posttoday

การออมเงิน ยุคฝืดเคือง

20 มิถุนายน 2558

หากเอ่ยถึงเรื่องเงินเรื่องทองหลายคนชื่นชอบและต้องการได้มาเก็บไว้ในบัญชีธนาคารเพิ่มตัวเลขให้สวยหรู

โดย...เอกชัย จั่นทอง

หากเอ่ยถึงเรื่องเงินเรื่องทองหลายคนชื่นชอบและต้องการได้มาเก็บไว้ในบัญชีธนาคารเพิ่มตัวเลขให้สวยหรู การออมเงินนับเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งยวดของผู้วางแผนการใช้เงินอย่างคุ้มครอง คำว่า “ออมวันนี้สบายวันหน้า” เป็นถ้อยคำที่ใช้ได้กับทุกคนตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน แต่การออมอย่างไรจะทำให้มีความสุขและไม่ทุกข์เกินไป กับการต้องเขียมเงินทองแต่ไม่พอใช้จ่ายในแต่ละเดือน ยิ่งในยุคเศรษฐกิจชะลอตัวทำให้หลายคนเลือกออมตามสภาพเศรษฐกิจ เพื่อการออมที่ยั่งยืน เคล็ด (ไม่ลับ) ง่ายๆ สำหรับ “คนโสด” ลองนำไปปรับใช้สร้างสมดุล

เก็บ 15% ใส่กระเป๋า

อย่างวิธีการออมเงินในแต่ละเดือนของ วิรุฬห์ ปลีจั่น อายุ 27 ปี พนักงานบริษัทเอกชน ให้วิธีการออมในรูปแบบของเขาว่า ข้อ 1.การคำนวณค่าใช้จ่ายในแต่ละวัน ตกวันละเท่าไหร่ เดือนละเท่าไหร่ เมื่อได้รับเงินเดือนให้แยกส่วน เป็นเงินค่าใช้จ่ายประจำวันออกมา อย่างเราจะให้เงินค่าใช้จ่ายทั่วไปของตัวเองเดือนละ 1.2 หมื่นบาท (ตกวันละ 400 บาท) ข้อ 2.เป็นส่วนที่เหลือจาก 1.2 หมื่นบาท จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน อย่างละ 50%

วิรุฬห์แชร์วิธีการออมเงินอีกว่า ส่วนที่ 1 ค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภค ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ บัตรเครดิต หากเหลือจะสะสมทบกันไปเรื่อยๆ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายทั่วไป ส่วนที่ 2 คือเก็บเงินเข้าอีกบัญชีหนึ่ง เพื่อเป็นการออมเงิน เมื่อสะสมได้จำนวนหนึ่งจะใช้ในการซื้อ “สลากออมสิน” นอกจากนี้ยังมีการซื้อประกันชีวิต “แบบออมทรัพย์” เป็นอีกวิธีการหนึ่งในการออมเงินไว้ให้อนาคต และ “ประกันสุขภาพ” เป็นหลักประกันทางการเงินในกระเป๋า หากเจ็บป่วยและมีค่าใช้จ่ายในการรักษาที่สูง นอกจากนี้ยังมีการเก็บในส่วนที่เหลือในการใช้จ่ายประจำวัน (ข้อ 1) โดยการเก็บเข้าในกระปุก เมื่อครบ 1 ปี ก็จะนำมาสะสมรวมกับในข้อ 2 ส่วนที่ 2 ต่อไป

การออมเงิน ยุคฝืดเคือง

 

เช่นเดียวกับ เอกชาย ธนันไชย อายุ 25 ปี หนุ่มออฟฟิศบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง หยิบยกวิธีการเก็บออมให้ฟังว่า วิธีการออมในแต่ละเดือน จะแบ่งเงินออกมาก่อน 5,000 บาท ให้แม่เอาเข้าบัญชีฝากประจำ ซึ่งไม่สามารถเบิกได้ ถ้าจะเบิกก็คือต้องปิดบัญชีเลย เงินส่วนที่เหลือก็นำไปชำระค่าโทรศัพท์ ค่าไฟฟ้า ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายประจำอยู่แล้วในแต่ละเดือน ส่วนการใช้จ่ายในแต่ละวัน จะนำเงินที่เหลือจากการเก็บ 5,000 บาท และจ่ายค่าต่างๆ เสร็จแล้ว บริหารจัดการให้ได้ภายในเดือนนั้น

ส่วนหากต้องการซื้อของใหญ่ๆ หรือไปเที่ยวต่างจังหวัด เนื่องจากตัวเองเป็นคนไม่มีบัตรเครดิต ก็จะลดค่าออมจาก 5,000 บาท เหลือ 3,000 บาท และใช้เงินให้น้อยลง เพื่อเก็บเงินซื้อของที่อยากได้

นอกจากนี้ ยังเสนอ 7 กลยุทธ์ออมเงินเพิ่มเติมให้ฟังอีกว่า ตัดเงินออมทันทีเมื่อได้เงินมาหรือมีรายได้หรือรายรับเข้ามาในกระเป๋า อย่างน้อยควรมีการออมเงินสัก 10-15% ของรายได้ที่เข้ามาในกระเป๋าของท่าน เพื่อไว้ใช้จ่ายในอนาคต รายจ่ายควรมีการจำกัดสำหรับการใช้จ่าย เมื่ออายุการทำงานเพิ่มขึ้นเรื่องของรายได้และความต้องการก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว จนบางครั้งอาจใช้จ่ายเกินความจำเป็น และอาจส่งผลต่อสมดุลทางการเงิน ดังนั้นสัดส่วนของการใช้จ่ายควรจะไม่เกิน 40% และไม่ควรสร้างหนี้

ใส่เงินในกองทุนรวม

ส่วนเคล็ด (ไม่ลับ) สำหรับคนวัยเกษียณนานแล้วหรือกำลังจะเกษียณ มักจะได้เงินก้อนโตมาพอสมควร ถือเป็นเงินก้อนสุดท้ายของชีวิตเพื่อยังชีพในช่วงชีวิตที่ว่างเว้นจากงานที่เคยทำเป็นประจำ

สุภาพ ลภนพันธ์ อายุ 55 ปี หญิงวัยเกษียณอีกหนึ่งคนที่แชร์วิธีการออมให้ฟังว่า แน่นอนว่าเงินก้อนแรก คือ 1 ใน 3 ของเงินทั้งหมดที่มีอยู่ ควรนำไปลงทุนในรูปแบบของเงินออม สร้างรายได้จากอัตราดอกเบี้ย ในรูปแบบของ “เงินฝาก” การออมเงินในรูปแบบเดิมๆ ที่เราคุ้นเคยตั้งแต่เด็กๆ โดยเน้นให้น้ำหนักความสำคัญกับการฝากเงินกับธนาคารพาณิชย์ หรือสถาบันการเงิน เพื่อสร้างรายได้จากอัตราดอกเบี้ยมากกว่าการนำเงินก้อนสุดท้ายในชีวิตไปสร้างรายได้ในรูปแบบอื่น

สุภาพ บอกอีกว่า การฝากเงินเพื่อหวังผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ย เป็นรูปแบบการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำที่สุด และมีความปลอดภัยสูง จากเสถียรภาพความแข็งแกร่งของสถาบันการเงิน และจากการที่รัฐเป็นผู้ค้ำประกันเงินต้น รวมทั้งดอกเบี้ยเต็มจำนวน แต่มีข้อจำกัดคืออัตราดอกเบี้ยที่ค่อนข้างต่ำหรือได้ผลตอบแทนน้อยกว่าการลงทุนในรูปแบบอื่น

“หรือแม้แต่การลงทุนซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ หรือเลือกลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว หรือ LTF ซึ่งเป็นกองทุนรวมแบบพิเศษที่ให้สิทธิผู้ลงทุนนำเงินลงทุนในแต่ละปีมาใช้ลดหย่อนภาษีได้” สุภาพ กล่าว

การออมเงิน ยุคฝืดเคือง

 

วิเชียร หน่องพงษ์ อายุ 66 ปี เล่าวิธีการเก็บออมเงินในช่วงบั้นปลายชีวิตหลังเกษียณว่า แน่นอนว่าหลายคนที่เกษียณจากการทำงานย่อมกังวลเรื่องปัญหาสตางค์ในกระเป๋าว่าจะมีใช้จ่ายในยามบั้นปลายชีวิตหรือไม่ บางคนอาจประสบปัญหาลูกหลานไม่เลี้ยงดูทำให้ผู้สูงวัยหลายคนเลือกเก็บออมเงินให้มากที่สุด และเมื่อถึงช่วงอายุที่ไม่สามารถทำงานได้แล้ว ก่อนจะปลดเกษียณหรือลาออกจากงาน บริษัทหรือหน่วยงานที่ทำงานจะมีเงินสวัสดิการก้อนหนึ่ง มอบให้ไว้เป็นทุนและค่าใช้จ่าย

“ถ้าคุณเป็นข้าราชการก็ควรจะทราบว่ารายรับที่ได้จะมาจากบำเหน็จหรือบำนาญ และเงินกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ถ้าเอกชนจะได้รับเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุนประกันสังคม” วิเชียร กล่าว

วิเชียร เล่าอีกว่า ตนเองจะประเมินรายจ่ายประจำเดือนซึ่งจะอยู่ที่ 70% ของรายจ่ายปัจจุบัน ทั้งนี้ยังไม่ได้รวมถึงค่ารักษาพยาบาลที่จะเพิ่มขึ้นตามช่วงวัย ควรจะมีการบันทึกรายรับรายจ่าย เพื่อให้รู้ว่าในแต่ละเดือนจะมีค่าใช้จ่ายเป็นอย่างไรในช่วงเกษียณ

“เงินทุนที่ได้หลังจากเกษียณนั้น เราต้องประเมินเรื่องหลักประกันทางการเงิน ต้องรู้ว่าในแต่ละเดือนจะมีหลักประกันอะไร เพราะอาจเกิดเหตุไม่คาดคิด เช่น อุบัติเหตุ เจ็บป่วย เป็นต้น เพื่อจะไม่เป็นภาระทางการเงิน เราอาจเลือกซื้อประกันสุขภาพที่ได้ดอกผลเพื่อวางแผนการเงินที่เหมาะสม” วิเชียร กล่าว

วิเชียร ย้ำเตือนว่า การประเมินความเสี่ยงมีผลต่อรายรับรายจ่ายไม่ว่าจะเป็นราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น ภาวะเศรษฐกิจที่ทำให้รายได้ลดลง หรือดอกเบี้ยเงินฝากลดลง จึงควรจะวางแผนใช้เงินให้รอบคอบ