posttoday

อักษรอารมณ์

19 ตุลาคม 2556

เอกสาร หนังสือ นิตยสาร หนังสือพิมพ์ หรือแม้กระทั่งเว็บไซต์ ที่นอกจากจะสร้างความแตกต่างจากขนาด รูปเล่ม

โดย...ตุลย์ เล็กอุทัย

เอกสาร หนังสือ นิตยสาร หนังสือพิมพ์ หรือแม้กระทั่งเว็บไซต์ ที่นอกจากจะสร้างความแตกต่างจากขนาด รูปเล่ม การจัดกราฟฟิก สีสัน แต่สิ่งที่เป็นพื้นฐานสำคัญที่สุดอีกหนึ่งอย่าง คือ ฟอนต์ (ตัวอักษร) ที่สามารถสร้างการรับรู้ ความมีเอกลักษณ์ได้อย่างดี

อักษรเปรียบได้กับภาษาภาพที่มีความสลับซับซ้อน อักษรแต่ละแบบล้วนให้ผลลัพธ์ในการสื่อสารที่แตกต่างกันออกไป การเลือกใช้ตัวอักษรที่ไม่เหมาะสมย่อมทำให้สารที่ถูกส่งออกไปคลาดเคลื่อนจากที่ควรจะเป็น หากจะบอกว่าอักษรสร้างอารมณ์ได้ก็คงไม่ผิดนัก


เปรียบเทียบข้อความด้านบนรูปแบบตัวอักษรสีส้มเป็นอักษรลายมือ ให้ความรู้สึกเป็นกันเอง ไม่เป็นทางการ มีความเป็นธรรมชาติและเข้าถึงได้ง่าย เหมาะกับข้อความแรกที่เป็นภาษาพูด แต่กลับดูยังไงๆ กับคำหลังที่ค่อนข้างเป็นทางการ เช่นกันกับตัวอย่างบรรทัดที่สองที่สลับตำแหน่งกัน ทำให้คำว่า บ่องตง ดูแข็งกระด้างและไม่ได้อารมณ์เท่าที่ควร


คำว่า สยดสยอง น่ากลัว ตัวสีแดง สื่ออารมณ์ความรู้สึกได้ตรงกับความหมาย ผิดกับ คำหลังที่ดูยังไงก็ไม่สดใส ส่วนบรรทัดล่างก็ดูไม่เห็นจะน่ากลัว สยดสยอง ผิดกับคำหลังที่ดูเข้าทีตรงความหมาย ทั้งสีและลักษณะอักษรล้วนเป็นปัจจัยทั้งสิ้น


ตัวอักษรที่มีจุดเด่น หรือลักษณะพิเศษ เหมาะกับการใช้เป็นหัวข้อ หัวเรื่อง เพื่อสร้างจุดเด่น ในทางกลับกันการนำมาใช้เป็นบทบรรยายจะทำให้อ่านยาก ไม่ลื่นไหล รวมถึงการใช้ชนิดอักษรที่มากเกินไปก็ไม่เป็นผลดีเช่นกัน


ความคลาสสิกปะทะความทันสมัย อักษรสีม่วงที่อ่อนช้อยบรรทัดบนเหมาะสมดีกับสไตล์คลาสสิก ขณะที่ถ้าเป็นความทันสมัย ตัวอักษรที่เรียบ เหลี่ยม สีเทา สื่อสารได้ตรงจุดกับคำว่า โมเดิร์น

ปัจจุบันมีฟอนต์ (ตัวอักษร) ที่ใช้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ในระบบปฏิบัติการต่างๆ ทั้งแบบมีค่าลิขสิทธิ์และแบบใช้ฟรีมากมาย แต่การจะเลือกใช้ให้เหมาะสมรวมถึงสามารถใช้งานร่วมกับผู้อื่นได้โดยไม่เกิดปัญหาเรื่องไม่มีฟอนต์ดังกล่าวในเครื่องคอมพิวเตอร์ ปัจจุบันสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ หรือ SIPA และกรมทรัพย์สินทางปัญญา ส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยดำเนินการติดตั้งฟอนต์สารบรรณและฟอนต์อื่นๆ ทั้งหมดจำนวน 13 ฟอนต์ เพิ่มเข้าไปในระบบปฏิบัติการ Thai OS (Thai Operating System) และใช้ฟอนต์ดังกล่าวแทนฟอนต์เดิม ได้แก่

1.TH Sarabun PSK ออกแบบโดย คุณศุภกิจ เฉลิมลาภ

2.TH Chamornman ออกแบบโดย คุณเอกลักษ์ เพียรพนาเวช

3.TH Krub ออกแบบโดย คุณเอกลักษณ์ เพียรพนาเวช

4.TH Srisakdi ออกแบบโดย ทีม อักษราเมธี (คุณไพโรจน์ เปี่ยมประจักพงษ์ คุณบวร จรดล)

5.TH Niramit AS ออกแบบโดย ทีม อักษราเมธี (คุณไพโรจน์ เปี่ยมประจักพงษ์คุณบวร จรดล)

6.TH Charm of AU ออกแบบโดย คุณกัลยาณมิตร นรรัตน์พุทธิ

7.TH Kodchasan ออกแบบโดย คุณกัลย์สุดา เปี่ยมประจักพงษ์

8.TH K2D July8 (8 กรกฏา) ออกแบบโดย คุณกานต์ รอดสวัสดิ์

9.TH Mali Grade 6 ออกแบบโดย คุณสุดารัตน์ เลิศสีทอง

10.TH Chakra Petch (จักรเพชร) ออกแบบโดย คุณธีรวัฒน์ พจน์วิบูลศิริ

11.TH Bai Jamjuree CP ออกแบบโดย ทีม PITA (คุณรพี สุวีรานนท์ คุณวิโรจน์ จิรพัฒนกุล)

12.TH KoHo ออกแบบโดย กลุ่ม กฮ (คุณขาม จาตุรงคกุล คุณกนกวรรณ แพนไธสง คุณขนิษฐา สิทธิแย้ม)

13.TH Fah Kwang ออกแบบโดย ทีม สิบเอ็ด (คุณกิตติ ศิริรัตนบุญชัย คุณนิวัฒน์ ภัทโรวาสน์)

สำหรับหน่วยงาน องค์กรธุรกิจ ที่ให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์ อาจเลือกที่จะว่าจ้างนักออกแบบตัวอักษร ให้ออกแบบ

ฟอนต์ที่มีรูปแบบเฉพาะของตัวเองก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจไม่น้อย อย่างไรก็ตามผู้อยู่เบื้องหลังอักษรอารมณ์ทั้งหลาย ก็คือนักออกแบบตัวอักษร (Font Designer) ซึ่งกว่าจะพัฒนาออกแบบอักขระทั้งหลายออกมาใช้งานได้นั้นล้วนต้องผ่านขั้นตอนและความยากลำบากไม่น้อย จึงอยากสนับสนุนให้นักออกแบบไทยได้โชว์ฝีไม้ลายมือและได้รับการสนับสนุนต่อไป

ขอบคุณ www.f0nt.com