posttoday

‘จิตรกรเลือดใหม่ไฟแรง’ ชูศิษฐ์ วิจารณ์โจรกิจ

13 เมษายน 2557

ทำเนียบจิตรกรเลือดใหม่ของเมืองไทยที่มีฝีมือฉกาจและอนาคตไกล ต้องมีชื่อของ ชูศิษฐ์

โดย...วราภรณ์ / ภาพ : David Wang

ทำเนียบจิตรกรเลือดใหม่ของเมืองไทยที่มีฝีมือฉกาจและอนาคตไกล ต้องมีชื่อของ ชูศิษฐ์ วิจารณ์โจรกิจ ขึ้นอันดับต้นๆ เพราะด้วยฝีมือเจนจัดในด้านการวาดภาพ ไม่เพียงมีชื่อเสียงแต่ในเมืองไทยเท่านั้น ชูศิษฐ์คือศิลปินไทยคนแรกที่สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศการประกวดวาดภาพลายเส้นจาก “อเมริกัน อาร์ติสต์ แมกกาซีน” ที่ได้รับการยอมรับในแวดวงศิลปะมานานกว่า 70 ปี และด้วยฝีมือหาตัวจับยาก ทำให้เขาได้รับทุนจาก Leslie T. Posey Foundtion ศึกษาต่อในระดับปริญญาโทที่ New York Academy of Art สหรัฐ

ขณะกำลังศึกษาอยู่นี่เอง เขาได้รับเกียรติให้เป็น 1 ใน 7 ศิลปินร่วมแสดงผลงานในนิทรรศการ “Painting from the Past” ที่จัดโดย The Metropolitan Museum of Art นครนิวยอร์ก ซึ่งถือเป็นเกียรติสำหรับจิตรกรตัวเล็กๆ ชาวไทยคนนี้เป็นอย่างมาก

แต่กว่าชูศิษฐ์จะฝึกฝนตนเองให้เก่งขนาดนี้ได้ ต้องผ่านบทพิสูจน์และการเรียนรู้มากมาย แง่มุมหลายอย่างแห่งการฝึกฝีมือแบบไม่หยุดนิ่งของเขา อาจเป็นแรงบันดาลใจให้น้องๆ รุ่นหลังได้

รักศิลปะ ฝีมือดีจนได้รับทุน

ชูศิษฐ์ ศึกษาจบระดับปริญญาตรี จากคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ด้วยผลการเรียนดีเยี่ยม สิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจให้เขารักศิลปะเริ่มต้นตั้งแต่เด็กๆ จำได้ว่าพอเริ่มขีดๆ เขียนๆ ได้เขาก็วาดรูปเลย ส่วนการทำงานศิลปะ เรื่องของความพากเพียร การทำงาน การสร้างความดี รวมถึงคุณธรรมในการใช้ชีวิตนั้น เกิดขึ้นด้วยความศรัทธาในกระแสพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็นแรงบันดาลใจให้กับเขา

‘จิตรกรเลือดใหม่ไฟแรง’ ชูศิษฐ์ วิจารณ์โจรกิจ

 

ปัจจุบันชูศิษฐ์ได้รับทุนศึกษาต่อระดับปริญญาโท สาขาจิตรกรรม ที่ New York Academy of Art หลักสูตร 2 ปี ซึ่งกว่าที่เขาจะได้รับทุนนี้เป็นเรื่องที่ยากมากๆ เหมือนกับการกลับไปเริ่มต้นเรียนศิลปะใหม่

“เรียนหนักมาก การบ้านก็เยอะ ทุกอาทิตย์ที่โรงเรียนจะมีศิลปินดังๆ และผู้ทรงคุณวุฒิเก่งๆ ในวงการศิลปะมาบรรยายที่โรงเรียนอย่าง เช่น ผู้อำนวยการมิวเซียม LACMA นครลอสแองเจลิส โรเบอร์ตา สมิธ นักวิจารณ์ศิลปะจากหนังสือพิมพ์ เดอะ นิวยอร์ก ไทมส์ มาให้ความรู้ ”

การเรียนการใช้ชีวิตที่นิวยอร์กสอนให้เขาได้มองเห็นชีวิต ความฝัน และอุดมการณ์ของศิลปินผู้ทำงานศิลปะ การต่อสู้ที่ทุกคนที่นี่ทำงานหนัก เพื่อสัจธรรมพื้นฐานที่แท้จริงของคนที่นี่ คือ คุณต้องเก่งจริงคุณถึงจะอยู่ที่นิวยอร์กได้

จิตรกรต้องฝึกฝนเทคนิควาดภาพไม่สิ้นสุด

ด้วยความชื่นชอบส่วนตัว คือ การดูงานในพิพิธภัณฑ์ที่ต่างประเทศ และแนววาดภาพแนวจิตรกรรมสากล การวาดภาพเหมือนฟิเกอเรทีฟที่จำเป็นต้องอาศัยหลักอคาเดมิค ทำให้เขาสนใจในเทคนิคยุโรปโบราณ การเข้าใจในการใช้สี ผสมสี การเรียนอนาโตมี ทำให้จำเป็นมากๆ ที่เขาจะต้องไปเรียนรู้และศึกษาเทคนิคของการวาดภาพแนวที่เขาชื่นชอบในต่างประเทศ

“เมื่อมาที่นิวยอร์ก มีวิชาเลือกที่สามารถเข้าไปคัดลอกผลงานในพิพิธภัณฑ์ The Metropolitan Museum of Art ผมจึงตัดสินใจเลือกที่จะคัดลอกผลงานของศิลปินท่านนี้ กว่าจะวาดได้ต้องสืบค้นประวัติการทำงานของศิลปินท่านนี้ก่อนที่เราจะเริ่มต้น ทุกขั้นตอนการทำงานต้องวางแผนให้ละเอียด วางแผนรับมือกับทุกปัญหาที่จะเกิด เช่น นักท่องเที่ยวมุงดู สอบถาม เราต้องบริหารเวลาให้ได้ เพราะมิวเซียมให้เวลาทำงานค่อนข้างจำกัดมาก

การทำงานที่พิพิธภัณฑ์ในครั้งนี้ ทำให้มิวเซียมเล็งเห็นความสำคัญและได้จัดนิทรรศการพิเศษ เพื่อโชว์ผลงานพร้อมทั้งเดมอนสเตรชั่นสาธิตการวาดรูปรีโปรดักชั่นจากงานโอลด์มาสเตอร์ ครั้งนั้นผมเป็น 1 ใน 7 ของศิลปินที่ได้รับเชิญ ในการแสดงงานได้รับคำชื่นชมทั้งจากทางมิวเซียมและจากผู้ที่มาชมในนิทรรศการเป็นอย่างมากครับ

ท้ายสุดหลังจากการแสดงงานร่วม 2 เดือน ทาง The Metropolitan Museum of Art ได้นำรูปผมขณะกำลังเดมอนสเตรชั่นที่มิวเซียม ไปขึ้นเป็นปกเอกสารสำหรับแจกแก่นักท่องเที่ยวจำนวนมากที่มาเยือนมิวเซียม อาจารย์ผู้สอน ศ.เอ็ดเวิร์ด ชมิดต์ ที่ผมนับถือมากๆ เกิดความปลื้มปีติกับผลงานและเป็นชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัย ผมอยากบอกว่า ฝีมือคนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก ถ้ามุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำสิ่งใดจริงๆ”

‘จิตรกรเลือดใหม่ไฟแรง’ ชูศิษฐ์ วิจารณ์โจรกิจ

 

ศิลปินที่ดี ต้องเป็นตัวของตัวเอง

ภาพวาดที่ชูศิษฐ์ถนัดมากๆ คือ ภาพพอร์เทรต และยังมีผลงานที่ได้รับแรงบันดาลใจอื่นๆ มาจากพุทธปรัชญา เทพนิยาย และบทเพลง รวมทั้งธรรมชาติและสิ่งที่อยู่รอบตัวเขา ชูศิษฐ์ชอบวาดรูปแนวฝันๆ โรแมนติกๆ อย่างไรก็ดี ศิลปินแต่ละคนมีความแตกต่างกัน นี่คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้การสร้างสรรค์งานศิลปินออกมาต่างกัน ผลงานจึงมีเอกภาพ ศิลปินที่ดีจึงต้องเป็นตัวของตัวเอง ไม่ว่าแนวทางใดก็แล้วแต่ ขอเพียงแค่ให้มีใจรัก มีจิตวิญญาณเพื่อการทำงานศิลปะอย่างแท้จริง

พิสูจน์ได้จากผลงานที่สร้างชื่อให้เข้าตลอดหลายสิบปี ไม่ว่าจะเป็นภาพพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระบรมสาทิสลักษณ์พระสุพรรณกัลยา ฯลฯ และล่าสุดคือ ผลงานการวาดรูปคัดลอกที่ The Metropolitan Museum ซึ่งมีคนติดต่อขอซื้อเยอะมากจนเขารู้สึกแปลกใจ แต่เขาตัดสินใจนำภาพนั้นกลับมาจัดแสดงที่เมืองไทยก่อน เพื่อคาดว่าจะเป็นประโยชน์แก่นักศึกษาและผู้ที่รักการวาดภาพพอร์เทรตในเมืองไทย ได้เห็นเทคนิควิธีการบางอย่างจากการทำงานกับผลงานโอลด์มาสเตอร์จริงๆ ซึ่งมีคุณค่ามากและสามารถนำเอาเทคนิควิธีการมาพัฒนาเพิ่มเติมศักยภาพในการทำงานบางอย่างให้แก่วงการภาพเหมือนในเมืองไทย


เทคนิคการวาดภาพให้เข้าถึงอารมณ์

ใครเคยเห็นงานของชูศิษฐ์ จะสัมผัสได้ถึงความอ่อนหวานราวกับภาพมีชีวิต ซึ่งการรังสรรค์งานแต่ละครั้ง เขาเริ่มต้นจากการกำหนดอารมณ์เนื้อหาความคิดและเรื่องราวไปพร้อมๆ กันในสิ่งที่เขาอยากจะถ่ายทอด จินตนาการแล้วค้นหาความเคลื่อนไหว องค์ประกอบ อากาศ สี แสง และเงา และจัดน้ำหนักในภาพด้วยการสเกตช์คร่าวๆ เพราะองค์ประกอบเหล่านี้เป็นตัวรันให้ผลงานนั้นสื่อสารและขับเคลื่อน จากนั้นเขาจึงหาเทคนิคซัพพอร์ตที่จะทำให้ผลงานนั้นใกล้เคียงกับภาพที่อยู่ในหัว ดังนั้น เทคนิคและอุปกรณ์ที่ใช้วาดจึงเปลี่ยนไปตามผลงานแต่ละชิ้น

“ผมจะใช้วัสดุอุปกรณ์ที่ดีที่สุดเสมอ เพราะว่าอุปกรณ์มีส่วนสำคัญอย่างมากในการวาดรูป ส่วนเรื่องสัมผัสที่อ่อนไหว ความล่องลอยฟุ้งฝันบางอย่างที่แทรกอยู่ในงานที่อาจเกิดจากเส้น ฝีแปรง หรือการใช้สี ซึ่งอาจารย์ที่สอนผมเมื่อเห็นภาพของผมก็บอกว่า ให้ผมรักษาอัตลักษณ์นี้ไว้ให้ดี รักษาไว้อย่างทะนุถนอม เพราะมันคือสิ่งที่เข้มแข็งที่สุดในงานของผม ซึ่งใครก็ลอกเลียนแบบไม่ได้”

อยากเก่งต้องหมั่นเรียนรู้และฝึกฝน

การเป็นจิตรกรที่เก่ง พรสวรรค์ที่ติดตัวมาก็เป็นสิ่งสำคัญ แต่หากเกียจคร้านที่จะฝึกฝนฝีมือตัวเองอย่างสม่ำเสมอแล้ว พรสวรรค์นั้นก็ไม่มีประโยชน์ ดังนั้น หากศิลปินรุ่นน้องอยากเก่ง ก็ต้องหมั่นศึกษาหาความรู้ใส่ตนเสมอ

สำหรับน้องๆ หากอยากเป็นจิตรกรที่เก่งต้องฝึกฝนทักษะด้านการวาดภาพเป็นพิเศษ เดินทางไปที่ไหนก็ควรมีสมุดสเกตช์ดีๆ ติดมือไว้เสมอๆ เพื่อฝึกฝีมือตนเอง

“ถ้ามีเวลาผมว่าการคัดลอกผลงานครูชิ้นเยี่ยมๆ เช่น ภาพจิตรกรรมฝาผนังโบสถ์ที่สำคัญๆ รวมทั้งจิตรกรรมตะวันตกชิ้นมาสเตอร์พีซชิ้นที่เราประทับใจ เน้นให้วาดรูปเยอะๆ จนกว่าสีและเขม่าดินสอ ชาร์โคล เกรยอง จะซึมลึกเข้าไปในกระดูก อีกทั้งควรหาแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงาน เข้ามิวเซียมไปชมงานนิทรรศการศิลปะเยอะๆ ไม่เฉพาะแค่การค้นหาความเป็นออริจินัลตี้ แต่ควรมีความลึกซึ้งในงานศิลปะที่ทำด้วย ผมเชื่อว่าถ้าเรามีความรักความตั้งใจในการทำงานอะไรก็แล้วแต่จริงๆ อย่างไม่ย่อท้อ ทุกคนก็สามารถประสบความสำเร็จได้”

ชูศิษฐ์ วิจารณ์โจรกิจ

การศึกษา : ศิลปมหาบัณฑิต (Master of Fine Arts) สาขาจิตรกรรม New York Academy of Art นครนิวยอร์ก สหรัฐ

ศิลปบัณฑิต (Bachelor of Fine Arts) (เกียรตินิยมอันดับ 2) สาขาจิตรกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร

เกียรติประวัติ : 2554 ผลงาน วันพระจันทร์เต็มดวงที่ Lake Perris/Full Moon at Lake Perris คอลเลกชั่นของพิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย MOCA

2552 ผลงาน ปฏิทินไทยพาณิชย์ ชุด พระคู่ขวัญของแผ่นดิน พ.ศ. 2552

2550 รางวัลที่ 1 วาดเส้น หนังสืออเมริกัน อาร์ติสต์ แมกกาซีน ครบรอบ 70 ปี สหรัฐ

2548 อาร์ติสต์ เมมเบอร์ แคลิฟอร์เนีย อารต์คลับ สหรัฐ

25392544 ผลงานชุด พระบรมสาทิสลักษณ์ พระสุพรรณกัลยา รวมทั้งผลงาน “ถวายองค์” เพื่อผลงานวิจัยของ ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์

2542 ทุน พญ.นลินี ไพบูลย์ ศึกษาเทคนิคและดูงานด้านพอร์ซเลน ที่สหรัฐ

2540 ทุน FriedelOcker ศึกษาเทคนิคโอลด์มาสเตอร์ และดูงานที่ประเทศเยอรมนี

ต้นแบบงานศิลปะ : อาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต คือต้นแบบในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะของชูศิษฐ์ ร่วมทั้งอาจารย์สอนศิลปะท่านอื่นๆ ของเขาซึ่งเปรียบเสมือนครูผู้สร้าง

“อาจารย์จักรพันธุ์ได้สอนให้ความรู้อันเป็นประโยชน์มากมาย รวมทั้งแนะนำเพิ่มเติมสิ่งสำคัญในการทำงานศิลปะผม ได้ชมสุดยอดผลงานจิตรกรรมทั้งแบบไทยประเพณีและศิลปะร่วมสมัย รวมทั้งงานหุ่นกระบอกของอาจารย์ที่มีความละเอียดประณีตงดงาม ชื่นชมในความอัจฉริยะ เป็นเอก และเป็นหนึ่งเดียวของอาจารย์ เต็มอิ่มไปด้วยศิลปะชั้นเยี่ยม”