โดย...อนัญญา มูลเพ็ญ
แม้การได้รับตำแหน่ง “ผู้อำนวยการ” สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ตั้งแต่เดือน พ.ค. 2556 จะมาพร้อมภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้ทำให้ “สมชาย หาญหิรัญ” ละทิ้งงานสอนหนังสือและงานเขียนที่เผยแพร่ความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์และเศรษฐกิจแก่ผู้อื่นไปแต่อย่างใด
“สมชาย” เล่าว่า งานสอนหนังสือและงานเขียนเป็นอีกงานที่รักและกลายเป็นส่วนหนึ่งที่อยู่ใน “พื้นที่ชีวิต” ของเขามากว่า 20 ปี ส่วนงานที่ สศอ.เกี่ยวข้องกับการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศถือเป็นงานที่รัก
“หลังกลับจากเรียนปริญญาโทและเอกที่แคนาดาตั้งแต่ปี 2537 ผมก็สอนหนังสือในมหาวิทยาลัยมาตลอด จริงๆ งานนี้ได้ผลตอบแทนน้อยนะเมื่อเทียบกับที่เราไปลงแรงทำวิจัยหรือทำอย่างอื่น แต่การสอนหนังสือมันเหมือนเป็นจริตของเราไปแล้ว ตั้งแต่ปี 2537 ทุกเสาร์อาทิตย์ ผมจะต้องสอนหนังสือ มันรู้สึกดีนะกับการที่เราได้ยืนอยู่หน้าห้องและได้สอนและแชร์อะไรที่มันไม่ได้เป็นเฉพาะ%CUR%ทฤษฎี แต่มันมาจากประสบการณ์ของเราจริงๆ
ผมเชื่ออย่างหนึ่งว่าการที่เราได้สอนคนอื่นประโยชน์มันตกถึงตัวเราด้วย แค่รับเข้ามาความรู้มันได้แค่ครึ่ง แต่ถ้ารับมาแล้วได้คิดก่อนถ่ายทอดต่อไปยังคนอื่น มันได้ผ่านกระบวนการทบทวนแล้วว่าสิ่งนั้นเป็นแบบนั้นได้อย่างไร การสอนได้ทำให้ความรู้ของคนสอนเพิ่มขึ้นตลอด ผมเชื่ออย่างนั้นนะ”
ก่อนหน้านี้เขาสอนอยู่หลายมหาวิทยาลัย แต่ด้วยภาระงานที่มากขึ้น และต้องการให้เวลากับตัวเองและครอบครัวมากขึ้น ทำให้ปัจจุบัน “สมชาย” ให้ความรู้กับนักศึกษาระดับปริญญาโทอยู่ที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเพียงแห่งเดียว โดยจะสอนวิชาเศรษฐศาสตร์การจัดการ และการวิเคราะห์เชิงปริมาณ ให้แก่คณะบริหารธุรกิจ และเศรษฐศาสตร์วิเคราะห์ที่คณะเศรษฐศาสตร์
การสอนของเขาจะเน้นให้ “ลูกศิษย์” เรียนรู้จากข้อมูลจริงและประสบการณ์จริง เช่น ในวิชาการค้าระหว่างประเทศว่าด้วยการเจรจาทำการค้าเสรี หรือเอฟทีเอ ที่เขาได้ถ่ายทอดประสบการณ์จริงในฐานทำงานในช่วงการเจรจาการค้าไทยกับญี่ปุ่นช่วงปี 25472549 ซึ่งได้เห็นข้อเท็จจริงหลายอย่างที่แตกต่างจากที่ทฤษฎีสอนอย่างมาก
“พอเราได้เห็นของจริงแล้วมาสอนนี่มันสนุก เช่น การเจรจาเอฟทีเอตามทฤษฎีจะบอกว่าเมื่อแต่ละฝ่ายเก่งอะไรก็เอามาเสริมกันเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้สูงขึ้น แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่เลย ความจริงคืออันไหนเราเก่งเขาก็ไม่ให้ หรือแม้แต่สิ่งที่เจรจากันได้ก็มีสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกันตามมาที่ต้องคำนึงถึงอีกมาก ทั้งความพร้อมของประเทศและผลกระทบกับสังคม”
เมื่อถามถึงการสอนครั้งไหนที่สร้างความภูมิใจที่สุด “สมชาย” เล่าว่า ที่ได้รู้สึกว่างานให้ความรู้คนอื่นมีความหมายมากมีหลายครั้ง แต่ครั้งที่จำได้แม่นที่สุดคือตอนที่เป็นนักศึกษาปริญญาเอกที่แคนาดา ซึ่งได้เป็นติวเตอร์ส่วนตัวให้กับนักศึกษาหญิงวัย 50 เกือบ 60 ปี ชาวแคนาดาคนหนึ่ง ซึ่งต้องออกแรงสอนอย่างมาก เพราะนักศึกษารายนี้เลือกลงโปรแกรมเกียรตินิยมที่ต้องเรียนแต่วิชายากๆ เท่านั้น ซึ่งในที่สุดเธอก็เรียนจบ และเธอได้แนะนำให้สมชายรู้จักกับลูกชายของเธอสองคน ซึ่งทั้งคู่ได้เข้ามาขอบคุณติวเตอร์คนนี้ที่ช่วยให้ฝันของแม่พวกเขาเป็นจริง
“ลูกชายเขาสองคน คนแรกเรียนจบแพทย์ที่ฮาร์วาร์ด คนที่สองเป็นวิศวกรด้านอวกาศ ผมเห็นแล้วประหลาดใจมาก พวกเขาเล่าว่าแม่ตั้งท้องพวกเขาตอนที่ยังเรียนหนังสือจึงเรียนไม่จบ เธอตัดสินใจว่าต้องทำงานเพื่อเลี้ยงพวกเขา แต่แม่ของพวกเขาก็พูดเสมอว่าจะต้องกลับมาเรียนให้จบให้ได้ และเธอก็ทำได้จริงๆ จบเกียรตินิยมด้วย มันเป็นความรู้สึกดีมากนะที่เห็นคนอื่นเขาทำตามความฝันได้ และรู้ว่าคุณมีส่วนในความสำเร็จนั้นด้วย”
ผู้อำนวยการ สศอ. เล่าว่า ที่ชอบการสอนหนังสือขนาดนี้ไม่ได้มีใครในครอบครัวเป็นต้นแบบเลย เพราะคุณพ่อก็เป็นพ่อค้า ส่วนคุณแม่ก็เรียนจบเพียงชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เท่านั้น แต่ก็มี “ครูต้นแบบ” ที่เรียกว่าเป็น “ไอดอล” ในชีวิตอย่าง “วรากรณ์ สามโกเศศ” ซึ่งเป็นอาจารย์สอนเศรษฐศาสตร์มหภาค ตั้งแต่ครั้งที่เรียนปริญญาตรี ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอีกท่านหนึ่งคือ “ณรงค์ชัย อัครเศรณี” ซึ่งเป็นทั้งผู้สอนและอาจารย์ที่ปรึกษาการทำวิทยานิพนธ์เมื่อครั้งเรียนปริญญาตรีใบแรกที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
ด้านงานเขียนก็ถือเป็นอีกงานหนึ่งที่ชอบ เพราะเป็นงานที่เผยแพร่ความรู้เหมือนกับการสอน “สมชาย” บอกว่า การลดเวลาสอนลงบ้างเพื่อให้เวลาตัวเองและครอบครัวมากขึ้น ส่วนหนึ่งก็เพิ่มเวลาในการคิดและเขียนงานมากขึ้นด้วย ซึ่งบทความที่เขียนออกมาส่วนใหญ่ก็เป็นงานทางด้านเศรษฐศาสตร์ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการทำงานและการสอน โดยทั้งหมดรวบรวมเผยแพร่ในเว็บไซต์ส่วนตัว “DrSomchai.com” ซึ่งผู้สนใจสามารถเข้าไปอ่านและดาวน์โหลดเอกสารที่ให้ความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์ได้
“งานที่มากขึ้นตอนนี้อาจจะทำให้เวลาน้อยลง และตัวเราเองก็อายุมากขึ้นก็มีเหนื่อยบ้าง แต่ผมก็ยังมีความสุขกับการสอนและเขียนหนังสือจนยังบอกไม่ได้ว่าจะเลิกทำมันเมื่อไหร่” สมชาย กล่าวทิ้งท้าย
สมชาย หาญหิรัญ จัดสรรเพื่อพัฒนาคน
วันที่ 23 ธ.ค. 2560
เอสเอ็มอีแบงก์ตั้งศูนย์ติดตามสินเชื่อ
วันที่ 02 ธ.ค. 2560
หมดยุคยืมหนังสือ! ห้องสมุดในจีนให้ยืมคินเดิลอ่านอีบุ๊คฟรี
วันที่ 21 พ.ย. 2560
จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์ กับหนังสือที่เขียนยามอยู่คนเดียว
วันที่ 21 พ.ย. 2560
โครงการ ”๑ อ่านล้านตื่น” มอบรางวัลคนต้นแบบการอ่าน
วันที่ 17 พ.ย. 2560