posttoday

ฝ่าฟันให้พ้นหุบเหวแห่งความทุกข์

09 พฤษภาคม 2555

ผมเป็นคนอ่อนไหว เวลาที่มีเรื่องใดมากระทบใจ ผมก็จะเป็นทุกข์ สำหรับผม ความทุกข์เป็นหัวเชื้อที่ดีที่สุด

โดย...อินทรชัย พาณิชกุล

“ผมเป็นคนอ่อนไหว เวลาที่มีเรื่องใดมากระทบใจ ผมก็จะเป็นทุกข์ สำหรับผม ความทุกข์เป็นหัวเชื้อที่ดีที่สุด เป็นแรงบันดาลใจที่มีพลังที่สุดในการสร้างสรรค์งานศิลปะ”

เป็นประโยคน้ำเสียงราบเรียบ แต่แฝงไว้ด้วยความแกร่งกร้าวดุดัน

มนัส เหล่าอ่อน จิตรกรร่างเล็กที่กำลังถูกจับตามองอย่างไม่กะพริบจากแวดวงศิลปะ ในฐานะศิลปินรุ่นใหม่ที่มีผลงานโดดเด่น กระชากอารมณ์ ถั่งท้นล้นทะลักด้วยพลังอำนาจเร้นลับน่าพิศวง

“พบ” (Uncover) นิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกบนถนนสายศิลปะร่วมสมัยไทยของ มนัส เหล่าอ่อน ภาพเขียนแนวเซอร์เรียลลิสม์ขนาดใหญ่ จำนวน 8 ชิ้น สร้างสรรค์ด้วยเทคนิคสีอะครีลิกบนผืนผ้าใบ เป็นผลงานที่ต่อยอดหลังจากจบการศึกษาปริญญาโทสาขาจิตรกรรม คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อปี 2553

ฝ่าฟันให้พ้นหุบเหวแห่งความทุกข์

แรงบันดาลใจมาจากความต้องการที่จะสะท้อนความคิดเกี่ยวกับประสบการณ์ต่อการเลือกใช้หนทางในการแก้ปัญหา เป็นความเพียรพยายามในการค้นหาความจริงต่อภาวะความทุกข์ ที่คนเรายังขาดความเข้าใจและการเข้าถึงปมปัญหาที่แท้จริงผ่านการตีความและทำความเข้าใจ เพื่อแสวงหาทางออก โดยใช้หลักปรัชญาพุทธเป็นสำคัญ

“มันกลั่นมาจากประสบการณ์ชีวิตอันเจ็บปวดของผม เรื่องราวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความรัก ความผิดหวัง ความเกลียดชัง ความเศร้า หดหู่ สับสน ความกลัว เหมือนช่วงชีวิตที่โดนกักขัง หาทางออกไม่ได้ มืดมน ไร้หนทาง ผมพยายามค้นหาทางออก ค้นหาสิ่งที่จะปลอดปล่อยตัวผมเองให้ออกจากความทุกข์นั้นให้ได้”

“ผลงานทั้ง 8 ชิ้นนี้ แต่ละชิ้นมีรายละเอียดแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็น ฉาก บรรยากาศ สถาปัตยกรรม วัตถุต่างๆ มากมายหลายสิ่งที่เกี่ยวพันกับชีวิตผม ทุกภาพแฝงไว้ด้วยสัญลักษณ์ให้ตีความ ผมรู้สึกว่าเสน่ห์ของศิลปะแนวเซอร์เรียลลิสม์มันอยู่ที่ความเร้นลับ น่าพิศวง เพ้อฝัน รุ่มรวยด้วยจินตนาการอันเหนือจริงแสนมหัศจรรย์”

ฝ่าฟันให้พ้นหุบเหวแห่งความทุกข์

ไล่เรียงตั้งแต่ภาพชายหนุ่มหน้าตาละม้ายคล้ายเจ้าของผลงานกำลังไต่เชือกท่ามกลางซากปรักหักพังของบ้านเรือน อสรพิษร้ายซุ่มซ่อนรอคอยจ้องทำร้ายอยู่ไม่ห่าง อุปมาอุปไมยถึงความพยายามดิ้นรน ตะเกียกตะกายที่จะหนีจากพื้นที่อันตราย น่าหวาดหวั่น ไปสู่อีกที่หนึ่งที่ปลอดภัยกว่า เหมือนความพยายามที่จะหนีให้พ้นจากความทุกข์

ภาพชายคนเดิมกำลังแหวกว่ายใต้น้ำลึกใกล้เรือหินตั้งบนเชิงตะกอน มาจากส่วนตัวที่ว่ายน้ำไม่เป็น จึงรู้สึกว่าใต้น้ำเป็นพื้นที่ไม่ปลอดภัย น่าอึดอัด เรือซึ่งเปรียบเสมือนพาหนะสำคัญในการนำพาชีวิต กลับต้องมาอับปางลงอีก ภาพซากต้นไม้ยืนต้นตายแห้งกรัง ชายหนุ่มกำลังผูกผลทับทิมไว้ด้วยกัน บ่งบอกการไม่ยอมรับความเป็นจริงของการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ตามกฎไตรลักษณ์ พยายามเหนี่ยวรั้งด้วยการผูกผลเข้ากับต้นไม้ที่ตายแล้ว ซึ่งหล่อเลี้ยงกันไม่ได้

ภาพมนุษย์ผิวสีฟ้าแลดูโศกเศร้า ซีดเซียว หม่นหมอง ไร้ชีวิตกำลังโหนเชือก หรือภาพนั่งในอ่างอาบน้ำพยายามตัดบัวไม่ให้เหลือใย ภาพมวยทะเล พูดถึงการต่อสู้อย่างสับสนภายในชีวิตจิตใจของตัวเอง ท่ามกลางสถานการณ์คลอนแคลนโงนเงน ไม่ปลอดภัย ภาพชายหนุ่มสวมหมวกเป็ดน้อยโดนัลด์ดั๊ก น่ารักคิกขุ แต่กำลังทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ อันตราย และไร้สาระ ด้วยการลงไปทอดไข่เจียวในกระทะ สะท้อนถึงความไร้เดียงสา โง่เง่าเต่าตุ่นของมนุษย์ ฯลฯ

ฝ่าฟันให้พ้นหุบเหวแห่งความทุกข์

“ผมใช้ตัวเองเป็นตัวดำเนินเรื่อง แม้ผมไม่หล่อ หุ่นก็ไม่ดี แต่ผมเชื่อว่าผมเข้าถึงตัวเอง รู้จักสรีระตัวเองได้ดีที่สุด งานทั้ง 8 ชิ้นนี้ ใช้เวลาทำงานเกือบ 2 ปีเต็ม ภายใต้บรรยากาศดื่มด่ำกับความเพ้อฝัน ลึกลับ คำว่า ‘พบ’ ที่เป็นชื่อของนิทรรศการนั้น โดยสรุปแล้วคือการค้นหาความจริงของชีวิต การค้นหาสิ่งที่จะปลดปล่อยตัวเองจากความทุกข์ แต่จะพบหรือไม่นั้น มันเป็นภารกิจที่ผมจะต้องค้นหาคำตอบต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด”

ศิลปินร่างเล็กกอดอกหัวเราะดังลั่นด้วยน้ำเสียงแบบปีศาจร้ายในภาพยนตร์สยองขวัญ

นี่คือผลงานศิลปะแนวเซอร์เรียลลิสม์ของศิลปินไทยรุ่นใหม่ที่เปี่ยมล้นด้วยเสน่ห์ประหลาด น่าหวาดหวั่น ทรงพลังอย่างยิ่ง