posttoday

หลังตาย=ก่อนตาย

22 มีนาคม 2558

ความตายเป็นสถานะหนึ่งที่ธรรมชาติให้มา มนุษย์ทุกวัฒนธรรมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันต่างต้องรับมือกับความตาย

โดย...นิติพันธ์ วิประวิทย์

ความตายเป็นสถานะหนึ่งที่ธรรมชาติให้มา มนุษย์ทุกวัฒนธรรมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันต่างต้องรับมือกับความตาย เราสร้างภาพชีวิตหลังความตายผ่านพิธีกรรมต่างๆ วัฒนธรรมจีนดั้งเดิมก็เป็นวัฒนธรรมหนึ่งที่ให้ความสำคัญกับความตายและชีวิตหลังความตายเป็นอย่างยิ่ง

ชาวจีนมีภาพว่าชีวิตหลังความตายก็คล้ายกับชีวิตบนโลกมนุษย์นี่แหละครับ ภาพที่ชาวจีนเห็นว่าผู้ตายจะไปสู่ที่ใด และจะใช้ชีวิตอย่างไร ไม่ต่างจากชีวิตตอนเป็นๆ เท่าไรนัก โดยเฉพาะก่อนยุคที่ศาสนาพุทธจะเข้ามามีบทบาทในสังคมจีน

ปรโลกของจีน ก็คือโลกเราดีๆ นี่เอง

ฮ่องเต้ ขุนนาง หรือแม้แต่สามัญชน เมื่อตายไปจึงพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะนำสิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน และอาหารฝังลงไปพร้อมกัน โดยหวังว่าให้ผู้ตายได้กินได้ใช้ต่อไป นอกจากเครื่องใช้ส่วนตัวและอาหาร ก็ยังมีอีกหลายสิ่งที่ต้องร่วมชะตากรรมกับผู้ตายในปรโลก บางครั้งก็เป็นสิ่งมีชีวิต เช่น ถ้าผู้ตายเป็นนักรบ ก็จะต้องฝังม้าและรถศึกไปด้วย ถ้าผู้ตายเป็นคหบดี คนรับใช้ก็ต้องตายตามไปรับใช้ต่อ ในสมัยราชวงศ์ซางเมื่อ 3,000 กว่าปีก่อน มีบันทึกสถิติการฝัง “คน” ร่วมไปรับใช้ผู้ตายมากสุดถึงเกือบ 400 ชีวิต จนเมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปก็ค่อยปรับเปลี่ยนการฝังคนเป็นไปเป็นการฝังหุ่นดินเผา รูปปั้น รูปสลัก รูปโครงกระดาษ แทนที่การสังเวยชีวิตอันหฤโหด

ความสำคัญของการตระเตรียมสร้างโลกรองรับความตาย ถ้าเป็นระดับฮ่องเต้ก็เตรียมกันตั้งแต่วันแรกที่ขึ้นครองราชย์กันเลยทีเดียว จริงๆ แล้วสภาวะสูงสุดในความเชื่อดั้งเดิมของชาวจีนคือความไม่ตายและมีชีวิตอยู่เรื่อยไป ซึ่งก็คือการเป็นเซียน คนใหญ่คนโตของจีนหลายคนพยายามที่จะไม่ตาย ด้วยยาอายุวัฒนะบ้าง ด้วยพิธีกรรมและการปรับพฤติกรรมแปลกๆ บ้าง หนึ่งในนั้นคือฉินซีฮ่องเต้ ฮ่องเต้องค์แรกของจีน ที่ถึงขนาดยอมส่งกองเรือพร้อมเด็กชายหญิงนับร้อยไปแสวงหายาอายุวัฒนะทางทะเลตะวันออกตามคำคุยโวของนักพรต สวีฟุ แต่ที่ไหนได้ สวีฟุกลับหายไปอย่างไร้เงา ทิ้งไว้แต่คำเล่าลือว่า สวีฟ ไปตั้งรกรากที่ญี่ปุ่น

อย่างไรก็ตาม ถึงฉินซีฮ่องเต้จะต้องตาย ก็ต้องตายอย่างยิ่งใหญ่ไม่แพ้ตอนมีชีวิตอยู่ ดังที่รูปปั้นสุสานทหารดินเผาอันมโหฬารของสุสานฉินซีฮ่องเต้ แสดงให้เห็นแล้วว่า ตอนฉินซีฮ่องเต้เมื่อครั้งมีชีวิต ยิ่งใหญ่เกรียงไกรขนาดไหน

ยังมีฮ่องเต้อีกหลายองค์ที่อายุสั้นเพราะแสวงหาชีวิตนิรันดร์ เพราะยาอายุวัฒนะที่พยายามทำขึ้น กลับกลายเป็นยาพิษฆ่าตัวเองแทน จะว่าไปความเชื่อของจีนเรื่องไม่ตายนี่ก็เป็นจุดแตกต่างจากความเชื่อในวัฒนธรรมอื่นอยู่มาก เพราะศาสนาและความเชื่ออื่นต่างเชื่อว่าสุดท้ายคนก็ต้องตาย จะมีก็แต่วัฒนธรรมจีนเท่านั้นที่คิดว่าคนเราไม่ตายก็ได้ด้วย

แต่เมื่อเวลาผ่านไป ก็รู้ว่าฝืนความจริงไปไม่ได้ เลยขอที่ใกล้เคียงที่สุด ก็ขอตายอย่างมีชีวิตปกติต่อไปแล้วกัน

วิธีคิดแบบนี้เข้มข้นมากแม้ยุคหลังศาสนาพุทธเข้ามาในจีนก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงไปเท่าใดนัก เพียงแต่มีปรโลกแบบพุทธเป็นทางเลือกเข้ามาให้จัดการเพิ่ม และแนวคิดเรื่องความตายของชาวจีนดั้งเดิมยังสืบทอดมาได้ผ่านชาวจีนโพ้นทะเลปัจจุบัน ซึ่งรากวัฒนธรรมยังไม่เคยถูกตัดตอนอย่างรุนแรงแบบจีนแผ่นดินใหญ่

ไม่เพียงแต่เงินทอง บ้านพัก รถยนต์ ที่ต้องใช้ในปรโลก ไอโฟน ไอแพด ไอพอด ในโครงข่ายเง็กเซียนฮ่องเต้ จึงมีให้ลูกหลานได้เลือกเต็มเยาวราช เกิดมายุคไหนก็ต้องมีของยุคนั้นไปใช้ในปรโลกให้ครบถ้วนด้วย

ด้วยวิธีคิดนี้เลยทำให้เราขุดคุ้ยชีวิตที่ผ่านไปหลายพันปีก่อนหน้าได้ว่า ชาวจีนแต่ละยุคแต่ละสมัยใช้ชีวิตอยู่เช่นไร ซึ่งก็ดูผ่านสุสานโบราณของจีนแต่ละยุค เราจะรู้ได้เลยว่าเจ้าของสุสาน ช่างกิน ชอบดนตรี ชอบธนู เป็นนักอ่าน หรือมีอำนาจล้นฟ้า

คุณูปการอย่างใหญ่หลวงของความเชื่อนี้มีแก่การศึกษาด้านประวัติศาสตร์ ทำให้เรารู้วิถีชีวิตของชาวจีนแต่ละสมัยได้อย่างละเอียด บางสุสานถึงขนาดทำโมเดลบ้านดินเผาทั้งหลังฝังไปพร้อมๆ กับผู้ตาย (วิธีคิดเดียวกันกับที่เราเห็นบ้านกระดาษสำหรับเผาให้ผู้ตายในยุคนี้) ส่วนบรรดาหนอนหนังสือยุคโบราณทั้งหลาย ก็มีการฝังตำราที่ตนเองชอบอ่านลงไปพร้อมกัน ตำราโบราณที่สำคัญหลายเล่มของจีนก็ค้นพบจากในสุสาน

แต่หลายครั้งการฝังทรัพย์สินมีค่าพร้อมใช้ไปในสุสาน ก็กลายเป็นรบกวนชีวิตในปรโลกมากเข้าไปอีก เพราะสิ่งของมีค่าของคนตายยังเท่ากับของมีค่าของคนเป็นเช่นกัน สุสานใหญ่น้อยของจีนถูกโจรปล้นสุสานปล้นอยู่ตลอดมา ในสุสานเดียวอาจถูกปล้นซ้ำหลายๆ ครั้ง ในต่างยุคต่างสมัยกันหรือบางทีนักวิชาการก็เสาะหาและขุดค้นเพื่อศึกษาการใช้ชีวิตของคนในวัฒนธรรมจีนยุคก่อน

กลายเป็นว่าที่จะใช้ชีวิตแบบเดิมๆ ในปรโลกก็ยังไม่พ้นภัยเหมือนเมื่อครั้งมีชีวิต เพราะยังต้องโดนชิงโดนปล้นโดยโจรอยู่ดี แย่กว่าอีกที่ตอนตายไปแล้วมีนักวิชาการมารบกวนความสงบเพิ่มอีกแรง ผู้ตายได้แต่รอว่าโจรหรือรัฐบาล (นักวิชาการ) จะมาเจอก่อนก็เท่านั้น ยุคนี้ผู้คนสนใจกับตอนมีชีวิตอยู่มากขึ้น และสนใจชีวิตหลังความตายน้อยลง เราต่างมุ่งทุ่มเทปรนเปรอชีวิตก่อนตายมากกว่าหลังตาย และเห็นว่าการทุ่มเททรัพยากรไปกับชีวิตหลังความตาย คือสิ่งไร้สาระ ตายแล้วเอาอะไรไปไม่ได้

และความคิดทางวิทยาศาสตร์ก็ทำให้เรารู้สึกว่า การฝังเครื่องใช้ลงไปกับดินหรือเผากระดาษให้ควันลอยขึ้นฟ้า ก็แค่จินตนาการแสดงความห่วงใยต่อบรรพบุรุษที่เพิ่มคาร์บอนฟุตพรินต์ให้กับโลกมากขึ้น บางคนจึงเลิกพิธีกรรมนี้ ส่วนบางคนรู้ทั้งรู้แต่ก็ยังตัดไม่ขาด ขอทำเป็นพิธีเพื่อความสบายใจ

พิจารณาให้ดี มนุษย์ในยุคเหลือกินเหลือใช้ทุกยุคมีความไร้สาระให้กับจินตนาการคล้ายๆ กันนี้ทั้งสิ้น หากอยากเข้าใจอารมณ์คนยุคก่อนก็อาจต้องการเปรียบเทียบกับสิ่งที่เราทุ่มเทอย่างไร้สาระให้กับอะไรบางอย่างในยุคนี้

ถ้าถามว่าในปัจจุบันจะมีพิธีกรรมอะไรในชีวิตเราเกือบทุกคนที่ถูกให้น้ำหนักมากพอกับพิธีกรรมหลังความตายสมัยก่อน ก็น่าจะเป็นพิธีกรรมการจัดงานแต่งงาน

ผู้คนยุคนี้ดูเหมือนจะหยุดความอลังการของงานแต่งงานไว้ไม่อยู่ขึ้นเรื่อยๆ ทุกอย่างตระเตรียมเพื่อวันๆ เดียว พิธีไทย จีน ฝรั่ง ถ้ามีฐานะจะทำได้ ก็อยากจะทำมันซะหมด พิธีหมั้นแล้วค่อยแต่ง ที่แต่เดิมมีเพื่อแสดงลำดับสภาวะคู่หมั้นจนถึงการเป็นสามีภรรยา ก็กลายเป็นพิธีกรรมที่ต้องทำทั้งคู่ ทั้งๆ ที่หลายครั้งสถานะคู่หมั้นมีอยู่แค่ไม่กี่ชั่วโมงก่อนแต่งงานเท่านั้น ลำพังภายในงานแต่งก็ต้องมีรูปถ่ายพรีเวดดิ้ง สไลด์ จนพัฒนาไปเป็นวิดีโอพรีเซนเทชั่นที่ให้คู่บ่าวสาวรับบทเป็นดารา นางฟ้าเจ้าหญิง หรือรับบทตลกๆ ทำกันจนเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ทางจิตใจ ไม่มีก็เหมือนขาดพิธีกรรมอะไรไป

บรรพบุรุษของอากงอาม่าอาจจะงงกับพิธีกรรมการเป็นคนอื่นในรูปถ่ายพรีเวดดิ้งหรือวิดีโอพรีเซนเทชั่นงานแต่งของเหลนๆ ยุคนี้ ขณะที่คิดว่าความพยายามเป็นตัวเองต่อไปหลังความตายคือสิ่งปกติ ไม่เห็นน่าเสียดายตรงไหน

ขอตายไปเป็นตัวเอง กับขอมีชีวิตเป็นคนอื่น อะไรกันแน่ที่น่าแปลกกว่ากัน