posttoday

สังเวยศพแรก ‘มือ เท้า ปาก’ ระวัง! เชื้อลามทุ่ง

18 มกราคม 2557

สัปดาห์ที่ผ่านมา มีนักเรียนชั้นอนุบาล อายุเพียง 3 ขวบ ต้องจบชีวิตลงด้วยโรค “มือ เท้า ปาก”

โดย...ธนวัฒน์ เพ็ชรล่อเหลียน

สัปดาห์ที่ผ่านมา มีนักเรียนชั้นอนุบาล อายุเพียง 3 ขวบ ต้องจบชีวิตลงด้วยโรค “มือ เท้า ปาก”

กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดย นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. สั่งการล้อมคอกปิดกั้นการแพร่ระบาดของโรคอย่างเร่งด่วน ส่งเจ้าหน้าที่สอบสวนเคลื่อนที่เร็วลงควบคุมโรคที่โรงเรียน และติดตามที่บ้านของผู้เสียชีวิต ล่าสุดพบเด็กในโรงเรียนเดียวกันที่ติดเชื้อเพิ่มอีก 2 คน แต่อาการไม่รุนแรง

โรคมือ เท้า ปาก เคยระบาดใหญ่เมื่อปี 2555 โดยขณะนั้นเชื้อกระจายเหมือนไฟลามทุ่ง ไม่มีภูมิภาคใดรอดพ้นจากโรคร้ายชนิดนี้ แต่ละจังหวัดมีจำนวนเด็กป่วยมากขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งบางจังหวัดมีผู้ใหญ่ล้มป่วยด้วยโรคมือ เท้า ปาก เช่นกัน

การติดเชื้อในเด็กอายุ 3 ขวบ และชีวิตแรกต้องถูกสังเวยไปแล้วนั้น ทำให้ สธ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

โรคมือ เท้า ปาก เกิดจากเชื้อไวรัส 2 กลุ่มใหญ่ คือ “เอ็นเตโรไวรัส” ซึ่งมีความรุนแรง เนื่องจากเชื้อจะส่งผลต่อสมองและกล้ามเนื้อหัวใจ และอีกกลุ่มคือ “ค็อกซ์แซกกีไวรัส” จะมีอาการเบากว่า

ไม่ว่าผู้ป่วยจะติดเชื้อในกลุ่มใดก็มีโอกาสที่เชื้อไม่แสดงอาการทางร่างกาย เช่น ไม่เกิดตุ่มใสได้ และความรุนแรงของโรคจะต้องพิจารณาเป็นรายบุคคล บุคคลที่ติดเชื้อในกลุ่มเดียวกันอาจมีความรุนแรงที่แตกต่างกันได้

สำหรับสายพันธุ์เอ็นเตโรไวรัสที่พบได้ในมนุษย์มีมากกว่า 90 ตระกูล แต่ที่ขึ้นชื่อมีอยู่ 3 ตัว คือ ไวรัสโปริโอ ไวรัสเอ็นเตโร 70 และ 71

เชื้อไวรัสทั้งสามตัวนี้จะแพร่ระบาดเป็นระบบระเบียบ คือ เมื่อเข้าสู่สมองได้แล้วจะแพร่ไปตามแกนเส้นประสาท กระจายไปเรื่อยๆ โดยการโจมตีสมองนั้นอาจสร้างความเสียหายเพียงบางส่วน ไม่ได้ทำลายเนื้อสมองทั้งหมด ดังนั้นผู้ป่วยบางรายจึงไม่ถึงกับโคม่า

ทั้งนี้ เชื้อจะทำลายก้านสมองส่วนบนซึ่งมีหน้าที่ควบคุมอวัยวะภายใน เช่น ปอด กล้ามเนื้อหัวใจ ดังนั้นแม้ว่าคนไข้จะมีสติดี แต่มีโอกาสเกิดอาการน้ำท่วมปอด หรือกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติได้ โดยเชื้อไวรัสจะซ่องสุมกำลังอยู่สักระยะหนึ่ง จากนั้นจึงแพร่กระจายตัวทวีคูณขึ้น แล้วก็เข้าสู่กระแสเลือดไปยังอวัยวะต่างๆ

อาการของโรคมือ เท้า ปาก คนส่วนใหญ่เข้าใจคลาดเคลื่อนว่าผู้ป่วยทุกรายต้องมีตุ่มที่มือ เท้า ปาก หรือเพดานปาก ทั้งๆ ที่การเกิดอาการรุนแรงคือภาวะทางสมองและกล้ามเนื้อหัวใจ แต่ข้อเท็จจริงคือ ไม่จำเป็นต้องมีตุ่มเหล่านี้ โดยการระบาดในประเทศจีนพบผู้ป่วยประมาณ 30% ที่ไม่มีตุ่มใส แต่เกิดโรคในระดับที่รุนแรง

นอกจากนี้ ยังมีความเข้าใจว่าผู้ป่วยด้วยโรคมือ เท้า ปาก จะต้องมีไข้เสมอไป ซึ่งข้อเท็จจริงแล้วทางการแพทย์ไม่สามารถสรุปโรคได้จากอาการไข้เพียงอย่างเดียว แต่ต้องดูหลายปัจจัยประกอบกัน เช่น มีไข้ มีภาวะหายใจที่ไม่ปกติ (ปอด) มีอาการเหนื่อย (หัวใจ) และต้องมีอาการทางสมอง

แน่นอนว่าอาการทางสมองดูยาก แต่อาจเห็นสัญญาณจากตาเหล่ ตาเข ตากระตุก หรือขากระตุก แต่ก็ต้องพิจารณาลงลึกอีก เพราะอาการขากระตุกนั้น แม้จะเป็นลักษณะสำคัญของเชื้อกลุ่มเอ็นเตโร แต่ยังมีไวรัสอีกหลายชนิดที่สามารถเข้าไปทำลายก้านสมองส่วนล่างทำให้ขากระตุกได้เช่นกัน

การติดต่อของโรคมือ เท้า ปาก ติดต่อกันได้ง่ายๆ จากการสัมผัสโดยตรงกับสารคัดหลั่ง น้ำมูก น้ำลาย และน้ำจากในตุ่มใส เชื้อโรคอาจติดมากับสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ มักพบในเด็กอายุไม่เกิน 5 ขวบ อาการเบื้องต้นคือ เป็นไข้ต่ำๆ ครั่นเนื้อครั่นตัว จากนั้นภายใน 1-2 วัน จะเริ่มมีตุ่มแดงที่เหงือก ลิ้น กระพุ้งแก้ม และกลายเป็นตุ่มพองใสรอบแผลอักเสบกระจายที่ฝ่ามือ นิ้วมือ และฝ่าเท้า โดยสามารถหายได้เองภายใน 7-10 วัน หากไม่มีภาวะแทรกซ้อน

การรักษาจะเป็นไปตามอาการ ไม่มียารักษาเฉพาะ เช่น หากมีไข้ก็ให้ยาลดไข้ ควรเช็ดตัวเป็นระยะ ให้อาหารอ่อนๆ ดื่มน้ำและผลไม้ และพักผ่อนมากๆ ถ้าเป็นเด็กเล็กอาจต้องป้อนนมแทนการให้ดูดจากขวด อย่างไรก็ตามหากเด็กมีไข้สูงและมีอาการเหนื่อยหอบให้รีบนำส่งโรงพยาบาลให้แพทย์ทำการรักษาอย่างเร่งด่วน เพราะเชื้อไวรัสอาจลุกลามทำให้กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบและก้านสมองอักเสบถึงขั้นเสียชีวิตได้