posttoday

นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ชวนคนไทยห่างไกลโรคไต

21 มีนาคม 2558

ฉบับนี้ นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม และอาจารย์ประจำหน่วยโรคไต

โดย...สุภชาติ เล็บนาค

ฉบับนี้ นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม และอาจารย์ประจำหน่วยโรคไต ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี จะมาเล่าเรื่องวิธีลดโรคไตให้ฟัง

คุณหมอสุรศักดิ์ บอกว่า แต่ละปีคนไทยบริโภคเกลือและโซเดียมสูงกว่าที่องค์การอนามัยโลกแนะนำถึง 2 เท่า คือเกลือ 10.8 กรัม หรือโซเดียม 4,000 มิลลิกรัม/วัน โดยการรับประทานอาหารรสเค็มจัดส่งผลให้ความดันโลหิตสูง และเพิ่มการรั่วของโปรตีนในปัสสาวะ ซึ่งสร้างผลเสียกับไตโดยตรง และยังทำให้หัวใจทำงานหนัก จนก่อให้เกิดภาวะหัวใจวาย และความดันโลหิตสูง รวมถึงความดันในสมองเพิ่มขึ้น มีโอกาสเป็นโรคอัมพฤกษ์อัมพาตได้

“โรคไตนับว่าเป็นปัญหาที่สำคัญในระดับชาติ ทั้งนี้ในปัจจุบันผู้ป่วยที่ป่วยเป็นโรคไตมีอายุเฉลี่ยที่น้อยลง รวมถึงพบว่ามีผู้ป่วยที่ป่วยเป็นโรคไตในเด็กเพิ่มสูงมากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการบริโภคอาหารที่มีรสเค็มจัด ขนมขบเคี้ยวที่มีรสเค็มหรือพฤติกรรมการรับประทานอาหาร ที่มักจะต้องเติมน้ำปลาหรือน้ำปลาพริกทุกมื้อ ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยง จนเป็นสาเหตุของไตวายเรื้อรัง ซึ่งเป็นภาวะที่เนื้อไตถูกทำลายอย่างถาวร ทำให้ไตค่อยๆ ฝ่อเล็กลง แม้อาการจะสงบแต่ไตจะค่อยๆเสื่อมและเข้าสู่ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายในที่สุด” นพ.สุรศักดิ์ เล่าให้ฟัง

ทั้งนี้ โรคไตสามารถป้องกันได้ เช่น การควบคุมโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงให้ดี รวมถึงรักษาได้หากพบแพทย์โดยเร็ว แต่ก็น่าเสียดายที่ผู้ป่วยบางคนละเลยการรักษา ทำให้เกิดอาการไตวายรวดเร็วจนเสียชีวิต โดยผู้ป่วยโรคไตควรปฏิบัติดังนี้ 1.พบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ 2.ควบคุมความดันโลหิตน้อยกว่า 130/80 และระดับน้ำตาลในเลือด

3.ควบคุมการทานอาหารรสเค็ม และจำกัดอาหารประเภทโปรตีน โดยให้บริโภคเกลือไม่เกินวันละ 5 กรัม ถ้าเทียบเป็นปริมาณโซเดียมก็ไม่ควรเกินวันละ 2,000 มิลลิกรัม ซึ่งปริมาณดังกล่าวเทียบเท่ากับเกลือ 1 ช้อนชา

4.หลีกเลี่ยงการใช้ยาแก้ปวด ยาหม้อ ยาชุดโดยไม่ปรึกษาแพทย์ 4.เลิกบุหรี่และงดดื่มสุรา และ 5.ออกกำลังกายสม่ำเสมอ