posttoday

‘ศศิน’ คัมแบ็ก ปลุกกระแสต้าน ‘เขื่อนแม่วงก์’

29 พฤศจิกายน 2557

“ผมทำเล็กๆ แต่ผมคิดใหญ่นะ เราไม่มีอำนาจที่จะไปทำเรื่องใหญ่ๆ ได้ ผมเลยทำเรื่องเล็กๆ แต่เป็นเรื่องเล็กๆ ที่เป็นจุด Fulcrum”

“ผมทำเล็กๆ แต่ผมคิดใหญ่นะ เราไม่มีอำนาจที่จะไปทำเรื่องใหญ่ๆ ได้ ผมเลยทำเรื่องเล็กๆ แต่เป็นเรื่องเล็กๆ ที่เป็นจุด Fulcrum”

คำพูดนี้บ่งบอกถึงมุมมองแนวคิดของคนที่ชื่อ “ศศิน เฉลิมลาภ” เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้เป็นอย่างดี

ย้อนกลับไปช่วงเดือน ก.ย. 2556 ศศินทำสิ่งเล็กๆ ด้วยการประกาศ “เดินเท้า” จากป่าสู่เมือง รวมระยะทาง 388 กิโลเมตร เพื่อแสดงจุดยืนคัดค้านรายงานการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) โครงการเขื่อนแม่วงก์ เป็นจุดเล็กๆ ที่ทำให้คนทั่วสารทิศเข้ามาเป็นแนวร่วม จนกระแสคัดค้านเขื่อนแม่วงก์เบ่งบานถึงขีดสุด ส่งผลให้การพิจารณาอีเอชไอเอฉบับนี้ต้องชะลอออกไป

มาปีนี้ ศศินทำเรื่องเล็กๆ อีกครั้ง ด้วยการประกาศ “นั่ง” หน้าสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เป็นเวลา 3 วัน 2 คืน ระหว่างวันที่ 17-19 พ.ย.ที่ผ่านมา เป็นจุด Fulcrum ที่ปลุกการรับรู้เรื่องเขื่อนแม่วงก์ให้กลับมาอยู่ในกระแสสังคมอีกครั้ง จนในที่สุด คณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) ก็มีมติไม่สร้างเขื่อนแม่วงก์

นับเป็นเรื่องที่น่าสนใจยิ่ง เพราะแม้จะเป็นการเคลื่อนไหวเล็กๆ ในขีดความสามารถที่คนตัวเล็กๆ จะทำได้ ทว่าทุกขั้นตอนล้วนผ่านกระบวนการกลั่นกรองในเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบคอบ ก่อนจะปรากฏภาพออกมาให้สาธารณชนได้เห็น

ศศิน เล่าย้อนกลับไปถึงช่วงที่เสร็จสิ้นการเดิน 388 กิโลเมตร ว่า คนจะคิดว่าเรื่องเขื่อนแม่วงก์จบแล้ว ซึ่งในความเป็นจริงกระบวนการต่างๆ ยังคงอยู่เหมือนเดิม ขณะเดียวกัน ทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาชุดหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วยนักวิชาการจากสถาบันต่างๆ ตัวแทนกรมอุทยานฯ และกรมชลประทาน มาพิจารณาข้อมูลพื้นที่ป่าในโครงการเขื่อนแม่วงก์ ส่วน คชก.ก็ชะลอการพิจารณาออกไปจนกว่าผลการศึกษาของคณะทำงานจะแล้วเสร็จ เมื่อคณะทำงานใช้เวลา 1 ปีจัดทำรายงานเสร็จ คชก.จึงได้หยิบยกอีเอชไอเอขึ้นมาพิจารณา

ศศิน เล่าว่า ในการประชุม คชก.ครั้งแรกนั้น มีการถกเถียงกันว่าจะนำผลการศึกษาของคณะทำงานมาพิจารณาด้วยหรือไม่ และเชื่อว่ามี คชก.คนหนึ่งพยายามโน้มน้าวที่ประชุมไปในทางที่เห็นชอบอีเอชไอเอ แต่ยังดีที่ตัวแทนจากกรมอุทยานฯ ไม่ยอม ที่ประชุมจึงมีมติให้นำข้อมูลของกรมอุทยานฯ ที่ทำร่วมกับคณะทำงานของ ทส.มาดูรายละเอียดในการประชุมครั้งถัดไป ซึ่งก็คือวันที่ 19 พ.ย.นั่นเอง

“นัยของมันก็คือถ้าข้อมูลกรมอุทยานฯ ไม่มีอะไร ก็คงจะผ่านอีเอชไอเอ นี่คือที่มาที่ทำให้เราต้องเคลื่อนไหวอีกครั้งหนี่ง” ศศิน กล่าว

เมื่อทราบแล้วว่าต้องออกรบอีก ศศินและทีมงานจึงประเมินสถานการณ์ว่าจะเคลื่อนไหวอย่างไรดี เพราะโจทย์การเคลื่อนไหวครั้งนี้ต้อง “รบเร็ว” ก่อนการประชุม คชก.วันที่ 19 พ.ย. มีการประเมินว่าการเสนอยุทธศาสตร์เรื่องเสือ เรื่องป่า คงไม่ได้แล้วในแง่ของการทำแคมเปญ เพราะพูดเรื่องนี้มา 3 ปี ผู้คนล้วนตระหนักรับรู้ไปแล้ว

การรบรอบนี้จึงต้องหลุดไปจากการพูดถึงระบบนิเวศ ในที่สุดก็มาสรุปกันที่การชูประเด็นเรื่อง “ทางเลือกในการจัดการน้ำ” เพื่อตอบโจทย์กลุ่มคนที่ยังมีคำถามในใจว่าถ้าไม่เอาเขื่อนแล้วจะทำอะไร? จะเอาเสือแล้วจะปล่อยคนไว้แบบเดิมหรือ? ซึ่งแนวทางดังกล่าวผ่านการศึกษาและสอบทานกับผู้เชี่ยวชาญ จนพบว่ามีความเป็นไปได้ทางวิศวกรรม จึงเริ่ม Lunch แคมเปญขอทางเลือกการจัดการน้ำออกไปสู่สังคม

เมื่อยุทธศาสตร์ชัดเจนแล้ว ก็เข้าสู่กระบวนการออกแบบแคมเปญภายใต้คอนเซ็ปต์ “ใช้เวลาทุกวันให้มีค่าในการทักท้วงการสร้างเขื่อนแม่วงก์” เริ่มแรก ศศินไปค้นเสื้อ Stop EHIA มาใส่ทุกวัน เสมือนเป็นเครื่องแบบเตรียมตัวเตรียมใจต่อสู้อีกครั้ง เริ่มเขียนข้อความรณรงค์ใส่กระดาษ A4 แล้วถ่ายรูปลงเฟซบุ๊ก ไปจนถึงให้ฝ่ายอาร์ตของมูลนิธิออกแบบโลโก้ จากนั้นก็กระจายออกไปสู่โซเชียลมีเดีย

นอกจากการสื่อสารบนโซเชียลมีเดียแล้ว ยังมีการประชุมยุทธศาสตร์กับทีมงาน ซึ่งศศินคิดว่าคงจะใช้วิธีการ “เดิน” อีกไม่ได้แล้ว เพราะปัจจัยหลายๆ อย่างเปลี่ยนไป

ศศิน อธิบายว่า การเดินครั้งแรกนั้นไม่มีต้นทุนทุกอย่างเริ่มจากศูนย์ เดินเพื่อให้เกิดข่าว และผลพลอยได้คือได้มวลชนจำนวนมากมาด้วย แต่ในการต่อสู้ ถ้าไม่อยากให้แพ้ก็ต้องไม่ให้มวลชนลดลง ดังนั้นถ้าทำวิธีเดิมแล้วคนลดลง ฝ่ายตรงข้ามก็จะหยิบยกเหตุผลนี้มาโจมตีว่าคนไม่สนับสนุนแล้ว

นอกจากนี้ ปัจจัยตอนที่เดินนั้น คนรู้สึกต่อต้านรัฐบาล รู้สึกอยากทำอะไรเพื่อแสดงออก คนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทก็มาร่วมเดิน แม้แต่ฝ่ายเสื้อแดงที่เป็นนักอนุรักษ์ก็มาร่วม

“แต่ปัจจัยตอนนี้มันไม่ใช่แล้ว คนที่เคยเดินกับเราก็อาจจะรักคุณประยุทธ์ ไม่อยากทำอะไรให้รัฐบาลลำบากใจแถมยังมีกฎอัยการศึก แล้วก่อนหน้านี้ “กปปส.” ก็เดิน “กลุ่มปากบารา” ก็เดิน “ขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน” ก็เดิน “เดิน ก้าว แลก” ก็เดิน ที่ร้ายที่สุดคือลุงสะอิ้ง วิ่ง 600 กิโลเมตร ใช้เวลา 5 วัน จาก จ.แพร่ มาโรงพยาบาลศิริราช มันทำลายแบรนด์ 13 วัน 300 กว่ากิโลเมตรของผมหมดเลย (หัวเราะ) ลุงสะอิ้งอายุ 63 ศศินอายุ 46 ดังนั้นทุกคนประเมินว่ามันไม่ได้”

‘ศศิน’ คัมแบ็ก ปลุกกระแสต้าน ‘เขื่อนแม่วงก์’

 

เมื่อเดินไม่ได้ ทุกคนก็ย้อนกลับมาที่แนวคิดว่าจะไปนอนกางเต็นท์หน้า สผ. ซึ่งวิธีนี้เป็นแนวคิดแรกเริ่มก่อนจะพัฒนาไปสู่การเดินในปี 2556 แต่ถ้าจะกางเต็นท์ก็ต้องให้ อาจารย์รตยา จันทรเทียร ประธานกรรมการมูลนิธิสืบฯ ไปนอนถึงจะเป็นประเด็น เพราะถ้าเอาศศิน อายุ 46 ปี ไปกางเต็นท์นอน ก็ไม่มีประโยชน์อะไร ครั้นจะอดอาหาร 3 วันก็คงไม่ตายอีก

“ผมนึกถึงเรื่องของการทำทุกนาทีให้มีค่าว่ามันคืออะไรอีก ประชุมกับน้องๆ อยู่ๆ ผมก็โพล่งขึ้นมาว่า พี่คงทำอะไรไม่ได้มากกว่าไปนั่ง”

เมื่อตัดสินใจนั่ง ก็มาสู่การออกแบบว่าจะนั่งอย่างไร มีการวางแผนว่าจะนั่งหน้าป้าย สผ. ตั้งแต่วันจันทร์ (17 พ.ย.)โดยไม่ลุกไปไหน นอนก็นอนหลับนกหลังพิงกำแพง และถ้านั่งหลายคน ก็เหมือนเป็นการชุมนุม เลยต้องนั่งคนเดียวเพื่อไม่ให้เข้าเงื่อนไขกฎอัยการศึก และถ้าถูกจับ อาจารย์รตยาก็จะประกาศนั่งต่อ วางแผนกระทั่งว่าจะมีรูปคุณสืบและกระถางธูปด้วย เหมือนขอให้คุณสืบมาช่วย ใครไปใครมาจะได้จุดธูปให้ควันโขมงไปหมด

“แต่ผมไม่ได้ไปสำรวจสถานที่ พอเอาเข้าจริงๆ ที่มันแคบมาก สุดท้ายน้องๆ เลยดีไซน์ว่าเอาเก้าอี้แบบไม่มีพนักพิงไปนั่ง ยิ่งเติมความลำบากเข้าไปอีก ต้องเป็นเก้าอี้ที่นั่งแล้วเมื่อย ลองไปนั่งหน้าหอศิลป์ ปรากฏว่าเก้าอี้เตี้ย เวลาคนมาถ่ายรูปก็ต้องย่อเข่าลง เป็นผู้หญิงก็ลำบาก เลยต้องทำตัวลำบากเข้าไปอีกคือต้องนั่งเก้าอี้สูง นอนก็ไม่ได้ (หัวเราะ)”

ศศิน กล่าวต่อไปว่า ด้วยคอนเซ็ปต์ทำทุกนาทีให้มีค่า จึงพยายามกินให้น้อย จะได้ไม่ต้องไปเข้าห้องน้ำ เพื่อจะได้นั่งอยู่ให้คนเห็นว่าไม่ได้ไปไหน เริ่มนั่งวันแรก โพสต์เฟซบุ๊กตอน 7 โมงเช้าก็มีคนมาเยี่ยมมาขอถ่ายรูปเลย เฉลี่ยครึ่งชั่วโมง/1 คน วันนั้นกินกล้วยไปแค่ใบเดียว แขกคนสุดท้ายกลับไปตอนตี 3 พอเข้าวันที่ 2 ถือว่าพีกที่สุด มีคนมาเยี่ยมให้กำลังใจตั้งแต่ตี 5 มีสื่อมวลชนมาทำข่าวมากมาย หมดแรงจนจะเป็นลม เหนื่อยยิ่งกว่าตอนเดินเสียอีก พอเข้าวันที่ 3 กระบวนการก็เข้าสู่การประชุม ซึ่งผลประชุมก็ค่อนข้างปิดทางเขื่อนแม่วงก์

ศศินประเมินว่า แม้ในเชิงหลักการ รายงานอีเอชไอเอฉบับนี้ยังอยู่ในการพิจารณาของ คชก. แต่ในทางพฤตินัยถือว่าโครงการล้มไปแล้ว เพราะข้อมูลสภาพป่าในอีเอชไอเอ กับข้อมูลของกรมอุทยานฯ ไม่ตรงกัน นำไปสู่การประเมินมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมที่ผิดเพี้ยนไปด้วย เมื่ออีเอชไอเอผิด กรมชลประทานก็ควรถอนเรื่องออกไป

“ผมคิดว่าเป็นผลจากการที่สาธารณชนมาร่วมกับเราพอสมควร กรมอุทยานฯ ก็แสดงตัวคัดค้าน เพราะก่อนหน้านี้เขารู้แต่ว่ามันดีแต่ไม่มีข้อมูลสนับสนุน จนพอมีการตั้งคณะทำงานของ ทส. ทางกรมอุทยานฯ ก็หางบมาทำวิจัยได้ เมื่อวิจัยเสร็จก็ทำให้กรมอุทยานฯ มีเหตุผลเพียงพอที่จะกล้าออกหนังสือว่าไม่ควรสร้าง ทั้งหมดมันก็มาจากการเดิน ทำให้เกิดคณะทำงาน ทำให้มีการจัดสรรงบ ทุกอย่างก็ค่อยๆ คลี่คลายไป”

แม้ประตูการสร้างเขื่อนแม่วงก์จะสะดุดลงอีกครั้ง แต่ศศินมองว่ายังคงต้องทำงานต่อไป ในเรื่องของการสนับสนุนทางเลือกในการจัดการน้ำให้เกิดความยั่งยืน เพราะเป็นสิ่งที่จะป้องกันการเกิดเขื่อนในป่าได้อย่างแท้จริง ดังนั้นมูลนิธิสืบฯ ต้องเปิดพื้นที่การทำงานใหม่ ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เกิดได้จริง การขับเคลื่อนเรื่องนี้จึงไม่ใช่ยุทธศาสตร์การต่อสู้ แต่เป็นเรื่องการ Convince ผู้มีอำนาจให้เห็นด้วยกับแนวทางนี้

“ตอนนี้มีเขื่อนที่สร้างไม่ได้ 20-30 เขื่อน เพราะมีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและชุมชน ถ้าโมเดลการจัดการน้ำทางเลือกที่แม่วงก์พอทำได้ ต่อไปเขื่อนที่มีปัญหาอยู่ก็ยังพอมีทางเลือกอื่น แล้วถ้ามันลดความขัดแย้งได้ มันก็มีคุณูปการต่อประเทศไทยเต็มๆ เรายอมเหนื่อยแต่ผลที่ได้มันก็คุ้ม” ศศิน กล่าวทิ้งท้าย