุณค่าในตัวของมันเองได้ และที่สำคัญที่สุดไปลุยในกลุ่มเป้าหมายที่เป็นตลาดเฉพาะด้าน (นิชมาร์เก็ต)

เขายังมองตัวเองเป็นกลุ่มธุรกิจที่เป็นขนาดกลางและเล็กอยู่ (เอสเอ็มอี) แต่ขอแบ่งเป็นพรีเมียม สมอลล์ หรือเป็นธุรกิจขนาดเล็ก แต่มีจุดขายและจุดแข็งของตัวเอง ที่สร้างความเป็นเอกลักษณ์ให้ตัวเอง และจะไม่ปล่อยให้ธุรกิจดำเนินตามหลักทุนนิยมเหมือนในอดีต เพราะปกติตามหลักทุนนิยมจะวิ่งหาแหล่งผลิตที่ทำให้ต้นทุนถูกที่สุด ซึ่งต่อไปนี้ต้องทำสวนทางโดยไม่สนทุนนิยม และเลือกแต่รับงานจ้างการผลิตที่ทำเพื่อรักษาฐานลูกค้าเก่าแก่ และยังเป็นการบริหารความเสี่ยงในการผลิตทางอ้อมด้วย ถึงเวลาหมดยุคที่จะยืมจมูกคนอื่นหายใจแล้ว

หลายสิบปีที่ผ่านมา บริษัทรับงานโออีเอ็มเต็มที่ ฉะนั้นต้นทุนการผลิตทุกอย่างเราแบกภาระเต็มๆ ทั้งที่ไม่สามารถบอกใครออกไปดังๆ ได้ว่า ภายใต้แบรนด์สินค้าชื่อดังยี่ห้อนี้เราเป็นคนผลิตให้เอง ซึ่งเหมือนเราไม่มีที่ยืนในอุตสาหกรรมเสื้อผ้า  สร้างโรงงานใหญ่ไปก็เท่านั้น ต่อไปนี้เราต้องสร้างจุดแข็งให้ตัวเอง พร้อมๆ กับเปิดตัวเองให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง มีแบรนด์สินค้าของตัวเอง

ผมไม่ได้บอกว่าวิธีการของคนรุ่นก่อนไม่ดี หรือผิดทาง แต่ตอนนี้มันเป็นคนละแนวทางและสมัย ที่รุ่นเราสามารถนำทั้งข้อดีและข้อเสียไปดำเนินการได้ให้ถูกต้อง และเราก็ไม่ได้ผลักไสวิธีการหรือแนวคิดการทำงานของรุ่นคุณพ่อหรือคนรุ่นก่อนไป เพราะปัจจุบันบริษัทเดิมของคุณพ่อก็ยังดำเนินธุรกิจต่อเนื่องไป และบริษัทเราก็ยังผลิตสินค้าบางส่วนให้เช่นกัน เพียงแต่บริษัทที่เราดูแลนี้ต้องเกิดจากเส้นด้ายที่มีนวัตกรรมและผ่าน R&D มาแล้ว

จากนี้ไปถึงเวลาที่จะบอกว่า ไม่มีของถูกแล้วในการผลิตในเมืองไทย ต่อไปนี้มันจะเป็นการผลิตที่มีราคาสูงแต่จะคุ้มค่ามากกว่าเมื่อก่อนขึ้นมาแทน กระแสความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นย่อมเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องรับรู้และเกิดขึ้น ทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่รอบตัวก็ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาเพียงแต่ว่าจะสามารถรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้มากขนาดไหน เมื่อรับแล้วจะต้องตั้งหลักอย่างไรเพื่อที่จะทำให้มันดำรงอยู่ต่อไปในอนาคตได้ในระยะยาว บางสินค้าไม่จำเป็นต้องดีที่สุดเสมอไป แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ การทำให้ในแต่ละสินค้านั้นทำอย่างไรให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงตัวและเข้าใจในสินค้า พร้อมมีกำลังซื้อไหว ซึ่งก็จะทำให้การทำสินค้าออกมาตรงตามสรรพคุณหรือคุณสมบัติของลายผ้าได้หลากหลาย

ถึงวันนี้เส้นทางของเขาที่ทำงานในอุตสาหกรรมผ้าหรือสิ่งทอ อาจจะผ่านมาเพียงกว่า 10 ปี สิ่งสำคัญที่ผู้ชายคนนี้ไม่ย่อท้อหรือเดินถอยหลัง ก็เพราะเขามองว่า คนเรา “ต้องไม่หยุดคิด” เพราะการที่เรานิ่งเฉยต่อสิ่งที่ทำอยู่ หรือการทำอะไรไปเรื่อยๆ หากไม่ขยับ คนอื่นก็จะคอยขยับห่างไปเรื่อยๆและวันหนึ่งก็จะถูกกลืนไปในที่สุด

แต่หากเริ่มก่อน ทดลองก่อน อาจจะผิดจะพลาดได้ ล้มบ้าง แต่นั่นล้วนเป็นประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้ว่าอย่าไปทำแบบเดิมหรือซ้ำที่เดิม และที่สำคัญอย่าไปยืมจมูกคนอื่นหายใจในการทำงานแบบเดิมอีกเด็ดขาด ทุกคน ทุกธุรกิจสามารถยืนได้ด้วยตัวของมันเอง หากไม่หยุดคิดซะอย่าง ก็จะไม่มีวันจบหรือถูกกลืนไปกับกระแส