posttoday

ส่องรั้ว...โรงเรียนสุภาพบุรุษ

03 มิถุนายน 2556

“สุภาพบุรุษ” และ “ลูกผู้ชาย” เราท่านให้ความหมายต่างกัน สำหรับ “วชิราวุธวิทยาลัย” แล้ว ลูกผู้ชายในรั้วนี้ คือ สิ่งใดเล่า

โดย...ณัฐพล ช่วงประยูร/ภาพ ภัทรชัย ปรีชาพานิช และ กิจจา อภิชนรจเรข

“สุภาพบุรุษ” และ “ลูกผู้ชาย” เราท่านให้ความหมายต่างกัน สำหรับ “วชิราวุธวิทยาลัย” แล้ว ลูกผู้ชายในรั้วนี้ คือ สิ่งใดเล่า

ใครได้ผ่านเขตดุสิต ย่านถนนสุโขทัย มักสงสัยว่าอาคารที่มีสถาปัตยกรรมชั้นยอดนี้คืออะไร วัดใช่ไหม แท้จริงเป็นที่ตั้งของโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ทว่าหลังรั้วแห่งนี้คืออะไร เป็นอย่างไร ฉบับนี้ผมชวนข้ามรั้วไปค้นหาคำตอบกัน

แบบฉบับพับลิกสกูลของไทย

พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กหลวงขึ้น เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 2453 (ปีแรกแห่งรัชกาล) ทรงตั้งพระราชหฤทัยหมายให้โรงเรียนนี้เป็นสถาบันการศึกษาให้แก่กุลบุตรชาวไทย ทั้งยังเป็นเสมือนพระอารามหลวงประจำรัชกาล โดยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ทั้งหมด

“เมื่อเริ่มตั้งโรงเรียนนี้ พระองค์ก็ให้ชื่อโรงเรียนมหาดเล็กหลวง พอรัชกาลที่ 7 ขึ้นครองราชย์ ตอนนั้นเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เศรษฐกิจเมืองไทยและทั่วโลกย่ำแย่ เดิมที่มีโรงเรียนในความดูแลหลายแห่งก็ยุบหมด วชิราวุธเองก็เกือบถูกยุบ แต่เข้าใจว่ามีการหารือกันว่าต้องมีอยู่ต่อไป ในที่สุดก็ไม่ยุบ นำโรงเรียนราชวิทยาลัย บางขวาง ยุบมารวมกับโรงเรียนมหาดเล็กหลวง และตั้งชื่อเป็น วชิราวุธวิทยาลัย ตามพระนามของรัชกาลที่ 6 ขณะเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าชายมหาวชิราวุธ” ดร.สาโรจน์ ลีสวรรค์ ศิษย์เก่าวชิราวุธ รุ่น 40 ผู้ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการคนปัจจุบัน นำเรื่องให้ฟัง

หากย้อนไปอ่านความตอนหนึ่งของพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ความว่า “...ข้าไม่ต้องการนักเรียนตัวอย่างที่สอบไล่ได้คะแนนขั้นเกียรตินิยมทุกๆ ครั้ง ข้าไม่ต้องการตำราเรียนที่เดินได้ ที่ข้าอยากได้นั้นคือ เยาวชนที่เป็นสุภาพบุรุษ ซื่อสัตย์ สุจริต มีอุปนิสัยใจคอดี

ข้าจะไม่โศกเศร้าเลย ถ้าเจ้าจะมารายงานว่า เด็กคนหนึ่งเขียนหนังสือไม่คล่อง คิดเลขเศษซ้อนไม่เป็น และไม่รู้วิชาเรขาคณิตเลย ถ้าข้ารู้ว่าเด็กคนนั้นได้ศึกษา พอที่จะรู้ว่าความเป็นลูกผู้ชายคืออะไร และขี้แยคืออะไร ข้าไม่อยากได้ยินคนฉลาดบ่นอีกว่า ปัญญาท่วมหัว เอาตัวไม่รอด...”

วิถีวชิราวุธ

ดร.สาโรจน์ ลีสวรรค์ ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการนี้มา 6 ปี ก่อนหน้านั้นเป็นรองผู้บังคับการมา 3 ปี และเป็นศิษย์เก่ารุ่น 40 แน่นอนว่ารู้จักรั้วแห่งนี้อย่างดี “วิถีวชิราวุธเปลี่ยนไปตามยุคสมัย แต่ระบบของเราเดิมดีอยู่แล้ว การเป็นคนดี การตรงต่อเวลา การเคารพรุ่นพี่รุ่นน้อง ครูอาจารย์

หัวใจสำคัญ สมัยที่พระองค์ท่านตั้ง ต้องการให้เป็นโรงเรียนประจำ เพราะต้องการฝึกระบบรุ่นพี่รุ่นน้อง ต้องมีทั้งพระเดชพระคุณ ต้องให้เกรงใจกัน รู้ผิดรู้ถูก รู้กาลเทศะ อันที่จริงโรงเรียนทุกโรงเรียนก็สอนหนังสือ แต่ของเราอันดับหนึ่ง คือ นิสัยใจคอ เป็นคนดีไหม กตัญญูไหม รักหมู่รักคณะไหม เพราะก้าวต่อไปต้องรู้แทนคุณ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

สิ่งที่เราต้องคงไว้ การให้เป็นคนซื่อสัตย์ สุจริต มีความรู้พอควร โดยสรุปแล้ว ที่นี่ต้องการสร้างเด็กหนุ่มธรรมดาที่จะพัฒนาขึ้นไปเป็นพลเมืองดี”

เรานึกสงสัยว่าสถาบันนี้เป็นรัฐหรือเอกชน แท้จริงแล้วถือว่าเป็นโรงเรียนที่บริหารงานแบบเอกชน โดยมีคณะกรรมการใหญ่ เรียกว่าคณะกรรมการอำนวยการ และผู้บังคับการ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ส่วนงบประมาณมีสำนักงานพระคลังข้างที่สนับสนุนค่าใช้จ่ายเรื่อยมาตามงบประมาณในแต่ละปี โดยทุกกระบวนการนั้นต้องกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อพระราชทานพระราชานุญาต

ความเป็นอยู่ของวัยเรียนรู้

ระหว่างที่เยี่ยมชมสถานที่ เราตระหนักว่าที่นี่สวยงาม เพียบพร้อมสิ่งแวดล้อม และบรรยากาศการเรียนและกิจกรรม เมื่อแรกตั้งโรงเรียน เหล่านักเรียนประจำจะต้องถูกคัดเลือกเข้าคณะ (ชื่อเรียกที่พักคล้ายกับหอหรือบ้านอย่างวิทยาลัยอื่นๆ แต่เนื่องจากเป็นดั่งวัดประจำรัชกาลที่ 6 จึงเรียกเป็นคณะเหมือนของสงฆ์) โดยเดิมมี 4 คณะ คือ คณะผู้บังคับการ ดุสิต จิตรลดา และพญาไท ต่อมาได้เพิ่มเติมคณะจงรักภักดี และศักดิ์ศรีมงคล รวมปัจจุบันเป็น 6 คณะ โดยมีสีประจำคณะต่างๆ กันไป โดยจะเห็นอยู่บนสัญลักษณ์ต่างๆ ของนักเรียนทุกคน ที่แยกได้ง่ายสุดยามสวมชุดกีฬา

ชีวิตของหนุ่มๆ ที่นี่เริ่มต้นยามเช้า เรียนคาบแรกตอน 7 โมงเช้า ก่อนจะขึ้นหอประชุมเพื่อเคารพธงชาติ สวดมนต์ และกล่าวคำปฏิญาณทุกๆ วัน ช่วงสายเรียนด้านวิชาการตามแผนการศึกษาของกระทรวงศึกษา และมีบางส่วนเริ่มต้นทดลองหลักสูตรภาษาอังกฤษใน 4 วิชาหลักตามแนวทางพัฒนาการเรียนการสอนของผู้บังคับการ

ในช่วงบ่าย 2 หลังรับประทานอาหารกลางวันนักเรียนเลือกทำกิจกรรมตามความสนใจ ระหว่างวิชาศิลปะกับดนตรี จบแล้วในช่วง 4 โมงเย็น หนุ่มๆ ถึงเวลาลงฝึกซ้อมกีฬาตามความสนใจ โดยโรงเรียนยึดหลักแบ่งตามเทอมที่เรียนทั้ง 4 ภาค เริ่มจากเทอมปัจจุบัน ด้วยกีฬารักบี้ เทอม 2 บาสเกตบอล เทอม 3 ฟุตบอล และเทอมสุดท้าย กรีฑา

ตกเย็นขึ้นคณะอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้า รับประทานอาหารเย็น และเข้ารับการดูแลให้คำปรึกษาจากครูอนุศาศก หรือครูที่ปรึกษา 5 คนในแต่ละคณะ เพื่อรับทราบความเป็นไป และแก้ปัญหาส่วนตัวให้กับเด็กๆ ก่อนจะต่อด้วยการเข้าห้องเพรพเพื่อทำการบ้าน ทบทวนตำรากันเองส่วนตัวแยกตามระดับชั้นเรียนในตึกคณะ พอพลบค่ำเข้ารับฟังการอบรมจากผู้กำกับคณะ ผู้เป็นเหมือนพ่อของแต่ละบ้าน และเข้านอนพักผ่อนก่อนเริ่มชีวิตวันใหม่

ในปัจจุบันหนุ่มโรงเรียนประจำแห่งนี้ได้รับการอนุญาตให้กลับบ้าน 2 สัปดาห์ต่อครั้ง เพื่อใช้เวลาร่วมกับครอบครัว โดยออกจากโรงเรียนเย็นวันศุกร์ กลับเข้าโรงเรียนอีกครั้งในเย็นวันอาทิตย์ และช่วงปิดเทอมหลัง เทอม 2 ราว 10 วันและเทอม 4 ราว 1 เดือนครึ่ง

ในด้านการปกครอง อย่างที่รัชกาลที่ 6 ตั้งพระราชหฤทัยไว้ หมายให้พี่น้องปกครองกัน รู้รักสามัคคีและเคารพในรุ่นพี่รุ่นน้อง สิ่งนี้สืบทอดกันมาตลอด 103 ปีของอายุสถาบัน

“รวิน ยันตดิลก” ผู้กำกับคณะจิตรลดา ผู้กำกับ 1 ใน 6 คณะ เล่าถึงภาพรวมความเป็นอยู่ว่า “คณะซึ่งเป็นที่พักอาศัย ตั้งแต่นอน อาบน้ำ กินข้าว ทำการบ้าน พักผ่อน เรามีเวลาบอกว่าเราจะทำอะไรเมื่อไร เด็กก็ต้องเรียนรู้ว่า จะอยู่ร่วมกับพี่อย่างไร พี่จะดูแลน้องอย่างไร พวกเราผู้กำกับคณะจะไม่เข้าไปยุ่งมาก แค่แนะนำ อบรม เหมือนเป็นพ่อในบ้าน”

ผู้กำกับฯ พาเราชมคณะที่อยู่ของหนุ่มๆ วัยศึกษาเรียนรู้ ทั้งตึกติดแอร์ทุกห้อง เว้นแต่ห้องอาหารและห้องอาบน้ำ เปลี่ยนเสื้อผ้า ภายในสะอาดสะอ้าน แบ่งสัดส่วนการใช้งานชัดเจน และเป็นไปโดยลำดับของนักเรียนแต่ละวัย ที่นี่หนุ่มๆ จัดการชีวิตกันเอง เว้นแต่เรื่องซักรีดเสื้อผ้า มีแม่บ้านโรงซักรีดจัดการดูแลให้นักเรียนทุกคนอย่างดี และการครัวมีให้อิ่มหนำตามคุณประโยชน์ทุกมื้อทุกคน

เรียนเล่น เน้นครบเครื่อง

สิ่งที่ผู้บังคับการถ่ายทอดให้ทราบ คือ พัฒนาการเรียนให้ดีในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นในห้อง หรือนอกห้อง รวมถึงกิจกรรม ต้องรอบด้าน เพื่อให้เด็กๆ มองหาความเชี่ยวชาญเฉพาะตัวพบ และพัฒนาตัวเองไปสู่จุดที่ถึงพร้อมในวันข้างหน้า

“ด้านวิชาการในหมวดการเรียนส่วนใหญ่ไม่ต่างจากที่อื่นๆ ที่เราเน้นมากคือภาษาจีน เราให้เรียนตั้งแต่ ป.4 พอไปถึง ม.3 สร้างความได้เปรียบ และล่าสุดทดลองให้เด็กเรียนภาษาอังกฤษ 4 วิชา คณิต วิทย์ สังคม และ ภาษาอังกฤษ นอกจากนั้นยังมีการเสริมให้เด็กไปเรียนรู้ต่างประเทศ โดยเรามีทุนให้ ส่วนในช่วงปิดเทอมปลาย ก็มีไปต่างประเทศ ที่ผ่านมามีไป ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ และจีน นอกจากพัฒนาเด็กให้เพิ่มเติมความรู้แล้ว ได้เพื่อนด้วย แถมยังให้ประสบการณ์ครู และตรงนี้ผมกำลังผลักดันให้ไปอีกหลายๆ ประเทศต่อปี”

ที่ผ่านมานอกจากอาจารย์ประจำ อาจารย์พิเศษด้านต่างๆ รวมถึงกีฬา ดนตรี ที่สถาบันสรรหามาเพื่อความสมบูรณ์แบบ ปีล่าสุด ดร.สาโรจน์ เองก็ลงสอนในวิชาการเรียนรู้การเป็นพลเมืองที่ดีเองด้วย เพื่อให้นักเรียนปีสุดท้ายได้ซึมซาบหลักใหญ่ใจความของสถาบันที่มุ่งให้หนุ่มๆ ถึงพร้อมด้วยความดีงามต่อไป

ดนตรี กีฬา ศิลปะ หล่อหลอมเสน่ห์

ได้พูดคุยกับ “วัชรินทร์ ชื่นกำเนิด” อาจารย์อาวุโสด้านศิลปะที่นำพาความสำเร็จมาคู่วชิราวุธฯ หลายสิบรุ่น และ “ไตรเทพ อู่สกุล” หัวหน้าออกแบบและเทคโนโลยี ที่ห้องศิลปะ

“โรงเรียนอื่นอาจจะมีชมรม แต่เราทำกิจกรรมให้สุนทรียภาพหล่อหลอมนักเรียน ทั้งวิชาช่างและศิลปะทุกแขนง คอมพิวเตอร์ ภาพยนตร์สั้น ถ่ายภาพ ฯลฯ ไม่ได้บังคับว่าต้องเรียนหนัก และเราจะได้เห็นเขาออกดอกออกผลใน 510 ปี หลังจบไปเสมอ ไม่ว่าจะเป็นศิลปิน เป็นผู้บริหาร ฯลฯ ที่นี่จะทำให้เขาซึมซาบ และวันหนึ่งเขาจะบอกได้ว่า ทำไมเขาต้องตัดสินใจอะไรอย่างนั้น”

“ปาดบารมี นิตยาพร” นักเรียนชั้นมัธยม 6 จากคณะผู้บังคับการ ผู้เป็นประธานสมาคมถ่ายรูป บอกว่า

คุณพ่อผมเรียนที่นี่ อยู่ตามคณะที่คุณพ่อเคยสังกัด การอยู่ที่นี่ทำให้เขาเรียนรู้เรื่องการบริหารเวลาตัวเอง ผมเป็นหัวหน้าคณะด้วย เราจะช้าไม่ได้ ต้องมีความรับผิดชอบสูง ในวิชาศิลปะผมก็พัฒนาตัวเอง จากชมรมถ่ายภาพที่ผมอยู่ตอน ม.ต้น ชอบถ่ายกิจกรรมต่างๆ ของโรงเรียนครับ”

สำหรับ “โป้งอาชวิต อัครชัยพานิชย์ หรือ ฉายา เห่อ นักเรียนชั้นมัธยม 6 จากคณะพญาไท ผู้รั้งตำแหน่งประธานสมาคมกีฬาด้วยในปีนี้ “คณะพญาไท ของผมเพิ่งได้ถ้วยการเรียนมาหลายปีต่อเนื่องกัน แต่ผมเน้นกีฬาครับ หน้าที่ประธานสมาคมกีฬา ต้องดูแลเรื่องการจัดการแข่งขันกีฬาภายในทุกประเภท แต่ผมมีประธานย่อยของแต่ละกีฬาคอยประสานกัน ผมเล่นรักบี้ตั้งแต่ ม.1 ชอบเพราะเป็นกีฬาหลักของโรงเรียน มันมีเสน่ห์ รุนแรง สะใจ แต่ต้องเล่นอย่างมีน้ำใจ เป็นมิตรครับ อยู่ที่นี่ เรียนและทำกิจกรรม ทำให้พวกเรารัก สามัคคีกัน”

ทางด้าน“เต้-จิรภาส หงษาครประเสริฐ”ฉายา แป๋ง นักเรียนชั้นมัธยม 6 จากคณะจิตรลดา หัวหน้าวงปี่สก๊อต เล่าบ้าง“ผมชอบเครื่องดนตรีนี้ตั้งแต่ตอนอยู่ประถม ดูเป็นวงที่เท่มาก เสียงดังกระหึ่มทำให้ผมหลงใหล เริ่มแรกจะเป็นวงฝึกหัดของปี่จะซ้อมบนตึกดนตรี ส่วนคนที่เข้าวงใหญ่แล้วคือซ้อมใต้หอประชุม ทุกวันนี้ผมช่วยดูวง ดูน้องๆ สอนปฏิบัติให้น้องๆ ที่ยังไม่ค่อยได้ครับ”

ก่อนข้ามสู่รั้วลูกผู้ชาย

“คนส่วนใหญ่จะคิดว่า ที่นี่เป็นโรงเรียนของคนในรั้วในวัง หรือเรียนเพื่อไปเป็นทหาร จริงๆ เป็นของคนธรรมดาสำหรับคนทุกหมู่เหล่า ผู้ปกครองที่คิดส่งลูกหลานมา บางคนประทับใจนักเรียนเก่า หรือไปเห็นสังคมวชิราวุธมา ผมอยากให้ท่านศึกษาหลักการของโรงเรียนก่อน ต้องทราบว่าที่นี่คือเมืองจำลองเมืองหนึ่ง ต้องให้ลูกหลานท่านเรียนรู้การใช้ชีวิต และเราเน้นบุคลิกลักษณะเป็นสิ่งแรก การเรียนตามมา ถ้าอยากได้วิชาการเน้นๆ ต้องไปโรงเรียนอื่น”ผู้บังคับการ ทิ้งท้าย

ท้ายใจความ

“...สิ่งที่ข้าต้องการในโรงเรียนมหาดเล็กหลวง คือ ให้การศึกษา เป็นเครื่องทำให้เด็กเป็นเยาวชนที่น่ารัก และเป็นพลเมืองดี ไม่ใช่ทำลายบุคลิกภาพเสียหมด โดยบรรทุกหลักสูตรและระบบการต่างๆ ลงไป

ข้าต้องการให้การศึกษาเป็นสิ่งที่งดงาม จนทำให้เด็กที่ออกไปแล้ว หวนกลับมาคิดถึงวันข้างหน้าด้วยความภาคภูมิใจ ขออย่าเอาโรงเรียนของข้าไปเปรียบเทียบกับโรงเรียนอื่น เพราะมีจุดหมายต่างกัน ถ้าข้าอยากจะได้โรงเรียนธรรมดาเพียงหลังหนึ่ง สร้างเป็นโรงเรียนไปมาจะไม่ดีกว่าหรือ จะสร้างโรงเรียนกินนอนขึ้นมาทำไม”นั่นคือใจความที่พระองค์ทรงให้ไว้เพื่อให้สถานที่แห่งนี้ เป็นโรงเรียนลูกผู้ชายอย่างแท้จริง จากตอนหนึ่งของพระบรมราโชบายของรัชกาลที่ 6