posttoday

นักศึกษายุค Gen Y ใครว่าไม่สนใจการเมือง

18 กรกฎาคม 2558

แม้ว่าขบวนการนักศึกษา หรือกลุ่ม 14 นักศึกษา ที่ถูกเรียกขานในขณะนี้ จะไม่ได้มีภาพเป็นหัวขบวนใหญ่

โดย...รุ่งรักษ์ ฐามนกิจประสาท พิมภัทรา วิบูลย์สิทธิ์

แม้ว่าขบวนการนักศึกษา หรือกลุ่ม 14 นักศึกษา ที่ถูกเรียกขานในขณะนี้ จะไม่ได้มีภาพเป็นหัวขบวนใหญ่เหมือนเมื่อสมัย 14 ตุลา 16 หรือ 6 ตุลา 19 แต่เป็นภาพสะท้อนให้เห็นว่านักศึกษายังคงเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการแสดงความเห็น หรือเคลื่อนไหวทางการเมือง

ขณะเดียวกัน นักศึกษาอีกจำนวนมากที่ไม่ได้ออกมาเคลื่อนไหว ไม่ได้หมายถึงเขาไม่สนใจ หรือหลงในสังคมโซเชียลออนไลน์ หาได้สนใจสังคมจริงไม่ ต่อไปนี้คือเสียงสะท้อนของนักศึกษาอีกกลุ่มที่มีมุมมองแตกต่างออกไป

นักศึกษายุค Gen Y ใครว่าไม่สนใจการเมือง เชษฐ์สิษฐ์

 

เชษฐ์สิษฐ์ สายอุบล นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต มองว่า ปัจจุบันยังไม่ค่อยเห็นการตื่นตัวของนักศึกษา มีเพียงบางกลุ่มบางพวกเท่านั้น อาจเป็นเพราะวันนี้เราสนใจเรื่องอื่นๆ มากกว่า เช่น ดนตรี บันเทิง นักร้อง หนัง อินเทอร์เน็ต โซเชียล เป็นต้น ต่างกับสมัยก่อนที่ไม่มีสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ดังนั้นการตื่นตัวยังน้อย

“ในมุมมองของผม มองว่า ถ้าการเมืองกับนักศึกษายังน้อย ก็อาจจะไม่มีผลอะไรมากนักกับการเปลี่ยนแปลงใดๆทางการเมืองดังเช่นอดีต” เชษฐ์สิษฐ์ กล่าว

ส่วนในกรณีของ 14 นักศึกษานั้น นักศึกษาก็คือประชาชนคนหนึ่งที่มีความรู้สึกนึกคิด มีองค์ความรู้ความเข้าใจต่อสภาพสังคม ดังนั้นการที่พวกเขาจะแสดงออกทางการเมือง มองแล้วไม่ผิดอะไร ในเมื่อบ้านเมืองขณะนี้ไม่เป็นประชาธิปไตย เป็นยุคของ คสช. มันก็คือการยึดอำนาจ คือสิ่งที่ไม่ถูกต้อง พวกเขาก็มีสิทธิในการเรียกร้อง

สิ่งสำคัญที่อยากเห็นหากมีการปฏิรูป อยากให้ปฏิรูปสื่อ เพราะสื่อไม่ว่าจะเป็นทีวี หนังสือพิมพ์ หรือสื่อออนไลน์ ควรจะต้องให้ความสำคัญกับข้อเท็จจริง ไม่ใช่เอียงข้าง หรือใส่อารมณ์ความรู้สึกของตนเองลงไป นำเสนอในแง่มุมสองด้านแล้วให้ผู้ชมคนฟังเขาได้ตัดสินใจของเขาเอง ถูกผิดว่ากันไป

“หลายปีมานี้สื่อได้เลือกข้างแล้วและเห็นชัดมากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่สร้างสีเสื้อ จนมาถึงวันนี้การใช้สื่อเพื่อทำร้ายกันก็ไม่ควรจะมีอีกแล้ว อย่างแรกคือ ปฏิรูปสื่อ น่าจะดีที่สุด มันถึงเวลาแล้ว”

นักศึกษายุค Gen Y ใครว่าไม่สนใจการเมือง กริจจา

 

กริจจา วัฒนดำรงกุล นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวว่า นักศึกษาสมัยนี้มีความตื่นตัวน้อยกว่าในสมัยยุคที่เกิด 14 ตุลาหลายสิ่งหลายอย่างที่ทำให้นักศึกษามีความตื่นตัวน้อยลง เพราะเห็นเรื่องการเมืองไใช่เป็นเรื่องของตนเอง ทั้งๆที่เราสามารถมีส่วนร่วมทางการเมืองได้ ฉะนั้นแล้วคิดว่านักศึกษาทุกๆ คนและทุกๆ สถาบันควรศึกษาเส้นทางทางการเมืองที่นักศึกษามีส่วนร่วมในการเรียกร้องประชาธิปไตยให้มากกว่านี้

“เราเป็นอนาคตของชาติ ชาติจะพัฒนาไม่ได้เลยหากขาดบัณฑิตที่เปี่ยมด้วยความรู้และคุณธรรมและความรู้ความเข้าใจการเมืองที่ถูกต้อง ไม่ต้องมีใครมาชักจูง อยากให้
เพื่อนๆ นักศึกษาทุกคนลองวิเคราะห์แยกแยะข้อเท็จจริงด้วยตนเองก่อนจะเชื่อหรือตัดสินว่าใครถูกหรือผิด”

สำหรับสิ่งที่อยากเห็นหากมีการปฏิรูปในประเทศไทย กริจจา คิดว่า ต้องปฏิรูปทหารเป็นอย่างแรก เพราะหลายยุคหลายสมัยประเทศชาติต้องเสื่อมถอยเพราะการแทรกแซงทางการเมืองของทหาร จะให้ทหารเข้ามาแทรกแซงการเมืองบ่อยๆ คงทำให้นานาอารยประเทศต้องขาดศรัทธา ดังนั้นจึงเป็นการดีที่ควรปฏิรูปทหารห้ามแทรกแซงทางการเมืองและงบประมาณกลาโหมก็ควรใช้อย่าง “พอเพียง”

ดังนั้น ยิ่งเป็นคนรุ่นใหม่ต้องให้ความสนใจกับเรื่องขาติบ้านเมืองให้มากขึ้น หยุดความคิดเดิมๆ ว่า การเมืองกับวัยรุ่นมันไม่เกี่ยวข้องกัน ทั้งๆ ที่จริงแล้ววัยรุ่นเป็นพลังสำคัญที่สามารถขับเคลื่อนประเทศไปในทางที่ดีได้อย่างมากเพราะวัยรุ่นคือพวกคนที่จัดอยู่ใน Generation Y ดังนั้นกลุ่มคนเหล่านี้จะมีพลังทางความคิดมากกว่ารุ่นไม้ใกล้ฝั่งความคิดผุพัง เราจึงต้องให้คนสมัยใหม่ ให้วัยรุ่นเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองให้มากขึ้น รวมถึงศึกษาข้อเท็จจริงต่างๆ ให้ถ่องแท้ อย่าหลงกลโฆษณาชวนเชื่อเด็ดขาด

นักศึกษายุค Gen Y ใครว่าไม่สนใจการเมือง แฟรงค์ ธนัท

 

เช่นเดียวกับ แฟรงค์ ธนัท นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ที่มองเห็นว่า นักศึกษาสมัยนี้มีความรู้เกี่ยวกับการเมืองน้อย จึงทำให้การมีส่วนร่วมต่อการเมืองยังไม่ค่อยมีบทบาทมากเท่าไร แต่ถ้าถามว่าตัวเองหรือนักศึกษาสนใจการเมืองไหม? เชื่อว่าทุกคนสนใจ อาจจะมีสนใจมากหรือสนใจน้อยก็ว่ากันไป เพียงแต่ว่าจะมีเวลามากน้อยแค่ไหน ส่วนตัวยอมรับว่ามีเวลาน้อย ไหนจะการเรียนการทำงาน หรือกิจกรรมที่มีมาก

“ความสนใจติดตามข่าวสารมีตลอด มีวิจารณ์บ้างแต่ไม่มาก เหตุเพราะกังวลเรื่องภาพลักษณ์ความปลอดภัย เพื่อนๆ ครู ญาติ พ่อแม่ ที่ทั้งเป็นห่วง และแต่ละคนมีความเห็นต่างกัน กลัวว่าอาจจะเกิดการทะเลาะหรือเคืองกันเปล่าๆ จึงไม่สามารถออกความเห็นได้มากนัก และผมเชื่อว่าเพื่อนๆ หลายๆ คนก็เป็นแบบผมเช่นกัน ดังนั้นพอพูดถึงการเมืองจะนิ่งๆ ดังนั้นดูเหมือนว่านักศึกษาดูเหมือนไม่ค่อยตื่นตัวสักเท่าไร”

นักศึกษายุค Gen Y ใครว่าไม่สนใจการเมือง

 

แฟรงค์ บอกว่า อย่างกรณี 14 นักศึกษากลุ่มดาวดิน ก็ถือเป็นสิทธิของเขา เขาก็เป็นประชาชน เมื่อมองเห็นความไม่ยุติธรรมในสังคม เขาสู้เพื่อชาวบ้าน และมองว่า ถ้าระบบไม่ถูกต้อง ประชาชนอย่างเราๆ ก็เดือดร้อนตามไปด้วย ซึ่งก็เห็นได้ชัด โดยเฉพาะกลุ่มดาวดิน ได้ตามข่าวมาพักหนึ่ง พวกเขาอยู่กับชาวบ้าน อยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัด พวกเขาได้เห็นความเดือดร้อน ความทุกข์ยากของชาวบ้าน

“ผมยังคิดอิจฉาเขานะที่ได้ลงพื้นที่ เจอของจริง ผมว่าพวกเขาเข้าใจมากกว่าคนที่อยู่เมืองกรุง ดังนั้นการเรียกร้องของกลุ่มดาวดินและนักศึกษารวม 14 คน ก็ทำเพื่อพวกเราจริงๆ  เป็นพลังบริสุทธิ์จริงๆ แม้จะมีการใส่ร้ายหรือดิสเครดิตต่างๆ ชั่งน้ำหนักจากเหตุผลข้อมูลที่ผมต้องศึกษาเอง ไม่มีใครชี้นำ ผมว่าพวกเขาทำถูกต้องแล้วครับ”

“สิ่งเดียวที่อยากให้เพื่อนๆ ทุกคนรู้ คือ อยากจะให้สิ่งที่สนใจนำมาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันหรือสังคมให้ได้มากที่สุด ไม่ให้ใครเดือดร้อนหรือสร้างปัญหา วัยรุ่นสมัยนี้ต้องคิดเป็น คิดสร้างสรรค์และให้รู้จักการปฏิบัติด้วย สมัยนี้ผมว่านานาจิตตังดีกว่า แล้วแต่ใครจะสนใจอะไร เพราะทุกคนเป็นเสรีชน มีอิสระทางความคิด”

นักศึกษายุค Gen Y ใครว่าไม่สนใจการเมือง เตชิตฌ์

 

สำหรับ เตชิตฌ์ เวียงวุฒิ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (ประสานมิตร) กล่าวว่า เมื่อพูดถึงการเมืองไทย ไม่ว่าจะยุคสมัยใด ย่อมมีบริบททางการเมืองภายใต้สภาวการณ์สังคมและการเมืองที่แตกต่างกัน การแสดงออกทางการเมืองจึงแตกต่างกันและเอามาเปรียบเทียบกันไม่ได้ การแสดงออกทางการเมืองในห้วงเวลาภายหลังการปฏิวัติ 2557 นั้น เรียกได้ว่าการเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มนิสิต นักศึกษาเข้มข้นและมีการตื่นตัวกันมากขึ้น มีการเคลื่อนไหวที่แปลกใหม่และน่าสนใจ

ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานแซนด์วิช การอ่านหนังสือ 1984 การชูสามนิ้ว ซึ่งเป็นการแสดงออกทางการเมืองในรูปแบบใหม่ที่ทำให้ทั่วโลกจับตามองต่อความเคลื่อนไหว ในการต่อต้านอำนาจที่ไม่ชอบธรรมจากการทำรัฐประหารมา ถึงตรงนี้อยากให้กลับไปมองว่า การแสดงออกในวิถีของประชาธิปไตยที่ไม่ได้เดือดร้อนใคร ทำไมถึงทำให้รัฐบาลทหารรับไม่ได้กับการแสดงออกของพลังนักศึกษาเหล่านี้

กรณีของ 14 นักศึกษา ส่วนตัวนั้นก็เป็นนักศึกษาคนหนึ่งแต่เมื่อกลับไปบ้าน เขาก็คือลูกคนหนึ่งของพ่อแม่ เช่นเดียวกับ 14 นักศึกษา ในรั้วมหาวิทยาลัยเขาเหล่านั้นคือนิสิตนักศึกษา แต่นอกรั้วเขาคือประชาชน พลเมืองของประเทศไทย และสิทธิขั้นพื้นฐานในการพึงจะกระทำหรือแสดงออกก็ควรจะมีด้วยเช่นกัน การตั้งข้อหาที่แลดูน่าขายหน้าและตลกในสายตาของนานาประเทศนั้น ถ้ารัฐบาลบริสุทธิ์ใจในการที่จะปฏิรูปประเทศที่ใช้เป็นข้ออ้างในการกระชับอำนาจของตัวเองนั้น ก็ควรจะลองไปอ่านหลักประชาธิปไตยใหม่ 5 ข้อ ของกลุ่มนิสิต นักศึกษา เพราะรู้สึกว่าเป็นหลักการที่น่าสนใจไม่น้อย

นักศึกษายุค Gen Y ใครว่าไม่สนใจการเมือง

 

เตชิตฌ์ กล่าวว่า สำหรับประเทศไทย ปัญหาสารพัดที่เกิดขึ้นมันสั่งสมมานานกว่า 50 ปี หรือจะช่วงตั้งแต่เปลี่ยนการปกครอง พ.ศ. 2475 เมื่อบ้านเมืองปกครองเป็นประชาธิปไตยแต่ดูเหมือนว่าระบบจะไม่เป็นเช่นนั้น มันมีหลายระบบแฝงอยู่ แต่ละยุคแต่ละสมัยจะมีความโดดเด่นของระบบแตกต่างกันไป ดังนั้นสิ่งที่ต้องปฏิรูป ในความคิดเห็นส่วนตัว “การปฏิรูปการเมืองให้เป็นประชาธิปไตยจริงๆ” คือสิ่งที่อยากเห็น อยากให้ประชาชนทุกคนได้มีส่วนร่วมจริงๆ ไม่ใช่การทำลักษณะแบบปาหี่ หรือใครกุมอำนาจอยู่ ก็สั่งหรือเขียนกฎขี้นมาเพื่อจะควบคุมฝ่ายตรงข้าม มันไม่ยุติธรรมสำหรับคนหลายๆ ฝ่าย ผมเชื่อว่า ถ้าเราปฏิรูปการเมืองได้ ทุกคนมีส่วนร่วมจริงๆ บ้านเมืองจะพัฒนาได้เร็ว ไปต่อได้ง่ายไม่สะดุด

“ด้านการเมือง ผมปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การเมืองเข้ามาในชีวิตของผมอย่างมาก ทั้งๆ ที่คิดว่าอาจจะไม่ใช่ ผมสนใจการเมืองมาตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อ พ.ศ. 2549 ตอนนั้นยังเด็กไม่ได้คิดอะไรมาก พยายามศึกษาหาข้อมูลมาเรื่อยๆ จนมาถึงวันนี้ ยอมรับว่าช่วงหลังเริ่มอินการเมืองพอสมควร สิ่งที่บอกว่ามันเข้ามาในชีวิต คือ ไม่ว่าจะเรื่องการศึกษา บันเทิง เศรษฐกิจ ทุกอย่างมันมีผลกระทบจริงๆ เพราะกฎหมายหรือคนควบคุมมาจากฝ่ายการเมือง ถ้าการเมืองดีทุกอย่างก็ดี ถ้าการเมืองไม่ดีอะไรๆ ก็ไม่ดีตาม ดังนั้นการเมืองมีผลต่อทุกวงการจริงๆ”

นักศึกษายุค Gen Y ใครว่าไม่สนใจการเมือง

 

สำหรับนักศึกษาแล้ว สิ่งสำคัญที่สุด คือ การศึกษา การเรียนเป็นสิ่งสำคัญ และเป็นการเรียนรู้ไม่ใช่เพื่อเอาเกรด หรือเพียงเพื่อรับปริญญา อยากให้เพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ที่ยังเป็นนักศึกษา ตั้งใจเรียนศึกษาหาความรู้เพื่อเอามาใช้กับการดำเนินชีวิตประจำวันในสังคม ให้สังคมได้มีการพัฒนา เพราะผมมองว่า พวกเราคืออนาคตของชาติ เป็นคนที่กำลังเจริญเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ เพื่อพัฒนาประเทศต่อไปจากคนรุ่นนี้ แล้วถ้าเด็กรุ่นใหม่ๆ มีความคิด โตขึ้นเขาจะมองเห็นว่า ประเทศที่เขาอยู่ต้องปรับปรุงและพัฒนาต่อไปอย่างไร เมื่อเราพัฒนาตนเองให้เป็นคนมีคุณภาพบนพื้นฐานของการศึกษาที่ดี แน่นอนว่าประเทศชาติก็จะดีด้วย

นี่คือเสียงสะท้อนส่วนหนึ่งของขบวนการนักศึกษาในยุคดิจิทัล เขาไม่ได้หายไปไหน และยังคงเป็นความคิดอิสระที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยไปในทางที่ดีขึ้นเช่นเดียวกัน

นักศึกษายุค Gen Y ใครว่าไม่สนใจการเมือง