posttoday

ตัดกรรม ลอยบาป

13 มีนาคม 2554

เหตุที่ชาวพุทธต้องไปเยือนแม่น้ำคงคา เพราะที่นี่เป็นดัง “นิทรรศการกลางแจ้ง” ของสิ่งมหัศจรรย์ระดับต้องตามไปดูอยู่หลายอย่าง....

เหตุที่ชาวพุทธต้องไปเยือนแม่น้ำคงคา เพราะที่นี่เป็นดัง “นิทรรศการกลางแจ้ง” ของสิ่งมหัศจรรย์ระดับต้องตามไปดูอยู่หลายอย่าง....

เรื่อง : ว. วชิรเมธี ผู้อำนวยการสถาบันวิมุตตยาลัย

บนเส้นทางจาริกแสวงบุญของพุทธบริษัทต้องผ่านเมืองพาราณสี ซึ่งเป็นเมืองศูนย์กลางของศาสนาพราหมณ์ที่มีอายุยืนนานกว่าสี่พันปี ที่เมืองแห่งนี้มีสังเวชนียสถานแห่งที่ 3 นั่นคือสถานที่ทรงแสดง “ปฐมเทศนา” แต่มีสถานที่แห่งหนึ่งที่แม้ไม่เกี่ยวกับสถานที่ทรงแสดงปฐมเทศนา ทั้งยังไม่นับเนื่องในสังเวชนียสถาน 4 แต่ชาวพุทธทุกคนก็เต็มอกเต็มใจที่จะไปเยือนในลักษณะ “มาพาราณสีทั้งที หากไม่มาที่นี่ถือว่ายังมาไม่ถึง” สถานที่อันทรงความสำคัญขนาดนี้จะเป็นอื่นใดไปไม่ได้ นอกจาก “แม่น้ำคงคา” อันศักดิ์สิทธิ์นั่นเอง

ตัดกรรม ลอยบาป

แม่น้ำคงคาเป็นสายธารแห่งสวรรค์ที่ไหลจากเทือกเขาหิมาลัยผ่านเศียรพระศิวะ (ตามคติศาสนาพราหมณ์) ทอดตัวเป็นแม่น้ำขนาดยาวดังหนึ่งเป็นเส้นเลือดกระแสหลักของแผ่นดินชมพูทวีป

เหตุที่ชาวพุทธต้องไปเยือนแม่น้ำคงคา เพราะที่นี่เป็นดัง “นิทรรศการกลางแจ้ง” ของสิ่งมหัศจรรย์ระดับต้องตามไปดูอยู่หลายอย่าง เป็นต้นว่า

มรณะโฮเต็ล โรงแรมหรูตั้งแต่หนึ่งดาวไปจนถึงห้าดาวสำหรับผู้สูงอายุที่มาจับจองเพื่อรอความตายอยู่ข้างแม่น้ำคงคา

เชิงตะกอนกลางแจ้ง ที่ว่ากันว่าเป็นเวลากว่าสี่พันปีมาแล้วที่ไฟ ณ เชิงตะกอนแห่งนี้ไม่เคยดับ เพราะทุกวันจะมีคนนำศพมาเผาที่ริมฝั่งน้ำศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้เสมอ

สายน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่มีสรรพคุณพิเศษในทาง “ชำระบาป”

ชาวอินเดียที่นับถือศาสนาพราหมณ์เชื่อกันว่า มนุษย์ทุกคนมีโอกาสทำบาปกันทุกวัน วันละมากบ้างน้อยบ้าง แต่ถ้าทำบาปแล้วได้มาชำระบาปด้วยการลงอาบชำระกายในแม่น้ำคงคา บาปที่ทำมาก็จะถูกลอยไปในกระแสน้ำอันศักดิ์สิทธิ์ พิธีกรรมนี้มีชื่อว่า การ “ลอยบาป” ผู้ที่ลอยบาปแล้วมีชื่อเรียกว่า “พาหิตปาโป” ในความหมายของพราหมณ์ คนที่จะใช้คำนี้ได้ก็คือ คนที่มาชำระสระสรงกายในแม่น้ำคงคา แต่ต่อมาพระพุทธองค์ทรงประยุกต์คำนี้มาใช้ในพุทธศาสนาด้วย แต่ทรงตั้งเกณฑ์สูงกว่านั้นมาก เพราะทรงกำหนดไว้ว่า คนที่จะได้ชื่อว่า “ลอยบาป” แล้ว ต้องเป็นพระอรหันต์เท่านั้น

แม้อินเดียจะผ่านกาลเวลาเข้ามาสู่ยุคโลกาภิวัตน์เหมือนกับชาวโลกในทุกภูมิภาคแล้วก็จริงอยู่ แต่พิธีกรรมความเชื่อในเรื่องลอยบาป โรงแรมรอตาย และเชิงตะกอนกลางแจ้ง ก็ยังคงมีชีวิตชีวาไม่เปลี่ยนแปลง

นานมาแล้วครั้งที่ยังทรงพระชนม์อยู่ พระพุทธองค์เคยเสด็จมาที่ริมฝั่งแม่น้ำคงคาแห่งนี้ ทรงพบพราหมณ์หลายคนกำลังสรงสนานจนตัวเปียกปอน มีรับสั่งถามพราหมณ์คนหนึ่งว่า กำลังทำอะไรอยู่ พราหมณ์ตอบว่า กำลังลอยบาป ทรงแย้งว่า หากการลอยบาปด้วยน้ำเป็นสิ่งที่ทำได้จริงๆ แล้ว มนุษย์คงสู้พวกสัตว์น้ำอย่างกุ้ง หอย ปู ปลา ไม่ได้เป็นแน่ เพราะสัตว์น้ำเหล่านั้นเขาอาศัยอยู่ในน้ำตลอดเวลา ตรัสต่อไปว่า ความรู้สึกบาปเกิดขึ้นที่ไหน พราหมณ์ตอบว่า ที่ใจ ทรงรุกต่อไปว่า บาปเกิดที่ใจ ทำไมจึงมาชำระที่กายเล่า พราหมณ์ ไม่รู้จะตอบอย่างไร จึงทรงเปิดหูเปิดตาเขาด้วยคำสอนที่สมเหตุสมผล ตรองตามให้เห็นจริงด้วยปัญญาอย่างไม่ยากเย็นนักว่า

“คนทำกรรมชั่ว ไม่ว่าจะวิ่งไปชำระกายที่ไหนก็ไม่สามารถลอยบาปได้
ต่อเมื่อใดก็ตามเขานำเอาศีล (วินัยในการดำเนินชีวิต เช่น ศีล 5)
สมาธิ (จิตที่กอปรด้วยสติ)
ปัญญา (ความรู้จักโลกและชีวิตตามความเป็นจริง)
มาโสรจสรงกายและใจจนเกิดความรู้แจ้งเห็นจริงแล้ว
เมื่อนั้นแหละ เขาก็จึงจะได้ชื่อว่าลอยบาปแล้ว”

ตรัสต่อไปว่า

“เมื่อคนเรามีศีล สมาธิ ปัญญาแล้ว
แม้น้ำดื่มธรรมดาๆ ก็ยังเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมาได้”

กล่าวอีกนัยหนึ่งว่า ไม่ใช่น้ำหรอกที่ศักดิ์สิทธิ์ คนต่างหากที่ทำให้น้ำศักดิ์สิทธิ์ ถ้าคนดีลงอาบน้ำท่าไหน ท่าน้ำนั้นก็เป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ คนเลวลงอาบน้ำท่าไหน ท่าน้ำนั้นก็เป็นกาลกิณี พราหมณ์ได้ฟังวิธีลอยบาปแบบพุทธแล้วก็ “แจ้งแก่ใจ” เลิกลอยบาปตัดกรรมแบบโบร่ำโบราณ หันมาลอยบาปด้วยการทำตนเป็นคนดีนับแต่นั้น

กฎแห่งกรรมตามหลักพุทธศาสนาสรุปสั้นๆ ได้ว่า

“ดีชั่วอยู่ที่ตัวทำ สูงต่ำอยู่ที่ทำตัว”
หรือหากอ้างพระพุทธวจนะหน่อยก็ต้องระบุว่า
“ตนทำชั่วเอง ก็เศร้าหมองเอง
ตนทำดีเอง ก็บริสุทธิ์เอง
คนหนึ่งจะยังอีกบุคคลหนึ่งให้บริสุทธิ์หาได้ไม่”