posttoday

ย้อนไทม์ไลน์เทคโนโลยีแก้ปัญหาสายตา จากเริ่มแรกนับพันปีสู่ขั้นที่เรียกว่า “เพอร์เฟ็กต์”

21 มกราคม 2565

โพสต์ทูเดย์ร่วมพูดคุยกับ รศ.นพ.อนันต์ วงศ์ทองศรี เคลียร์ชัดปัญหาความผิดปกติทางสายตา ที่มา สาเหตุ และวิวัฒนาการด้านการรักษาจากแรกเริ่ม สู่ขั้นที่เรียกว่า “เพอร์เฟ็กต์” ที่สุดในปัจจุบัน

เรื่อง วารุณี มณีคำ

ย้อนไทม์ไลน์เทคโนโลยีแก้ปัญหาสายตา จากเริ่มแรกนับพันปีสู่ขั้นที่เรียกว่า “เพอร์เฟ็กต์”

เพราะดวงตาไม่ใช่แค่หน้าต่างของดวงใจ แต่ยังเป็นอะไรที่สำคัญมากในการดำรงชีวิต คอลัมน์สุขภาพโพสต์ทูเดย์ ครั้งนี้เราได้รับเกียรติจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเลสิคและรักษาสายตา มาเผยเรื่องราวที่อยากรู้เกี่ยวกับปัญหาสายตาแบบหมดเปลือก โดย รองศาสตราจารย์นายแพทย์อนันต์ วงศ์ทองศรี แพทย์ไทยคนแรกที่ได้รับประกาศนียบัตรเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกระจกตาและการรักษาสายตาผิดปกติจากอเมริกา ผู้ก่อตั้งศูนย์เลสิคและรักษาสายตา Laser Vision International LASIK Center 

“ผมจบจากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากนั้นศึกษาต่อทางด้านแพทย์เฉพาะทางตา คณะแพทยศาสตร์ ภาควิชาจักษุวิทยา โรงพยาบาลสงขลานรินทร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิโรจน์ และที่โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ก่อนไปต่อที่ภาควิชาจักษุวิทยา Washington University Eye Center ที่อเมริกา ซึ่งมีชื่อเสียงมากทางด้านนี้ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ Laser Vision International LASIK Center” คุณหมออนันต์ กล่าวแนะนำตัวให้เรารู้จัก 

ย้อนไทม์ไลน์เทคโนโลยีแก้ปัญหาสายตา จากเริ่มแรกนับพันปีสู่ขั้นที่เรียกว่า “เพอร์เฟ็กต์”

หากย้อนไปเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว ยุคนั้นการทำเลสิคเริ่มแพร่หลายในต่างประเทศ พอกลับมาที่ประเทศไทยจึงได้ร่วมกับเพื่อนๆ และนักธุรกิจ เปิด Laser Vision International LASIK Center ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2541 ในสมัยนั้นนับว่าเป็นอะไรที่ใหม่มากในไทยและทันสมัยมาก ช่วงแรกคนไทยยังมีความกลัวการทำเลสิค เพราะการทำอะไรก็ตามกับดวงตา ไม่มีใครไม่กลัว ประกอบกับยังไม่แน่ใจถึงผลข้างเคียง กลัวมองไม่เห็น แต่เนื่องจากผลการรักษาที่ออกมาดีจนหลายคนบอกว่า "มันเปลี่ยนชีวิต" การทำเลสิคจึงได้รับการยอมรับมากขึ้น ผ่านบทพิสูจน์เรื่อยมา ปละพัฒนามาเรื่อยๆ จนเป็นที่ยอมรับมากในปัจจุบัน ซึ่งเราเป็นศูนย์รักษสายตาที่มีมาตราฐานสูงในระดับเอเชียที่ใช้เทคโนโลยีนำเข้าและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง รักษาผู้ป่วยไปแล้วจำนวนมาก โดยทีมแพทย์และบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องนี้โดยเฉพาะ

ย้อนไทม์ไลน์เทคโนโลยีแก้ปัญหาสายตา จากเริ่มแรกนับพันปีสู่ขั้นที่เรียกว่า “เพอร์เฟ็กต์”

สำหรับภาวะความผิดปกติทางสายตาอย่างที่เรารู้จักกัน หากแบ่งง่ายๆ ได้แก่ สายตาสั้น สายตาเอียง สายตายาว สำหรับสายตายาวเป็นเรื่องที่ซับซ้อนที่สุด เพราะมีทั้งสายตายาวโดยกำเนิด สายตายาวตามอายุ ปัจจัยที่ทำให้ภาวะสายตาเกิดความผิดปกติมีเยอะ ซึ่งปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจนว่าเกิดจากอะไร แต่โดยสถิติแล้วพบว่า เกิดจากกรรมพันธุ์ส่วนหนึ่ง และส่วนหนึ่งก็เกิดขึ้นได้จากสภาวะแวดล้อม ซึ่งเห็นชัดเลยว่าเด็กในยุคปัจจุบันใช้ไอแพด ไอโฟน ใช้งานคอมพิวเตอร์เยอะตั้งแต่อายุยังน้อย ดังนั้น เด็กยุคนี้จึงมีปัญหาสายตาเยอะ สายตาสั้นมาก เพราะทุกอย่างเป็นออนไลน์ไปหมด ไม่ว่าจะเป็นการต้องเรียนออนไลน์ หรือพฤติกรรมการเลี้ยงดูลูกของพ่อแม่ยุคใหม่

ยังมีปัจจัยอื่น อาทิ การใช้งานสายตามากเกินไป การเพ่งมองจอ พฤติกรรมส่วนตัว การใช้สายตามองในที่มืด ต้องยอมรับว่าปัจจุบันคนเราใช้สายตามากเกินไปเพราะอยู่กับจอมากกว่าคนสมัยก่อน ทำให้มีปัญหาสายตามากกว่าคนในอดีตที่อ่านหนังสือ ด้วยภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนไปแม้เทคโนโลยีจะช่วยในเรื่องการทำงาน แต่ก็ส่งผลเสียงต่อสายตาและสุขภาพตามมา

ปัญหาทางสายตาพบได้ในทุกเพศ ทุกวัย และในทุกช่วงอายุ เริ่มตั้งแต่เด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ ไปยังผู้สูงอายุ ซึ่งในเด็กอาจสังเกตได้ยาก ทั้งจากที่มีปัญหาโดยกำเนิด หรือค่อยๆ มีปัญหาสายตาเพราะสภาวะแวดล้อม ประกอบกับองค์ประกอบอื่นๆ เราเริ่มเห็นเด็กสายตาสั้นตั้งแต่อายุเพียงไม่กี่เดือน เด็กวัยเรียน จนถึงวัยมหาวิทยาลัย ในก็เรื่องของเพศก็พบได้ใกล้เคียงกัน บางประเทศก็ผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย บางประเทศก็ผู้ชายมากกว่าผู้หญิง แต่ปัญหาสายตาสั้นนั้นคนในแถบเอเชียจะมีปัญหาสายตาสั้นมากกว่าโซนยุโรป อาทิ คนจีน เวียดนาม ไทย จะมีปัญหาสายตาสั้นมากกว่าฝรั่ง

ย้อนไทม์ไลน์เทคโนโลยีแก้ปัญหาสายตา จากเริ่มแรกนับพันปีสู่ขั้นที่เรียกว่า “เพอร์เฟ็กต์”

เมื่อถามถึงวิธีการถนอมสายตาให้อยู่นานที่สุด คุณหมออนันต์ แนะนำเรื่องแรกคือ การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ต้องยอมรับว่าร่างกายเราตั้งแต่หัวจรดเท้าได้รับสารอาหารจากสิ่งที่เรากิน แม้สิ่งที่เรากินในวันนี้จะไม่ได้ออกผลให้เห็นทันที แต่จะสะสมและแสดงผลในระยะยาว  อาหารพวกจังค์ฟู้ดอร่อยแต่เราก็รู้ว่าไม่ดี แบบนี้ก็เป็นเรื่องของพ่อแม่ที่ต้องปลูกฝัง สิ่งที่มีประโยชน์มากในเด็กคือ นม ผัก ผลไม้ โปรตีน เนื้อสัตว์ เนื้อปลา ที่มีโอเมก้าช่วยเรื่องสมอง ความจำ ช่วยในเรื่องสายตา ผัก ผลไม้ สีเหลือง สีแดง มีแคโรทีน สารซีแซนทีน ลูทีน บำรุงสายตา บำรุงจอประสาทตา และไปบำรุงสมองด้วย แม้รสชาติไม่ค่อยอร่อย เด็กไม่ชอบทาน แต่ก็ควรฝึกและปลูกฝังให้ลูกๆ ได้กินมากกว่าไอศกรีม ขนมหวาน สแน็ค หรืออาหารจังค์ฟู้ดที่ถูกปาก รสชาติอร่อย ซึ่งหมอมองว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ต้องสอนให้กิน พอโตก็กินเป็นเอง

ต่อมาก็ต้องปลูกฝังให้เด็กทำกิจกรรมอย่างอื่น เด็กสมัยนี้บางบ้านก็อาจเลี้ยงลูกง่ายๆ แค่ให้ไอแพดลูกไปลูกก็เงียบ พ่อแม่ก็นั่งทำงาน พอดึงออกก็ร้อง ลองปรับมาเป็นกิจกรรมให้ทำโน่นทำนี่ร่วมกัน อย่างการช่วยงานบ้าน ทำให้เด็กลดเวลาอยู่กับเทคโนโลยี อยู่กับเกมน้อยลง และละสายตาจากคอมพิวเตอร์เพื่อลดอัตราการเกิดปัญหาสายตาตามมา เรื่องนี้จึงควรเริ่มปลูกฝังตั้งแต่ลูกยังเป็นเด็ก

ย้อนไทม์ไลน์เทคโนโลยีแก้ปัญหาสายตา จากเริ่มแรกนับพันปีสู่ขั้นที่เรียกว่า “เพอร์เฟ็กต์”

ส่วนการแก้ไขปัญหาภาวะผิดปกติทางสายตา เริ่มตั้งแต่การแก้ไขแบบไม่ต้องผ่าตัด วิธีที่คลาสสิกสุดเริ่มตั้งแต่นับพันปีที่แล้ว คือการใช้ "แว่นตา" เพื่อช่วยในการมองเห็นที่ชัดเจนขึ้น ถัดมาในช่วง 30-40 ปีที่แล้ว ก็มีการคิดค้น "คอนแทคเลนส์" ช่วยแก้ไขเรื่องของอุปรรคในการดำเนินชีวิตของคนที่ใส่แว่น ตอบโจทย์คนที่มีแอคทิวิตี้ที่ต้องใช้ความคล่องตัว นักกีฬา หรืออาชีพที่ต้องอาศัยบุคลิกภาพ ซึ่งคอนแทคเลนส์ก็เรียกว่าเป็นนวัตกรรมที่เปลี่ยนโลก เพราะทำให้คนไม่ต้องใส่แว่นตา และนับเป็นเรื่องที่ตื่นเต้นในวงการ แต่ผลข้างเคียงที่ตามมาก็ทำให้ความนิยมลดลง เพราะการดูแลที่ยากลำบากต้องถอดๆ ใส่ๆ ต้องคำนึงเรื่องความสะอาด และอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่กระจกตา เสี่ยงต่อการตาบอด

ถัดมาเป็นนวัตกรรมที่เริ่มมีการคิดค้นการแก้ไขปัญหาสายตาแบบถาวร โดยมีการกรีดเนื้อกระจกตาที่รัสเซีย แต่ไม่เป็นที่นิยมเพราะยังไม่นิ่ง นวัตกรรมถัดไปที่เริ่มใช่แพร่หลาย คือการใช้เลเซอร์ PRK (Photorefractive Keratectomy) การลอกผิวกระจกตาที่อยู่ด้านนอกสุดของกระจกตาออกก่อน จากนั้นจะใช้เลเซอร์ไปปรับความโค้งของผิวกระจกตา ช่วงแรกยังคงมีผลข้างเคียง ยิงช้า ไม่ค่อยแม่นยำ ใช้พื้นที่ในการยิงเยอะ แผลรักษาหายช้า ซึ่งการยิงเลเซอร์เข้ามาในบ้านเราประมาณ 25 ปีที่แล้ว ในช่วงที่แรกๆ ที่ก่อตั้ง Laser Vision International LASIK Center พอดี

จากนั้นก็มีการคิดค้นพัฒนาต่อมาเป็นเลสิค LASIK (Laser In-Situ Keratomileusis) ซึ่งแก้ไขจุดด้อยของนวัตกรรมก่อนหน้า โดยการยิงเลเซอร์แยกชั้นกระจกตา ช่วยให้แก้ปัญหาตรงจุดมากขึ้น เป็นการยิงเลเซอร์แบบไม่มีแผลเป็นเพื่อปรับความโค้งของกระจกตาชั้นใน โดยการเปิดแผ่นกระจกตาทั้งหมด ต่อมาเปลี่ยนเป็นเปิดแผ่นกระจกตาแบบเหลือขั้วกระจกตา (บานพับ) ไว้ แล้วจึงปิดผิวกระจกตาลงดังเดิม

การพัฒนายังคงดำเนินต่อมาเรื่อยๆ จนเป็น เฟมโตเลสิค FemtoLASIK (Femtosecond – LASIK) เป็นเลสิคแบบไร้ใบมีด โดยเทคโนโลยีการทำเลสิคที่ใช้เลเซอร์ทุกขั้นตอน ตั้งแต่แยกชั้นกระจกตา และปรับความโค้งกระจกตา (เลเซอร์ต่างประเภทกัน) วิธีนี้เพิ่มความแม่นยำ ปลอดภัย แผลหายเร็วขึ้น แต่ยังต้องใช้พลังงานมาก

จากนั้นก็มีการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ เป็นการยิงเลเซอร์แบบไม่ต้องเปิดชั้นกระจกตา เรียกว่า Relex ซึ่งข้อดีคือไม่ต้องเปิดชั้นกระจกตา ไม่มีปัญหาเรื่องย่น แต่อาจฟื้นตัวได้ช้ากว่าเลสิคที่เห็นผลได้ในวันรุ่งขึ้น และแผลที่เล็กกว่าการทำเลสิค ซึ่งทั้งสองอย่างต่างมีข้อดีที่แตกต่างกันไป

ย้อนไทม์ไลน์เทคโนโลยีแก้ปัญหาสายตา จากเริ่มแรกนับพันปีสู่ขั้นที่เรียกว่า “เพอร์เฟ็กต์”

ปัจจุบันการทำเลสิคได้ถูกพัตนาเลเซอร์ให้ใช้พลังงานน้อยลง โดยเป็นการใช้พลังงานในระดับนาโนจูน ซึ่งข้อดีคือช่วยลดการอักเสบ ทำให้แผลหายเร็วขึ้น กระทบกระเทือนกระจกตาน้อยลง เรียกว่า “NanoLASIK" เลสิคไร้ใบมีดที่ใช้พลังงานในระดับนาโน

ส่วนทางด้านของ Relex ก็เป็นเทคโนโลยีล่าสุด NanoRelex CLEAR นวัตกรรมใหม่ที่นำเข้าโดยเลเซอร์วิชั่น ถือเป็นผู้บุกเบิก NanoRelex CLEAR แห่งแรกและแห่งเดียวของประเทศไทย ซึ่งนับเป็นนิวเจเนอเรชั่นของรีเล็กซ์ ซึ่งคิดค้นขึ้นมาเพื่อรักษาสายตาสั้น เอียง และสายตายาว โดยมีจุดเด่นคือใช้ระยะเวลาผ่าตัดน้อย แผลมีขนาดเล็ก นอกจากนี้ ยังมีการนำระบบ AI เข้ามาใช้เพื่อวิเคราะห์การรักษา วิเคราะห์ปัญหาสายตา

จะเห็นได้ว่าทุกการพัฒนาช่วยลดความไม่เพอร์เฟ็กต์ของการรักษา ณ ปัจจุบันจึงกล่าวได้ว่า เทคโนโลยีที่ใช้รักษาปัญหาสายตาได้พัฒนามาไกลมาก ซึ่งปลอดภัยและให้ผลการรักษาที่ดีมาก จนเรียกว่า “เพอร์เฟ็กต์ที่สุด” เหมือนคนที่เกิดมาสายตาดี หรือไม่เคยสายตาผิดปกติมาก่อน และการแก้ไขเพียงครั้งเดียว ก็สามารถอยู่ได้ตลอดชีวิต (เว้นปัญหาสายตายาวตามอายุ) ดังนั้น NanoRelex CLEAR ในมุมมองของหมอถือว่าดีที่สุด ใช้พลังงานต่ำที่สุด ทั้งนี้ การตัดสินใจทำในแต่ละอย่างก็ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบของตาแต่ละบุคคล ทั้งความหนาบางของกระจกตา ความยากง่ายของปัญหาสายตา ซึ่งควรปรึกษาแพทย์จะดีที่สุด

ย้อนไทม์ไลน์เทคโนโลยีแก้ปัญหาสายตา จากเริ่มแรกนับพันปีสู่ขั้นที่เรียกว่า “เพอร์เฟ็กต์”

"จริงๆ สายตาเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในชีวิตคนเรา เราจึงต้องรักษามันให้ดี ถ้ามีลูกก็รักษาสายตา ถนอมสายตาให้อยู่นานที่สุด ส่วนคนทำงานก็ใช้สายตาเท่าที่จำเป็น จากที่ตื่นมาสิ่งแรกที่หยิบคือ "มือถือ" ก่อนนอนสิ่งสุดท้ายที่ทำคือดู "มือถือ" ก็ต้องปรับ เพราะสายตาเราไม่รักษาไม่ได้ การดูอะไรมากไป ใช้สายตามากไป ย่อมส่งผลเสีย เมื่อดูจอมากขึ้น ก็พักผ่อนน้อยลง ร่างกายก็แย่ตามมา แม้ว่าปัจจุบันค่าเฉลี่ยของคนเราจะมีอายุยืนขึ้น แต่ถ้าสายตาแย่ลงเร็ว ก็ไม่ไหว จริงไหม

ครั้นพอตามีเราปัญหาแล้วสนใจอยากจะแก้ไข สิ่งสำคัญคือ ดูให้ดี ตาเราสำคัญมีเพียงคู่เดียว เลือกที่ที่เราจะรักษา เอาให้มั่นใจว่านั่นคือที่ที่ให้สายตาที่ดีที่สุด ใช้เทคโนโลยีที่ดีที่สุด ใช้ความเชี่ยวชาญที่มากที่สุด และให้ความใส่ใจมากที่สุด เพื่อให้ตาเราได้สายตาที่ดีและสมบูรณ์แบบที่สุด" รองศาสตราจารย์นายแพทย์อนันต์ วงศ์ทองศรี กล่าวปิดท้าย