posttoday

โลกยิ้ม กับสิ่งเล็กๆ ที่เด็กๆ ทำ

27 ธันวาคม 2553

เพียงแค่เห็นหน้าปกหนังสือชื่อ “โลกยิ้ม” ก็รู้สึกน่าสนใจแล้ว ยิ่งเนื้อหาข้างในเป็นนิทานถึง 7 เรื่อง ยิ่งเพิ่มความสนใจเข้าไปอีก...

เพียงแค่เห็นหน้าปกหนังสือชื่อ “โลกยิ้ม” ก็รู้สึกน่าสนใจแล้ว ยิ่งเนื้อหาข้างในเป็นนิทานถึง 7 เรื่อง ยิ่งเพิ่มความสนใจเข้าไปอีก...

เรื่อง...มัลลิกา

เพียงแค่เห็นหน้าปกหนังสือชื่อ “โลกยิ้ม” ก็รู้สึกน่าสนใจแล้ว ยิ่งเนื้อหาข้างในเป็นนิทานถึง 7 เรื่อง ยิ่งเพิ่มความสนใจเข้าไปอีก เพราะนานเท่าไหร่แล้วนะที่ผู้ใหญ่อย่างเราๆ ห่างเหินจากการอ่านนิทานที่เหมาคิดกันไปเองว่าเหมาะสำหรับเด็ก แต่ทว่านิทานในโลกยิ้มสามารถส่งสารถึงการกระทำของผู้ใหญ่ที่กระทำต่อโลกและส่งผลกับคนรุ่นหลัง และในอีกมุมสามารถปลูกฝังจิตสำนึกที่ดีต่อเด็กๆ เพื่อให้โลกยังสวยได้ด้วย

โลกยิ้ม กับสิ่งเล็กๆ ที่เด็กๆ ทำ

“ดอกรัก” นามปากกาของ ขจรรัตน์ เจีย ผู้เขียนหนังสือโลกยิ้ม เธอมีความชอบและสนใจหนังสือสำหรับเด็กเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ทั้งเนื้อหาและภาพประกอบ จึงค่อยๆ สะสมประสบการณ์มาเรื่อย และเริ่มเขียนหนังสือสำหรับเด็กอย่างจริงจัง และมีผลงานออกมาเล่มแรก เมื่อปี 2547 ชื่อขบวนการเด็ก ชุดนิทานจากเพื่อนสัตว์ จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ครอบครัว

สำหรับผลงานเขียนเรื่องล่าสุด โลกยิ้ม ดอกรักได้นำเสนอประเด็นปัญหาทางสังคมและสิ่งแวดล้อมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการใช้ถุงพลาสติก การขาดโอกาสทางการศึกษา การบุกรุกป่า เป็นอาทิ

“โลกยิ้มเป็นหนังสือรวมนิทานที่เกิดจากการสะสมภาพและเรื่องราวจากการอ่าน การพบเห็นในชีวิตประจำวัน เริ่มจากเมื่อประมาณ 5 ปีที่แล้ว ได้ตัดภาพปูเสฉวนในกระป๋องจากหนังสือพิมพ์ ตัดเก็บไว้ด้วยความเศร้าใจ คิดว่าถ้ามีโอกาส จะทำหนังสือสักเล่มที่เกี่ยวกับเรื่องราวเล็กๆ ที่อยู่รายรอบตัว พบเห็นได้เป็นประจำ ธรรมดาๆ ในสายตาของผู้ใหญ่บางคน เรื่องราวที่ดูเหมือนเล็กน้อย แต่ความจริงส่งผลกระทบยิ่งใหญ่ต่อส่วนรวม เราเพียงแค่หวังว่าจะมีผู้ใหญ่อีกหลายคนที่มองเห็นต่างจากผู้ใหญ่ทั่วไป แล้วช่วยกันปลูกฝังสิ่งที่ดีที่ควรให้กับเด็กๆ ว่านี่ไม่ใช่เรื่องธรรมดาๆ นะ เฉยๆ ไม่ได้ ต้องช่วยกัน อย่ามองว่าเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องไกลตัว ต้องออกไปทำตามป่าเขาลำเนาไพร หันมามองรอบๆ ตัว พื้นฐานจากครอบครัว หน่วยเล็กสุดของสังคม เราทำอะไรได้บ้าง เริ่มทำได้เลยที่บ้านของเรา ก่อนที่จะก้าวออกไปเป็นอาสาสมัครของสังคม” ดอกรัก กล่าว

การเขียนหนังสือเด็กนั้น ดอกรักบอกว่า ต้องรู้จักวิธีการสื่อสารและเลือกสารที่เด็กสามารถรู้สึกเข้าใจด้วยได้

“ในการทำหนังสือเด็กสำหรับตัวเองสิ่งแรกคือ ความสนใจของผู้เขียนอยากทำเรื่องอะไร ก็ค้นคว้าหาข้อมูลและวิธีนำเสนอที่คิดว่าเหมาะสมและน่าสนใจในการที่จะสื่อสารกับเด็ก ใช้ภาษาที่เข้าใจได้ง่าย พยายามทำภาพประกอบให้สวยงามเท่าที่ทำได้ ถ้าสองอย่างไปด้วยกันได้ดี ดึงดูดเด็กๆ ให้สนใจหนังสือจนจบได้ ก็เป็นความสุขใจของคนทำหนังสือแล้วค่ะ ในอีกมุมหนึ่ง หนังสือเด็ก บางครั้งคนที่ซื้อไม่ใช่เด็ก แต่เป็นผู้ใหญ่ อย่างโดราเอมอนเป็นหนังสือที่เด็กเลือกได้เองตามร้าน แต่โลกยิ้มเป็นหนังสือที่ผู้ใหญ่ควรเลือกให้เด็กนะคะ”

โลกยิ้ม กับสิ่งเล็กๆ ที่เด็กๆ ทำ ขจรรัตน์

เนื้อหาภายในเล่มถูกแบ่งออกเป็น 2 ภาค ในภาคแรกเป็นเรื่องเล่า ภาคสองเป็นสิ่งเล็กๆ ที่เด็กๆ ทำได้ โดยเชื่อมโยงจากปัญหาในภาคแรก ซึ่งเป็นกลวิธีของดอกรัก

“มีความตั้งใจที่จะนำเสนอเรื่องราวปัญหาผ่านในส่วนของนิทานที่มีภาพประกอบและเนื้อเรื่องที่อ่านได้สบายๆ พอจบนิทาน ทิ้งท้ายด้วยข้อมูลที่อยากบอกเด็กๆ ซึ่งเด็กบางคนอาจจะรู้สึก อึ้ง! ...โอ้โห! จริงเหรอ...ไม่น่าเชื่อ...ไม่เคยรู้เลย ถ้าเขาพลิกไปภาคท้ายเพื่อดูว่ามีอะไรต่อ แสดงว่าเขาเริ่มมีความสนใจและรับรู้ถึงสารที่ต้องการสื่อในนิทาน ซึ่งก็เป็นเรื่องง่ายๆ ใกล้ๆ ตัว ทำได้ไม่ยาก ถ้าบางคนทำอยู่แล้ว ความภาคภูมิใจอาจเกิดขึ้นในใจดวงน้อยและเผลอยิ้มออกมาอย่างไม่รู้ตัวก็เป็นได้ ถ้าอย่างนี้อนาคตโลกคงมีผู้ใหญ่ที่ใส่ใจต่อผู้คนและสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นอีกคนแน่นอน”

ท้ายสุดดอกรักฝากถึงผู้อ่านว่า

“เริ่มต้นจากสิ่งเล็กๆ ที่เด็กๆ ทำได้ ช่วยเหลือและแบ่งปัน ใส่ใจผู้คนและโลกใบนี้ให้มากขึ้นกว่าเดิมสักนิด...โลกก็จะยิ้มให้กับเรา”