posttoday

ถิรนันท์ ช่วยมิ่ง มุมทำงานเล็กๆ ในกระจกเงา

20 มิถุนายน 2558

ในห้องทำงานขนาดไม่กว้างใหญ่ ใต้ร่มเงาของมูลนิธิกระจกเงา กุ๊งกิ๊ง-ถิรนันท์ ช่วยมิ่ง กำลังนั่งรอโทรศัพท์

โดย...พงศ์ พริบไหว

ในห้องทำงานขนาดไม่กว้างใหญ่  ใต้ร่มเงาของมูลนิธิกระจกเงา กุ๊งกิ๊ง-ถิรนันท์ ช่วยมิ่ง กำลังนั่งรอโทรศัพท์ซึ่งปลายสายโทรเข้ามาเพื่อแจ้งเบาะแสของเด็กขอทานที่อาจผิดข้อกฎหมาย ซึ่งเมื่อได้รับแจ้งข่าว หน้าที่ของกุ๊งกิ๊งคือการลงพื้นที่ไปตรวจสอบและสืบหาข้อเท็จจริง ซึ่งนี่คือหนึ่งในหน้าที่หลักหลังเด็กสาวจากมหาวิทยาลัยบูรพา คณะจิตวิทยา ที่ตัดสินใจเข้ามาทำงานในมูลนิธิกระจกเงา

ย้อนกลับไปเมื่อครั้งสมัยเรียน ด้วยความสนใจในเรื่องพฤติกรรมมนุษย์และกระบวนการของจิต ทำให้กุ๊งกิ๊งเลือกที่จะหาเหตุผลด้วยการเรียนจิตวิทยา เธอเลือกมาฝึกงานที่มูลนิธิกระจกเงา เพราะที่นี่มีโครงการอย่าง “ผู้ป่วยข้างถนน” ที่เธอจะได้ใช้วิชาจิตเวชที่เรียนมาแบบเต็มตัว ไม่ว่าจะการลงพื้นใกล้ชิดกับผู้ป่วยจิตเวช และที่สำคัญคือการได้ทำงานช่วยเหลือผู้คนในสังคม หลังเรียนจบจึงตัดสินใจทำงานที่นี่อย่างเต็มตัว

“หากถามว่าแรงบันดาลใจในการทำงานของเราเริ่มมาจากที่ไหน (นิ่งคิด) คงเป็นตอนเราฝึกงาน มีครั้งหนึ่งได้คุยกับผู้ป่วยข้างถนน เราถามเขาว่าเขาเหนื่อยไหม ท้อไหมที่ต้องมาใช้ชีวิตอยู่ข้างถนน เขาบอกว่าเหนื่อยน่ะเหนื่อย แต่เขาไม่เคยท้อ แล้วเขาก็เล่าเรื่องหนึ่งให้เราฟัง... เขามีเงินในกระเป๋ากางเกง 20 บาท แม้จะดูเหมือนน้อย แต่เขารู้สึกว่าเขาโชคดีมากเลย เพราะเขาสามารถมองเห็นแบงก์ 20 นั้นได้ ผิดกับคนรวยๆ ที่มีเงินหลายสิบล้าน แต่เขาตาบอดและพิการไม่สามารถมองเห็นเงินของตัวเองที่มี

ถิรนันท์ ช่วยมิ่ง มุมทำงานเล็กๆ ในกระจกเงา

 

พอเราได้ฟังมันคิดได้ว่า จริงๆ แล้วคนเรา แค่ได้เห็นค่าในสิ่งที่ตัวเองมีก็พอแล้ว รู้สึกประทับใจวิธีคิดของเขา ซึ่งถือเป็นแรงบันดาลใจให้เราก้าวมาทำงานในมูลนิธิ เพราะรู้สึกตัวเองมีค่าเมื่อได้ทำงานอยู่ที่นี่ ซึ่งตอนนี้หน้าที่ คือ การรับแจ้งเหตุและสืบข้อเท็จจริงในโครงการรณรงค์ยุติธุรกิจเด็กขอทาน ซึ่งเมื่อได้รับแจ้งเหตุ เราต้องลงพื้นที่ไปดูข้อเท็จจริงว่า เด็กขอทานที่ได้รับแจ้งเข้าข่ายเป็นการค้ามนุษย์หรือเปล่า ถ้าใช่เราก็จะประสานงานทางตำรวจแล้วเข้าไปทำตามขั้นตอน” กุ๊งกิ๊ง เล่า

ในการทำงาน แน่นอนว่าต้องพบเจอกับปัญหาอยู่ตลอดเวลา แต่เธอเองก็มุ่งมั่นทำงานอย่างเต็มที่ ด้วยวาดหวังให้ชีวิตของเด็กขอทานเหล่านั้นดีขึ้น ไม่ว่าจะเรื่องของที่อยู่อาศัยการศึกษา และคุณภาพชีวิต ซึ่งเท่าที่ผ่านมาแม้จะกินระยะเวลาไม่ถึง 1 ปี เธอสามารถช่วยเหลือเด็กขอทานได้แล้วหลายราย

“รู้สึกว่างานเอ็นจีโอมีอุดมการณ์ เป็นงานที่มีทิศทางแน่นอนว่าเราจะช่วยเหลือคนในสังคม แล้วไอ้อุดมการณ์หรือทิศทางของที่นี่ ก็ตรงกับสิ่งที่เราต้องการที่จะทำ ซึ่งการทำงานของเราไม่ซับซ้อน แต่สามารถใกล้ชิดกับคนในสังคมและช่วยเหลือเขาได้ง่ายๆ เรามองว่ามันคือการแก้ไขปัญหาสังคมที่ตรงจุด ซึ่งก็หวังว่าใน 5 ปี หรือ 10 ปี ปัญหานี้จะหมดไป แค่ต้องใช้เวลาเท่านั้น หากคนในสังคมช่วยกันสอดส่อง ปัญหานี้จะแก้ได้เร็วขึ้น

เรามีความฝันที่จะได้เห็นสังคมไทยไม่มีขอทาน เด็กๆ ทุกคนได้เข้าระบบการศึกษา ปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจนของคนในสังคมได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง ไม่มีคนไร้บ้าน ไม่มีผู้ป่วยข้างถนน คนจนได้รับการรักษาพยาบาลเหมือนคนรวย ปัญหาเด็กหายเป็นเรื่องที่ทุกคนตระหนัก ช่วยเหลืออย่างทันท่วงที ความฝันเหล่านี้มันสวยงามมาก สวยงามจนทำให้คนในกระจกเงาทุกคนยอมทำงานหนักทุกอย่างเพื่อได้เห็นความฝันของเราเป็นจริงในสักวัน ทุกวินาทีของการทำงานมันจึงทำให้หนูมีความสุขได้เสมอ”

ถิรนันท์ ช่วยมิ่ง มุมทำงานเล็กๆ ในกระจกเงา

 

สาวน้อยวัย 22 ปี พูดถึงสิ่งที่เธอทำอย่างมุ่งมั่น

“คนอื่นที่เห็นเราทำงานเขาจะมองในมุมว่า ขอทานทำผิดอะไรไปจับน่าสงสาร แต่ในมุมมองของเราถ้าเห็นขอทานน่าสงสาร  เราต้องช่วยให้เขาได้อยู่ในที่ที่ควรอยู่ ได้เรียนหนังสือ หากขอทานคนไหนไม่มีอาชีพ เราก็เข้าไปส่งเสริมอาชีพ  ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง มากกว่าการนำเงินไปให้แล้วคิดว่านี่คือการทำบุญ หรือไม่ก็ให้ไปเพราะความสงสาร

วิธีคิดของเรามันได้มาจากการทำงานจริงๆ เพราะเมื่อเจอปัญหาทำให้เราได้เห็นมุมมองใหม่ๆ ของสังคม ได้เรียนรู้ ได้แลกเปลี่ยนมุมมองความคิดกับผู้คนข้างถนนในทุกวัน ซึ่งทางมูลนิธิเองไม่ได้ทำแต่เฉพาะเด็กขอทาน เด็กเร่ขายของ เด็กขายพวงมาลัยก็อยู่ในความรับผิดชอบของเราหมด ถ้าหากใครพบเห็นและสงสัยว่าเด็กถูกลิดรอนสิทธิ ก็สามารถแจ้งมาทางมูลนิธิกระจกเงาได้ค่ะ”

กุ๊งกิ๊งพูดด้วยแววตามุ่งมั่น ก่อนจะเสริมอีกว่า การทำงานที่มูลนิธิกระจกเงาเต็มไปด้วยความสุขขนาดไหน “คนที่นี่มีสัมพันธภาพที่ดี เราพูด เราคุย เราสื่อสารกันในทุกๆ เรื่อง เรามีเป้าหมายเดียวกันคือเปลี่ยนแปลงสังคม เราจึงมีทิศทางในการทำงานที่เหมือนกัน การทำงานก็เลยง่าย

คนทุกคนในกระจกเงาไม่มีการเบ่งกันว่าฉันหัวหน้า เธอลูกน้อง ไม่มีเลย พี่ๆ จะพูดเสมอว่า พวกเราคือครอบครัวเดียวกัน เราเป็นพี่น้องกัน ในการทำงานจะมีน้อยครั้งมากที่จะมาคุยกันอย่างเป็นทางการ ส่วนใหญ่ทุกครั้งที่มีการประชุม จะเป็นเหมือนพี่ปรึกษาน้อง เวลาเครียดเรื่องงานไม่ใช่เพียงแก้ปัญหา แต่เรายังให้กำลังใจซึ่งกันและกัน เป็นบรรยากาศที่ใครได้สัมผัสก็ต้องหลงรัก ทุกวันที่ไปทำงานจึงมีแต่ความสุข ไม่เคยไม่อยากตื่นเช้าไปทำงานเลยค่ะ”

สาวคนนี้ยังฝากมาอีกว่า หากใครพบเห็นเด็กที่ถูกลิดรอนสิทธิในเรื่องราวต่างๆ เธอพร้อมจะออกลงพื้นที่เพื่อหาข้อเท็จจริงและช่วยเหลือ โดยสามารถแจ้งเบาะแสเด็กขอทานได้ที่แฟนเพจFacebook.com/โครงการรณรงค์ยุติธุรกิจเด็กขอทาน มูลนิธิกระจกเงา หรือโทร. 09-4894-7847