posttoday

นักต่อสู้เพื่อการเข้าถึงยา ‘กรรณิการ์ กิจติเวชกุล’

21 กันยายน 2556

การเจรจาเขตเสรีการค้าแบบทวิภาคี (เอฟทีเอ) ระหว่างไทยและสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งจัดการเจรจารอบ 2 ที่ จ.เชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 16-20 ก.ย.ที่ผ่านมา

โดย...วิทยา ปะระมะ

การเจรจาเขตเสรีการค้าแบบทวิภาคี (เอฟทีเอ) ระหว่างไทยและสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งจัดการเจรจารอบ 2 ที่ จ.เชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 16-20 ก.ย.ที่ผ่านมา มีข้อเรียกร้องของอียูหลายประเด็นที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนคนไทยอย่างมาก โดยเฉพาะข้อเรียกร้องให้ไทยยอมรับข้อผูกพันที่มากกว่า TRIPs (Agreement on Trade – Related Aspects of Intellectual Property Rights) หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า TRIPs Plus ซึ่งเนื้อหาคือการเรียกร้องให้ไทยยอมรับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่มากกว่ามาตรฐานการคุ้มครองขององค์การการค้าโลก (WTO)

หากจะพูดง่ายๆ ก็คือ TRIPs Plus เป็นความพยายามของอียูที่จะยืดอายุสิทธิบัตรยา เพื่อผูกขาดการผลิตและกีดกันการผลิตยาชื่อสามัญออกมาแข่งขัน ซึ่งจะส่งผลกระทบทำให้ราคายาแพงขึ้นและคนไทยเข้าถึงยาน้อยลงนั่นเอง

ประเด็นดังกล่าว กลุ่มเอ็นจีโอเครือข่ายเอฟทีเอ วอทช์ แสดงท่าทีคัดค้านข้อเรียกร้องของอียูมาโดยตลอด หนึ่งในคนทำงานที่มีบทบาทในเรื่องนี้คือ กรรณิการ์ กิจติเวชกุล นักวิจัยจากแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา และผู้ประสานงานเอฟทีเอ วอทช์ ซึ่งรับบทบาทให้ความรู้ การสื่อสารสาธารณะเกี่ยวกับผลกระทบจากเอฟทีเอในเรื่องยา เรียกได้ว่ามีเวทีเกี่ยวกับเอฟทีเอที่ไหนจะต้องเห็นเธอที่นั่นทุกครั้ง

ตัวตนของกรรณิการ์ มีลักษณะร่วมไม่ต่างจากคนทำงานภาคประชาชนคนอื่นๆ คือมีนิสัยที่ไม่ยอมสยบกับความไม่ถูกต้องไม่ยุติธรรม

นักต่อสู้เพื่อการเข้าถึงยา ‘กรรณิการ์ กิจติเวชกุล’

 

“ตั้งแต่เด็กก็จะโดนครูเรียกผู้ปกครองมาคุยเสมอ เช่น เรื่องโต้เถียงครู จัดบอร์ดวิพากษ์วิจารณ์ครูที่สอนไม่ได้เรื่อง เคยโดนพักการเรียน จนต้องสอบเทียบตอน ม. 5 เพื่อย่นเวลาเรียนไม่ต้องเรียน ม.6” กรรณิการ์ เริ่มต้นบทสนทนาด้วยการย้อนอดีตวัยเด็กให้ฟัง

หลังจากนั้นเธอเข้าเรียนที่คณะสังคมศาสตร์ เอกภาษาไทย เพื่อการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แล้วจบมาทำงานกับสำนักข่าวไอเอ็นเอ็น ประจำทำเนียบรัฐบาล แต่พอทำไปสักระยะก็เบื่อกับการทำข่าวประเภท “ตีปิงปอง” โต้เถียงกันไปมา ท้ายที่สุดเลยลาออกไปเรียนต่อเกี่ยวกับโลกาภิวัตน์และบทบาทของทุน อำนาจของทุนที่เข้ามากำหนดนโยบายของรัฐที่ประเทศออสเตรเลีย

“ตอนเรียนจำได้เลยว่ามีข่าวห้างโมเดิร์นเทรดยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งในไทยไล่ลูกจ้างออกเพราะไปเก็บซาลาเปาที่ขายไม่หมดเอากลับไปฝากน้องที่บ้าน ตอนนั้นรู้สึกว่านี่มันอะไร ของมันยังกินได้แล้วก็ต้องเอาไปทิ้งอยู่แล้ว ตอนนั้นเลยคิดว่ากลับมาเมืองไทยแล้วจะทำงานเอ็นจีโอเพื่อตรวจสอบทุนพวกนี้” กรรณิการ์ กล่าว

เมื่อเรียนจบกลับเมืองไทย เป็นจังหวะเดียวกับช่วงที่ประเทศไทยต้องเสนอรายงานการพัฒนาที่ยั่งยืนให้องค์การสหประชาชาติ (UN) เธอเลยร่วมกับภาคประชาสังคมทำ Shadow Report เสนอควบคู่กับรายงานของรัฐบาลไปด้วย ทำให้ได้เห็นว่ามันยังมีปัญหาสังคมอีกเยอะมากที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข เลยทำงานเป็นเอ็นจีโอมาจนทุกวันนี้

ส่วนเหตุผลที่กรรณิการ์สนใจเรื่องยามากที่สุด เธอบอกว่าเพราะยาเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันถึงชีวิต เห็นความเป็นความตายชัดเจน มียาก็รอด ไม่มียาก็ตาย ประกอบกับคู่ต่อสู้คือบริษัทยาข้ามชาติก็มีเล่ห์เหลี่ยมแพรวพราว ก็ยิ่งรู้สึกอยากทำงานต่อไป

เธอเล่าประสบการณ์ย้อนกลับไปสมัยที่ยังทำงานเป็นนักข่าว ขณะนั้นมีอาการเป็นภูมิแพ้และต้องไปโรงพยาบาลเป็นประจำ จึงรู้ว่าได้ยาอะไรบ้าง ขณะนั้นบริษัทจะมีประกันสุขภาพให้เบิกได้ครั้งละ 400 บาท ถ้าเกินกว่านั้นต้องจ่ายเอง ซึ่งเงิน 400 บาทสมัย 1718 ปีก่อนถือว่าเยอะ

“อยู่มามีอยู่วันหนึ่งไปโรงพยาบาลอีก มีเงินในกระเป๋า 200 บาท แต่คิดว่าน่าจะพอเพราะทุกทีไปก็ไม่เคยเกิน 400 บาท ปรากฏว่าตอนจ่ายเงิน ค่ายาออกมา 800 บาท เงินก็ไม่มี ค้นใหญ่เลย กลับไปค้นในรถก็ยังได้แค่ 300 บาท ถามเภสัชกรว่าอาการก็เป็นเหมือนเดิมทุกครั้งมาไม่เคยจ่ายเกิน 400 บาท แต่ทำไมครั้งนี้ถึงเกิน เภสัชกรก็ดูรายการยาแล้วบอกว่าหมอให้ยาปฏิชีวนะมาตัวหนึ่ง เป็นยาต่างประเทศ ออกฤทธิ์แรงมาก แต่ถ้าอาการเป็นแบบเดิม ไม่จำเป็นต้องใช้ยาตัวนี้ก็ได้ ใช้ยาตัวเดิมก็ได้เหมือนกัน เลยถามอีกว่าถ้าเอายาตัวนี้ออกแล้วราคาจะลดลงอีกเท่าไหร่ ปรากฏว่าลดลงไปอีก 200 กว่าบาท” กรรณิการ์ กล่าว

เหตุการณ์นี้สอนให้เธอรู้ว่ามียาที่มีประสิทธิภาพเหมือนกันแต่ราคาต่างกันมาก ถัดจากนั้นอีก 23 ปี แม่ของเธอไม่สบายต้องเข้าโรงพยาบาลเอกชน ไปแต่ละครั้งเสียเงินเป็นหมื่น

“จำได้เลยว่ายาโคพิโดเกรล เม็ดละ 120 บาท ต้องขอหมอว่าให้สั่งยาแต่ไม่ซื้อกับโรงพยาบาล ออกไปซื้อที่หน้าโรงพยาบาลศิริราช เหลือเม็ดละ 70 บาท ก็ยังถือว่าแพงมาก เราโชคดีที่มีกำลังจ่าย แต่คนที่ไม่ได้มีฐานะเขาจะทำอย่างไร”

กรรณิการ์ยกตัวอย่าง 2 เหตุการณ์นี้เพื่อสะท้อนให้เห็นปัญหาในการเข้าถึงยาของคนไทย ที่ต้องจ่ายยาในราคาแพงๆ เพราะมีการผูกขาดสิทธิบัตรยา ไม่มีการแข่งขันทำให้บริษัทยาตั้งราคาได้ตามใจ แต่เมื่อใดที่มีการผลิตแข่งขันกัน ราคายาจะลดลงและประชาชนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ยาโคพิโดเกรล ที่เมื่อก่อนราคาแพงเลยมีคนแค่ 10% ที่เข้าถึงยา แต่พอทำซีแอลแล้วราคาเหลือเม็ดละ 2 บาท คน 90% เข้าถึงยาตัวนี้และมีชีวิตรอดต่อไปได้

แม้ปัจจุบันสถานการณ์การเข้าถึงยาดีขึ้นมากเพราะมียาชื่อสามัญเข้ามาแข่งขันในตลาด และระบบหลักประกันสุขภาพ (บัตรทอง) ต่อรองซื้อยาในราคาต่ำได้ แต่เธอมองว่าสถานการณ์ระยะยาวกำลังแย่ลง เพราะหากประเทศไทยยอมรับข้อเรียกร้องของอียู จะทำให้มีการผูกขาดยามากขึ้น และราคายาแพงขึ้นในอีก 35 ปี

“ตอนนี้เราใช้เงิน 1.2 แสนล้านในการดูแลคนในระบบหลักประกันสุขภาพ กว่า 70% เป็นค่ายา แต่ถ้ามี TRIPs Plus ยาจะมีราคาแพงขึ้นไปอีก 12.2 แสนล้าน และไม่เชื่อว่ารัฐบาลจะรองรับตรงนี้ไหว สุดท้ายก็ต้องมาเก็บเงินจากผู้ป่วยในรูปแบบของการร่วมจ่ายอยู่ดี”


คำถามที่ตามมาคือ จะมีคนกี่คนที่สามารถจ่ายได้ ระบบสุขภาพจะย้อนกลับไปแบบเดิมเหมือนเมื่อสมัยก่อนที่จ่ายค่ายาจนหมดเนื้อหมดตัวแล้วนอนรอความตายเพราะเข้าไม่ถึงยาหรือเปล่า?

นอกจาก TRIPs Plus แล้ว นโยบายเมดิคัล ฮับ ก็เป็นอีกตัวที่บ่อนเซาะความมั่นคงของระบบประกันสุขภาพ เพราะจะดึงหมอออกไปรักษาคนรวย แม้แต่โรงเรียนแพทย์ก็เริ่มไม่ได้รู้สึกว่าต้องผลิตแพทย์เพื่อให้ไปอยู่ในชุมชน แต่คิดว่าผลิตแพทย์เพื่อรองรับจุดที่มีกำลังซื้อ หากเป็นเช่นนี้ต่อไประบบหลักประกันสุขภาพที่เคยเป็นที่เชิดหน้าชูตาของพรรคไทยรักไทยเพื่อไทย จะกลายเป็นระบบชั้นสอง มีแต่คนรวยถึงได้รับการรักษาดีๆ ส่วนใครที่ไม่รวยก็ห้ามป่วยเด็ดขาด

“ที่พูดนี่ไม่ได้หมายถึงคนจนที่สุดด้วยนะ สมัยก่อนเราเข้าโรงพยาบาลเอกชนได้ แต่พอโรงพยาบาลต้องแข่งขัน จ่ายเงินซื้อหมอราคาสูงๆ ทุกอย่างจะแพงขึ้นไปหมด ดังนั้นแม้แต่คนชั้นกลางก็อาจจะเข้าไม่ถึงการบริการ แล้วมันจะย้อนกลับไปสู่จุดที่คนล้มละลายเพราะว่าเข้าไม่ถึงยา” กรรณิการ์ กล่าว

แม้สถานการณ์ระยะยาวจะดูยากลำบาก ระบบหลักประกันสุขภาพถูกทำให้ง่อยเปลี้ยทีละน้อย ประกอบกับแรงกดดันจากสหภาพยุโรปที่ต้องการให้ไทยลงนามเอฟทีเอโดยเร็วเพราะแลกกับการต่ออายุสิทธิพิเศษทางภาษี (จีเอสพี) แต่อย่างน้อยกรรณิการ์คิดว่าการสื่อสารเรื่องผลกระทบที่จะทำให้ยาแพงเหล่านี้ คนในสังคมเข้าใจมากขึ้น และหากมานั่งคุยและผลักดันร่วมกันโดยไม่มองเรื่องสีเสื้อหรือความขัดแย้งทางการเมือง จะทำให้รัฐบาลหันมารับฟังมากขึ้นก่อนจะตัดสินใจอะไรที่มีผลกระทบกับคนในชาติ

“การเอฟทีเอครั้งนี้ เราพยายามทำให้คนทุกสีเห็นว่ามันเป็นปัญหาแล้วต้องช่วยกัน เราไม่ได้ต้องการล้มรัฐบาล แต่อยากชี้ให้รัฐบาลเห็นปัญหาและไม่เอาข้อเรียกร้องของอียู อย่างการเจรจารอบ 2 ที่เชียงใหม่ เราก็พูดคุยกับแกนนำคนเสื้อแดง ชี้แจงผลกระทบ ซึ่งในที่สุดก็มีการประสานกัน เราไปจัดกิจกรรมที่ท่าแพ คนเสื้อแดงก็ประสานงานให้ มีการเผยแพร่ข้อมูลผ่านวิทยุชุมชนให้ความรู้แก่ประชาชน” กรรณิการ์ กล่าว

กรรณิการ์ ทิ้งท้ายว่า ตลอดเวลาที่ต่อสู้เรื่องการเข้าถึงยานั้นไม่ได้หวังชัยชนะ ทุกวันนี้ขอแค่ทำแล้วตัวเองไม่ท้อก็พอ เหมือนอย่างนักต่อสู้รุ่นใหญ่อย่าง รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ผศ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี และ ผศ.ภญ.สำลี ใจดี ซึ่งศึกษาเรื่องยาและต่อสู้ตั้งแต่สมัยประเทศไทยถูกสหรัฐอเมริกากดดันให้แก้ไขกฎหมายลิขสิทธิ์ปี 2528 จนถึงปี 2535 ก็แพ้

“ถ้าเขาแพ้แล้วหยุดเลยไม่ทำงานต่อ มันก็คงไม่มีอะไรสืบต่อมาถึงวันนี้ แต่เพราะเขาเชื่อไงว่าถึงแพ้ก็ยังมีอะไรสั่งสมไว้ในสังคม ก็ทำต่อไปเรื่อยๆ คุณจะทำแต่เรื่องที่ตัวเองชนะเหรอ ถ้าไม่ทำแล้วในอนาคตมีคนมาถามว่าตอนนั้นทำไมไม่ทำ เราจะได้ไม่ต้องเสียใจ เพราะเราทำเต็มที่แล้ว” กรรณิการ์ กล่าวทิ้งท้าย