posttoday

รู้จักเภสัชพันธุศาสตร์ วิจัยแพ้ยาผ่านยีนระดับโลก

27 เมษายน 2556

แนะนำให้รู้จัก ภก.ชลภัทร สุขเกษม หัวหน้าห้องปฏิบัติการ

โดย...สุภชาติ เล็บนาค

แนะนำให้รู้จัก ภก.ชลภัทร สุขเกษม หัวหน้าห้องปฏิบัติการเภสัชพันธุศาสตร์และหัวหน้าสาขาวิชาเภสัชพันธุศาสตร์ และการแพทย์เฉพาะบุคคล ภาควิชาพยาธิวิทยาคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เจ้าของงานวิจัยระดับโลก อ.ชลภัทร ระบุว่า เภสัชพันธุศาสตร์คือการวิเคราะห์ยีน ว่าผู้ป่วยรายไหนมีความเสี่ยงต่อการแพ้ยาอะไรบ้าง ภายในแล็บของโรงพยาบาลรามาธิบดี ทั้งนี้ เอชไอวีถือเป็นโรคสำคัญโรคหนึ่ง เนื่องจากผู้ป่วยเอชไอวีมักจะแพ้ยาจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมและผู้ป่วยออทิสติก ก็มีการส่งยีนเข้ามาตรวจในหน่วยจำนวนมากเช่นกัน โดยที่โรงพยาบาลรามาธิบดีมีการวิจัยมากกว่า 5 ปีแล้ว

“เดิมมีโครงการเภสัชพันธุศาสตร์ ซึ่งทำมามากกว่า 5 ปีแล้ว ที่ประสบความสำเร็จก็คือการค้นพบยีนที่ค้นพบผื่นการแพ้ยาโรคเอดส์ จนสุดท้ายเราพบว่าน่าจะมีประโยชน์กับคนไข้ จึงเกิดเป็นห้องปฏิบัติการรับคนไข้คลินิกเข้ามา โดยแพทย์ว่าควรจะทำการตรวจยีนหรือไม่ หากแพทย์แนะนำก็สามารถรับคำปรึกษา รวมถึงตรวจได้ทันที” อ.ชลภัทร กล่าว

ส่วนงานวิจัยระดับโลก ที่ อ.ชลภัทร ค้นพบนั้น ได้แก่ การค้นพบยีนเสี่ยงดื้อยา

ทุกวันนี้หากตรวจพบเชื้อเอชไอวี แพทย์ก็จะแนะนำให้ใช้ยาสูตรแรก ได้แก่ วิลาปีน ทำให้เกิดภูมิแพ้ได้ง่ายและต้องเปลี่ยนไปใช้ เอชไอวีเอฟาวิเรนซ์ แทน ซึ่งทั้งสองสูตรถือเป็นยาตามบัญชียาหลักของรัฐบาล และสามารถเบิกจ่ายจาก สปสช.ได้

อย่างไรก็ตาม ห้องปฏิบัติการเภสัชพันธุศาสตร์ได้ตรวจยีนและตรวจระดับยาพบว่า ยาเอชไอวีเอฟาวิเรนซ์ นั้น สามารถทำให้คนไข้เกิดภาวะซึมเศร้า ฝันหลอน นอนไม่หลับ เซื่องซึม ทำงานไม่ได้ รุนแรงที่สุดอาจถึงขั้นฆ่าตัวตายได้ ภายใต้ยีน CYP2B6 เนื่องจากร่างกายขับยาออกได้น้อย และมีระดับยาดังกล่าวในกระแสเลือดต่ำกว่าระดับของการรักษาได้ ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อประสิทธิผลของการรักษา เนื่องจากระดับยาต่ำจนไม่สามารถไปกดเชื้อไวรัสเอชไอวี ทำให้กลายพันธุ์และดื้อยาในอนาคต

“จริงๆ แล้วไม่ใช่ทุกคนจะเกิดภาวะพิษ แต่กระบวนการเภสัชพันธุศาสตร์ ทำให้เราสามารถบริหารภาวะพิษในยาและสามารถใช้ยาสูตรนี้ได้ โดยการลดขนาดยา และไม่ต้องเปลี่ยนไปใช้ยาในสูตรที่ 3 ทำให้สามารถลดงบประมาณใช้ยาและได้รับประสิทธิผลจากการใช้ยาอย่างเต็มที่” อ.ชลภัทร เล่าให้ฟัง

โดยงานวิจัยที่ อ.ชลภัทร ทำร่วมกับทีมผู้วิจัยจากศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ และจากหลากโรงพยาบาลได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ และเตรียมได้รับการตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติเร็วๆ นี้