posttoday

อัลไซเมอร์ อย่าให้เป็นเรา

30 มกราคม 2553

อัลไซเมอร์ถือเป็นโรคที่บั่นทอนทั้งทางร่างกายและจิตใจ ไม่ได้ทำลายเฉพาะผู้ป่วยแต่ทำลายคนใกล้ชิดของผู้ป่วยอย่างยากที่จะทน....

อัลไซเมอร์ถือเป็นโรคที่บั่นทอนทั้งทางร่างกายและจิตใจ ไม่ได้ทำลายเฉพาะผู้ป่วยแต่ทำลายคนใกล้ชิดของผู้ป่วยอย่างยากที่จะทน....

โดย...วันพรรษา อภิรัฐนานนท์


อัลไซเมอร์ถือเป็นโรคที่บั่นทอนทั้งทางร่างกายและจิตใจ ไม่ได้ทำลายเฉพาะผู้ป่วยแต่ทำลายคนใกล้ชิดของผู้ป่วยอย่างยากที่จะทน ลูกของคนไข้อัลไซเมอร์คนหนึ่งพูดถึงอัลไซเมอร์ว่า มันคือขโมยที่เข้ามาขโมยวิญญาณ ขโมยหัวใจของคนที่เรารักไป นี่คืออัลไซเมอร์-โรคที่ไม่มีใครอยากเป็น และไม่อยากให้คนที่รักเป็น

ขโมยคนที่เรารัก

“นวลศรี อนันตกูล” เล่าถึงผู้เป็นพี่สาว “จรัสศรี อนันตกูล” ว่า พี่สาวเป็นคนเก่ง เป็นคนสวย โดยสมัยที่ยังสาวก็ยิ่งสวยและมีเสน่ห์ เรียนจบปริญญาโทแล้ว เข้าทำงานรับราชการที่กรมพัฒนาที่ดินในตำแหน่งนักวิทยาศาสตร์วิจัยดิน ขับรถเก่ง เปรี้ยวและกล้าตัดสินใจ แต่แล้วก่อนที่จะเกษียณสัก 5-6 ปี จรัสศรีเริ่มมีอาการหลงลืม รถขับกลับบ้านชนยับเยินมาทีเดียว แต่เมื่อถามก็ตอบไม่ถูกว่าเกิดอะไรขึ้น หนักๆ เข้าก็ลืมวิธีขับรถ โดยขณะที่ขับรถไปด้วยกันนั้นเอง ก็ขับต่อไม่ถูก กรีดเสียงตะโกนเสียงแหลมด้วยความตกใจสุดขีดว่า “ฉันขับต่อไปไม่ได้ ไม่รู้วิธีขับรถ!”

ทุกวันนี้ จรัสศรีเป็นคนป่วยโรคอัลไซเมอร์เกือบ ขั้นสุดท้ายแล้ว นั่นคือ ไม่สามารถจดจำในสิ่งใดได้ ลืมสิ้นทุกคนที่เคยรู้จัก ลืมวิธีการกิน การเดิน การพูด ชีวิตประจำวันเป็นไปอย่างยากลำบากทั้งตัวผู้ป่วยเองและผู้ดูแล นวลศรีต้องอาบน้ำ ป้อนข้าว ดูแลทุกอย่างทั้งการขับถ่าย และเมื่อเห็นแววตาพี่สาวคือจรัสศรีมองมายังตนแล้ว นวลศรีก็อดสะท้อนใจไม่ได้เพราะแววตานั้น ไร้สิ้นซึ่งความหมายและความจดจำใดๆ นี่คือความน่าสะพรึงกลัวของอัลไซเมอร์ ที่หากไม่อยากเป็นก็ต้องป้องกันตั้งแต่ยังไม่มีอาการ

ทำอย่างไร สมองไม่เสื่อม

พญ. สิรินทร ฉันศิริกาญจน นายกสมาคมผู้ดูแล ผู้ป่วยสมองเสื่อม กล่าวว่า เนื่องจากปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของโรค จึงยังไม่มีวิธีป้องกัน อย่างไรก็ตาม โรคสมองเสื่อมจากหลอดเลือดสมองตีบ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของโรคสมองเสื่อมในคนไทย สามารถป้องกันได้โดยการรับประทานอาหารที่เหมาะสม การออกกำลังกาย การเลิกบุหรี่ และ การงดดื่ม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อย่างเด็ดขาด

1.รับประทานอาหารที่ช่วยลดและชะลอความเสื่อมของเซลล์สมองและสารสื่อประสาท พบในธัญพืชต่างๆ จมูกข้าวสาลี ถั่วลิสง ข้าวกล้อง มันฝรั่ง กล้วย กะหล่ำปลี นมสด ผักต่างๆ ช็อกโกแลต ขณะเดียวกันก็หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง อาหารจำพวกแป้ง น้ำตาล ของหวาน ผลไม้รสหวานจัด โดยพยายามทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ สำหรับโปรตีนเน้นเนื้อปลา บ่อยครั้งที่ผู้สูงอายุไม่เจริญอาหารเนื่องจากขาดความกระตือรือล้นที่จะรับประทาน หาสาเหตุให้พบและแก้ไข พึงสังวรว่าสารอาหารในแต่ละมื้อจำเป็นต่อสมองของท่าน

2.หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็ม ของหมักดอง และอาหารที่ใส่ผงชูรส หลีกเลี่ยงกาเฟอีนในเครื่องดื่มพวกชากาแฟหรือโคล่า เพราะอาหารและเครื่องดื่มเหล่านี้ ทำให้ร่างกายขาดน้ำได้ ส่งผลให้วิตามินแร่ธาตุที่สำคัญเช่น วิตามินบีรวม โปรแตสเซียม สังกะสีถูกทำลาย สมองทำงานแย่

3.ออกกำลังกายสม่ำเสมอ โดยผู้สูงอายุสามารถออกกำลังเบาๆ เช่น ทำโยคะ หรือไทเก๊กที่เหมาะสมกับสุขภาพกาย ควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้เกินพิกัด

4.การควบคุมอาหารทำควบคู่กับการลดความเครียด ส่วนบุหรี่และแอลกอฮอล์งดเด็ดขาด

5.อย่าลืมดูแลตัวเองด้านจิตสังคมด้วย รวมทั้งด้านกายภาพบำบัดและกิจกรรมฟื้นฟูความจำ จัดกิจกรรมสำหรับตัวเองให้ใช้ความคิดอย่างสม่ำเสมอ เช่น คิดเลขเมื่อไปจ่ายตลาด บวกเลขทะเบียนรถ นับเลขถอยหลังจาก 500-1 เป็นต้น นอกจากนี้ การเข้ากิจกรรมสังคมในทุกเรื่อง เช่น ร้องเพลง เล่นเกม เต้นรำ ฯลฯ มีส่วนสำคัญต่อการป้องกันโรคสมองเสื่อมได้ทั้งสิ้น

แบบทดสอบสมรรถภาพความจำ

แบบทดสอบต่อไปนี้ แปลจากบทความใน British Medical Association โดยชาญกัญญา ตันติลีปิกร (วท.ม.จิตวิทยาคลินิก) สถาบันวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหิดล และ พญ.โสภา เกริกไกรกุล หน่วยประสาทวิทยา วิทยาลัยแพทยศาสตร์ กรุงเทพฯ และวชิรพยาบาล ขอย้ำว่าเป็นแบบทดสอบเบื้องต้นเท่านั้น ซึ่งแม้จะตอบว่า “ใช่” ทุกข้อ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นอาการของอัลไซเมอร์ทุกกรณีไป เนื่องจากการวินิจฉัยโรคจะมีปัจจัยเรื่องความถี่ที่ต้องนำมาพิจารณาด้วย

1.หาของใช้ในบ้านไม่พบ

2.จำสถานที่ที่เคยไปบ่อยๆ ไม่ได้

3.ต้องกลับไปทบทวนงานที่แม้จะตั้งใจทำซ้ำถึง 2 ครั้ง

4.ลืมของที่ตั้งใจว่าจะนำเอาออกไปนอกบ้านด้วย

5.ลืมเรื่องที่ได้รับฟังมาเมื่อวานนี้หรือเมื่อ 2-3 วันก่อน

6.ลืมเพื่อนสนิทหรือญาติสนิทหรือบุคคลที่คบหากันบ่อยๆ

7.ไม่สามารถเข้าใจเนื้อเรื่องในหนังสือพิมพ์หรือ วารสารที่อ่าน

8.ลืมบอกข้อความที่คนอื่นวานให้มาบอกอีกคนหนึ่ง

9.ลืมข้อมูลส่วนตัวของตนเอง เช่น วันเกิด ที่อยู่

10.สับสนในรายละเอียดของเรื่องที่ได้รับฟังมา

11.ลืมที่ที่เคยวางสิ่งของนั้นเป็นประจำ หรือมองหาสิ่งของนั้นในที่ที่ไม่น่าจะวางไว้

12.ขณะเดินทางหรือเดินเล่นอยู่ในอาคารที่เคยไปบ่อยๆ มักเกิดเหตุการณ์หลงทิศหรือหลงทาง

13.ต้องทำกิจวัตรประจำวันบางอย่างซ้ำถึง 2 ครั้ง เพราะมีความผิดพลาดเกิดขึ้น เช่น ใส่น้ำตาลมากเกินไปในเวลาปรุงอาหาร หรือเดินไปหวีผมซ้ำอีกครั้ง ซึ่งเมื่อสักครู่เพิ่งได้หวีผมเสร็จ

14.เล่าเรื่องเดิมซ้ำอีกครั้ง ซึ่งเมื่อสักครู่เพิ่งได้เล่าเสร็จ

ถ้าติ๊กถูกทุกข้อ ก็ระวังหน่อย อาจถึงเวลาต้องไปพบแพทย์เพื่อให้วินิจฉัยเกี่ยวกับระดับความถี่ของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วย

จากวันนั้นถึงวันนี้ 100 ปีอัลไซเมอร์

“คนไข้อัลไซเมอร์วันนี้ ตัวเลขล่าสุดอยู่ระหว่าง 27-28 ล้านคนทั่วโลก และจะเพิ่มจำนวนเป็น 43 ล้านคนในปี 2563 และเพิ่มเป็น 82 ล้านคนภายในปี 2583 จะเห็นว่าอัตราการขยายตัวของผู้ป่วยสูงมาก หรือเพิ่มขึ้นปีละกว่า 1 ล้านคน ส่วนสถานการณ์โรคในไทยก็น่าวิตกไม่แพ้กัน โดยปี 2548 ไทยมีผู้ป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์ 1.94 แสนคน และในปี 2549 ตัวเลขขยับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 2-3 แสนคน โดยประมาณการผู้ป่วยในไทยคาดว่าจะทะลุหลักล้านภายใน 30 ปีข้างหน้า !” พญ.สิรินทร กล่าว

ถ้าไม่อยากเป็น 1 ในล้านคนของผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ ก็ต้องพยายามทำตัวให้ห่างจากปัจจัยเสี่ยง ศึกษาข้อมูลและเริ่มต้นปฏิบัติอย่างจริงจัง โรคร้ายนี้ไม่เข้าใครออกใคร เคยเก่งเคยฉลาดเป็นดอกเตอร์ แต่ตัวอย่างก็มีให้เห็นมากมายว่าทั้งเก่งทั้งรอบรู้ขนาดไหนก็เป็นอัลไซเมอร์ได้เหมือนกัน

แต่ก็ไม่ต้องวิตกหรือกลัวมากเกินเหตุ ที่ขี้หลงขี้ลืมถี่ขึ้นพักหลังๆ นี้ อาจเป็นเพียงความเสื่อมธรรมดา หากกังวลก็ไปพบแพทย์ (ตั้งใจว่าจะไปพบแพทย์ ก็ต้องไปนะ อย่าลืมเสียล่ะ!)