posttoday

ลงรหัสวิชาชีพนักวิทย์และเทคโนฯ รับมือเศรษฐกิจดิจิทัล

03 กุมภาพันธ์ 2558

“เศรษฐกิจดิจิทัล” (Digital Economy) ถือเป็นการวางรากฐานเศรษฐกิจใหม่ของไทย

โดย...พริบพันดาว

“เศรษฐกิจดิจิทัล” (Digital Economy) ถือเป็นการวางรากฐานเศรษฐกิจใหม่ของไทย ซึ่งจะมุ่งเป้าไปที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือกระทรวงไอซีที ในการจัดการขับเคลื่อนให้ก้าวหน้าต่อไปในสังคมไทย แต่ในทางพื้นฐานของการผลิตบุคลากรเพื่อป้อนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลนั้น กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก็มีส่วนร่วมไม่น้อยเช่นกัน รวมถึงในการรับมือกับวิกฤตภัยทางสิ่งแวดล้อมและมลพิษที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีดิจิทัลเหล่านี้

บุคลากรทางวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีคุณภาพและได้รับรองมาตรฐานตามวิชาชีพอย่างถูกต้องทางกฎหมายจึงเป็นเรื่องจำเป็น ล่าสุดมีการสัมมนาเพื่อเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการบังคับใช้ข้อบังคับสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีว่าด้วยการประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุม พ.ศ. 2557 คือ
- สาขานิวเคลียร์

- สาขาการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านวิทยาศาสตร์และการควบคุมมลพิษ

- สาขาการผลิต การควบคุมและการจัดการสารเคมีอันตราย

- สาขาการเพาะเลี้ยงจุลินทรีย์และการใช้จุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรค

เมื่อดูจากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของแต่ละสาขานั้น เกี่ยวข้องโดยตรงกับภาคอุตสาหกรรมทั้งหมด โดยเฉพาะอุตสาหกรรมดิจิทัลที่มีมูลค่าสูงสุดของโลกในปัจจุบัน รวมถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากมลพิษ ซึ่งต้องใช้นักวิชาชีพในสาขาต่างๆ เหล่านี้มากมาย รวมถึงอุตสาหกรรมด้านพลังงานที่เทคโนโลยีนิวเคลียร์ที่จะเข้ามาในอนาคต

การจัดตั้งสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขึ้น เพื่อทำหน้าที่ส่งเสริมและควบคุมการประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้เกิดประโยชน์ในการคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน จึงเป็นเรื่องที่ต้องทำคู่กันไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลเช่นกันแนว

ลงรหัสวิชาชีพนักวิทย์และเทคโนฯ รับมือเศรษฐกิจดิจิทัล

นโยบายจากกระทรวงวิทย์ฯ

ความเคลื่อนไหวในการจัดตั้งสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนั้น สอดรับกับการพัฒนาประเทศ และสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วทน.) ซึ่ง ดร.วรวรงค์รักเรืองเดช รองโฆษก วทน. ให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้ให้ความสำคัญและกำลังดำเนินการเร่งผลักดันในเรื่องการสร้างกำลังคน สร้างนักวิจัย สนับสนุนงานวิจัยต่างๆ เช่น งานวิจัยเชิงสังคม งานวิจัยเพื่อทรัพยากรสิ่งแวดล้อมให้ออกสู่เชิงพาณิชย์ รวมไปถึงการสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

“การผลักดันนวัตกรรมที่ถือเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการบริหารการเปลี่ยนแปลงในโลกยุคเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อสร้างมูลค่าจากการนำความรู้และเทคโนโลยีไปใช้ เป็นต้นทุนสำคัญที่นำไปสู่การเกิดทรัพย์สินทางปัญญาและเทคโนโลยีในรูปแบบต่างๆอันจะนำมาซึ่งการเกิดธุรกิจใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่มมีความเจริญก้าวหน้าทั้งภาคเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยการสนับสนุนวิทยาศาสตร์ด้านงานวิจัยและเทคโนโลยีในรูปแบบต่างๆ”ทางกระทรวงได้ดำเนินงานตามนโยบาย 5 ข้อที่รัฐบาลได้ดำเนินการขับเคลื่อนอยู่ประกอบไปด้วย

1.ประเทศไทยต้องมีการสร้างความรู้และงานวิจัยให้แก่ภาคการผลิต โดยรัฐบาลเดินหน้าด้านงานวิจัยร่วมกับภาคเอกชน

2.การขับเคลื่อนกำลังคน ทรัพยากรมนุษย์ที่เป็นทุนสังคมที่สำคัญที่สุด และมีบทบาทเป็นทั้งผู้สร้างการพัฒนาและผู้ได้รับผลจากการพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม

3.การยกระดับการลดภาษีด้านการวิจัยและพัฒนา

4.การสนับสนุนโครงการเมกะโปรเจกต์ที่ใช้งบประมาณเพื่อเดินหน้าด้าน วทน.ให้เจริญก้าวหน้าต่อไปสู่อนาคต

5.โครงสร้างพื้นฐานด้าน วทน. โดยการลงทุนร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน หรือรัฐบาลลงทุนโดยให้เอกชนเข้ามาใช้ประโยชน์หรือใช้บริการ เพราะฉะนั้นการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ผ่านการกำกับดูแลและควบคุมโดยสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการให้เร็วที่สุด

ลงรหัสวิชาชีพนักวิทย์และเทคโนฯ รับมือเศรษฐกิจดิจิทัล

 

การฝึกอบรมพร้อมเดินหน้า

สภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้วางหลักเกณฑ์ให้ทั้ง 4 สาขาควบคุม จัดการอบรมและจัดสอบ ประมาณไตรมาส 2 และ 3 ของปี 2558 ระหว่างนี้ อยู่ในขั้นตอนการจัดทำหลักสูตรฝึกอบรม โดยในเบื้องต้นได้ทำเอ็มโอยูกับหน่วยงานดังนี้ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสมาคมนิวเคลียร์แห่งประเทศไทย เป็นต้น

สำหรับการสัมมนาสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีผู้สนใจทั้งผู้ประกอบการภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง คณะอาจารย์จากมหาวิทยาลัย โดยวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ประกอบการวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในสาขาควบคุม ดำเนินการเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการขึ้นทะเบียนตามกฎหมายต่อไป

สมบัติ สุรินทร์รัฐ กรรมการสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประธานคณะอนุกรรมการฝึกอบรมแห่งสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าของการอบรมและสอบเพื่อให้ได้ใบอนุญาตควบคุมวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

“ตั้งแต่ปี 2551 สมาชิกของสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์ฯ จำนวนมากต่างได้ถามถึงความคืบหน้า ถึงความพร้อมและการดำเนินการ ในฐานะที่ผมได้ประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์ควบคุม สาขาควบคุมมลพิษ และได้จัดทำแผนดำเนินการเร่งรัดการทำงานเพื่อให้สมาชิกอบรมและสอบเพื่อให้ได้ ‘ใบอนุญาตควบคุม’ ต่อคณะกรรมการ แผนการดำเนินเร่งรัดนี้ได้กำหนดกรอบเวลาและแนวทางการดำเนินการที่ชัดเจน ในที่ประชุมกรรมการเห็นด้วยต่อแผนงานเร่งรัดที่นำเสนอ และดำเนินการตามแผนงานดังกล่าวตลอดมา”

การร่างข้อบังคับทั้ง 4 สาขาของสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์ฯ ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว มีผลบังคับใช้ภายใน 1 ปี สมบัติ บอกว่า หมายความว่าผู้ที่เคยประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีควบคุมในข่าย และได้รับใบอนุญาตจากหน่วยงานอื่นๆ ได้แก่ ผู้ที่จบวิทยาศาสตร์ที่ได้ใบอนุญาตจัดทำรายงานอีไอเอ (ด้านวิทยาศาสตร์) ผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ในโรงงานอุตสาหกรรม ทำหน้าที่เป็นผู้ควบคุมมลพิษ น้ำ อากาศ และผู้ควบคุมสารเคมีอันตรายที่ได้ขึ้นทะเบียนกับกรมโรงงาน รวมทั้งงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องตามมาตรา 41 แห่ง พ.ร.บ.ผู้ประกอบวิชาชีพเหล่านี้จะต้องมาขอ“ใบอนุญาตควบคุม” จากสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์ฯภายในเดือน ต.ค. 2558

“ทางสภาวิชาชีพนักวิทยาศาสตร์ฯ เล็งเห็นความสำคัญของการออกใบอนุญาตและควบคุมของสภาวิชาชีพ ซึ่งจะมีผลต่อเรื่องของสิ่งแวดล้อมและประชาชนในวงกว้างทั่วไป เพราะถ้าไม่มีผู้มีความรู้ความเข้าใจที่แท้จริงก็จะทำให้เกิดผลเสีย ในขณะเดียวกันสภาวิชาชีพก็จะทำให้เกิดการพัฒนาวิทยาศาสตร์ให้เป็นอาชีพที่มีความสำคัญมากขึ้น และมีความน่าสนใจในการที่จะดึงคนเข้ามาศึกษาและอบรม ผมเป็นประธานอนุกรรมการทางด้านการฝึกอบรมอยู่แล้ว ก็มีบทบาทในการออกใบอนุญาตและการสอบขึ้นทะเบียนต่างๆ ตรงนี้ผมคิดว่าในอนาคตเรื่องวิชาชีพจะทำให้นักศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้มีแรงบันดาลใจในการเข้าสู่อาชีพนี้ในอนาคต เพราะมีความมั่นคง”

แผนงานสำหรับปี 2558 ภารกิจของสภาวิชาชีพนักวิทยาศาสตร์ฯ ที่จะต้องดำเนินการ สมบัติ ขยายความว่า ถือเป็นการบุกเบิกใหม่ มีเนื้อหาที่จะต้องบริหารจัดการมาก ได้แก่ การต้องเตรียมหลักสูตร ฝึกอบรมการสอบที่จะเกิดขึ้น การประชาสัมพันธ์เชิญชวนผู้ประกอบวิชาชีพให้มาเป็นสมาชิก เพื่อที่จะสามารถสมัครอบรม และสอบประเมินผล การประสานกับหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายจะต้องดำเนินการโดยคณะอนุกรรมการหลัก

“ภารกิจที่สำคัญจะต้องดำเนินการควบคู่กับการจัดการฝึกอบรมของคณะกรรมการอบรมแห่งสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์ฯ ได้แก่ การประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ที่บังคับใช้กฎหมายควบคุมในปัจจุบัน ได้แก่ กรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานส่งเสริมรักษาสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานอื่นๆ เพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในอนาคตก็จะมีการเปิดเสรีเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซีเข้ามา ถ้าเราไม่มีระบบให้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ นักวิทยาศาสตร์จากต่างประเทศก็จะเข้ามาทำงานในส่วนของเราได้ ทำให้เสียโอกาส การอบรมจะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาส 2 หรือ 3 ของปีนี้”

ลงรหัสวิชาชีพนักวิทย์และเทคโนฯ รับมือเศรษฐกิจดิจิทัล

 

นายกสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์ฯ เร่งเครื่อง

หากจำกันได้ เมื่อปี 2552 มีการตัดสินคดีประวัติศาสตร์ทางด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโดยตรง เมื่อศาลปกครองระยอง สายสุดา เศรษฐบุตร อธิบดีศาลปกครองระยอง ตุลาการเจ้าของสำนวนได้อ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ 192/2550 ระหว่าง เจริญ เดชคุ้ม กับพวกรวม 27 คน ยื่นฟ้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฐานละเลยไม่ประกาศให้พื้นที่ ต.มาบตาพุด และเทศบาลเมืองมาบตาพุด ตลอดจนพื้นที่ข้างเคียงที่มีปัญหาสิ่งแวดล้อมรุนแรงเป็นเขตควบคุมมลพิษ เพื่อดำเนินการควบคุม ลด และขจัดมลพิษตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 โดยผิดตามมาตรา 59 พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535

การชนะคดีของตัวแทนประชาชนในพื้นที่ ต.มาบตาพุด และเทศบาลเมืองมาบตาพุด ตลอดจนพื้นที่ข้างเคียง ได้กลายเป็นกรณีตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นความสำคัญและโปร่งใสอย่างเป็นธรรมาภิบาลของนักวิชาชีพด้านนี้โดยตรง

นิรุจน์ อุทธา นายกสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ชี้ว่า เนื่องจากการประกอบวิชาชีพดังกล่าวหากปล่อยให้ผู้ที่ขาดความรู้ความเข้าใจ คุณธรรมและจรรยาบรรณเข้ามาดำเนินการ จะมีความเสี่ยงสูงในการทำให้เกิดความเสียหายหรืออุบัติเหตุร้ายแรงที่เป็นอันตรายโดยตรงกับประชาชนและสังคมโดยรวมได้ และผู้ที่อยู่ในวิชาชีพนี้ในปัจจุบันมีการประมาณการว่ามีถึง 2 ล้านคน

“ตอนที่ทำกฎหมายฉบับนี้ ก่อนที่ประกาศใช้ในปี 2550 มีการประมาณการกันว่ามีนักวิทยาศาสตร์หรือผู้ประกอบวิชาชีพทางด้านนี้ ซึ่งไม่จำกัดอยู่เฉพาะวิชาชีพควบคุม จากข้อมูลที่สำรวจกันผ่านการศึกษาวิจัย ก็มีตัวเลขอยู่ที่ประมาณ 2 ล้านคน ซึ่งก็มีเยอะมาก เพราะนักวิทยาศาสตร์มีหลายสาขามาก แต่สิ่งที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนก็คือ ทางด้านผู้ประกอบการที่เป็นภาคเอกชน ซึ่งจะมีเรื่องการใช้สารเคมีในการผลิตค่อนข้างจะเยอะในวงการอุตสาหกรรมซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญ อีกเรื่องคือเรื่องนิวเคลียร์ ซึ่งเป็นพลังงานที่สำคัญในอนาคต แล้วนำมาใช้แพร่หลายมากขึ้น วงการเกษตรปัจจุบันก็นำนิวเคลียร์มาใช้ เรื่องพวกนี้เกี่ยวข้องกับวิชาชีพทั้งนั้น เพราะคนที่เข้ามาทำต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญ สาขาเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อมก็มีมากขึ้น ถ้าใครรู้ว่าสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับตัวเอง ซึ่งใบประกอบวิชาชีพเหล่านี้ก็จะเป็นใบรับรองให้ เพื่อประกอบวิชาชีพอย่างมีศักดิ์ศรียืนยันถึงการมีความรู้และมีจริยธรรม”

กฎหมายที่ควบคุมอยู่ในปัจจุบัน โดยส่วนใหญ่แล้วเป็นกฎหมายที่ออกในนามภาครัฐ เป็นลักษณะควบคุมโดยหน่วยงาน โดยข้อบังคับโดยกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงาน นิรุจน์ ขยายความว่า เมื่อมาเป็นกฎหมายวิชาชีพเป็นการควบคุมคน คอยกำกับดูแลกันเอง

“พอมีใบประกอบวิชาชีพออกมาแล้วก็รวมกลุ่มกันเป็นสภา สมมติว่าคนไหนปฏิบัติตามกฎข้อบังคับชัดเจนมีผลงานดีเด่น สภาก็จะทำหน้าที่ในการส่งเสริม แต่ถ้ากรณีคนใดไปทำนอกลู่นอกทางก็จะมีกระบวนการลงโทษตามกฎหมายเป็นการควบคุม และในขณะเดียวกันก็เป็นการส่งเสริมให้เกิดความเข้มแข็งไปในตัว เป็นสองอย่างที่เดินควบคู่กันไป ซึ่งต่อไปจะเป็นการหนุนเสริมกัน อย่างมีห้องแล็บระดับโลก คนที่ทำมีใบประกอบวิชาชีพมาตรฐาน ทั้งโครงสร้างทั้งความรู้ก็จะมาผนวกและได้มาตรฐานพร้อมกัน ตัววิชาชีพจะเป็นลักษณะการสร้างมาตรฐานที่ตัวคน

ลงรหัสวิชาชีพนักวิทย์และเทคโนฯ รับมือเศรษฐกิจดิจิทัล

 

“เรื่องความหละหลวมในการควบคุมดูแลเพื่อความปลอดภัยเป็นเรื่องใหญ่ อย่างไรก็ดี เรื่องของวิชาชีพก็เป็นจิ๊กซอว์ตัวหนึ่ง เรียกว่าเป็นการปักเสาเข็มในการสร้างบ้าน ถ้าผู้ประกอบวิชาชีพมีความรู้ความสามารถ มีจริยธรรม เวลาที่จะไปประกอบวิชาชีพอะไรมันก็ได้มาตรฐาน เรื่องผิดกฎหมายหรือความหละหลวมในการควบคุมดูแลก็จะลดลงไปตามลำดับ เพราะว่าการควบคุมมาตรฐานเป็นเรื่องของศักดิ์ศรีซึ่งสำคัญมาก ถ้าใครได้รับใบประกอบวิชาชีพแล้วไปทำผิด ก็ไม่สามารถจะได้รับการยอมรับจากกลุ่มวิชาชีพด้วยกัน หรือว่ามีบริษัททำผิดจรรยาบรรณ เวลาทำงานสังคมก็จะมองและคอยตรวจสอบได้

“ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ ในขณะเดียวกันถ้าเราทำได้สำเร็จก็จะมีความเข้มแข็งทางวิชาชีพ ซึ่งจะเกิดความก้าวหน้าในการพัฒนา ถ้าประเทศไหนมีการพัฒนาวิชาชีพที่เข้มแข็งก็จะมีปัญหาเรื่องมาตรฐานน้อย มีปัญหาเรื่องของการคอร์รัปชั่นที่ลดลง และปัญหาเรื่องความไม่ปลอดภัยก็จะลดลงเรื่อยๆ ในเมืองไทยถ้าเรามีการพัฒนาอย่างนี้ร่วมกันคงต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 10 ปีจากจุดเริ่มตรงนี้ เพราะว่ากว่าจะมีกฎหมายวิชาชีพออกมารองรับก็ใช้เวลาไม่น้อยกว่า 10 ปี พอมาสู่การปฏิบัติก็คงต้องใช้เวลาที่ไม่น้อยไปกว่ากันกว่าจะส่งผลที่ชัดเจน”

นิรุจน์ กล่าวต่อว่า ระบบนี้ก็จะมีการเทียบเคียงมาตรฐานสากลในการออกข้อบังคับกฎหมายฉบับนี้ ถ้าพัฒนาได้เร็ว นักวิชาชีพวิทยาศาสตร์ของไทยก็จะได้รับการยอมรับในต่างประเทศได้ด้วย

“ผมมองว่าเป็นเรื่องการพัฒนากำลังแรงงานที่สนับสนุนทางด้านเศรษฐกิจในอีกทางหนึ่งด้วยในอนาคต เศรษฐกิจดิจิทัลเป็นสิ่งที่ต้องช่วยกันคิด สภาวิชาชีพนักวิทยาศาสตร์ฯ ก็กำลังพัฒนาและออกแบบว่าเราจะพัฒนาคู่ไปกับนโยบายนี้ได้อย่างไร เพราะเป็นเรื่องที่สำคัญในการเติบโตทางความทันสมัย ถ้าได้มีผู้ประกอบวิชาชีพที่มีความเชี่ยวชาญทางนี้โดยเฉพาะก็จะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับประเทศ แต่ก็ต้องใช้เวลาเพราะวิทยาศาสตร์มีหลายสาขาที่ต้องทำงาน มีงานที่หนักรออยู่และฝ่าฟันอุปสรรค เพราะกฎหมายมีเจตนารมณ์ให้รวมกลุ่มและควบคุมดูแลกันเองอย่างเข้มแข็ง”

สุดท้าย เขาฝากถึงนักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในเมืองไทยว่า

“มาร่วมสร้างประวัติศาสตร์ของนักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศไทย”

เมื่อมีการออกใบวิชาชีพและควบคุมอย่างเต็มรูปแบบจากสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแล้ว แนวโน้มที่จะช่วยให้ประเทศเราพัฒนาเรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ไกล โดยเฉพาะเรื่องของการจำกัดสิ่งที่จะสร้างผลกระทบต่อประชาชน การเน้นหนักเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม และผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน จะทำให้โศกนาฏกรรมที่เกิดจากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือปล่อยปละละเลย จะถูกควบคุมอย่างเข้มงวดเหมือนประเทศอุตสาหกรรมที่มีมาตรฐานขั้นสูงสุดเท่าที่จะทำได้ต่อไปในอนาคต