posttoday

ม็อบไซเบอร์ ขบวนคน ‘คลิก’ เขย่าชาติ

05 ตุลาคม 2556

ดีลีตเมโมรีที่จำกัดนิยามคำว่า “ประท้วง” ในยุคเดิมทิ้งให้สิ้น ทั้งสเต็ปการเคาะประตูล่าชื่อเรียงบ้าน

โดย......ชุษณ์วัฏ ตันวานิช

ดีลีตเมโมรีที่จำกัดนิยามคำว่า “ประท้วง” ในยุคเดิมทิ้งให้สิ้น ทั้งสเต็ปการเคาะประตูล่าชื่อเรียงบ้าน รวมตัวคัดค้านเดินประท้วงบนท้องถนน ร่อนจดหมายเปิดผนึก อากัปกิริยาพยักหน้าหงึกๆ ของเจ้าหน้าที่ กลับมานั่งตบแมลงหวี่รอหนังสือตราครุฑ เพราะจุดรวมตัวของ “พลเมืองไทย” ในทศวรรษนี้ พร้อมใจหลั่งไหลเข้าไปในโลกเสมือนจริง สวมบทนักรบไซเบอร์ยิงประเด็นสาธารณะชนิด ตู้ม ตู้ม ตู้ม จนรัฐเเละองค์กรที่กำกับดูเเลปรับตัวแทบไม่ทัน

บ้างว่านี่คือยุคแห่งความตื่นตัวทางสิทธิเสรีภาพที่มาพุ่งขึ้นขนาบข้างกับความก้าวล้ำทางไอที บ้างว่านี่อาจนำไปสู่การระเริงอำนาจอันเสี่ยงล้นเกินขอบเขต แต่ไม่ว่าเจตนารมณ์ของ “ขบวนคน” กลุ่มนี้เป็นอย่างไร พลิกมองได้หลายมิติมากแค่ไหน แต่อย่างน้อยการจุดไฟให้สังคมได้มองเห็นประเด็นเพื่อดีเบตถกเถียง ล้วนแต่เป็นเสียงที่น่าสดับรับฟังในประเทศประชาธิปไตย

ม็อบไซเบอร์ ขบวนคน ‘คลิก’ เขย่าชาติ

 

‘กรีนฟีเวอร์’ คลื่นเขียวทะลักกรุง

นับพันคนที่แน่นขนัดเต็มลานหน้าหอศิลป์ กรุงเทพฯ เพื่อร่วมคัดค้านการอนุมัติรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) โครงการสร้างเขื่อนแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ ในช่วงเย็นวันที่ 22 ก.ย. ไม่ใช่การพบกันของนักอนุรักษ์โดยมิได้นัดหมาย แต่ ศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เริ่มต้นแคมเปญด้วยการเดินเท้าจากหน่วยพิทักษ์ป่าแม่เรวา อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ เข้ากรุง รวมเวลา 13 วัน ระยะทาง 388 กม. ฝีก้าวของการทวงผืนป่าถูกบันทึกทั้งภาพนิ่งและวิดีโอเผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊ก Seub Nakhasathien Foundation, Sasin Chalermlarp เเละ Youtube.com รวมถึงสารพัดเครือข่ายแฟนเพจที่โยงใยเป็นวงกว้างทั่ววงการสิ่งแวดล้อมไทย

ภาพชายแว่นกลมสวมชุดกันฝนนำคณะเดินทางฝ่ามรสุมทีละก้าวตั้งแต่วันแรก จวบถึงวันสุดท้ายที่เข้ากรุงเคลื่อนคนผ่านเส้นทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อนุสาวรีย์หอศิลป์ มาบุญครอง ถูกคลิกแชร์ต่อนับพัน ไลค์นับหมื่น ผ่านสายตาคนนับแสนด้วยเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ยูทูบ อินสตาแกรม ปลุกกระแสป้องผืนป่าตะวันตก จนรองนายกฯ ปลอดประสพ สุรัสวดี ประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ต้องกุมขมับ

นอกจากจัดทำภาพนิ่งและคลิปวิดีโอบอกเล่าเหตุการณ์เเล้ว แผนภาพเเละอินโฟกราฟฟิกที่จัดทำเผยแพร่ผลกระทบของการสร้างเขื่อน ยังถือเป็นตัวกระตุ้นยอดแชร์ กระแสกดไลค์ เพราะสอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ที่เลือกเสพข้อมูล สั้น กระชับ ฉับไว เข้าใจง่าย ไม่เท่านั้นกลุ่มนักอนุรักษ์ยังผุดแคมเปญ “หยุดเขื่อนแม่วงก์” ล่าชื่อผ่าน Change.org เตรียมยื่นต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อส่งถึงนายกรัฐมนตรี ด้วยพลังไซเบอร์ทำให้ล่าสุดยอดผู้ร่วมรณรงค์ผ่านเส้นชัย 1 แสนชื่อเป็นที่เรียบร้อย

กระแสคนกรุงถวิลหาสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น แต่ก่อนหน้านี้ บุญลาภ ปุณโณทก นักออกแบบกราฟฟิก ยังริเริ่มตั้งกลุ่ม “เราอยากให้มักกะสันเป็นสวนสาธารณะและพิพิธภัณฑ์” เรียกร้องให้การรถไฟแห่งประเทศไทยพัฒนาพื้นที่มักกะสันกว่า 700 ไร่ เพื่อประโยชน์ของสาธารณะเป็นหลัก เช่น สวนสาธารณะ พิพิธภัณฑ์ ศูนย์การเรียนรู้ ฯลฯ แทนการสร้างโครงการ “มักกะสันคอมเพล็กซ์” มูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท โดยยื่นรายชื่อ รมว.คมนาคม และผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่น่าสนใจ คือ กลุ่มเรียกร้องให้พื้นที่มักกะสันเป็นสวนสาธารณะมีแคมเปญหลากแนวทางที่สนองต่อจริตกลุ่มคนวัยรุ่นและวัยทำงานในกรุงเป็นอย่างดี ทั้งการทำเสื้อยืด เข็มกลัด จัดคอนเสิร์ต “ร้องแทนต้นไม้–รวมใจเพื่อมักกะสัน” ผนึกกำลังร่วมกับหลายกลุ่ม ทั้งกลุ่มบิ๊กทรี เครือข่ายโลกสีเขียว กลุ่มจักรยาน สมาคมสถาปนิกสยามฯ เป็นต้น และยังใช้ศาสตร์สถาปัตยกรรมสร้างโมเดลอีกทางเลือก เพื่อเปรียบเทียบกับโครงการของการรถไฟฯ ได้อย่างเป็นระบบด้วย

ม็อบไซเบอร์ ขบวนคน ‘คลิก’ เขย่าชาติ

 


แบบฟอร์มออนไลน์ ล่าเร็ว เคลมเร็ว

นอกจากขั้นตอนจะไม่ยุ่งยากซับซ้อน เพียงแค่เบิกตาศึกษาข้อมูล ตามด้วยกระดิกนิ้วพิมพ์ชื่อสกุลแล้ว การลงชื่อใน “แบบฟอร์มออนไลน์” ยังสามารถแชร์ต่อผ่านเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ชวนเพื่อนร่วมอุดมการณ์ลงนามรณรงค์ได้ด้วย โดยช่องทางนี้ประสบผลสำเร็จมาหลายกรณี อาทิ แคมเปญรณรงค์นำหูฉลามออกจากเมนู จนโรงแรมสวิสโฮเต็ล เลอ คองคอร์ด กรุงเทพฯ ร่วมประกาศจุดยืนหยุดจำหน่ายหูฉลาม แคมเปญยุติฉายหนังรุนแรงบนรถโดยสาร จนบริษัท ขนส่ง ดำเนินการออกนโยบายใหม่ในการเลือกฉายภาพยนตร์ ตลอดจนแคมเปญดังของ แนน นนลนีย์ จากชมรมนักปั่นจักรยาน Bangkok Bicycle ที่ล่า 2,000 รายชื่อ เรียกร้องให้ผู้ว่าฯ กทม. เปลี่ยนฝาท่อตะแกรงเป็นแนวขวางเพื่อป้องกันอุบัติเหตุต่อผู้ปั่นจักรยาน ผ่านไปไม่ถึงสัปดาห์ ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กทม. ดำเนินการเปลี่ยนฝาท่อ 50 ถนน จำนวน 999 แผ่น

ล่าสุดกับกระแสรณรงค์นำคิงคองออกจากห้างพาต้า ภาคประชาชนกลุ่ม Women in Dhamma กลุ่มอนุรักษ์ LOVE WILDLIFE ยังอาศัยช่องทางการรวมตัวและล่าชื่อผ่าน Change.org ในการรณรงค์หยุดจองจำชีวิตสัตว์ป่าบนสวนสัตว์ลอยฟ้าบนห้างพาต้า หรือ Why wildlife on top of Pata Shopping mall? Please bring us down to the earth ล่าสุดตัวแทนกลุ่มได้เข้ายื่นหนังสือต่อ พงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี ขอให้รัฐบาลพิจารณาให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช งดเว้นต่อใบอนุญาตสวนสัตว์บนยอดตึก และทบทวน พ.ร.บ.คุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 โดย พงศ์เทพ รับเรื่องพิจารณาและขอให้กรมอุทยานฯ ทบทวนการต่ออายุใบอนุญาตสวนสัตว์พาต้า ขณะเดียวกันมีผู้ลงชื่อร่วมค้านในแบบฟอร์มออนไลน์ร่วม 3,000 คนแล้ว เพื่อเตรียมยื่นข้อเรียกร้องถึง รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมต่อไป

ม็อบไซเบอร์ ขบวนคน ‘คลิก’ เขย่าชาติ

 


แท็กติกใหม่ การเมืองไทย

แวดวงการเมืองไทยไม่น้อยหน้า ปรากฏการณ์ปลุกกระแสในโลกออนไลน์ จนสามารถช่วงชิงพื้นที่สื่อกระแสหลักได้สำเร็จที่ผ่านมา คือ “ขบวนการกลุ่มหน้ากากขาว” หลังเปิดตัวโดยการป่วนแฟนเพจพรรคเพื่อไทย ได้กำเนิดกลุ่มเฟซบุ๊ก V for Thailand เป็นช่องทางนัดแนะรวมพลประกาศชนรัฐบาลยิ่งลักษณ์ โดยพุ่งเป้าต้านระบอบทักษิณ ใช้ยุทธวิธีไม่นอนค้าง ไม่มีเวที ไม่มีแกนนำ รวมตัวยืนสวมหน้ากากขาวแสดงพลังม้วนเดียวจบ ขยายผลต่อถึงขั้นคลอดหน้ากากหนุมานออกมาอีกเวอร์ชัน

น่าจับตาไม่แพ้กัน คือ ผู้นำแฟลชม็อบ สมบัติ บุญงามอนงค์ บก.ลายจุด หลังนำคนเสื้อแดงจัดกิจกรรม “เปลือยเพื่อชีวิต” ใต้ทางด่วนดินแดงเมื่อปี 2553 ผ่านไปหลายปี แนวทางของหนูหริ่งยังคงคอนเซปต์ชัด เน้นเชิงสัญลักษณ์ ใช้ต้นทุนน้อย แต่จำนวนแสงแฟลชวูบวาบสวนทางกับต้นทุน ทั้งแรลลีผูกผ้าแดงราชประสงค์ นำคนเสื้อเเดงสวมบทกรรมการยืนแจกใบแดงให้ศาลรัฐธรรมนูญ กรณีวินิจฉัยแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับขัดมาตรา 68 ยกพลสวมโค้ตกันหนาวบนสถานีบีทีเอสต้านม็อบแช่แข็งประเทศ โดยแทบทุกกิจกรรมได้นัดหมายและกระจายผลงาน “แฟลชม็อบ” ผ่านเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์เครือข่ายนักกิจกรรมคนเสื้อแดง

ขณะที่ฟากกลุ่มนักวิชาการและนักเคลื่อนไหวนั้น “ฝ่ามืออากง” จัดเป็นแคมเปญที่ถือว่าดึงคุณลักษณะของโซเชียลมีเดียมาใช้ได้อย่างตรงจุด แคมเปญนี้เริ่มจาก ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการมหาวิทยาลัยเกียวโต นำการรณรงค์การปล่อยตัวนักโทษการเมืองในพม่าของ อองซาน ซูจี ที่เธอเขียนชื่อนักโทษการเมืองพม่าที่มือขวาแบออกด้านหน้ามาเป็นต้นแบบ โดย ปวิน ประยุกต์ใช้โดยเขียนชื่อ “อากง” ชายชราผู้ถูกต้องขังในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ พร้อมชวนผู้คนในโลกออนไลน์ให้เขียนชื่อ อากง บนฝ่ามือแล้วโพสต์ภาพผ่านโซเชียลมีเดีย ส่งผลให้กระแสการเรียกร้องปล่อยตัว “อากง” ก่อตัวขึ้น เเละเกิดการตั้งคำถามและถกเถียงถึงการบังคับใช้มาตรา 112 เป็นวงกว้าง

ม็อบไซเบอร์ ขบวนคน ‘คลิก’ เขย่าชาติ

 

ภาวะปลดแอกของ ‘วัยค้นหา’

แม้ธรรมศาสตร์มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ถอด 4 โปสเตอร์ท่าเสมือนร่วมเพศในชุดนักศึกษาออกจากบอร์ดมหาวิทยาลัย แต่ไม่สามารถหยุดยั้งความแรงแคมเปญรณรงค์ต่อต้านการบังคับใส่ชุดนักศึกษาของ อั้ม เนโกะ ลูกแม่โดมคณะศิลปศาสตร์ชั้นปีที่ 2 ที่ลุกลามประหนึ่งไฟลามทุ่งในรั้วเหลืองแดง เพราะทั้ง 4 ภาพถูกกระหน่ำแชร์ กระทืบไลค์ เรียกทั้งเสียงหนุนต้านชมด่าหนาหูในโลกไซเบอร์ จนประเด็น no uniform no service ถูกจุดขึ้นมาให้ดีเบตยกใหญ่ผ่านรายการโทรทัศน์ เวทีสัมมนามหาวิทยาลัย และนับพันกระทู้ตามบอร์ดในโลกออนไลน์ ในที่สุดต้องปัดฝุ่น พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขึ้นมาพิจารณาข้อบังคับอีกครั้ง ก่อนจะพบว่าการแต่งกายสุภาพเหมาะสม โดยไม่ได้กำหนดให้ต้องเเต่งชุดนักศึกษา คือสิ่งที่กฎหมายของมหาวิทยาลัยระบุ

แม้ด้วยความสัมพันธ์เชิงอำนาจในสถาบันการศึกษา อาจทำให้อำนาจในพื้นที่มหาวิทยาลัยอยู่ในมือ “รุ่นพี่” แต่แน่นอนว่าอำนาจนั้นไม่มหาศาลพอจะปิดกั้นการเข้าถึงการรวมกลุ่มต้านระบบโซตัส ที่เรียกว่าจับกลุ่มผนึกกำลังกันแข็งแรงมากกว่ายุคสมัยที่ผ่านมา เนื่องจากช่องทางโลกโซเชียลที่เอื้อต่อการรวมกลุ่ม จึงไม่แปลกใจที่เกิดหลากกลุ่มและหลายเพจ ทั้ง Anti SOTUS กลุ่มเยาวชนปฏิรูปการรับน้องประชุมเชียร์แห่งชาติ, One like to stop sotus, Anti SOTUS international edition กลุ่มเหล่านี้ใช้สื่อใหม่แบบครบวงจร โดยนำลิงก์ข่าวมาเผยแพร่ สร้างสำนักข่าวส่วนตัว เผยภาพรณรงค์ต่อต้านโซตัส เปิดกล่องร้องเรียนร้องทุกข์จากระบบโซตัส ทั้งยังใช้เฟซบุ๊กเป็นตัวกลางประสานกับกลุ่มย่อยในสถาบันการศึกษาอื่นทั่วประเทศ

ม็อบไซเบอร์ ขบวนคน ‘คลิก’ เขย่าชาติ

 

หลากสีสันประท้วงโลก

การประท้วงเกิดขึ้นแทบจะทุกประเทศ ทุกวัน และทุกชั่วโมงทั่วทั้งโลก ทว่าไม่ใช่ทุกการประท้วงที่จะเป็นข่าวในประเทศ เรียกความสนใจได้ข้ามโลกหรือโน้มน้าวให้ผู้คนให้เกิดผลลัพธ์ตามที่ต้องการได้

รีดนมสู้ตำรวจ–บรัสเซลส์ 2009

เกษตรกรผู้เลี้ยงวัวนมในเบลเยียมกว่า 2,500 คน ลากแม่วัวตัวเป็นๆ มาร่วมนัดประท้วงปิดถนนหน้าสำนักงานใหญ่สหภาพยุโรป กลางกรุงบรัสเซลส์ โดยโชว์ความเป็นเกษตรกรมืออาชีพด้วยการ “รีดนมวัวระยะไกล” เข้าสู้กับตำรวจ พร้อมเทนมทิ้งนับสินล้านแกลลอน เพื่อเรียกร้องให้ช่วยแก้ปัญหาราคานมตกต่ำ ทว่ากลับไม่สัมฤทธิผลเมื่ออียูยืนกรานเจตนารมณ์เปิดเสรีสินค้าเกษตร

ม็อบไซเบอร์ ขบวนคน ‘คลิก’ เขย่าชาติ

 

เกือกนี้เพื่อท่าน–แบกแดด 2008

ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช เกือบต้องเป็นผู้นำสหรัฐคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ถูกต้อนรับในฐานะแขกบ้านแขกเมืองด้วยเกือก เมื่อ มุนทาดาห์ อัล ไซดี นักข่าวหนุ่มชาวอิรักลุกขึ้นปารองเท้าข้างหนึ่งเข้าใส่บุชระหว่างแถลงข่าวในกรุงแบกแดด ปี 2008 เพื่อตอบโต้การทำสงครามบุกอิรักปี 2003 โดยอ้างว่าอดีตประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซน มีอาวุธทำลายล้างสูงในครอบครอง

อัล ไซดี ถูกศาลตัดสินจำคุก 3 ปี ก่อนจะลดโทษลงมาเหลือจำคุก 1 ปี ทว่าก็ได้รับการจดจำไปทั่วโลกในฐานะผู้ที่หาญกล้าต่อกรกับผู้นำมหาอำนาจเบอร์ 1 ของโลก ซึ่งๆ หน้า

เปลือยกู้ถนน–แคนาดา 2006

ปัญหาถนนพังชำรุดเป็นหลุมบ่อไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในประเทศด้อยพัฒนาอย่างเราๆ ทางหลวงสาย 32 ในแถบเมืองลีดเดอร์ แคนาดา เคยมีสภาพย่ำแย่โดยไร้การเหลียวแล จนชาวเมืองทนไม่ไหวต้องหาวิธีเรียกร้องความสนใจด้วยการถ่ายปฏิทินสถานที่ต่างๆ และหนึ่งในภาพนั้นก็คือ ชายหนุ่มยืนเปลื้องผ้าอยู่ริมถนนสาย 32 มีเพียงสิ่งของใช้ปกปิดของสงวนเพียง 1 ชิ้น

ผลลัพธ์ที่ตามมาคือการประโคมข่าวของสื่อในประเทศ ก่อนที่ทางการจะอนุมัติงบโครงการซ่อมแซมตามมาในเดือน ต.ค. 2008

ม็อบไซเบอร์ ขบวนคน ‘คลิก’ เขย่าชาติ

 

สลัทวอร์ก ‘อย่าโทษหนู’–โทรอนโต 2011

คำพูดเพียงหนึ่งคำของตำรวจโทรอนโต ที่มหาวิทยาลัยยอร์ก เพื่อร้องขอไม่ให้สาวๆ แต่งกายเหมือน “คุณโส” โดยหวังลดความเสี่ยงการตกเป็นเหยื่อข่มขืน กลับสร้างผลลัพธ์ตรงข้ามอย่างคาดไม่ถึง โดยนำไปสู่ “สลัท วอร์ก” หรือการประท้วงของผู้หญิงกว่า 3,000 คน ที่แต่งกายวาบหวิวเหมือนหญิงขายบริการ เพื่อประท้วงตำรวจและคนทั่วไปว่าไม่ควรโยนบาปปัญหาการข่มขืนให้เป็นความผิดของผู้หญิง การประท้วงนี้ยังขยายวงไปในหลายประเทศจนถึงปัจจุบัน

ตัดไอ้หนูต้านคลุมถุงชน–อียิปต์ 2009

หนุ่มน้อยวัย 25 ปีรายหนึ่งจากหมู่บ้านชีค อิสซา ทางตอนใต้ของอียิปต์ เสียอกเสียใจที่ถูกพ่อแม่จับคลุมถุงชนกับหญิงที่ไม่ได้รัก ถึงขั้นลืมคิดหน้าคิดหลังให้ยาวๆ ประท้วงพ่อแม่ด้วยการ “คว้ามีดตัดสัมพันธ์สะบั้นกับน้องชาย”

งานนี้แม้จะส่งตัวไปโรงพยาบาลเพื่อช่วยรักษาชีวิตได้ทัน แต่พี่น้องคู่นี้ก็มีอันต้องพลัดพรากกันถาวร เมื่อหมอไม่สามารถช่วยเย็บต่อน้องชายให้กลับเข้าที่เดิมได้ และรายงานข่าวไม่ได้บอกว่าหนุ่มน้อยสามารถใช้ชีวิตคู่กับใครต่อไปได้หรือไม่

ม็อบไซเบอร์ ขบวนคน ‘คลิก’ เขย่าชาติ

ม็อบไซเบอร์ ขบวนคน ‘คลิก’ เขย่าชาติ

ม็อบไซเบอร์ ขบวนคน ‘คลิก’ เขย่าชาติ

ม็อบไซเบอร์ ขบวนคน ‘คลิก’ เขย่าชาติ