posttoday

แก้ภัยแล้งด้วยศาสตร์ของพระราชา

07 เมษายน 2557

ในวันที่ปรอททะลุ 40 องศาเซลเซียส ประเทศไทยมองไปทางไหนก็มีแต่แดด แดด และความร้อน

โดย...วันพรรษา อภิรัฐนานนท์

ในวันที่ปรอททะลุ 40 องศาเซลเซียส ประเทศไทยมองไปทางไหนก็มีแต่แดด แดด และความร้อน คงไม่ผิดหากจะกล่าวว่า พวกเราทุกคนกำลังเดินเข้าสู่ภาวะภัยแล้งอย่างเต็มรูปแบบ “อาจารย์ยักษ์” ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร แห่งสถาบันเศรษฐกิจพอเพียงและมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ก็บอกว่า ใช่! นี่จะเป็นปีที่แล้งที่สุดในประวัติศาสตร์แห่งความแล้ง

แก้ภัยแล้งด้วยศาสตร์ของพระราชา

อาจารย์เล่าให้ฟังถึงโครงการโคกหนองนาโมเดล ซึ่งใช้ศาสตร์ของพระราชาในการบริหารจัดการดิน น้ำ ป่าและคน เพื่อการแก้ไขปัญหาในระดับลุ่มน้ำอย่างยั่งยืน ทั้งการจัดการน้ำแล้งและการจัดการน้ำท่วม โครงการเริ่มมาตั้งแต่ปีที่แล้ว พื้นที่เป้าหมายคือลุ่มป่าสัก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงห่วงที่สุด

“ทรงมีพระราชดำรัสแก่นายกรัฐมนตรีและคณะผู้รับผิดชอบการบริหารจัดการน้ำเมื่อปีที่แล้วว่า...แม่น้ำป่าสักจะบริหารจัดการได้ยากที่สุด เพราะปริมาณน้ำไหลลงอ่างสูงมาก หลายเท่าของความจุอ่าง...” อาจารย์ยักษ์ เล่า

อาจารย์เล่าต่อไปว่า ลุ่มป่าสักมีพื้นที่ประมาณ 10 ล้านไร่ ตั้งแต่ จ.เลย เพชรบูรณ์ ไล่จากเหนือลงมาทางใต้ถึง จ.พระนครศรีอยุธยา ปริมาณน้ำฝนประมาณ 5,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี หากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ซึ่งทำหน้าที่เก็บกักน้ำจากแม่น้ำป่าสักมีความจุเขื่อนแค่ 850-960 ล้านลูกบาศก์เมตร ถ้าปีไหนน้ำมากก็เกิดปัญหาอุทกภัย ส่วนกรณีแล้ง น้ำไม่มีเก็บ ปัญหารุนแรงไม่แพ้กัน

สำหรับการน้อมนำศาสตร์ของพระราชามาใช้ในการจัดการน้ำแล้งน้ำท่วม มีหลักการสำคัญว่าพื้นที่ต้นน้ำต้องอนุรักษ์ฟื้นฟู พื้นที่กลางน้ำต้องจัดการกักเก็บน้ำ และพื้นที่ปลายน้ำต้องบำบัดป้องกัน โดยการดำเนินการมุ่งทำทั้งกระบวนที่เกี่ยวเนื่องทั้งดิน น้ำ ป่า คน ที่ต้องสอดคล้องเป็นอันหนึ่งอันเดียว

แก้ภัยแล้งด้วยศาสตร์ของพระราชา

 

“ศาสตร์ของพระราชาที่ใช้ในการจัดการน้ำ ประกอบด้วย หลายอย่างประกอบกัน ทั้งการทำฝนหลวง การปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง การฟื้นฟูป่าต้นน้ำ การปลูกป่าเปียก ฟื้นฟูดิน ห่มดิน ปลูกแฝก สร้างแก้มลิง ทำฝาย ทำหลุมขนมครก และการทำโคกหนองนาโมเดล”

โคกหนองนาโมเดลคือ การสร้างโคกบนพื้นที่ของตัวเอง จากการนำดินที่ได้จากการขุดหนองนำมาถมเป็นโคก เพื่อสร้างที่อยู่อาศัย ปลูกบ้าน ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ รวมทั้งปลูกต้นไม้ตามแนวทางของพระราชาคือ ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง เพื่อใช้กินหนึ่งใช้ประโยชน์หนึ่ง และใช้ปลูกสร้างที่อยู่อาศัยหนึ่ง ส่วนผลพลอยได้อีกหนึ่งคือ สมดุลระบบนิเวศ

สำหรับหลุมขนมครก มีหน้าตาอย่างไร ก็ให้นึกภาพถาดขนมครก ที่มีลักษณะเป็นเบ้าหรือหลุมเล็กๆ กระจายไปทั่วทั้งถาดขนม ประกอบด้วย พื้นที่ในการเก็บกักน้ำหลายๆ รูปแบบ ได้แก่ หนอง คลองไส้ไก่ ฝายชะลอน้ำ รากต้นไม้ช่วยดูดซับน้ำฝนเก็บไว้เป็นน้ำใต้ดิน และหัวคันนาที่ยกสูงจากปกติ หลุมขนมครกเหล่านี้กระจายไปในพื้นที่ลุ่มน้ำ ทำหน้าที่เก็บน้ำไว้ใช้ยามแล้ง และรองรับน้ำในหน้าน้ำหลาก

สถาบันเศรษฐกิจพอเพียงและมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ได้จัดทำโมเดลต้นแบบตามแนวพระราชดำริเรื่องหลุมขนมครกขึ้นที่มาบเอื้อง จ.ชลบุรี และที่ชุมชนบ้านหนองโน จ.สระบุรี ยึดหลักการผสมผสานเกษตรทฤษฎีใหม่กับภูมิปัญญาพื้นบ้าน ที่ทำได้ง่ายและเก็บน้ำได้จริง พบว่าพื้นที่ต้นแบบ 40 ไร่ สามารถอุ้มน้ำได้ 85,200 ลูกบาศก์เมตรต่อปี

ถ้าพื้นที่ 10 ไร่ จะอุ้มน้ำได้ 20,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปี คะเนดูว่าชาวบ้านในพื้นที่ลุ่มน้ำป่าสักจำนวน 1 แสนราย สมมติว่าแต่ละคนมีพื้นที่ 10 ไร่ หากนำทฤษฎีหลุมขนมครกไปปรับใช้ก็จะเก็บกักน้ำได้ถึง 2,000 ล้านลูกบาศก์เมตร เท่ากับความจุเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ถึง 2 เขื่อน

“ถ้ามีพื้นที่ 10 ไร่ ขุดหนองไว้เก็บน้ำตามสัดส่วน ก็จะได้น้ำ 2 หมื่นลูกบาศก์เมตร เพียงพอต่อการปลูกพืชเลี้ยงสัตว์และทำนาในแต่ละปี ถ้าน้ำท่วมก็ขึ้นไปอยู่บนโคก ถ้าน้ำแล้งก็ใช้น้ำจากหนองที่ขุดไว้ แต่ถ้าไม่ขุดไม่ทำฝนตกลงมาบนท้องนา ก็เอ่อทิ้งไป น้ำล้นลงไปท่วมเพื่อนที่อยู่พื้นที่ต่ำ ตัวเราก็ใช่ว่าจะไม่เดือดร้อน น้ำท่วมน้ำแล้งพืชผลทุกอย่างตาย อยู่ยาก ฟื้นยาก”

แก้ภัยแล้งด้วยศาสตร์ของพระราชา

 

โคกหนองนาโมเดลแบ่งโครงการเป็น 3 ระยะ ระยะละ 3 ปี เป้าหมายคือ 1 แสนครัวเรือน ภายใน 9 ปี ถึงตอนนั้นโคกหนองนาตลอดลุ่มป่าสักจะกักเก็บน้ำได้ 2,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ป้องกันปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยได้อย่างยั่งยืน

สำหรับสามปีแรกเป็นการเผยแพร่ความรู้ อบรมบ่มความคิดศาสตร์พระราชาและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตอกย้ำความรู้ความเข้าใจแก่ชุมชนเป้าหมาย ขณะเดียวกันก็แสวงหาความร่วมมือจาก 5 ภาคส่วน คือ ภาคราชการ ภาควิชาการ ภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมและสื่อมวลชน

“ภาครัฐโดยเฉพาะทหารเข้มแข็งมาก ประกาศทำให้ได้ 100 จุด ภายใน 6 เดือนนี้ ส่วนราชการส่วนท้องถิ่นตอบรับดี ก็จะค่อยๆ พัฒนาเป็นศูนย์ฝึกการเรียนรู้ ต่อยอดขึ้นไป ในภาคประชาชน ปีนี้เป็นปีแรก คนสนใจกันมาก เฉพาะแค่ที่หนองแซง จ.สระบุรี ประกาศเข้าร่วม 300 ราย หนึ่งในนี้ขุดไปแล้ว 5 หมื่นลูกบาศก์เมตร”

สำหรับภาคเอกชน ประกอบด้วย บริษัท ธนธาร ริเวอร์กรุ๊ป บริษัท เคเอสแอลกรุ๊ป เครือข่ายอุตสาหกรรมพอเพียง โดยเฉพาะบริษัท เชฟรอน ประเทศไทยสำรวจและผลิต ซึ่งร่วมกับบริษัท เจเอสแอล โกลบอล มีเดีย ทำโครงการพลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน The Power of Human Energy : A Journey Inspired by the King

ไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนฯ เล่าว่า โครงการฯ เชิญชวนคนไทยมาร่วมเดินทางเพื่อเรียนรู้จากปลายน้ำสู่ต้นน้ำ จากกรุงเทพฯสระบุรี หนึ่งในรอยทางแห่งลุ่มป่าสักที่ในหลวงทรงเป็นห่วง ปรากฏว่ามีจิตอาสาเข้าร่วมกว่า 2,000 คน ได้เรียนรู้และน้อมนำศาสตร์พระราชามาใช้ เพื่อการสานต่อและปฏิบัติให้เกิดผลถือเป็นขั้นแรกแห่งความสำเร็จ

“เชฟรอนฯ จะทำงานร่วมกับสถาบันเศรษฐกิจพอเพียงและมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อย 3 ปี มุ่งเน้นที่ลุ่มป่าสัก เพื่อให้เห็นผลชัดและเป็นต้นแบบให้กับอีก 25 ลุ่มน้ำทั่วประเทศ”

แก้ภัยแล้งด้วยศาสตร์ของพระราชา

 

บุญล้อม เต้าแก้ว เกษตรกรตัวอย่างจากศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านหนองโน จ.สระบุรี เล่าว่า ซึ่งเข้าร่วมโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่เมื่อ 10 ปีก่อน จากติดลบเป็นหนี้เป็นสินกว่า 2 แสนบาท ปัจจุบันใช้หนี้หมดและมีรายได้ต่อวันไม่ต่ำกว่า 500 บาท มีรายได้ต่อปีไม่ต่ำกว่า 6 แสนบาท เขาบอกว่า สำหรับเกษตรกรแล้วน้ำคือต้นทางของชีวิต เมื่อบริหารจัดการน้ำได้ ชีวิตก็อยู่ได้

“น้ำมา เราก็ไปอยู่บนโคก เราก็รอด ถ้าน้ำไม่มี เราก็ไปเอาน้ำจากหนองมาใช้ เราก็รอด เราอยู่รอดด้วยตัวของเราเอง โครงการรวมพลังตามรอยพ่อฯ ทำให้เกษตรกรกักเก็บน้ำและบริหารน้ำไว้ใช้เอง ไม่ต้องรอชลประทานเพียงอย่างเดียว”

ส่งท้ายด้วยประธานสถาบันเศรษฐกิจพอเพียงและมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ที่กล่าวว่านี่คือแนวคิดพระราชทานของในหลวง ที่จะกระจายความเสี่ยงเรื่องภัยจากน้ำ โดยให้ชาวบ้านกันที่ไว้เก็บน้ำไว้เป็นการส่วนตัว มีหนองน้ำส่วนตัว มีคลองไส้ไก่ มีฝาย หรือยกหัวคันนาไว้ กักเก็บน้ำด้วยตัวของตัวเอง พึ่งตัวเอง แก้ปัญหาได้ด้วยตัวของตัวได้

“นี่เป็นแนวคิดสำคัญที่ต้องการให้ชาวบ้านในที่ลุ่มน้ำกระจายกันเก็บน้ำ ชาวบ้านที่มีที่ดินต้องช่วยกันกัก ต้องช่วยกันเก็บ ไม่ใช่รอแต่รัฐ รอแต่เขื่อน ทำอย่างไรจึงจะหนุนเสริมให้ทุกคนเก็บกักน้ำไว้ใช้ให้เพียงพอในส่วนของตัว เพราะนี่แหละคือความมั่นคงเรื่องน้ำ ความมั่นคงทางอาหารและการผลิต ซึ่งท้ายที่สุดแล้วคือความมั่นคงในทุกมิติ"