posttoday

ฉันเป็นผู้หญิง บ้ากล้าม

29 เมษายน 2558

“ยามเห็นหงส์ลอยนิ่งเหนือน้ำอย่างสง่า ไม่เคยมีใครมองเห็นตีนหงส์ใต้น้ำว่ามันทำงานหนักตลอดเวลา” มีคนกล่าวไว้เช่นนั้น

โดย...พงศ์ พริบไหว

“ยามเห็นหงส์ลอยนิ่งเหนือน้ำอย่างสง่า ไม่เคยมีใครมองเห็นตีนหงส์ใต้น้ำว่ามันทำงานหนักตลอดเวลา” มีคนกล่าวไว้เช่นนั้น ซึ่งฟังดูแล้วตรงเหลือเกินกับการเปรียบเทียบกับชีวิตของนักเพาะกายหญิงที่ประสบความสำเร็จ เพราะตั้งแต่ที่พวกเธอเริ่มฟิตหุ่นงามๆ จนขึ้นไปสง่าอยู่บนเวทีการประกวด ไม่มีใครเคยเห็นเลยว่าพวกเธอต้องฝึกหนักมากแค่ไหน ต้องผ่านอะไรมามากมาย กว่าจะได้การยอมรับและหุ่นงามๆ ให้ผู้คนได้ชื่นชม...

ในวันที่กระแสข่าวต่างโหมโรงและพากันตื่นเต้นกับรูปร่างของนักเพาะกายชายรูปงามบนเวที “Mr.Thailand 2015” รายการแข่งขันเพาะกายชิงแชมป์โลกรายการใหญ่ของเมืองไทยที่เพิ่งผ่านพ้นไป ในอีกฟากของการแข่งขันมีการประกวดเพาะกายหญิงบนเวทีเดียวกัน ซึ่งแน่นอนว่ามีวิธีการตัดสินที่หินไม่แพ้ฝ่ายชาย โดยแบ่งประเภทการแข่งขันออกเป็น 3 รุ่น

เริ่มตั้งแต่รุ่นเล็กสุดอย่าง “โมเดลฟิสิกส์หญิง” ชื่อก็บอกว่าหุ่นต้องนางแบบ ต่อมาที่รุ่นกลาง “แอธเลติคฟิสิกส์” อันนี้จะเน้นที่มัดกล้ามสวยสมส่วน มีความหนากว่ารุ่นที่กล่าวมา สุดท้ายกับรุ่นใหญ่ที่สุด คือรุ่นทั่วไปหญิง (โอเพ่น) รุ่นนี้วัดกันที่ความใหญ่และความสวยงามของกล้ามเนื้อ ซึ่งแต่ละรุ่นล้วนต้องผ่านการยกเหล็กกันมาอย่างหนักหนา ทั้งยังมีวิธีในการฝึกเฉพาะตัว เพื่อที่จะได้มาซึ่งมัดกล้ามที่สามารถชนะใจกรรมการ และแทบไม่น่าเชื่อแม้ต้องฝึกกันอย่างจริงจังและหนักหนา แต่ทว่าในบ้านเราเองจำนวนของนักกล้ามหญิงก็มากขึ้นทุกปี

ฉันเป็นผู้หญิง บ้ากล้าม

ถึงตรงนี้หลายคนคงอดสงสัยไม่ได้ว่าเพราะเหตุผลอะไร ถึงทำให้นักเพาะกายหญิงเพิ่มจำนวนมากขึ้นในบ้านเรา วันนี้เมื่อมีโอกาสได้พูดคุยกับบรรดาสาวๆ กล้ามโต เลยอยากรู้ว่าพวกเธอมีทัศนคติและแนวคิดต่อชีวิตการเดินทางสายโหดนี้กันอย่างไร เริ่มกันกับรุ่นเล็กสุดก่อน

โมเดลฟิสิกส์หญิง

ตูน-เบญจวรรณ ทองสิน นักเพาะกายหญิงทีมชาติไทยเจ้าของรางวัลรองแชมป์โลกรุ่นโมเดลฟิสิกส์หญิงคนล่าสุด ซึ่งแทบไม่น่าเชื่อว่าจากแม่บ้านธรรมดาๆ ที่เบื่อและว่างอยู่บ้านไปวันต่อวัน จนต้องเข้าไปฆ่าเวลาที่ฟิตเนส และเมื่อการออกกำลังกายกลายเป็นโลกใหม่ที่เธอรื่นรมย์ ตูนจึงกลายเป็นแม่บ้านวัย 33 ปี ที่มีความฝันอยากลงแข่งเพาะกาย ซึ่งเธอเล่าถึงจุดเริ่มต้นในการเข้ามาสู่วงการเพาะกายให้ฟังด้วยน้ำเสียงมีความสุขว่า

“พอมีครอบครัวเราก็เป็นแม่บ้านอยู่ที่ต่างประเทศ ก็เข้าฟิตเนสออกกำลังกายปกตินะ แต่พอเราออกกำลังกายทุกวันมันก็เห็นความเปลี่ยนแปลง ก็คิดไว้ในใจว่าหลังจากกลับมาอยู่เมืองไทยเราจะต้องลงแข่งเพาะกายให้ได้ ซึ่งพอตั้งใจแบบนั้นเราก็ต้องฝึกตัวเองอย่างหนัก ต้องมีระเบียบวินัยทั้งการกินการฝึก ช่วงแข่งจะเป็นอะไรที่ทรมานมาก เพราะเรากินอาหารแบบคนอื่นไม่ได้ ก็ต้องอดทนมาก เห็นคนอื่นกินของอร่อยๆ เราก็กินแบบนั้นไม่ได้ต้องเน้นผักผลไม้เป็นหลัก มันเลยเกิดมีความอิจฉาในเรื่องกินอยู่ตลอดเวลา

ฉันเป็นผู้หญิง บ้ากล้าม เบญจวรรณ ทองสิน

เธอหัวเราะให้กับวันเวลาที่เริ่มต้น หลังจากกลับมาจากต่างประเทศเธอลงแข่งเวทีแรกที่ จ.ขอนแก่น ซึ่งมาแบบตัวคนเดียว ทั้งยังสมัครไปโดยแทบไม่รู้เลยว่าการแข่งขันเพาะกายมีกี่ประเภท เรียกได้ว่าลงแข่งรุ่นใหญ่แบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว ซึ่งแน่นอนว่าเธอไม่ได้อะไรกลับบ้านนอกจากประสบการณ์ ที่ทำให้รู้ว่าตัวเธอเองควรลงแข่งให้ถูกประเภทและถูกรุ่น และดูเหมือนว่ารุ่นโมเดลฟิสิกส์หญิง ก็ดูไม่ยากเกินไปที่จะลงแข่ง และตั้งแต่นั้นมาสาวเจ้าก็ได้แชมป์ในรุ่นโมเดลฟิสิกส์ในประเทศไทยมาโดยตลอด

“การฝึกร่างกายของโมเดลฟิสิกส์ เหมือนกับการฝึกเพาะกายทุกอย่าง แต่จะแตกต่างกันตรงที่น้ำหนักที่เล่น จะไม่หนักมากจนทำให้เซลล์กล้ามเนื้อฉีกขาดเพื่อทำให้กล้ามเนื้อใหญ่ คือโมเดลฟิสิคจะเอาแค่มีกล้ามนิดหน่อย เรียกง่ายๆ หุ่นต้องเป๊ะ ดูมีสุขภาพแข็งแรง ซึ่งไม่ใช่ว่าผอมเกินไป ต้องเห็นเป็นกล้ามเนื้อชัดเจน ซึ่งสำหรับเราการจะมีหุ่นแบบนั้นได้ อาหารคือเรื่องสำคัญมากสำหรับนักเพาะกาย อย่างเราซ้อมเราก็ต้องกินอาหารให้เพียงพอ ไม่งั้นจะเกิดอาการกล้ามเนื้อกินกล้ามเนื้อ อย่างช่วงไดเอตเราต้องไม่หลุดเรื่องการกินเลย เพราะมันสามารถวัดผลแพ้ชนะในการแข่งขันได้”

ด้วยความพยายามเช่นนั้นบวกกับวินัยการกินที่ดี ทำให้ปัจจุบันสาวไทยอย่างเธอใกล้คำว่าแชมป์โลกเข้าไปทุกที ซึ่งแน่นอนว่ากว่าจะมาถึงวันนี้ไม่มีสิ่งไหนง่าย เธอหาความรู้เองและต้องฝึกซ้อมยกลูกเหล็กทุกวัน วันละหลายชั่วโมง ใช้เวลา 2 ปีเต็มในการฝึก จึงสามารถคว้าแชมป์แรกในการแข่งขันได้สำเร็จ

ฉันเป็นผู้หญิง บ้ากล้าม

“คือมันภูมิใจนะที่เรามาเล่นเพาะกาย ซึ่งเราเริ่มจากไม่รู้แล้วสามารถแสวงหาด้วยตัวเอง และเอาชนะใจตัวเองได้ อีกทั้งยังสามารถเอาชนะคำดูถูกของคนอื่นๆ ที่ไม่เข้าใจเรา ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมากกว่าการที่เราสามารถเอาชนะคนอื่นๆ ได้อีกนะ แล้วสิ่งสำคัญเลยคือเราได้มีสุขภาพที่ดี ร่างกายแข็งแรง”

เหนืออื่นใดนอกจากสิ่งที่แชมป์โมเดลฟิสิกส์หญิงกล่าวมา ปัจจุบันอดีตแม่บ้านเช่นเธอ ยึดอาชีพเป็นเทรนเนอร์เพื่อสร้างสุขภาพที่ดีให้กับผู้คน

แอธเลติคฟิสิกส์หญิง

บัว-สัตตบงกช ซิมเม็น นักเพาะกายสาวลูกสอง เจ้าของรองแชมป์รุ่นแอธเลติคฟิสิกส์ในรายการ Mr.Thailand 2015 เธอหลงรักการออกกำลังกาย ด้วยเพราะการตามไปดูสามีที่ไม่ยอมเข้าบ้านเพราะมุ่งมั่นออกกำลังกายที่ฟิตเนส เมื่อเธอเห็นความมุ่งมั่นและหุ่นที่เปลี่ยนไปของสามี แทนที่จะแค่นั่งให้กำลังใจ เธอกลับพาตัวเองฟิตหุ่น และข้อสำคัญคือเธอจะได้ใกล้ชิดกับคนรักมากขึ้น

ฟังดูโรแมนติก แต่ด้วยเพราะสิ่งนี้ การเพาะกายจึงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของคู่ชีวิต กลายเป็นว่าสามีกลับเป็นครูฝึกเพื่อผลักดันให้สาวเจ้าไปถึงฝัน

ฉันเป็นผู้หญิง บ้ากล้าม บัว-สัตตบงกช ซิมเม็น

 

“เราก็เริ่มมาจริงจังเหมือนที่สามีทำ ทั้งการเล่นและการกินซึ่งอยู่ในวินัยหมด แล้วมันทำให้ร่างกายของเราเปลี่ยนไป จากคนที่อ้วน หุ่นนี่แม่บ้านเลยนะก็ดูดีขึ้นเรื่อยๆ คือเราชอบในหุ่นที่เปลี่ยนไป ใส่อะไรก็ดูดี (หัวเราะ) เล่นไปเล่นมาหุ่นดีขึ้น เริ่มอยากแข่งจริงจัง พอหลังจากนั้นเราก็ฝึกตัวเองมากขึ้น เรียกได้ว่าเปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิตไปเลย คือฝึกตัวเองจนสามารถลดน้ำหนักวันละ 3 กิโลได้สบายๆ เลย

ความยากของการเพาะกายรุ่นแอธเลติคฟิสิกส์ คือเราต้องมีกล้ามเนื้อที่ชัดเจน มีหัวไหล่และต้นขาที่ใหญ่กว่าชัดเจนกว่าโมเดลฟิสิกส์หญิง  และการเล่นก็ต้องฝึกเจาะจงกล้ามเนื้อเป็นจุดๆ ความแตกต่างจากรุ่นเล็กอาจจะเป็นการกินที่เยอะกว่า คือบัวจะกินไก่วันละ 1 กิโล และกินไข่ขาวอีกวันละ 30 ฟอง เราต้องกินเยอะและเล่นหนัก แต่ไม่หนักถึงขั้นกล้ามเนื้อต้องฉีกขาดทุกจุด คือระเบิดเป็นจุดๆ ไป ซึ่งก็ทรมานเหมือนกันบางทีเราก็เดินขึ้นบันไดแทบไม่ได้ต้องค่อยๆ คลานขึ้น แต่ก็ไม่ได้เป็นแบบนั้นบ่อยเพราะเราต้องควบคุมกล้ามเนื้อให้ไม่ใหญ่เกินไป”

ฟังดูเหมือนจะทรมาน แต่เพราะเสน่ห์ของการออกกำลังกายสาวเจ้าจึงไม่หวั่นไม่ท้อ ใช้เวลาเพียงปีกว่าๆ ก็สามารถฝึกตัวเองจนรูปร่างเปลี่ยนไปแบบหน้ามือเป็นหลังมือ เรียกได้ว่าทุกสัดส่วนของร่างกายดูแข็งแรงและมีมัดกล้ามขึ้นอย่างชัดเจน ซึ่งนอกเหนือจากการฝึกที่หนัก การกินกลับเป็นปัญหาสำหรับเธอมากกว่า บัวบอกว่าก่อนแข่ง 3 เดือน เธอต้องทนกินอาหารที่ไม่มีรสชาติวันละ 5 มื้อ ทุกวัน

ฉันเป็นผู้หญิง บ้ากล้าม บัว-สัตตบงกช ซิมเม็น

 

“ดูเหมือนว่ามันจะเป็นเรื่องฝืนตัวเองนะ แต่ทำแบบนี้มันดีต่อสุขภาพเรามาก คือหนึ่งเลยร่างกายเราไม่ได้รับสารที่ปรุงแต่งอาหาร ซึ่งมันมีผลต่อร่างกาย ปกติเราก็ไม่ได้กินแบบนั้น
ทุกวัน กินแค่ 3 เดือนก่อนแข่ง แต่ผลที่ได้รับมันคุ้มค่ามากเลย เพราะเราได้รูปร่างที่ดูดี ใส่เสื้อผ้าก็ดีดูสวยกว่าที่เราเคยเป็น อีกอย่างเราสามารถยกของหนักๆ ได้แบบผู้ชายเลย คือมันแข็งแรงขึ้น ทำอะไรได้มากขึ้นโดยไม่ต้องพึ่งผู้ชาย” นักเพาะกายหญิงวัย 30 เล่าด้วยรอยยิ้ม

แชมป์โลกเพาะกายหญิง

จุ๋ม-วิไลพร วรรณกลาง คือแชมป์โลกเพาะกายหญิงรุ่นทั่วไป หนำซ้ำเธอเองยังเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของผู้หญิงบ้ากล้าม ที่ฟันฝ่าความยากลำบากแบบสุดตัวเอาหัวใจเดิมพัน จนสามารถกลายเป็นแชมป์เพาะกายหญิงที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่งของประเทศไทย

วิไลพร เริ่มจากการแสวงหาและเรียนรู้ด้วยตัวเอง ผ่านชีวิตที่เคี่ยวเข็ญและแรงกดดันมหาศาลในเส้นทางของนักเพาะกายที่เลือกเดิน กระทั่งก้าวขึ้นมาเหยียบความสำเร็จในวัย 40 ปี และเป็นถึงประธานชมรมเพาะกายจังหวัดภูเก็ต

ฉันเป็นผู้หญิง บ้ากล้าม จุ๋ม-วิไลพร วรรณกลาง

 

หลังจากที่สามีเสียชีวิตเธอเองต้องรับภาระดูแลลูก 2 คน เพียงลำพัง นั่นทำให้จุ๋มหันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพเพราะกลัวจะล้มป่วยด้วยโรคประจำตัว เธอเองเลือกที่จะไปออกกำลังกายด้วยการเต้นแอโรบิก แต่ด้วยโรคที่เป็นอยู่ทำให้สภาพร่างกายไม่ไหว จนสุดท้ายเธอก็เลยเลือกเข้ายิมแถวบ้าน ซึ่งมีอุปกรณ์แบบไม่พร้อม และเธอได้ครูคนแรกเป็นคนขับสามล้อ หลังจากได้ลองยกน้ำหนักออกกำลังกาย เธอกลับรู้สึกว่าแม้ไม่เหมาะกับผู้หญิง แต่เป็นกีฬาที่ทำให้รู้สึกดี

“เราเริ่มเสพติดแล้วถ้าเราไม่ได้ไปเล่นเราจะรู้สึกแปลก พอไปทุกวันๆ ทางบ้านเขาไม่เข้าใจ สงสัยว่าเราบ้า แต่เรารู้ตัวเองว่าไม่ใช่ เรามีเป้าหมายเราอยากคัดตัวติดทีมชาติ เพราะเรารู้มาว่าพอเป็นทีมชาติจะได้เบี้ยเลี้ยง ได้เงินค่าเดินทาง อีกอย่างเราจะได้มีเป้าหมายชีวิตจะได้ไม่ซึมเศร้า ก็ไปลงสมัครกีฬาแห่งชาติตอนนั้นก็ได้ที่ 5 แต่เราเตรียมตัวไปทั้งที่ไม่ได้มีความรู้ ก็เลยพยายามไปแข่งตามงานต่างๆ เพื่อหาความรู้ ก็แข่งไปเรื่อยๆ”

ชีวิตเดินทางอยู่แบบนั้นมากว่า 5 ปี พร้อมกับแรงกดดันของคนในครอบครัวที่มองเธอเหมือนคนบ้า เพราะไม่มีใครจะเข้าใจถึงสิ่งที่ผู้หญิงคนหนึ่งเลือกใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเรื่องของการมุ่งมั่นเพื่อได้เป็นทีมชาติ หรือแม้แต่การยึดอาชีพเทรนเนอร์ในฟิตเนส ซึ่งอย่างหลังพอได้เข้าไปสัมผัสเธอเองกลับไม่ชอบ เพราะดูเหมือนจะมุ่งเน้นธุรกิจเกินไป และสิ่งเดียวที่จะทำให้เธอพิสูจน์ตัวเองได้ คือการเป็นแชมป์บนเวทีการประกวด แต่ด้วยภาระหน้าที่การเลี้ยงลูก และการทำงานรับจ้างหาเงิน กับเวลาฝึกฝนและอุปกรณ์ที่จำกัด เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เธอไม่สามารถไปถึงจุดที่ต้องการ

ฉันเป็นผู้หญิง บ้ากล้าม จุ๋ม-วิไลพร วรรณกลาง

 

“เรารู้สึกว่าเราต้องมีอนาคตกับสิ่งนี้ให้ได้ เพราะยิ่งเราอยู่ในทางสายนี้เรายิ่งเห็นโอกาสและช่องทางประสบความสำเร็จ แต่ในเวลานั้นเราบอกใครก็ไม่มีใครเชื่อ มีแต่บอกว่าไร้สาระ พ่อก็ด่าเราทุกวัน มันกดดันเราจนทำให้ตัดสินใจกราบลาแม่แล้วฝากลูกไว้ เพื่อจะไปดิ้นรนในสิ่งที่ฝัน

พอออกบ้านมาเราสัญญากับตัวเองเลยว่า เราจะต้องหาเงินมาหล่อเลี้ยงการแข่งขันเพาะกาย ตอนนั้นก็ตั้งใจไปภูเก็ต เพราะได้ยินมาว่าเป็นเทรนเนอร์ที่นั่นไม่ต้องขายแพ็กเกจ และน่าจะมีช่องทาง” จุ๋มเล่าถึงจุดเปลี่ยนในชีวิตครั้งสำคัญ

ในเวลานั้นเธอเองมีเงินเก็บที่ได้จากรางวัลที่ 3 ในเวทีการแข่งขันเพาะกายนานาชาติ เป็นเงิน 3 หมื่นบาท และมุ่งหวังใช้มันติดตัวไปภูเก็ต หลังจากลงไปตามความฝันในวัย 36 ปี เธอพักอยู่บ้านเพื่อน หาเงินเพิ่มด้วยการขายอาหารเสริม เธอพยายามหางานอยู่ 4 เดือนแต่ไม่มีที่ไหนรับเธอเป็นเทรนเนอร์ ซึ่งนั่นกลับเป็นเรื่องที่ดี เพราะทำให้จุ๋มมีเวลาดูแลตัวเอง และมุ่งมั่นยกลูกเหล็กแบบสุดชีวิต ตั้งใจฝึกหนักแบบที่ไม่เคยเป็นมาเพื่อไปให้ถึงจุดหมายชีวิต

ฉันเป็นผู้หญิง บ้ากล้าม จุ๋ม-วิไลพร วรรณกลาง

 

ก่อนที่จะพารูปร่างของเธอในเวลานั้นไปแข่งขันในกีฬาแห่งชาติ และเธอสามารถคว้าแชมป์ได้สำเร็จ ซึ่งเป็นแชมป์ประวัติศาสตร์ที่ทำให้ วิไลพร วรรณกลาง เป็นที่รู้จัก และส่งให้เธอกลายเป็นเทรนเนอร์เนื้อหอมมีลูกค้าต่างชาติเข้าคิวให้เธอฝึก

ในปีต่อๆ มา เธอไม่เคยแพ้ใครอีกเลย และสามารถก้าวขึ้นไปเป็นถึงแชมป์โลก สง่างามเหนือนักเพาะกายหญิงทุกคน อีกทั้งยังมีหนังสือเรื่องราวชีวิตของเธออกมาเผยแพร่ในชื่อ “แชมป์โลกใบเลี้ยงเดี่ยว” และสำหรับเธอคำกล่าวนี้คงไม่เกินจริง

ยามเห็นหงส์ลอยนิ่งเหนือน้ำอย่างสง่า ไม่เคยมีใครมองเห็นตีนหงส์ใต้น้ำ ว่ามันทำงานหนักตลอดเวลา