posttoday

ขุนโจรกลับใจ จากผู้ล่าสู่นักอนุรักษ์แห่งเกาะทะลุ

08 กุมภาพันธ์ 2558

“ตัวผมเองมันไม่ต่างอะไรกับการเป็นขุนโจรปล้นทรัพยากรแห่งท้องทะเลอ่าวไทยที่กลับใจ” ปรีดา เจริญพักตร์

โดย...ไชยวัฒน์ สาดแย้ม

“ตัวผมเองมันไม่ต่างอะไรกับการเป็นขุนโจรปล้นทรัพยากรแห่งท้องทะเลอ่าวไทยที่กลับใจ” ปรีดา เจริญพักตร์ อดีตเจ้าของธุรกิจเรือประมง ในวัย 70 ปี พูดถึงอดีตของตัวเอง วันนี้นอกจากจะเป็นเจ้าของ “เกาะทะลุ ไอส์แลนด์ รีสอร์ท” แหล่งท่องเที่ยวดำน้ำชื่อดังใน อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ เขายังได้ชื่อว่าเป็นภาคเอกชนซึ่งอนุรักษ์เต่าทะเลใหญ่ที่สุดในเอเชีย หรืออาจจะใหญ่ที่สุดในโลกก็ว่าได้

ลุงปรีดาย้อนอดีตความเป็นขุนโจรปล้นทะเลที่นิยามตัวเองไว้ให้ฟังว่า ก่อนที่จะมาซื้อที่ดินบนเกาะแห่งนี้ แกเคยเป็นเจ้าของเรือประมงหลายลำ หากินอยู่แถวอ่าวบางตะบูน อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี ชีวิตที่ผ่านมาเสมือนขุนโจร นำสมุนลงเรือออกจับปลาทุกวันเป็นหมื่นเป็นแสนชีวิต นานเข้าๆ ปลาในทะเลอ่าวไทยเริ่มหายากมากขึ้น เพื่อนๆ ที่ทำเรือประมงเริ่มออกไปยังทะเลต่างถิ่นและต่างชาติ บังกลาเทศ อินเดีย เวียดนาม บางคนถูกจับ บางคนถูกยิง ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในชีวิตของลุงปรีดา

“ผมได้คิดว่าเอาชีวิตไปแลกมันไม่คุ้ม ตอนนั้นเพิ่งแต่งงานไม่นาน เริ่มคิดว่าถ้าเปลี่ยนจากท้องทะเลมาอยู่บกจะอยู่ที่ไหน จะทำอะไรกิน ยามว่างก็ขับรถตระเวนไปทั่ว หาที่อยู่ที่ทำกิน เริ่มมองหาอาชีพอื่นๆ เพราะเริ่มมองเห็นสัจธรรมบาปบุญคุณโทษ นึกถึงเราทำลายชีวิตสัตว์ชีวิตปลาต่างๆ ไปมากมายนับไม่ถ้วน ตอนนั้นในช่วงปี 2521 วันหนึ่งผมก็ออกเรือจนมาถึงเกาะทะลุ”

เกาะทะลุเมื่อแรกที่ลุงปรีดาได้เห็น ยังมีชาวบ้านอยู่บนเกาะ 22 ครัวเรือน อาชีพหลักคือ ปลูกแตงโม ทำสวนมะพร้าว ข้าวโพด ส่วนประมงที่ชาวบ้านทำคือเอาเรือออกไปโยนระเบิด หรือหยอดแก๊สเพื่อจับปลา

“จังหวะนั้นผมกำลังคิดจะเลิกอาชีพประมง อยากไถ่บาปด้วยการฟื้นฟูธรรมชาติ มาเจอแบบนี้ก็เลยขอให้เขาเลิก ซื้ออวนให้ไป ให้เขาเลิกทำแบบเก่า”

ขุนโจรกลับใจ จากผู้ล่าสู่นักอนุรักษ์แห่งเกาะทะลุ ปรีดา เจริญพักตร์

 

กระทั่งวันหนึ่ง เพื่อนชาวเกาะทะลุก็เล่าให้ฟังว่า มีนายทุนมาขอซื้อที่ดินจากชาวบ้านทั้งหมด แต่เมื่อดูเอกสารของนายทุนที่จะมาซื้อ ลุงปรีดาก็พบว่ามีแต่ชื่อฝรั่งต่างชาติทั้งหมด ไม่มีคนไทยแม้แต่รายเดียว

“เอาละซี อย่างนี้มันมาซื้อเพื่อขายให้ต่างชาตินี่หว่า ผมก็เรียกชาวบ้านทั้งหมดมาคุย ขอซื้อที่ทั้งหมด 300 ไร่ คุยกันตกลงได้ ผมรีบจ่ายเงินมัดจำทันทีรายละหนึ่งแสนบาท จากนั้นก็ขายเรือประมงทั้งหมด นำเงินมาจ่ายจนครบ แล้วย้ายครอบครัวมาปักหลักอยู่บนเกาะทะลุ”

ชีวิตชาวเกาะในช่วงเริ่มต้นของลุงปรีดา คือ เก็บผลผลิตจากที่ดินซึ่งชาวบ้านขายให้เป็นรายได้เลี้ยงครอบครัว กระทั่งวันหนึ่งลุงปรีดาและภรรยาพายเรือไปรอบเกาะ พบ
ปะการังเขากวาง ปะการังแปรงล้างขวดหัก แต่ยังมียางยืดเหนียวๆ ก็เก็บปะการังเหล่านั้นมาปักลงบนปะการังทรงกลม ต่อมาอีก 6-7 เดือนก็ไปพบว่าปะการังที่เก็บเอาไปปักเจริญเติบโตขึ้นมา เป็นจุดเริ่มต้นของการอนุรักษ์ปะการังรอบเกาะ จนกลายเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวดำน้ำ

“ผมทำมาเรื่อยๆ หาความรู้มาสู่การปลูกลงเป็นแปลงยึดกับท่อพีวีซี ขณะเดียวกันก็เริ่มต้นธุรกิจรีสอร์ท ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ จากกระต๊อบหลังคามุงจาก ก็ค่อยๆ เติบโตจนถึงปัจจุบัน ทุกวันนี้แม้ยังมีหนี้สินกับธนาคารอีกจำนวนมาก แต่ก็ยังทำงานอนุรักษ์ปะการัง ชักชวนนักท่องเที่ยว นักเรียน นักศึกษา เข้าร่วมกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีสัตว์น้ำ กุ้ง หอย ปู ปลา ต่างๆ เข้ามาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก”

จากการฟื้นฟูปะการังตั้งแต่เริ่มชีวิตชาวเกาะเมื่อปี 2521 มาถึงงานสำคัญ การจัดตั้ง “มูลนิธิฟื้นฟูทรัพยากรทะเลสยาม” ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการอนุรักษ์เต่าทะเล โดยเพิ่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2553 นี่เอง

“วันหนึ่งเราพบว่ามีเต่าขึ้นมาวางไข่ ผมประสานงานไปยังสำนักงานประมงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งประสานต่อไปยังศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนกลาง จ.ชุมพร ส่งคณะเจ้าหน้าที่มาดูจุดที่เต่าขึ้นมาวางไข่ ช่วยกันนำไข่เต่าขึ้นมาได้จำนวน 163 ฟอง เพื่อเคลื่อนย้ายไปในจุดที่ปลอดภัย บริเวณชายหาดของรีสอร์ท”

ลุงปรีดาบอกว่า จากวันนั้นมาก็มีเต่าขึ้นมาวางไข่อีกหลายครั้ง และในปี 2554 ลุงปรีดาตัดสินใจทำศูนย์อนุบาลเต่าขึ้นมา โดยมีกองทัพเรือเป็นที่ปรึกษา พร้อมส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาให้ความรู้ความเข้าใจ และมีเต่าขึ้นมาวางไข่เพิ่มอีกเรื่อยๆ จนต้องขยายบ่ออนุบาลถึง 20 บ่อ และมีเต่าอยู่เป็นจำนวนมากนับพันตัวที่รอการเจริญเติบโตและปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ

“ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาผมออกเรือร่วมกับกรมประมงไปตรวจทะเล พบเจอเรือเพื่อนๆ ที่ลากอวนอยู่ก็บอกเขาให้ออกไป เพราะเขตนี้เขาให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์น้ำ ทำอยู่นานหลายปี จนได้รับการออกประกาศกฎกระทรวงให้พื้นที่ 1.5 แสนไร่ ในทะเลแถบนี้เป็นเขตอนุรักษ์”

ลุงปรีดาเล่าว่า วันหนึ่งขณะนั่งอยู่ที่ให้อาหารปลาที่สะพานเทียบเรือ เห็นเต่าสามสี่ตัวใหญ่พอประมาณว่ายน้ำไล่กินปลา ทำให้ดีใจ เพราะเมื่อก่อนไม่มี นักดำน้ำมักจะพบเห็นเต่าทะเลในที่อื่น แต่ไม่เคยปรากฏที่เกาะทะลุมาก่อน

“การที่เราได้ทำเรื่องอนุรักษ์นั้น สิ่งที่เราได้กลับมาก็คือได้ความสบายใจ ได้ความภาคภูมิใจในสิ่งที่ได้สร้างและรักษามรดกทางธรรมชาติไว้ให้ลูกหลาน กองทัพเรือบอกว่าเราเป็นหนึ่งเดียวในภาคเอกชนที่ทำเรื่องอนุรักษ์เต่าได้ใหญ่ที่สุดในเอเชีย หรืออาจจะเป็นในโลกไปเสียด้วยซ้ำ ซึ่งผมก็รู้สึกปลื้มใจนะ ตอนนี้ผมคำนวณแล้ว หากมีลูกเต่ามากๆ แบบนี้ผมต้องใช้เงินในการอนุบาลดูแลปีละกว่าหนึ่งล้านบาท ซึ่งถือว่าหนัก แต่ถ้าทางราชการจะมีงบมาช่วยบ้างก็จะเป็นสิ่งที่ดี ที่สำคัญมันจะเป็นกระแสการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ของโลกต่อไปอีก”

แววตาของเฒ่าทะเล อดีตนักล่าซึ่งกลับใจมาเป็นนักอนุรักษ์ทะเลเต็มไปด้วยประกายเปี่ยมสุข